รัฐบาลเดิมพันแจก ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ลุ้น! ด่านสุดท้าย ‘ระบบเพย์เมนต์’ คลังงัดแผนสำรอง-ธปท.เตือนจุดเสี่ยง

นับถอยหลังโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายเรือธงของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศจะแจกเงินให้ประชาชนใช้จ่ายภายในไตรมาส 4 ปี 2567 ซึ่งก็เท่ากับเหลือเวลาอีก 5 เดือนสำหรับการรอคอยของประชาชน

แม้ว่าจะใช้เวลาอย่างมากในการฝ่าด่านอุปสรรคหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่แหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะมาแจกให้กับประชาชน 50 ล้านคน ก็มีการปรับเปลี่ยนแผนมาตลอดทาง เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายต่างๆ

อย่างไรก็ดี จนถึงวันนี้ ที่แม้ว่ากระทรวงการคลังแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เมื่อ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่มีความชัดเจน

ความชัดเจนที่ประกาศเมื่อ 24 กรกฎาคม คือให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต บนแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ตั้งแต่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 ส่วนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟนอยู่ระหว่างเตรียมการในระยะต่อไป (16 กันยายน-15 ตุลาคม 2567) และจะเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ เมื่อเริ่มดำเนินโครงการแล้ว จะก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ 4 ลูก

พายุลูกที่ 1 การใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็ก ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังฐานรากพร้อมกันทั่วประเทศ

พายุลูกที่ 2 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดเล็กกับร้านค้าขนาดใหญ่

พายุลูกที่ 3 การใช้จ่ายระหว่างร้านค้าขนาดใหญ่กับร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการต่อยอด สร้างโอกาสในการลงทุน

และพายุหมุนลูกที่ 4 พลังการใช้จ่ายของประชาชนแต่ละคนจะเกิดผลต่อการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นทวีคูณ ช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของประเทศ

อย่างไรก็ดี ในการแถลงข่าวยังไม่มีการกล่าวถึงวันที่จะเติมเงินหรือวันที่จะเปิดให้ใช้จ่ายได้ และไม่มีการชี้แจงถึงความคืบหน้าของการพัฒนาระบบชำระเงิน (ระบบเพย์เมนต์) แต่อย่างใด

ซึ่งก็เป็นประเด็นที่มีการตั้งข้อกังวลของหลายฝ่ายว่า “เพย์เมนต์ แพลตฟอร์ม” ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเสร็จทันใช้งานในไตรมาส 4 นี้หรือไม่

 

ขณะที่นายพิชัยให้สัมภาษณ์ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมว่า ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าคนจะมาลงทะเบียนเท่าไหร่ และวิธีการเติมเม็ดเงินก็มีหลายวิธี เติมเท่าไหร่ เติมกี่งวด เติมอย่างไร มีอะไรที่จะต้องคิดเพื่อไปประกอบกับการใช้งบประมาณของประเทศให้ได้ผลดีที่สุด

คำตอบของรัฐมนตรีคลังเป็นการตอกย้ำถึงแผนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่ายัง “ไม่มีความชัดเจน” และอาจปรับเปลี่ยนได้ตลอด จากเดิมที่รัฐบาลประกาศนโยบายจะเติมเงินให้ประชาชนครั้งเดียว 10,000 บาทภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อปั๊มหัวใจเศรษฐกิจ

แต่เนื่องจากขณะนี้ระบบชำระเงิน หรือ “เพย์เมนต์ แพลตฟอร์ม” ของดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้า และยังไม่ได้ประกาศทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบกลางเพื่อที่จะให้สถาบันการเงินต่างๆ มาเชื่อมต่อ

ขณะที่เวลาเหลืออย่างจำกัด

 

แหล่งข่าวในกระทรวงการคลังระบุว่า เรื่องนี้เป็นที่กังวลของทุกฝ่าย รวมถึงระบบลงทะเบียนซึ่งทาง DGA จะมีการทดสอบระบบในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนที่จะเปิดลงทะเบียน 1 สิงหาคมนี้ ก็ยังต้องลุ้นว่าถ้าประชาชนแห่เข้ามาลงทะเบียนพร้อมกันมากๆ จะมีปัญหาระบบล่มเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงระบบความปลอดภัยข้อมูลต่างๆ ก็ยังเป็นประเด็น

และที่ถือเป็นโจทย์สำคัญด่านสุดท้ายของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คือ “ระบบเพย์เมนต์” ที่จะต้องเชื่อมกับโมบายแบงกิ้งของสถาบันการเงินต่างๆ

เพราะถึงแม้การพัฒนาระบบเพย์เมนต์เสร็จทันในไตรมาส 4 แต่สิ่งสำคัญคือการทดสอบระบบต่างๆ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานทรานแซคชั่นได้พร้อมๆ กันจำนวนมาก อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยเฉพาะเรื่องระบบความปลอดภัยไซเบอร์ ที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวมของประเทศ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกังวล

“ถ้ารัฐบาลยังยืนยันจะเติมเงินและเปิดให้ใช้ภายในไตรมาส 4 ก็อาจจะต้องเป็นช่วงปลายเดือนธันวาคมเลย และเพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุดก็มีแผนที่จะปรับแผนการเติมเงินเป็น 2 งวด คือ งวดแรกอาจจะเป็น 1,000 บาท เพราะในกรณีที่ระบบเพย์เมนต์มีปัญหายังจำกัดความเสียหายและความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง และถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ค่อยเติมเงินส่วนที่เหลือ” แหล่งข่าวกระทรวงการคลังระบุ

เพราะในฟากของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ก็ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดสเปก/เงื่อนไขต่างๆ จาก DGA จึงกังวลว่าการพัฒนาระบบเชื่อมต่อจะไม่สามารถเสร็จสิ้นทันในปีนี้ หรือแม้จะพัฒนาระบบเสร็จทัน แต่สิ่งสำคัญคือการทดสอบประสิทธิภาพตามข้อกำหนดหรือไม่ รวมถึงการทดสอบระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้

 

เรื่องนี้ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายถึงประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ระบุถึงประเด็นข้อกังวลของระบบเติมเงินผ่าน Digital Wallet ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ DGA เนื่องจากระบบเติมเงินจะต้องรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และลักษณะเป็นระบบเปิด (open loop) ที่ต้องเชื่อมโยงกับธนาคารและ nonbank เป็นวงกว้าง

โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย, ความถูกต้องน่าเชื่อถือ และความมีเสถียรภาพพร้อมใช้งานได้ต่อเนื่อง รวมทั้งมีการบริหารจัดการต้าน IT Governance ตามมาตรฐานสากล

ผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุถึงประเด็นที่ควรพิจารณาตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งานของระบบเติมเงิน 3 ประเด็นหลัก

1. ระบบลงทะเบียน เพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบการ และการพิสูจน์ยืนยันตัวตน

นอกจากสามารถรองรับการลงทะเบียนพร้อมกันของผู้ใช้งานจำนวนมากได้ ต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไขและความปลอดภัยของระบบ ต้องได้มาตรฐานเทียบเคียงกับบริการในภาคการเงิน

คือต้องสามารถป้องกันความเสี่ยงการ “ถูกสวมรอย” หรือใช้เป็นช่องทางการทำทุจริตหรือทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย

2. ระบบตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติรายการชำระเงิน บันทึกบัญชี และอัพเดตยอดเงิน เมื่อมีการใช้จ่ายหรือถอนเงินออกจาก Digital Wallet ต้องสามารถรองรับการตรวจสอบหากเกิดปัญหาการชำระเงินไม่สำเร็จหรือเกิดข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว

และต้องมีการทดสอบระบบก่อนใช้จริง ต้องทำอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานการพัฒนาระบบชำระเงิน ตั้งแต่ตัวระบบ การทำงานร่วมและเชื่อมต่อกับระบบอื่น ไปจนถึงการใช้งานของประชาชนและร้านค้า เพื่อให้มั่นใจระบบดำเนินการได้ถูกต้อง ปลอดภัย รองรับการใช้งานจำนวนมากได้

3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำและนำส่งพิมพ์เขียวที่แสดง system architecture ของเพย์เมนต์ แพลตฟอร์ม ให้ธนาคารและ nonbank โดยเร็วที่สุด เพื่อให้สถาบันการเงินเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบการเชื่อมต่อระบบชำระเงินให้ทันตามกำหนด

นอกจากนี้ ดร.เศรษฐพุฒิระบุว่า ผู้รับผิดชอบโครงการต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มเปิดให้ประชาชนใช้บริการ เพื่อสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่างๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เนื่องจากการเชื่อมต่อ payment platform กับโมบาย แอพพลิเคชั่น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบไอทีของสถาบันการเงิน อย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง

 

นั่นหมายความว่าอย่างช้าระบบต้องเรียบร้อยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม เพราะแบงก์ชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ในการสอบทานผลการทดสอบความเสี่ยงต่างๆ ก่อนให้เปิดให้บริการ

เพราะหากมีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องแก้ไขก็ต้องใช้เวลาอีก

และถ้าทุกอย่างยังเดินหน้าต่อได้ แต่เพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงตามแผนสำรองของกระทรวงการคลัง

ประชาชนก็อาจจะได้เงินรอบแรก 1,000 บาทช่วงปลายปีเพื่อไม่ให้ผิดสัญญา และส่วนที่เหลือก็อาจจะเป็นของขวัญปีใหม่ก็เป็นได้