ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
เห็นหน้าเจสัน สเตธัม พะยี่ห้อมาบนโปสเตอร์หนัง เราก็แทบจะบอกได้เลยว่า The Beekeeper เป็นหนังประเภทไหน
เจสันมีภาพลักษณ์ของนักบู๊ปะฉะดะแบบข้ามาคนเดียว แกร่งทรหด มุ่งมั่นและตรงเผงแบบ “ลูกศรยิงตรงแหนวพุ่งเข้าเป้า”
ตั้งแต่บทบาทใน The Transporter ซึ่งเขามีอาชีพรับจ้าง “ส่งของ” ที่รับประกันว่า “พัสดุ” จะต้องส่งให้ถึงมือผู้รับ และให้เผอิญว่าสิ่งของที่เขารับจ้างให้ส่งนั้นเป็นพัสดุมีชีวิต เป็นหญิงสาวเชื้อสายจีนผู้มีเส้นสายโยงใยกับเครือข่ายนอกกฎหมาย คุณเจสันเธอก็ทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่าการส่งมอบพัสดุเป็นไปตามที่ลูกค้ากำหนดไว้แต่แรก
The Beekeeper เป็นเรื่องราวในทำนองเดียวกับ The Equalizer, John Wick หรือแม้แต่ Taken ซึ่งมีพระเอกเก่งกล้าสามารถเหนือมนุษย์ ได้รับการฝึกปรือทักษะการเอาตัวรอดท่ามกลางภยันตรายสาหัสต่างๆ นานา พระเอกรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับภารกิจกอบกู้โลกและถอนตัวไปชีวิตอย่างสันโดษโดยไม่มีใครรู้จัก
แต่ยอดมนุษย์พวกนี้ก็ถูกกระตุ้นให้หวนคืนสังเวียนแสดงฝีมือขั้นเทพอีกครั้งด้วยแรงจูงใจที่เห็นความอยุติธรรมต่อคนอ่อนแอที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือการแก้แค้นแบบราวีล้างผลาญต่อเหล่าอธรรม
หนังบู๊ล้างผลาญที่เอ่ยถึงข้างต้น ล้วนฮิตติดอันดับความนิยมจนทำให้มีหนังในชื่อเดียวกันแต่มีตัวเลข 2-3-4 ตามต่อท้ายมาอีก
The Equalizer มี เดนเซล วอชิงตัน เป็นตัวนำ
John Wick มี เคียนู รีฟส์ เป็นพระเอก
และ Taken มี เลียม นีสัน เป็นพ่อที่ลูกสาวโดนแก๊งค้ามนุษย์ฉกตัวไปกลางนครปารีส
The Beekeeper ทำท่าจะปักธงประเดิมชัยให้เป็นจุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์ภาพยนตร์เตะก้นคนร้ายให้สะใจโก๋แบบเดียวกัน ด้วยการจบลงแบบทิ้งท้ายให้พระเอกรอดจากความวินาศสันตะโรที่ตัวเองก่อไว้ด้วยการล้างแค้นสาวไปถึงตัวพ่อตัวแม่ เพื่อไปสร้างวีรกรรมจองล้างต่อคนร้ายระดับมหภาคครั้งต่อไปในภาคที่จะตามต่อมา
เรื่องของเรื่องคือ แอดัม เคลย์ (เจสัน สเตธัม) เป็นคนเลี้ยงผึ้งเพื่อเก็บน้ำผึ้งไปขายหาเลี้ยงตัว เขาเช่าโรงนาในที่ดินของเอโลอิส พาร์เกอร์ (ฟิลิเชีย ราชัด) หญิงสูงวัยผู้ใจบุญสุนทานที่ใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวในชนบท และเป็นผู้จัดการทรัพย์สินองค์กรการกุศล
วันเลวคืนเลว ทันทีที่ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนตัวล้มเหลว เอโลอิสก็ได้รับโทรศัพท์จากชายผู้เสนอจะให้ความช่วยเหลือให้กู้ระบบผ่านทางคำแนะนำทางโทรศัพท์ เมื่อเธอพบว่ามีเงินก้อนโตปรากฏขึ้นในบัญชีที่เธอดูแลอยู่ เขาก็บอกว่าเขาโอนเงินเข้าบัญชีผิด และขอให้เธอโอนกลับให้เขาทันที หาไม่เขาก็จะตกงาน
ตามประสาหญิงสูงวัยผู้ใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ได้แบบงูๆ ปลาๆ ผู้กลัวข้อมูลในไฟล์จะสูญหายกู้คืนไม่ได้ เอโลอิสงกๆ เงิ่นๆ ทำตามคำบัญชาทางโทรศัพท์ทีละขั้นตอน…
ครั้นเมื่อเธอกดรหัสบัญชีธนาคารหลักสุดท้ายเพื่อโอนเงินคืนให้ ตัวเลขในทุกบัญชีที่เธอรับผิดชอบอยู่ก็ปลาสนาการไปกลายเป็นเลขศูนย์จุดศูนย์ศูนย์
เงินทั้งหมดในบัญชีโดนกวาดหมดเกลี้ยงไม่เหลือหลอ หายวับไปกับตาในชั่วพริบตาเดียว!!
เป็นที่รู้กันว่ามิจฉาอาชีวะแบบนี้เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมผู้สูงอายุที่ไม่ทันโลกไม่ทันเหลี่ยมด้วยเทคโนโลยีของกลโกงสมัยใหม่ ซึ่งจัดการแบบเป็นระบบระเบียบเหมือนองค์กรซึ่งมีเครือข่ายแผ่ไปทุกประเทศทั่วโลก
บริษัทฉ้อฉลที่มีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลได้ จึงกลายเป็นสิ่งคุกคามมโหฬารต่อความปลอดภัยทางทรัพย์สินเงินทองของผู้ตกเป็นเหยื่อ
และเหยื่อที่หลอกง่ายกลุ่มหนึ่งคือผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บเงินออมเพื่อการใช้ชีวิตในบั้นปลาย
ผู้คนสมัยนี้ต่างหวาดระแวงจากการหลอกลวงของมิจ (ฉาชีพ) ที่เป็นอมิตร หาใช่มิตรดังคำพ้องเสียงไม่
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งมิจ แก๊งดูดเงินเกลี้ยง ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า phishing scam คือกลโกงแบบวูบเดียวหมดเกลี้ยง กลายเป็นที่หวาดระแวงไปทั่ว
เมื่อเพื่อนบ้านหญิงชราผู้แสนดีโดนเข้ากับตัวจนอับจนหนทางถึงขั้นสิ้นคิด “คนเลี้ยงผึ้ง” จึงเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา กลายเป็นอดีต “คนเลี้ยงผึ้ง” ซึ่งเป็นชื่อขององค์กรลับที่ปฏิบัติการเหนือจากการควบคุมของรัฐบาล
ทำหน้าที่ธำรงรักษาความถูกต้องและยุติธรรมในแบบที่กฎหมายทำไม่ได้
“คนเลี้ยงผึ้ง” มีภารกิจสูงสุดอย่างเดียวคือการรักษารังผึ้งของนางพญาผึ้งให้รอดปลอดภัย โดยไม่ต้องผ่านสายบังคับบัญชาใดๆ
ในที่นี้ รังผึ้งก็คือประเทศชาติ ซึ่งมีประมุขเป็นผู้หญิงเสียด้วย และหัวหน้าใหญ่จอมบงการของแก๊งเป็นบุคคลที่กฎหมายเอื้อมไม่ถึง
แต่องค์กร “คนเลี้ยงผึ้ง” นี้ก็ทำงานเหนือกฎหมายบ้านเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น อดีตมือหนึ่งขององค์กรจึงมีทักษะในการทำลายล้างและสั่งสอนบทเรียนให้แก่เหล่าคนร้ายอย่างเผ็ดมันถึงใจ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวละครหลักอีกคนคือ เวโรนา พาร์เกอร์ (เอ็มมี เรเวอร์-แลมป์แมน) เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ ซึ่งมีบทแค่ลอยไปลอยมาตามเกมอันเฉียบขาดดุดันของคนเลี้ยงผึ้ง
ส่วนเจเรมี ไอออนส์ ก็ดูท่าว่าน่าจะมีบทบาทสำคัญในฐานะอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ ที่มารับงานดูแลรักษาความปลอดภัยให้ฝ่ายผู้ร้าย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีบทบาทอะไรมากต่อพัฒนาการของพล็อต
จอช ฮัตเชอร์สัน พระเอกจาก The Hunger Games มาเล่นเป็นผู้ร้ายตัวเอ้ ลูกชายนอกคอกของผู้ทรงอำนาจในประเทศ
นี่เป็นหนังที่มีเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างสีขาวสีดำ เพราะงั้นผู้ร้ายก็พะยี่ห้อความเป็นผู้ร้ายให้เห็นแบบไม่มีข้อสงสัย คนดูจะได้ไม่พลาดว่าต้องเชียร์ฝ่ายไหนกันแน่
มีเพียงตอนท้ายที่หนังดูจะไม่กล้าไปให้สุดทาง และยังรักษาหน้าของประเทศชาติเอาไว้ว่าไม่ได้มีประมุขที่ไร้หิริโอตตัปปะ แต่ก็กลับทำให้ประเด็นใหญ่ของทฤษฎีรวมหัวกันสมคบคิดอ่อนยวบลงไป
อย่างไรก็ตาม หนังก็ตอบสนองความต้องการของคนทั่วไปซึ่งอยากได้คนเก่งกาจแบบพระเอกนี้ให้คอยพิทักษ์ความถูกต้องในสังคม ปกป้องคนดีจากคนชั่ว ปกป้องคนอ่อนแอจากการถูกเอาเปรียบ
ดูได้ทางช่องแอมะซอนไพรม์นะคะ •
THE BEEKEEPER
กำกับการแสดง
David Ayer
นำแสดง
Jason Statham
Josh Hutcherson
Jeremy Irons
Jemma Redgrave
Emma Raver-Lampman
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022