ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
เรียนจบปริญญาตรีโบราณคดีไม่มีงานทำ และคณะโบราณคดีจะถูกยุบทิ้ง เป็นความว้าวุ่นของนักศึกษาทั้งเก่าและใหม่ไม่เป็นสุข ในบรรยากาศอึมครึมของโบราณคดี เมื่อ 58 ปีที่แล้ว เรือน พ.ศ.2509
ส่วนอาจารย์ประจำไม่เป็นทุกข์ (แม้ไม่มีงานวิชาการ) เพราะเป็นข้าราชการประจำมีหลักประกันมั่นคงแล้ว เงินเดือนขึ้นทุกปี
[เมื่อพูดถึงอาจารย์ที่ไม่มีผลงานวิชาการ หมายถึงบรรดาอาจารย์ที่จบปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี แล้วได้เป็นอาจารย์ประจำสมัยนั้นจากความใกล้ชิดผู้บริหาร (ตามที่นักศึกษาโบราณคดีแฉผ่านสื่อมวลชนเมื่อไปพบนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2508) เพราะไม่มีระบบคัดกรองทางวิชาการตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น จึงไม่หมายถึงอาจารย์ที่จบจากมหาวิทยาลัยอื่น และอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตที่เชิญจากหน่วยงานกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยอื่นๆ]
ดังนั้น ทุกวันช่วงบ่าย-ค่ำ ศิษย์เก่าที่ตกงานจะแวะเวียนไปวังท่าพระ ปรับทุกข์กับนักศึกษาที่กำลังเรียนซึ่งก็ได้แต่ปรับทุกข์เท่านั้น แต่แก้ไขอะไรไม่ได้
นักศึกษาที่กำลังเรียนกลุ่มหนึ่งกับอาจารย์บางคนที่นักศึกษากลุ่มนั้นไว้ใจร่วมกันปรึกษาหาแนวทางคลี่คลายสถานการณ์ และหาทางออกร่วมกัน ด้วยการทบทวนวิถีเป็นจริง (สมัยนั้นไม่เปิดช่องให้นักศึกษามีส่วนร่วมการแก้ปัญหาไม่ว่าเรื่องอะไร)
ปัญหาของโบราณคดี
โบราณคดีตั้งแต่แรกก่อตั้งสังกัดกรมศิลปากร เรียนหนักไปทางประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือจะเรียกก็ได้ว่าประวัติศาสตร์ศิลปะคือแก่นแท้หรือหัวใจของการเรียนการสอนโบราณคดี ถ้าจะให้ถูกต้องตามเนื้อหาการเรียนการสอนต้องเรียกคณะประวัติศาสตร์ศิลปะ
นักศึกษาโบราณคดีต้องเรียน “เต็มวัน จันทร์-เสาร์” เหมือนนักเรียนมัธยมจดตามคำบอกของครูและต้องเรียนทุกวิชาที่อาจารย์กำหนด ตั้งแต่ประวัติศาสตร์และก่อนประวัติศาสตร์ ไม่มีวิชาเอก และไม่มีวิชาโท
ส่วนวิชาเลือก มีเฉพาะชุดภาษาเท่านั้น ได้แก่ ชุดภาษาตะวันออกให้เลือกบาลีหรือสันสกฤต และชุดภาษาตะวันตกให้เลือกอังกฤษหรือฝรั่งเศส
หลักสูตรโบราณคดีที่ใช้ในการเรียนการสอนโดยโครงสร้างหลักเป็นอย่างเดียวกันตั้งแต่ก่อนอยู่มหาวิทยาลัยกระทั่งหลังอยู่มหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อถึงเวลาปัญหาก็ตามมาทีละเรื่องสองเรื่องจนประดังพร้อมกัน เมื่อ 58 ปีที่แล้ว พ.ศ.2509
(1.) นักศึกษาเรียนจบจากคณะโบราณคดีไม่มีงานทำ เพราะหน่วยงานทางราชการและเอกชน ต่างปฏิเสธรับเข้าทำงาน เพราะไม่รู้จักคณะนี้ และไม่รู้จักวิชาโบราณคดีคืออะไร?
(2.) มหาวิทยาลัยศิลปากรมีโครงการยุบคณะโบราณคดี เพื่อรวมกับคณะอักษรศาสตร์ที่จะตั้งใหม่ เพราะมีหลักสูตรการเรียนการสอนซ้ำซ้อนหรืออย่างเดียวกัน
โบราณคดี 2 แนวทาง
ยุบคณะโบราณคดีเป็นข่าวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นของอาจารย์และนักศึกษาสมัยนั้น (58 ปีที่แล้ว) แต่ข้อมูลข่าวสารถูกปิดลับ เพราะสังคมไทยอยู่ในอำนาจรัฐเผด็จการรวบอำนาจรวมศูนย์ ที่อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องสงบเสงี่ยมเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่ในโอวาท
ครั้งนั้นประสบการณ์ของอาจารย์ประจำส่วนมากในโบราณคดีมีไม่มาก เนื่องจาก “ปิดตัวเองจากสังคม” ทำให้ข้อมูลทางการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในสากลโลกมีอยู่จำกัด จึงหวั่นไหวไม่พร้อมเผชิญหน้าการเปลี่ยนแปลง
แต่ปัญหาอยู่ตรงหน้า ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดร่วมกันทั้งหมดว่าโบราณคดีจะไปทางไหน? ยืนหยัดแนวเดิมคือประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือปรับเปลี่ยนแนวสากล คือประวัติศาสตร์สังคม
วิกฤตยุบคณะโบราณคดีและเรียนจบแล้วไม่มีงานทำ เป็นโอกาสเผยให้รู้ความแตกต่างในความคิดวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่ผู้ถืออำนาจสมัยนั้นไม่เปิดช่องให้คิดต่าง หรือไม่เปิดพื้นที่ให้ดอกไม้ร้อยดอกบานพร้อมกันในอุทยาน อันเป็นต้นตอความขัดแย้งต่างๆ สมัยต่อๆ ไป ซึ่งสรุปสาระสำคัญโดยย่อต่อไปนี้
1. แนวประวัติศาสตร์ศิลปะ
ดำเนินเรื่องตามประวัติศาสตร์ไทย กระแสหลัก ซึ่งเป็น “ประวัติศาสตร์เชื้อชาติ” ที่เพิ่งแต่งใหม่หลัง พ.ศ.2482 (ราว 85 ปีที่แล้ว) โดยเชื่อว่ามีจริงเรื่องคนไทย “ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์” ดังนี้
(1.) ถิ่นกำเนิดในจีน ถูกเรียกสมัยหลังว่าแนวคิด “อัลไต-น่านเจ้า”
(2.) ถูกจีนรุกรานหนีลงไปตั้งถิ่นฐานดินแดนไทยปัจจุบัน ตกเป็นข้าของมอญและขอม
(3.) ปลดแอกจากขอมแล้วสร้างกรุงสุโขทัย เป็นราชธานีแห่งแรกของไทย เริ่มต้นประวัติศาสตร์ของคนไทยแท้ “ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์
(4.) หลังกรุงสุโขทัยเสื่อมสลายไป พระเจ้าอู่ทองอพยพไพร่พลหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทอง ไปสร้างเมืองใหม่ เรียกกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีแห่งที่สอง
ประวัติศาสตร์ไทย กระแสหลัก แบ่งสมัยตามประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยกำหนดให้สมัยสุโขทัยเริ่มต้นความเป็นไทยแท้ ส่วนก่อนสมัยสุโขทัยเป็นพวก “ไม่ไทย” ดังนี้
(1.) สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (2.) สมัยทวารวดี (3.) สมัยศรีวิชัย (4.) สมัยลพบุรี (5.) สมัยเชียงแสน (6.) สมัยสุโขทัย (7.) สมัยอยุธยา (8.) สมัยธนบุรี (9.) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
[มีผู้ทักท้วงเรื่องล้านนาอยู่เหนือสุโขทัย เมื่อคนไทยอพยพลงมาจากทิศเหนือต้องผ่านล้านนาก่อน ดังนั้น ล้านนาน่าจะเป็นคนไทยก่อนสุโขทัย ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะเลยเปลี่ยนท่าทีให้สมัยเชียงแสนเป็นไทยไปด้วย]
ประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยนั้นมีที่มาหลายแห่ง “ท่านอาจารย์” บอกไว้ในคำนำหนังสือ “ศิลปประเทศไทย” (พ.ศ.2513) ว่าได้รวบรวมข้อมูลจากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, บทความของ ศ.หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และบทความของนักปราชญ์ต่างประเทศบางท่านที่สนใจในวิชาโบราณคดีและศิลปะไทย เป็นต้นว่า ศ.ยอร์ช เซเดส์, ศ.ปิแอร์ ดูปองต์, และ ศ.จอง บวสเซอลีเย่
2. แนวประวัติศาสตร์สังคม
ดำเนินเรื่องตามหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีและวัฒนธรรมที่พบในประเทศไทย โดยไม่กำหนดเชื้อชาติ หรือไม่ให้เชื้อชาติมากำหนด (เพราะไม่เชื่อเรื่องเชื้อชาติ)
คนไทยเป็นลูกผสม จากการประสมประสานหลายชาติพันธุ์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาถูกเรียกว่าชาวสยาม ที่พูดภาษาไทยเป็นภาษากลาง
การเมืองระบบเครือญาติ จากการแต่งงานเป็นพี่น้องกัน ซึ่งไม่ใช่ระบบเมืองขึ้นแบบยุโรป
การศึกษาแนวนี้ให้ความสำคัญวิชามานุษยวิทยาตามหลักการสากล ซึ่งเป็นศาสตร์หลักที่แตกแขนงเป็นมานุษยวิทยากายภาพ และมานุษยวิทยาวัฒนธรรม โดยมีโบราณคดีอยู่ในมานุษยวิทยาวัฒนธรรม
ตรงนี้เองที่สร้างคามหงุดหงิดให้อาจารย์กลุ่มสุดโต่งทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลปะ แล้วเริ่มปลุกระดมต่อต้านวิชามานุษยวิทยา
อำนาจของประวัติศาสตร์ศิลปะ
ครั้งนั้นประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก ถูกชี้ขาดโดยประวัติศาสตร์ศิลปะ ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยถูกแบ่งสมัยตามสมัยประวัติศาสตร์ศิลปะ
สมัยสุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ไทย ของคนไทยแท้ เชื้อชาติไทย สายเลือดบริสุทธิ์ สมัยก่อนหน้าสุโขทัย – “ไม่ไทย”
ผู้คิดต่างจากนี้มีโอกาสถูกข้อหาไม่รักชาติ (และราชบัลลังก์) เข้าข่ายขายชาติ บางรายถึงขั้นถูกกล่าวหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งอาจมีโทษรุนแรงถูก “ขังลืม” (จิตร ภูมิศักดิ์ และนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หลายคนสมัยนั้น ถูก “ขังลืม” ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์) •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022