ไหว้เจ้า เผากระดาษ : เผาทำไม? ทำความเข้าใจเรื่องเครื่องกระดาษจีน (1)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“พวกไหว้เจ้า เผากระดาษ” คำนี้เข้าใจว่าเป็นเชิงเหยียดซึ่งมีชาวพุทธ “แท้” บางคนเอาไว้เสียดสีคนไทยเชื้อสายจีนที่ปฏิบัติตามขนบของเขาว่าเป็นพวกงมงาย ไร้สาระ ทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าการไหว้เจ้าหรือการเผากระดาษเงินกระดาษทองทิ้งไปเปล่าๆ ปลี้ๆ

ทีนี้บางคนคงชอบใจคำนี้ว่าเหยียดได้เหยียดไป ฉันก็จะทำตามที่บรรพชนสอนมาให้ยิ่งกว่าเดิม เลยเกิดมีกลุ่ม “แก๊งไหว้เจ้าเผากระดาษ” ขึ้นในเฟซบุ๊ก

ซึ่งผมก็ได้ไปแอบสังเกตการณ์ในกลุ่มนี้อยู่ด้วย สนุกดีครับ

อันที่จริง ในบรรดาพิธีกรรมของคนจีน สิ่งเด็กๆ ชอบอย่างหนึ่งคือการได้เผากระดาษเงินกระดาษทองนี่เอง ผู้ใหญ่ก็จะบอกเพียงว่าเผาส่งไปให้บรรพชนนะ ใครเผามากก็รวยมาก เด็กๆ ก็ยิ่งแย่งกันเผา

ปีไหนมีของแปลกๆ ใหม่ๆ เช่น พวกแบงก์หน้าตาประหลาด ตั๋วเครื่องบิน เครดิตการ์ด ก็จะสนุกกันใหญ่ แต่ก็มิได้ถือเป็นจริงจังอะไร

ผมเองในวัยเด็กเคยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ในเมื่อร้านทำกระดาษเขาสามารถสร้างกระดาษแปลกๆ ใหม่ๆ ได้ ทำไมเราเองจะทำกระดาษแปลกใหม่ขึ้นมาเผาเองไม่ได้บ้าง ปริ๊นเตอร์ก็มี จะไม่ต้องไปเสียเงินให้เขาด้วย

ทว่า ก็ยังไม่เคยลองทำดูครับ

 

ผมเล่าเรื่องนี้ให้อาจารย์นนท์หรือเต็กซือหูฟัง ท่านว่าตอนเด็กๆ ก็เคยลองทำกระดาษเงินเผาเองดู แต่พอลองโยนโป้ยเสี่ยงทายถามวิญญาณบรรพชนว่าใช้ได้ไหม ปรากฏว่าไม่ขึ้นครับ เป็นอันว่ากระดาษทำเองนั้นใช้ไม่ได้

อ้าว แล้วทีทำไมกระดาษจากโรงเครื่องกระดาษหรือร้าน บรรพชนถึงได้รับล่ะ

อาจารย์นนท์บอกว่าก็เพราะโรงทำเครื่องกระดาษตามขนบแล้วจะต้องมีพิธีกรรมบางอย่างเพื่อให้กระดาษนั้นสามารถใช้ในปรโลกได้ตามความเชื่อ ทำนองเดียวกับเปิดโรงพิมพ์ธนบัตร และต้องมีการออกตราประทับบางอย่างเพื่อใช้ในเชิงพิธีกรรม

ผมไม่แน่ใจว่าการทำโรงกระดาษเช่นนี้ต้องมี “ข้อแลกเปลี่ยน” อะไรหรือไม่ เพราะเรื่องทางไสยศาสตร์นี้บางครั้งก็มีอะไรที่ต้องได้มาแลกไปอยู่เหมือนกันครับ

ดังนั้น โรงกระดาษโดยมากจึงเป็นเรื่องสืบทอดกันในครอบครัว ไม่ค่อยเห็นมีใครหน้าใหม่ทำกันสักเท่าใด

ที่จริงเรื่องกระดาษเงินกระดาษทองนับว่าเป็นความรู้ทางวัฒนธรรมจีนที่ผมอยากเรียนมากอันหนึ่ง มันช่างมีความสนุกและซับซ้อนในตัวมันเองอย่างยิ่ง

ไว้ผมเรียนรู้เรื่องนี้อย่างเข้มข้นจริงจังแล้วจะมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านครับ

ส่วนบทความนี้ขอเล่าเท่าที่พอจะทราบไปก่อน มีสิ่งใดผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนโปรดอภัย

และจะขอเล่าจากที่ใกล้ตัวคือมีฐานจากวัฒนธรรมฮกเกี้ยนครับ

 

ตอนผมไปเที่ยวไต้หวัน ผมเห็นว่าที่ไต้หวันยังคงมีการผลิตกระดาษเงินกระดาษทองแบบดั้งเดิม คืองานทำมือที่ใช้คน นั้งปั๊มทีละใบ ส่วนกระดาษเงินนั้น เข้าใจว่าเขาตีดีบุกเป็นแผ่นบางๆ แล้วปะติดบนกระดาษ ส่วนกระดาษทองจะใช้ยาเหลืองทาทับลงไป สีเงินก็จะกลายเป็นสีทอง

ตอนนี้ในไต้หวันเอง กระดาษจากระบบอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่กระดาษแบบเก่า กลายเป็นเรื่องที่ต้องอนุรักษ์อีกอย่างในประเทศนั้น

ปัจจุบันเรามีเครื่องกระดาษจากแหล่งผลิตหลักสามแห่ง คือจากเมืองไทยเราเองซึ่งมีมากที่สุด อีกส่วนผลิตจากจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนทางภาคใต้บางทีก็นิยมใช้ของที่ผลิตจากมาเลเซีย หลังๆ ก็เริ่มมีของไต้หวันเข้ามาบ้าง

เท่าที่ผมทราบ เราอาจแบ่งเครื่องกระดาษพิธีกรรมของจีนในสองลักษณะ

ลักษณะแรกคือแบ่งตามกลุ่มภาษาหรือกลุ่มวัฒนธรรม เช่น กระดาษของคนแต้จิ๋ว กระดาษของคนฮกเกี้ยน กระดาษของคนกวางตุ้ง เป็นต้น แต่ละกลุ่มต่างมีเครื่องกระดาษของตนเอง แม้ว่าจะมีหลักการคล้ายๆ กัน แต่มีรูปแบบและรายละเอียดต่างกันบ้าง กระนั้น ในประเทศไทยก็มีการใช้ปนกันอยู่เพราะบางครั้งกระดาษของกลุ่มภาษาตนเองหาได้ยาก หรือกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงกันก็อาจใช้ร่วมกันก็ได้ เช่น คนฮกเกี้ยนบางครั้งก็ใช้กระดาษกวางตุ้ง เพราะมักมีชุมชนใกล้กันหรือทำโรงกระดาษในชุมชนเดียวกัน เป็นต้น

สองคือการแบ่งตามการใช้งานเครื่องกระดาษนั้น อันที่จริงก็ยังแบ่งย่อยอีกมากมายหลายชนิด แบบแรกที่เราคุ้นเคยที่สุดคือกระดาษแทนเงินและทองจึงเรียกกันง่ายๆ ว่ากระดาษเงินกระดาษทอง (ภาษาฮกเกี้ยนเรียก หงินและกิ๊ม) ต่อมาก็พัฒนามีแบงก์เหมือนธนบัตร แต่แม้จะแทนเงินทองก็มีลำดับศักดิ์และรายละเอียดปลีกย่อยออกไปอีก

ถัดมาคือพวกข้าวของเครื่องใช้ซึ่งมักใช้ในพิธีกงเต๊กอุทิศกุศล เครื่องกระดาษแบบนี้มักทำอย่างวิจิตร มีบ้าน รถ ข้าวของในครัวเรือน แต่นอกเวลาทำพิธีกงเต็กแล้วมักไม่ใคร่ใช้กัน

เพียงแต่ในปัจจุบันมีผู้ของเหล่านี้แปลกๆ ใหม่ๆ มาขาย คนจึงซื้อกันไปไหว้แทบทุกเทศกาล บางครั้งถ้าแจกให้ผีไม่มีญาติก็ทำเป็นตั๋วแลกก็มี

เครื่องกระดาษแทนเสื้อผ้าเรียกว่าเผ้าหรืออี มีทั้งเครื่องทรงของเทพเจ้าและเสื้อผ้าของมนุษย์ นับว่าเป็นเครื่องกระดาษสำคัญอีกประเภทหนึ่งเพราะมีพิธีกรรมความเชื่อจำเพาะเข้ามาเกี่ยวข้องมาก

 

อาจารย์ผมท่านเคยเล่าว่า คนฮกเกี้ยนเก่าๆ มักเอากระดาษเสื้อผ้าไปไหว้บรรพชนเมื่อต้องไปที่หลุมศพ (บ่อง) ไม่ค่อยเอาไหว้กันในบ้าน เพราะถือว่าบ้านนี้เป็นบ้านของเราและตัวท่านอยู่ในบ้านเราอยู่แล้ว แต่เมื่อเราไปหาท่านที่บ้านของท่านคือสุสาน จึงพึงเอาเสื้อผ้าไปให้ที่บ้านของท่าน ถือเป็นบรรณาการของฝากนั่นเอง

อันที่จริงผมสนใจเรื่องเสื้อผ้ากับวัฒนธรรมผีอยู่ด้วย เพราะผีมักเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้า เช่น ผีมอญก็แทนด้วยเสื้อผ้าเก็บใส่หีบต้องแขวนไว้บนเสาผีในบ้าน โคมวิญญาณของจีนก็เอาเสื้อผ้าผู้ตายไปสวม ผีกะหรือผีพื้นเมืองอีกมากก็แทนด้วยผ้าผ่อนนุ่งห่ม

ชะรอยเสื้อผ้านี่เองที่ทำให้คนต่างจากสัตว์ เป็นสิ่งบ่งแสดงถึง “วัฒนธรรม” คนโบราณจึงให้ความสำคัญกับเสื้อผ้ามาก

พูดเรื่องนี้ชวนให้นึกถึงว่า อย่างน้อยในหนึ่งปีคนจีนมักถวายเผ้าหรือเสื้อผ้าชุดเล็กในวันส่งเจ้าเตาไฟให้ท่าน เล่ากันว่าก็เจ้าเตาไฟท่านต้องขึ้นไปรายงานฟ้า เฝ้าองค์จักรพรรดิหยก แต่ท่านอยู่ในครัวมาทั้งปีชุดก็เปรอะซีอิ๊ว เปรอะน้ำมันหมู เราจึงเผาชุดใหม่ไปให้ท่านใส่เฝ้าจะได้สะอาดๆ โก้ๆ หน่อย

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องกระดาษที่มีลักษณะเป็นเอกสารราชการหรือประเภท “ฎีกา” ซึ่งพิมพ์มาเป็นแบบฟอร์มให้กรอก กระดาษพวกนี้จำจะต้องพอมีความรู้ทางภาษาจีนและวัฒนธรรมบ้าง เพราะต้องกรอกข้อมูลลงไปด้วยภาษาจีน เช่น ชื่อสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีที่ทำการ ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น ฎีกาฟ้าอภัย ฎีกาส่งเจ้าเตาไฟ กระดาษไหว้มังกรห้าทิศ ฎีกาแจ้งเรื่องผู้ตาย ฯลฯ กระดาษนี้บางชนิดเมื่อกรอกแล้วก็ต้องอ่านก่อนจะเผา

นอกนั้นเป็นเครื่องกระดาษเบ็ดเตล็ด เช่น ยันต์เทพอุปถัมภ์ (กุ้ยหยินหู) ที่เผาเพื่อให้มีคนค้ำชู กระดาษสะเดาะเคราะห์ กระดาษม้าและนกสำหรับรับส่งเจ้า (งานใหญ่ๆ ทำขึ้นเป็นรูปเทวทูตขี่ม้าหรือนกลอยองค์) กระดาษสำหรับโปรยบนหลุมศพในเวลาเฉ่งเบ๋ง (เช็งเม้ง) กระดาษประดับตกแต่งในพิธีพิเศษ (ฮกหู) โอ้ย อีกมากมายก่ายกอง

 

นอกจากนี้ คนฮกเกี้ยนดูเหมือนจะมีกระดาษหลากชนิดเป็นพิเศษ เพราะนิยม “กระดาษพิมพ์ลาย” มากกว่าจีนอื่นๆ จึงมีกระดาษพิมพ์ลายสำหรับไหว้เทพเจ้าแต่ละองค์ เช่น กระดาษเจ้าแม่กวนอิม กระดาษกวนกง กระดาษโลเชี้ย (นาจา) กระดาษฮกเต็กเจ้งสีน (พระภูมิ) หรือลายคำสวัสดิมงคลต่างๆ เช่น ตังอั๊วเป่งอ๊านกิ๊ม (กระดาษคำอวยพรร่มเย็นเป็นสุข) ซึ่งผลิตที่เมืองตังอั๊ว ตั่วฮกกิ๊มหรือกระดาษพิมพ์ตัวฮกคือวาสนาใหญ่ ซิ่วกิ๊มหรือกระดาษพิมพ์ตัวซิ่ว คืออายุยืนยาวซึ่งชาวกวางตุ้งก็มีของเขาด้วย

เหตุว่ากระดาษเยอะแยะเช่นนี้เอง จะใช้กระดาษไหนไหว้ในโอกาสอะไรจึงมีขนบแบบแผน เป็นต้นว่ากระดาษที่ใช้ไหว้ที่บ่องหรือสุสานบางท่านก็ถือมากไม่ให้เก็บไว้หรือใช้ในบ้านเลย

กระดาษบางชนิดไหว้ได้กับเทพระดับไหนอย่างไรก็มีบอกไว้ งานไหนใช้กระดาษแบบไหนประดับได้

เช่น เตี๋ยวจี๋หรือเงินพวง (พวงมะโหตร) ใช้ในงานมงคลขึ้นแท่นบูชาพระใหม่ งานแซยิดพระ หรือไหว้ทีก๊อง เป็นต้น

ยังมีกระดาษที่พุทธศาสนาในจีนก็ยอมคล้อยตามอนุโลมไปกับวัฒนธรรมชาวบ้าน เช่น อ่องเซ้งจี๋ (อ้วงแซจี๊) หรือกระดาษพิมพ์พระสุขาวดีอุปัตติธารณี ซึ่งผมจะขอเล่าในคราวหน้า

นอกจากชนิดแล้วยังมีเรื่องจำนวนอีก จะเผาแค่ไหนอย่างไร ผีได้เท่าไหร่เทพได้เท่าไหร่ก็มีธรรมเนียมกำกับ บนฐานคิดแบบ “จี๊นจีน”

ยังมิได้ตอบคำถามว่าทำไมต้องเผาเครื่องกระดาษ มีที่มาจากไหน เผาแล้วเทพผีได้ใช้จริงหรือไม่ ซึ่งเนื้อที่หมดเสียแล้ว

ผมขอยกไปคราวหน้า •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง