อันเนื่องมาจากกรณี Thai Bev (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เกี่ยวกับกระแสคลื่น การปรับตัวครั้งใหม่ เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย

ภาพอันเชื่อมโยงกัน โดยจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สะท้อนกระแสและแนวโน้มบางมิติ เป็นปรากฏการณ์หนึ่งในสังคมธุรกิจไทยที่น่าติดตาม

จากกรณีใหญ่ เมื่อบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF (ชื่อย่อในตลาดหุ้น) และบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH รายงานตลาดหุ้นไทย ว่าด้วยแผนการควบรวมกิจการกัน (16 กรกฎาคม 2567)

อีก 2 วันถัดมา (18 กรกฎาคม 2567) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Bev ได้รายงานต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ (Singapore Exchange Limited -SGX) ว่าด้วยดีลกิจการเครือทีซีซี ในแผนการแลกหุ้น (Share Swap Agreement) เกี่ยวข้องกับอีก 2 บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ -Fraser and Neave Limited หรือ F&N และ Frasers Property Limited หรือ FPL

มีบางมิติพาดพิง อ้างอิงข้อมูลสื่อระดับโลก (www.forbes.com) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าด้วยโฉมหน้าผู้มั่งคั่งไทย ในทำเนียบ Thailand’s 50 Richest 2024 จากรณี สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้นำ GULF ผู้ร่ำรวย อยู่ในอันดับ 5 ถึง เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้นำกลุ่มทีซีซี ผู้ร่ำรวยอันดับ 3 ด้วยความมั่งคั่งระดับ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

หากเทียบเคียงผู้นำกับธุรกิจในเครือข่าย เจริญ สิริวัฒนภักดี กับกลุ่มทีซีซี ซึ่งมีสินทรัพย์สำคัญอยู่ในสิงคโปร์ด้วย สะท้อนผ่านดัชนีความมั่งคั่งส่วนตัวซึ่งนำเสนอไว้ ในช่วงราว 2 ทศวรรษมานี้ แสดงให้เห็นภาพเพียงรักษาระดับเดิมไว้ แม้ในช่วงเวลาดังกล่าว มีดีลมากมาย มีการซื้อกิจการเข้ามาในเครือข่าย ขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอย่างจริงจังด้วย

โดยเฉพาะปีล่าสุด ความมั่งคั่งได้ลดลงจากปีก่อนหน้าพอสมควร

 

ในตอนนี้ ความเชื่อมโยงยังไม่สำคัญ เท่ากับภาพที่เป็นไปอย่างจริงจัง มิใช่เพียงเห็นอย่างผ่านๆ

ว่าเฉพาะดีล Thai Bev ข้างต้น มีสาระสำคัญอยู่ที่ Thai Bev เพิ่มการถือครองหุ้นใน F&N ให้มีสัดส่วนมากขึ้น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด จากสัดส่วนเดิม 28.31% เป็น 69.61% ขณะเดียวกันโอนหุ้นทั้งหมดใน FPL ออกไป จากที่เคยถือไว้ในสัดส่วน 28.78%

ภาพใหม่ Thai Bev จะมีเครือข่ายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายกว่าเดิม มีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมในภูมิภาคมากขึ้น ตามจินตนาการที่วาดไว้แต่แรก เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว

 

ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่าง Thai Bev F&N และ FPL ที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างธุรกิจใหญ่เครือทีซีซี และแนวทางธุรกิจซึ่งปรับเปลี่ยนไปมา และที่สำคัญสะท้อนการวางบทบาทและการจัดสรรธุรกิจภายในครอบครัวสิริวัฒนภักดี ด้วย โดยเฉพาะระหว่างบุตรชาย 2 คน – ฐาปน สิริวัฒนภักดี กับ ปณต สิริวัฒนภักดี

ปี 2546 ช่วงการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในธุรกิจครอบครัวสิริวัฒนภักดี ภายใต้เครือข่าย-กลุ่มทีซีซี Thai Bev ก่อตั้งขึ้น เป็นหนึ่งในกิจการและธุรกิจหลัก ได้ผนึกรวมกิจการเกี่ยวข้องกับธุรกิจเบียร์และสุราในไทย โดยให้ ฐาปน สิริวัฒนภักดี บุตรชายคนโต (ไม่ใช่คนแรก) เข้าดูแลและบริหารงาน

ต่อมาในปี 2549 Thai Bev ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการแผนการเข้าตลาดหุ้นไทย

 

นับเป็นแผนการเชิงบังคับ กลับเป็นโอกาสที่เปิดกว้าง ไม่นานจากนั้น กลุ่มทีซีซีเดินแผนการใหญ่บุกเบิกธุรกิจภูมิภาคครั้งใหญ่ครั้งแรกๆ ด้วยการเข้าซื้อกิจการ F&N (ปี 2556) กิจการเก่าแก่เป็นตำนานแห่งสิงคโปร์ เป็นดีลครึกโครมตื่นเต้น ใครๆ มองออกว่า เป็น “จิ๊กซอว์” สำคัญ ให้ Thai Bev ขยายพรมแดนธุรกิจให้กว้างขวาง ด้วยในเวลานั้นได้กว้านซื้อกิจการอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยไปหลายแห่ง

ความมุ่งมั่นซึ่งเห็นได้ชัด ในแผนการเข้าสู่ธุรกิจซึ่งไม่มีแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ F&N บริษัทใหญ่ในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายกับกลุ่มทีซีซี มีธุรกิจสำคัญอย่างน้อย 2 ประเภทเหมือนกัน คือ เบียร์ และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ F&N มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เป็นธุรกิจหลักสำคัญ แต่ทีซีซีและ Thai Bev ไม่มี

แต่ในเวลานั้น กลุ่มทีซีซีกลับตัดสินใจเลือกแค่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กับอสังหาริมทรัพย์ ขณะได้ปล่อยธุรกิจเบียร์หลุดมือไป

 

อ้างอิงข้อมูลจากรายงานล่าสุดที่เสนอต่อตลาดหุ้นสิงคโปร์ (หัวข้อ “Conditional Share Swap Agreement…” ความยาว 24 หน้า) มองเห็นโครงสร้างเครือทีซีซี อันซับซ้อน และดูยังไม่ลงตัวเท่าที่ควร ด้วยปรากฏว่าก่อนมีดีลข้างต้น แม้ได้ผ่านมาราว 2 ทศวรรษ Thai Bev คงถือหุ้นข้างน้อย (28.31%) ใน F&N ขณะอีกบริษัทหนึ่งถือหุ้นใหญ่ที่สุด (58.90%)

นั่นคือ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด เรียกย่อๆ ว่า TCC Assets ก่อตั้งเมื่อปี 2556 จากข้อมูลรายงานต่อ SGX ว่าเป็นบริษัทลงทุน (Investment Holding Company) ในเครือทีซีซี ก่อตั้งที่ British Virgin Islands เป็นที่รู้กันว่า เป็นอีกช่วงอันกระชั้นในการปรับโครงสร้างธุรกิจในครอบครัวสิริวัฒนภักดี ให้มีอีกปีกหนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นาม TCC Assets -กลุ่มธุรกิจใหม่ กับแผนการอันโลดโผน บริหารโดยบุตรชายคนสุดท้อง-ปณต สิริวัฒนภักดี

เท่าที่ทราบ เฉพาะในไทย เป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ในหลายพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ โดยเฉพาะย่านพระราม 4 ที่สำคัญเป็นพิเศษคือ โครงการ One Bangkok บนที่ดิน 104 ไร่หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนถึง 1.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ มีแผนการใหญ่อันซับซ้อนพอควร เข้าเกี่ยวข้องกับ Frasers Property Limited (FPL) โดยตรง FPL ก่อตั้งในสิงคโปร์กว่า 3 ทศวรรษ (ปี 2531) ในชื่อเดิม Frasers Centrepoint Limited (FCL) ค่อยๆ ขยายกิจการกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ต้อมาเข้ามาอยู่ในเครือข่าย Fraser and Neave หรือ F&N (ปี 2533) หลังจากนั้นแผนการขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศเป็นไปอย่างแข็งขัน

เมื่อกลุ่มทีซีซีซื้อกิจการ F&N ได้กลายเป็นเจ้าของ FPL ด้วย ตามแผนการใหม่ โดยเจ้าของใหม่ ให้ FPL พ้นฐานะในเครือ (subsidiary) ของ F&N ในปี 2556 จากนั้นได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ต่างหากในปีถัดมา

ต่อมาไม่นานนัก ปณต สิริวัฒนภักดี ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหาร FPL อย่างเต็มตัว (ปี 2559)

 

ช่วงกระชั้นจากนั้น Frasers Property (Thailand) หรือ FPT ได้ปรากฏขึ้น ในฐานะกิจการในเครือ FPL แห่งสิงคโปร์ เปิดฉากเข้าซื้อบริษัทหนึ่งในตลาดหุ้นไทยแล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น FPT แผนการเป็นไปค่อนข้างเงียบ เมื่อต้นปี 2562 ตามยุทธศาสตร์เข้าตลาดหุ้นไทยทางลัด ที่เรียกว่า Backdoor listing ตามมาด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างคึกคัก ด้วยดีลซื้อกิจการและธุรกิจอย่างเดียวกัน ผนวกกันเป็นระลอก

ปัจจุบัน FPL ถือเป็นกิจการเกี่ยวข้องอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก มีเครือข่ายสำนักงานให้เช่า ค้าปลีก โรงแรม ที่พักอาศัย สวนอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์ ครอบคลุมในเอเชีย-แปซิฟิก และยุโรป มากกว่า 20 ประเทศ

ทั้งนี้ ที่สำคัญที่ผ่านมา ปรากฏโครงสร้างการถือหุ้นและบริหารกิจการสำคัญที่อ้างถึง เป็นไปค่อนข้างซับซ้อน โดย TCC Assets มีบทบาทค่อนข้างมาก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด ทั้ง F&N (58.90%) และ FPL (58.10%) ขณะที่ Thai Bev ถือหุ้นในสัดส่วนรองลงมา (28.31% และ 28.78%1 ตามลำดับ)

เมื่อดีลใหม่เป็นไปแล้ว TCC Assets จะมีโฟกัสธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรและครอบคลุมเชิงภูมิศาสตร์อย่างที่ควรเป็นเช่นเดียวกัน

กลุ่มทีซีซีกับแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ครั้งใหม่ เกี่ยวกับธุรกิจหลักสำคัญ ให้ “เข้าที่เข้าทาง” เป็นไปได้ว่ามาจากแรงบีบคั้นทางธุรกิจอย่างเข้มข้นทีเดียว •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com