E-DUANG : ปรากฎการณ์ อบจ. พิษณุโลก ปรากฎการณ์ อบจ. ณ“ราชบุรี”

บรรยากาศแห่งการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่ง”นายกอบจ.”เริ่มเข้าสู่บรรยากาศเดียวกันกับที่เคยสัมผัสในห้วงแห่งการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ในสนามนครสวรรค์ อ่างทอง หรือแม้กระทั่งปทุมธานี อาจยังไม่แจ่มชัด เปรี้ยงปร้าง เท่าใด

หรือพื้นที่พะเยา พื้นที่พระนครศรีอยุธยา ก็ยังไม่ชัดเจน

ต่อเมื่อติดตามการเลือกตั้งเพื่อชิงตำแหน่ง”นายกอบจ.”พิษณุโลกนั้นหรอกเริ่มมากด้วยสีสัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอ”คลิป”

ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เก่า”เฮียมนต์ชัย”ที่ยึดครองตำแหน่งมากว่า 10 ปี ยิ่งของ”หนูนา สิริพรรณ เบอร์ 3” ยิ่งชัดเจน

เป็นความชัดเจนเมื่อปรากฏภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวโดยมี”หมออ๋อง ปดิพัทธ์”ยืนเรียงอยู่เคียงข้าง

ที่สำคัญก็คือ มาพร้อมกับ”เสื้อส้ม” และป้าย”สีส้ม”

แม้จะไม่ได้เป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการของพรรคก้าวไกลเหมือนภาพของ”หวุน ชัยวัฒน์”แห่งราชบุรีก็ตาม

แต่บรรยากาศและสีสันจาก”พิษณุโลก”กับ”ราชบุรี”ไม่ต่าง

 

ใครก็ตามที่เกาะติดการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง”นายกอบจ.”มาตั้งแต่นครสวรรค์ อ่างทอง ปทุมธานี กระทั่งถึงการเปิดตัว”หวุน ชัยวัฒน์”ที่ราชบุรีก็จะเริ่มเข้าใจ

เข้าใจว่าแม้บรรดานายกอบจ.หลายแห่งจะช่วงชิงลาออกก่อนหมดวาระเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง

อาศัยเงื่อนไขเลือกตั้ง”ซ่อม”มาเป็น”จุดแข็ง”ทางการเมือง

อาจกล่าวได้ว่าในสนามนครสวรรค์ สนามอ่างทอง อาจประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเป็นสนามปทุมธานีเริ่มพลิกผันเพราะ เมื่อมีคู่แข่งจากพรรคเพื่อไทยปรากฏขึ้น

สนามพิษณุโลกอาจมีลักษณะไม่พร้อมเพราะกำหนดเป็นวันที่ 18 สิงหาคม แต่เมื่อ “หมออ๋อง ปดิพัทธ์”โดดลงไปอยู่เรียงเคียงข้าง”หนูนา สิริพรรณ”ก็คึกคัก

พลันที่ “ทิม พิธา”ขึ้นรถแห่เปิดตัว”หวุน ชัยวัฒน์”บรรยากาศก่อนเดือนพฤษภาคม 2566 ก็หวนคืนมาให้ได้สัมผัส

 

มีความเด่นชัดอย่างยิ่งว่าการต่อสู้ในสนาม”นายกอบจ.”จะเป็นการต่อกรระหว่าง”กระแส” กับ”กระสุน”

ความหวังของบรรดา”บ้านใหญ่”คือตัดวงจรแห่ง”กระแส”

กระนั้น เมื่อเห็นบรรยากาศอันกำลังเกิดขึ้นที่”พิษณุโลก”ตามมาอย่างมากด้วยความคึกคักที่”ราชบุรี” ถามว่าจะสามารถกด”กระแส”ลงได้ตามความปรารถนาหรือไม่

ไม่เพียงแต่วันที่ 18 สิงหาคมเท่านั้นที่จะมีคำตอบ หากในวันที่ 1 กันยายน คำตอบจะยิ่งชัดเจน