จิตต์สุภา ฉิน : อยู่ดี นอนดี เมื่อมีเทคโนโลยีแนบกาย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์ที่แล้วเราพูดถึงงาน CES 2018 กับเทรนด์ของการอ่านคลื่นสมองไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี B2V ของแบรนด์รถยนต์นิสสัน ซึ่งนำเอาคลื่นสมองของเรามาช่วยในการเพิ่มประสบการณ์การขับให้ไหลลื่นและน่าเพลิดเพลินมากขึ้น ไปจนถึงการอ่านคลื่นสมองเพื่อช่วยให้เราทำสมาธิได้ง่ายขึ้น หรือช่วยให้ครูได้รู้ระดับความสนใจของเด็กในห้องเรียน

ทั้งหมดบ่งชี้ว่าเทรนด์ของเทคโนโลยีหลังจากนี้จะผูกโยงเข้ากับความคิดและสมองของมนุษย์มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

คราวนี้มาต่อกันที่อีกหนึ่งเทรนด์จากในงานเดียวกันนี้ค่ะ นั่นก็คือสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Health and well-being นั่นเอง

จากการเดินสำรวจงานทั่วๆ ซู่ชิงสังเกตได้ว่าอีกหนึ่งเทรนด์ที่กลับมาฮิตอีกครั้งหลังจากที่ปีที่แล้วอาจจะแผ่วไปเล็กน้อยเพื่อหลีกทางให้กับปัญญาประดิษฐ์ เออาร์และวีอาร์ ทั้งหลาย ก็คือเทรนด์การใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้สุขภาพดีขึ้น

ซึ่งไม่ใช่ในรูปแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการออกกำลังกายอย่างจริงจังหรอกนะคะ แต่เป็นไปในแบบที่ช่วยให้เรารู้จักร่างกายของเรามากขึ้นและทำให้เราพักผ่อน ดูแลมันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่างหากล่ะค่ะ

 

โดยทั่วไปแล้วการที่เราสามารถนอนหลับได้ง่ายดายเมื่อหัวถึงหมอนและตื่นอีกทีในตอนเช้าก็น่าจะเพียงพอสำหรับการพักผ่อนในแต่ละวันแล้วใช่ไหมคะ

แต่ฟิลิปส์บอกว่าเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนในช่วงอายุ 25-54 ปี นอนไม่ครบจำนวนชั่วโมงที่แนะนำให้นอนคือเจ็ดชั่วโมงต่อคืน และจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้สมาธิและความจำ

ซึ่งสิ่งสำคัญในการนอนหลับแต่ละครั้งคือช่วงเวลาหลับลึกที่จะเป็นการช่วยรีเซ็ตสมอง ทำให้สดชื่นแจ่มใสและมีพลังในการใช้ชีวิตในวันรุ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการตักตวงการนอนให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ฟิลิปส์จึงได้คิดค้น SmartSleep แก็ดเจ็ตที่มีลักษณะเป็นห่วงผ้ารัดเข้ากับศีรษะ

ผลลัพธ์ก็คือ นอนได้เต็มอิ่มมากขึ้น และไม่เหนื่อยเพลียในช่วงระหว่างวันนั่นเอง

นอกจากสายคาดศีรษะที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนแล้ว ฟิลิปส์ก็ยังออกผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนอนมาอีก

อย่างเช่น โคมไฟ Somneo รุ่นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแสงอาทิตย์ในยามเช้า หรือการจำลองการเปลี่ยนแปลงของแสงในช่วงพระอาทิตย์ตกดินเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายในการนอน

เห็นไหมคะว่าเรื่องนอนหลับที่ดูจะง่ายแสนง่ายเนี่ย ก็ยังมีช่องว่างเหลือให้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพได้อีก

 

จบจากเรื่องนอน อีกกิจกรรมที่เราทำทุกวัน ตลอดเวลา วันละนับครั้งไม่ถ้วน แต่มักจะไม่ค่อยตระหนักหรือรู้ตัวสักเท่าไหร่ว่ากำลังทำอยู่ หรือทำได้ดีแค่ไหน คืออะไรทราบไหมคะ

ใช่แล้วล่ะค่ะ การหายใจเข้า-ออกของเรานั่นเอง

คนที่ไม่ได้รับการฝึกให้จับลมหายใจเข้าออกอย่างสม่ำเสมอส่วนใหญ่ก็มักจะใช้ชีวิตจบไปทั้งวันในแบบที่อาจจะไม่ได้รับรู้ถึงลมหายใจของตัวเองแม้แต่ครั้งเดียวเลยด้วยซ้ำ

ซึ่งหากเราสามารถสังเกตลมหายใจของตัวเองได้บ่อยๆ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือเราจะมีความเครียดน้อยลง

สังเกตไหมคะว่าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกตึงเครียดหรือตกอยู่ภายใต้ความกดดัน รูปแบบการหายใจของเราจะเป็นไปแบบตื้นๆ ถี่ๆ สั้นๆ ชวนให้รู้สึกอึดอัดเป็นที่สุด

แต่ถ้าเมื่อไหร่เรารู้สึกตัวและลากลมหายใจเข้ายาวๆ และผ่อนออกมาเป็นจังหวะ (ลองทำตามนะคะ) ความเครียดที่มีอยู่จะสลายหายไปทันที

กล้ามเนื้อในส่วนที่ขมวดตึงก็จะคลายออก

สมองเราจะโล่งขึ้น

แน่นอนว่าซู่ชิงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความเพราะเราส่วนใหญ่ก็น่าจะคุ้นเคยกับคอนเซ็ปต์ของลมหายใจ และผ่านการฝึกฝนเรื่องรู้ทันลมหายใจมาแล้วทั้งนั้น

แล้วจะทำยังไงให้เรารับรู้ลมหายใจของเราได้บ่อยๆ หรือทำความรู้จักรูปแบบการหายใจในแต่ละวันของตัวเราเพื่อนำมาปรับปรุงได้ล่ะ

ปูเรื่องมาขนาดนี้ ก็ต้องมีเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยอยู่แล้วล่ะค่ะ

 

Spire เป็นแก็ดเจ็ตเก็บข้อมูลที่เราสามารถนำไปติดไว้กับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่

หน้าตาของมันเป็นสี่เหลี่ยมๆ บางๆ มาพร้อมตัวเซ็นเซอร์ พื้นผิวด้านหนึ่งเป็นแถบกาวให้นำไปแปะติดไว้กับเสื้อผ้าของเราได้ ตำแหน่งที่เหมาะที่สุดคือการติดไว้กับชุดชั้นใน ไม่ว่าจะเป็นยกทรงหรือกางเกงในก็ได้ค่ะ

เพราะชุดชั้นในจะเป็นเสื้อผ้าที่แนบติดกับร่างกายของเรามากที่สุด

เวลาที่เราจะใช้ก็ลอกแถบกาวออกแล้วแปะเข้าไปกับชุดชั้นใน ให้ตัวเซ็นเซอร์สัมผัสกับผิวหนังของเรา ความสะดวกสบายก็คือติดครั้งเดียวจบ โยนเข้าไปซักในเครื่องซักผ้ากี่ครั้งก็ได้ พอผ่านไปปีกว่าๆ แบตหมด ก็ค่อยส่งคืนให้บริษัทแลกกับส่วนลดในการนำมาซื้ออันใหม่

ข้อมูลที่ Spire เก็บได้ จะมีหลายอย่างด้วยกันค่ะ หนึ่งในนั้นก็คือรูปแบบการหายใจ ซึ่งตัวเซ็นเซอร์จะเก็บมาจากการเคลื่อนไหวของหน้าอกเรา (หากติดไว้กับสายยกทรง) หรือการพองยุบของหน้าท้อง (หากติดไว้กับขอบกางเกงใน) นอกเหนือจากนั้นก็คือสามารถบอกอัตราการเต้นของหัวใจได้ เก็บข้อมูลด้านสุขภาพอย่างเช่นการเดิน การวิ่ง การออกกำลังกาย ยาวไปจนถึงข้อมูลการนอนหลับ

ทั้งหมดนี้จะแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน ซึ่งมันก็ส่งคำเตือนให้เราได้เรื่อยๆ ด้วยนะคะ

อย่างเช่น เตือนเราว่าหายใจถี่ๆ สั้นๆ อยู่นะ เครียดอยู่หรือเปล่า ลองหายใจเข้าออกยาวๆ สักหน่อยดีไหม

หรือนั่งนานเกินไปแล้วนะ ลุกมาขยับร่างกายได้แล้ว เป็นต้น

การเก็บข้อมูลแบบธรรมชาติโดยที่เราไม่ต้องไปวุ่นวายชาร์จแบต สวมใส่ ถอดเข้าถอดออก ทุกวัน ก็จะทำให้เราใช้งานมันได้อย่างต่อเนื่องและก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ

อันนี้ใครสนใจก็ลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://spire.io นะคะ เขามีขายเป็นแพ็กๆ หลายๆ ชิ้นด้วยค่ะ มีกางเกงในกี่ตัวก็เอาไปติดให้หมดทุกตัวไปเลย

หากว่าสองอย่างนี้ยังไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิตและการพักผ่อนได้ดีพอ

ในงาน CES ก็ยังมีอีกหลายอย่างเลยค่ะ อย่างเช่น The Rocking Bed เตียงอัจฉริยะที่จะแกว่งไปมาซ้ายขวาให้เรารู้สึกสบายๆ จนผล็อยหลับไป

หรือ Somnox หุ่นยนต์หมอนตัวนิ่มที่พองยุบได้ตามจังหวะหายใจ เมื่อเรากอดนอนก็จะช่วยให้เรานอนหลับสบายไปด้วย

ปีนี้คุณผู้อ่านอย่าลืมเจียดเงินส่วนหนึ่งมาไว้ใช้จ่ายกับเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเองบ้างนะคะ

ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนก็น่าจะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ไม่ทำให้ผิดหวังค่ะ