‘ชีวิตและซาก’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

บ่ายวันนั้น บนสันเขามีสายลมอ่อนๆ สัญญาณจากเครื่องรับที่ผู้ช่วยนักวิจัยตรวจสอบ บอกให้รู้ว่า เสือที่เรากำลังตาม อยู่ในหุบ ซึ่งมองจากด้านบนคือผืนป่าแน่นทึบ

แม้จะมีสายลมอ่อนๆ แต่เมื่อไต่ลงมาตามด่านเล็กๆ ที่มีร่องรอยกระทิงเดินไปล่วงหน้า สภาพอากาศก็อบอ้าว เหงื่อชุ่มเสื้อ

สัญญาณอยู่บริเวณนี้มาสองวันแล้ว การหยุดนิ่งอยู่กับที่ของเสือ ส่วนใหญ่เราจะพบว่ามันล่าเหยื่อได้

ด่านเล็กๆ ค่อนข้างวกวน ลงมาจนกระทั่งถึงลำห้วยสายเล็กๆ ซึ่งมีกระแสน้ำไหลรินๆ ลานหินและหินก้อนเล็กระเกะระกะ

เราหยุดพักกินข้าวกลางวันที่นี่ หลังจากเดินมาหลายชั่วโมง

กินข้าวเสร็จ ผู้ช่วยนักวิจัยตรวจสอบสัญญาณอีกครั้ง เขาหันเสาอากาศไปรอบๆ นอกจากเสียงซ่าๆ ของเครื่องรับแล้วไม่ปรากฏเสียงอะไร

แม้ว่าจะมีเครื่องส่งสัญญาณอยู่กับปลอกคอที่เสือสวมอยู่ แต่การติดตามเสือก็ไม่ง่ายสักเท่าใด

สภาพป่าอันปิดทึบ อับสัญญาณ ริมๆ ลำห้วยไม่มีร่องรอย ไม่มีรอยตีน,รอยสเปรย์ หรือรอยที่เสือพ่นฉี่ไว้เพื่อแสดงอาณาเขต

ท้องฟ้าสีครามเข้มแบบตอนช่วงสาย เปลี่ยนเป็นมีเมฆดำ ลมพัดแรงขึ้น สักพักสายฝนก็เริ่มโปรยปราย และหนักขึ้นเรื่อยๆ

ฟ้าแลบ และส่งเสียงครืนๆ เป็นระยะ เสืออยู่ไม่ไกลจากเราหรอก แต่ในสภาพอากาศเช่นนี้ การถอยกลับคือสิ่งที่ควรทำ

เรากลับทางเดิม โอกาสที่จะพบเจอกับสิ่งที่ตามวันนี้หมดไป

เป็นเวลาอีกสามวันที่เราเริ่มต้น และจบลงเช่นนี้ ไม่สำเร็จในวันนี้ พรุ่งนี้เริ่มต้นใหม่ เป็นวิถีของเสือที่เรากำลังติดตาม

สามวันที่เราพบกับสถานการณ์เช่นเดิม รู้ตำแหน่งที่เสืออยู่ แต่สายฝนหนักทุกบ่ายเป็นอุปสรรค สายฝนชะล้างร่องรอยเสือในหุบเขาไปหมดสิ้น

ท่ามกลางสายฝน ขณะเดินย้อนกลับ ตามเส้นทางอันเป็นด่านเล็กๆ วกวนไป-มา

ผมยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าใจจะจดจ่ออยู่กับสิ่งใด ความหมายอันแท้จริงอาจอยู่ที่การรอคอย

 

จากการติดตามศึกษาเสือโคร่งมายาวนานหลายปี นักวิจัยมีข้อมูลพื้นฐานของเสือ ทั้งจำนวนประชากร ถิ่นอาศัย และพฤติกรรมต่างๆ ในการเป็นอยู่ของเสือ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ที่เป็นเหยื่อด้วย

ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการจัดการผืนป่าสำหรับการปกป้องดูแลสัตว์ป่า

น่าเศร้าที่ข้อมูลทำให้รู้ว่า สถานการณ์ของเสือโคร่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง

พวกมันถูกคุกคาม ถูกไล่ล่า เป็นเช่นนี้ไม่ว่าพวกมันจะเป็นเสือที่อาศัยอยู่มุมใดของโลก

เสือโคร่งบางตัวถูกจับสวมปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณ และเสือโคร่งเกือบทุกตัวในป่าด้านตะวันตกถูกบันทึกภาพโดยกล้องดักถ่ายภาพ เพื่อสำรวจจำนวนประชากร

ลายบนขนอันแตกต่างของเสือแต่ละตัว ช่วยจำแนกเสือแต่ละตัวได้

เสือมีลายขนอันแตกต่าง แต่สิ่งที่พวกมันเหมือนกันคือ ใช้ชีวิตเพียงลำพัง

 

ผ่านไปถึงวันที่หก ขณะเราเดินถึงหุบ ซากส่งกลิ่นเหม็นโชยมาถึงจมูก ใต้พุ่มไม้รก ริมห้วยเป็นซากกวางตัวผู้ ซากเหลือเพียงส่วนหัว กระดูกช่วงซี่โครงและบริเวณขาหลังอีกบางส่วน มีหนอนสีขาวยั้วเยี้ย ทั้งบนซาก และบนดินรอบๆ

ยังมีรอยเสือเข้ามากิน การล่าที่สำเร็จต้องใช้พลังและความอดทนไม่น้อย เสือจึงใช้ซากอย่างคุ้มค่า

เราเดินรอบๆ ซาก มีรอยลากเป็นทางมาตามริมห้วย

ตรงจุดที่กวางถูกฆ่า มีเครื่องในกระจายจากจุดนี้เสือลากซากไปร่วมหนึ่งร้อยเมตร

ระหว่างรอยลาก มีหนอนกองเป็นหย่อมๆ การลากซากไปทำให้หนอนร่วงหล่น ช่วยไม่ให้ซากโทรมเร็วนัก

มีรอยที่เสือนอนพัก ตลอดเวลาหลายวันที่เราตามหา เสืออยู่ไม่ไกลจากเราหรอก แต่สภาพอากาศอันไม่เอื้อ ทำให้เราคล้ายจะอยู่ห่างไกล

กวางป่า : กวางตัวผู้โตเต็มวัย เป็นเหยื่อหลักๆ ของเสือโคร่ง หน้าที่ควบคุมปริมาณพืช ทำให้แม้ว่าจะอยู่ในสถานภาพของความเป็นเหยื่อ ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ของมันก็มีความหมาย

ผมเดินกลับมาที่ซาก กลิ่นเหม็นเบาบางลง กลิ่นไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่ผมเริ่มคุ้นชิน

มองที่ซากไร้ชีวิต การตายของกวางตัวนี้ คือเวลาที่งานเลี้ยงเริ่มต้น ชีวิตของเสือย่อมขึ้นอยู่กับมัน เพราะเสือต้องมีเหยื่อให้ล่า และการล่าต้องประสบผลสำเร็จ

อีกทั้งในฐานะผู้ทำหน้าที่ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืช และในธรรมชาติซึ่งทุกสิ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน

เหยื่อย่อมจะมีชีวิตอันยากลำบากเช่นกัน หากในป่าไร้ซึ่งเสือ

 

นอกจากร่องรอยเสือ ไม่มีร่องรอยสัตว์อื่นๆ ป่าดูเงียบสงัด

บริเวณแอ่งน้ำที่เสือใช้ รอยที่มันนอน รอยที่ลากเหยื่อมาไกล

ดูเหมือนว่าจะเป็นบรรยากาศการอยู่ลำพังอย่างแท้จริง

อิสระ สันโดษ สมถะ เป็นเรื่องที่ดี หากเข้าใจในวิถีนี้

แต่คล้ายจะเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับ “ชีวิต” ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริงๆ

 

ผมเดินห่างออกมา หันกลับไปมอง

ในความเป็นเหยื่อ ช่วง “ชีวิต” สั้นๆ ก่อนเป็น “ซาก” ของกวางตัวนี้

ย่อมไม่ใช่เวลาอันไร้ความหมายแต่อย่างใด •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ