น้ำศักดิ์สิทธิ์ (จบ) : แช่งน้ำพระพัทธ์สัตยา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
พระราชครูวามเทพมุนี เชิญ พระแสงศร อ่านโองการ ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 25 มีนาคม พ.ศ. 2512

การปลุกเสก “น้ำ” ผ่านพิธีกรรมโดยอาศัยภูมิหลังจากปรัมปราคติของพราหมณ์ จนทำให้น้ำธรรมดา กลายเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” (หรือถ้าใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วในการประกอบพิธีกรรม สำหรับผู้ที่ศรัทธาในพิธีการต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็คงจะยิ่งวิเศษขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว) เช่น การชักนาคดึกดำบรรพ์ เพื่อให้ได้มาซึ่ง “น้ำอมฤต” ได้นั้น ทำให้สถานภาพของผู้ที่ผูกขาดการประกอบพิธีกรรมคือ พราหมณ์ การเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปด้วย

และยังทำให้อะไรๆ ที่อยู่รอบตัวของพราหมณ์นั้น ยิ่งกลายเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นอีกด้วย

ตัวอย่างที่สำคัญในที่นี้ก็คือ น้ำที่ตักจาก “ท่าน้ำ” ที่หน้า “วัดท่าไชยศิริ” ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านสิงขร ต.สมอพลือ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นชุมชนพราหมณ์ ผู้ถูกถือว่าเปี่ยมไปด้วยเทพมนต์ต่างๆ มาตั้งแต่ราว พ.ศ.2000 มาแล้วเป็นอย่างน้อย ก็ถูกถือเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” ด้วย จึงได้ถูกนำใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ดังความในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรีเมื่อ พ.ศ.2452 ที่ว่า

“ชื่อตำบลที่เรียกว่าท่าๆ นั้น คือเป็นท่าสำหรับผักของไร่ เช่น ฟักเหลือง ฟักเขียว เป็นต้น ลงเรือลำโตๆ เพราะที่สองข้างแม่น้ำนั้นเป็นไร่ตลอดไป ทางที่ขึ้นไปนี้เกินท่าชัยซึ่งเป็นที่ตักน้ำเสวยขึ้นไปเป็นอันมาก มีข้อหนึ่งซึ่งลี้ลับอยู่ คือน้ำราชาภิเษกนั้นไม่ใช่ใช้แต่น้ำ 4 สระ (หมายถึง สระ 4 สระ ที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งผมได้กล่าวถึงไว้ในตอนก่อนๆ ของชุดข้อเขียนน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้) ใช้แม่น้ำทั้ง 5 ในกรุงสยาม คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำศักดิ์ (หมายถึง แม่น้ำป่าสัก) แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำกลอง และแม่น้ำเพชรบุรี มีชื่อตำบลที่ตักทุกเมือง แต่ที่เพชรบุรีนี้ที่ท่าชัย”

แน่นอนว่า “ท่าชัย” ในเอกสารโบราณข้างต้นนั้นหมายถึง “ท่าไชยศิริ” ที่ชุมชนพราหมณ์บ้านสมอพลือ

 

มีหลักฐานด้วยว่า กษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยุคก่อนที่จะมีน้ำสะอาดขายตามร้านสะดวกซื้อ ทรงโปรดที่จะเสวย “น้ำเพชร” (คือคำเรียกน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี) โดยเฉพาะที่ตักจากท่าไชยศิริ มากกว่าน้ำฝน หรือแม่น้ำสายอื่นๆ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิดที่ในยุคกรุงเทพฯ นี้ จะได้มีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานดูแลความสะอาดของน้ำที่ท่าน้ำแห่งนี้ 1 คน โดยได้ปลูกศาลาไว้ให้สำหรับใช้ทำการ 1 หลัง และเพิ่งจะยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 นี้เท่านั้น

ถึงแม้เรื่องนี้จะมีหลักฐานว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องความโปรดปรานในรสชาติของน้ำเพชรอยู่ด้วย ดังปรากฏอยู่ใน “พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 6 ถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2465” ดังใจความว่า

“เรื่องน้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่าถือกันว่าเป็นน้ำดีเคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งว่า พระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้วเสวยน้ำอื่นๆ ไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเพชรบุรีและนำน้ำนั้นใช้เป็นน้ำเสวยจริงๆ ตลอดมากาลปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชิ้นนี้ก็ยังไม่อาจปฏิเสธได้ว่า น้ำเพชรจากท่าไชยศิรินั้น เป็น “น้ำศํกดิ์สิทธิ์” เพราะไหลผ่านบ้านพราหมณ์ผู้ครองเทพมนต์อาถรรพ์ ที่ถูกนำไปใช้ในพระราชพิธีต่างๆ อยู่เสมอ

และผมก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ด้วยว่า แม่น้ำเพชรบุรีก็ออกจะยาว ทำไมต้องจำเพาะเจาะจงเป็นน้ำจากท่าไชยศิริเป็นการจำเพาะ?

 

แต่ก็ไม่ใช่แค่พราหมณ์หรอกนะครับ ที่จะมีมนตราวิเศษที่ใช้ในการปลุกเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้ เพราะพระสงฆ์ท่านก็เสกน้ำมนต์สาดใส่พุทธบริษัทที่ไม่กลัวเสื้อผ้าหรือเนื้อตัวเปียก เพื่อเป็นสวัสดิมงคลบ้าง สะเดาะเคราะห์ล้างซวยบ้าง หรือแม้กระทั่งไล่ผี หรือขับเสนียดจัญไร แล้วแต่ใครจะเชื่อถือแบบไหนกันให้เห็นอยู่ดาษดื่น

แน่นอนว่า บรรดาแม่มดหมอผีในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์เอง ก็ปลุกเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยเหมือนกัน

เอาเข้าจริงแล้ว ความเชื่อเรื่อง “น้ำศักดิ์สิทธิ์” นั้น จึงมีอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นพราหมณ์ ผี หรือพุทธ อันเป็นศาสนาหลักๆ ของสังคมไทย ในโลกยุครัฐจารีต แถมในบางพระราชพิธียังมีการปลุกเสกน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา โดยมีการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาทั้งสามนี้มาประชุมอยู่โดยพร้อมเพียงกันอีกต่างหาก

พระราชพิธีที่ว่านี้ก็คือ พระราชพิธี “ศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” หรือที่ในปัจจุบันมักจะเรียกกันอย่างย่นย่อว่า “ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา”

 

ปราชญ์ระดับไฮเอนด์ของไทยอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายไว้อย่างน่าเชื่อถือว่า ชื่อพระราชพิธีที่เรียกว่า “ถือน้ำพระพิพัฒน์” เป็นความเข้าใจผิดในสมัยหลัง แต่เดิมควรจะเป็น “แช่งน้ำพระพัทธ์” ในคำว่า “พัทธ” นั้น แปลว่า “ผูกมัด” โดยได้เปรียบเทียบกับจารึกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ของเขมรโบราณว่า มีพิธี “พระพัทธประติชญา” โดยคำว่า “ประติชญา” นั้นแปลว่า “สาบาน” ซึ่งเข้ากันได้ดีมากกว่าคำว่า “พิพัฒน์” ซึ่งหมายถึง “ความเจริญรุ่งเรือง” หรือ “ก้าวหน้า”

พระราชพิธีถือน้ำฯ มีหนังสือโบราณเล่มหนึ่งซึ่งถูกใช้ประกอบในพิธี โดยจิตรสันนิษฐานว่า หนังสือเล่มนี้ควรจะแต่งขึ้นก่อนพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1893 ไม่ถึงร้อยปี คือหนังสือ “โองการแช่งน้ำ”

ชื่อก็บอกอยู่แล้วนะครับว่า เป็นการ “แช่ง” เพราะเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อให้ข้าราชบริพารกระทำสัตย์สาบานด้วยการ “ถือน้ำ” คือดื่มน้ำสาบานว่าจะไม่คิดคดทรยศต่อพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ชื่อของพระราชพิธีนี้ แต่เดิมจึงควรจะเป็น “พระพัทธ์” มากกว่า “พระพิพัฒน์” อย่างที่จิตรได้เสนอเอาไว้นั่นแหละ

และก็เป็นในหนังสือโองการแช่งน้ำนี่เอง ที่มีการกล่าวอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาทั้ง ผี-พราหมณ์-พุทธ มาเป็น “พยาน” มาร่วมในพิธีแช่งน้ำพระพัทธ์ ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

พระราชครูวามเทพมุนี เชิญ พระแสงศร อ่านโองการ ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา 25 มีนาคม พ.ศ. 2512

บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการอัญเชิญตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือโบราณเล่มนี้ จะเรียงลำดับตั้งแต่อัญเชิญ “พระกำปู่เจ้า” มาเป็นลำดับแรก

จากนั้นจึงค่อยอัญเชิญ “พระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์” ถัดมาเป็นการอ้างชื่อเทพยดาทั้งหลายในโลก ตั้งแต่พระพรหม ซึ่งมีความหมายโดยนัยสื่อถึงพรหมโลก และ “ฟ้าชรแร่งหกคลอง” คือ ฉกามพจรภพทั้งหก ตามปรัมปราคติในพุทธศาสนาเถรวาท โดยเน้นถึงเทพเจ้าที่สำคัญคือ “ฟ้าฟัดพรีใจยัง” คือ พระอินทร์ผู้ครองดาวดึงส์พิภพ และ “สี่ปวงผีหาว” ที่หมายถึงท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ แห่งสวรรค์ชั้นแรกคือจาตุมหาราชิกา ออกมาเป็นพิเศษ

จากนั้นจึงมาถึงส่วนของ “เจ้าผา” ต่างๆ (ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายผีแน่) ก่อนที่จะอัญเชิญ “ยมราช” ผู้ปกครองนรกภูมิ แล้วค่อยเอ่ยเชิญเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการสร้างจินตกรรมเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของ “จักรวาลวิทยา” (Cosmology) แบบปรัมปราคติที่สัมพันธ์อยู่ในอุษาคเนย์โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น “ขุนกล้าแกล้วขี่ยูง” (พระขันทกุมาร) ‘สิบหน้าเจ้าอสูร’ (ทศกัณฐ์) “พระรามพระลักษณ์ชวักอร” เป็นต้น

เห็นได้ชัดว่าในบรรดารายชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอัญเชิญมาในโองการแช่งน้ำเหล่านี้ มีการประสมประสานอำนาจเหนือธรรมชาติจากความเชื่อหลายแหล่งปะปนกัน ทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในศาสนาพุทธ, เทพพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาผีพื้นเมือง

 

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายนั้นมาเพื่อเป็นพยานในพิธีของกษัตริย์ ผู้ทรงถือพระองค์ว่านับถือพระพุทธศาสนาแน่ และในพร้อมกันนี้เอง ก็ย่อมเชื่อกันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ได้ดลบันดาลให้ “น้ำ” ที่ถูกคมศาสตราวุธทั้งหลายซัดแทงลงไป พร้อมการบริกรรมโองการ เพื่อใช้ในการ “แช่งน้ำ” ให้กลายเป็น “น้ำศักดิ์สิทธิ์” เพื่อให้ข้าราชบริพารดื่มนั้น ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีกด้วย

ยิ่งถ้าเมื่อน้ำเหล่านี้มีที่มาจากแหล่งน้ำที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์เป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากตาน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือน้ำที่ผ่านมาจากชุมชนของพ่อพราหมณ์ทั้งหลายแล้วด้วย น้ำที่ใช้ในการแช่งนั้นก็จะยิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าไปใหญ่

ก็ทำนองเดียวกันกับน้ำที่ถูกนำมาใช้ในการชักนาคดึกดำบรรพ์ เพื่อให้ได้น้ำอมฤต อย่างที่ผมได้เล่าไว้ในตอนที่แล้วนั่นแหละครับ

และก็ย่อมจะเป็นเช่นเดียวกันในพระราชพิธีอื่นๆ ที่มีน้ำศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนประกอบด้วย

เฉพาะในกรณีของการแช่งน้ำนั้น น้ำที่ไหลผ่านมาจากตาน้ำ หรือแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละเมืองย่อมมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะในแหล่งน้ำเหล่านั้นย่อมมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ไม่ว่าจะถูกจับยัดเข้าไปอยู่ในศาสนาใดก็ตาม) ของเมืองที่ข้าราชบริพารที่เข้ามากระทำการสัตย์สาบานร่วมอยู่ด้วย

น้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยตัวของน้ำเอง แต่มีที่มาจากความศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาของแหล่งน้ำ หรือศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยพิธีกรรมต่างๆ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อของแต่ละสังคมนั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ