ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เปลี่ยนผ่าน |
เผยแพร่ |
“สาแก่ใจยิ่งนัก ขอบคุณปลาหมอคางดำมากที่มันไปโผล่กรุงเทพฯ เพราะพวกดิฉันเนี่ยสู้กันมาตั้งแต่ปี 2554 ว่าไอ้ปลาตัวนี้มันมาจากไหน ยังไง นั่นแหละเจ๊งกันมาตั้งแต่ปีนั้นๆ ทยอยเจ๊งกันเรื่อยมา แต่ไม่มีใครฟังเลย
“มันร้ายแรงเกินความคาดหมาย เกิดมาจนอายุ 63 ปี ไม่เคยเจออะไรขนาดนี้มาก่อน พูดดีๆ แล้วโลกมันไม่จำ แม้แต่นักข่าวก็ไม่สนใจ มันต้องพูดอย่างดิฉันนี่แหละ ให้โลกมันจำว่า เฮ้ย! มันมีคนเดือดร้อนอยู่จริง”
นี่คือเสียงสะท้อนที่เต็มไปด้วยอารมณ์อัดอั้นโกรธเคืองของ “บุญยืน ศิริธรรม” พลเมืองชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ต่อปัญหาว่าด้วยเรื่องเอเลี่ยนสปีชีส์อย่าง “ปลาหมอคางดำ” ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวประมงไทยในบางพื้นที่มานานเกินกว่าสิบปี
ทว่า กลับไม่มีใครรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนผู้เดือดร้อนเหล่านั้น ขณะที่ระบบกฎหมายไทยก็จับได้แค่ผู้กระทำผิดระดับ “แมลงหวี่แมลงวัน” แต่จัดการต้นตอปัญหาระดับ “พญาอินทรี” ไม่ได้
“จุดเริ่มต้นของปัญหาอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ณ วันนี้ คุณออกมาโพ้งเพ้งๆ รับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท แต่ที่ (จังหวัด) ต้นเหตุของปัญหายังไม่ได้ทำอะไรสักจุดหนึ่งเลย หมายความว่ายังไม่มีที่รับซื้อ ถามเลยวันนี้ (ที่) สมุทรสงคราม ตรงไหนรับซื้อปลาหมอคางดำ? คุณยังไม่เคยรับซื้อเลยสักตัวหนึ่ง แล้วคุณจะแก้อะไร?
“ปัญหาพวกนี้มันแก้ด้วยน้ำลายไม่ได้ ฟังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พูด เราจะต้องจัดการ เราต้องตั้งคณะกรรมการมา ต้องรู้ผลภายใน 7 วัน ถ้าเราสืบได้ว่าใครเป็นคนนำเข้า ผมไม่สนใจใครทั้งนั้น
“ก็เลยบอกไปว่า เราไม่สนใจในสิ่งที่คุณพูด แต่เราอยากดูสิ่งที่คุณทำ ทำสิ จะมาพูดอย่างเดียวทำไม
“คุณก็รู้ว่าคณะกรรมการสิทธิฯ กว่าจะตรวจสอบ กว่ากระบวนการจะนู้น นี้ นั้น กว่าจะมีรายงานออกมาหลายปีมาก จนรายงานมันออกมา มันถึงจะเปิดสมองคนในประเทศนี้ว่า มันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น
“ถ้าปลาหมอ (คางดำ) มันไม่ไปโผล่กรุงเทพฯ คุณคิดว่าพวกเราจะเหนื่อยแค่ไหน? ถึงได้บอกขอบใจมัน มันไปซะที ไปให้รู้ซะบ้าง
“เคยไปบอกกับเครือข่ายชายฝั่งของสมุทรสาครว่า ขณะนี้บ้านเกิดการระบาดปลาหมอสีคางดำ เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงคราม อันตรายมากนะ เครือข่ายพี่น้องชายฝั่งบอกว่า โอ๊ย! สมุทรสาครไม่กลัวหรอก มาสิ จะจับทำแดดเดียวให้หมดเลย กินให้หมดสิ ตอนนี้กินให้หมด มันอันตรายกว่าที่ใครคิดไว้มากมายนัก
“มันร้ายแรงเกินความคาดหมาย เกิดมาจนอายุ 63 ปี ไม่เคยเจออะไรขนาดนี้มาก่อน ที่ว่าทำลายล้าง อันนี้ทำลายล้างแบบล้างเผ่าพันธุ์”
บุญยืนเล่าถึงประสบการณ์การต่อสู้เรื่องปัญหา “ปลาหมอคางดำ” มาอย่างยาวนาน และมุมมองที่ว่าผู้มีอำนาจรัฐยังไม่ได้มีมาตรการจัดการปัญหาข้างต้นอย่างเข้มข้นเป็นรูปธรรมสักเท่าใดนัก
ขณะเดียวกัน เธอยังวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ความมือไม้อ่อน” ของผู้รับผิดชอบในระบบราชการ ที่เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถ “ทำร้าย” ประชาชนได้
“อธิบดี ขณะที่ลงมือเซ็น คุณถืออำนาจรัฐในนามอธิบดีใช่ไหม? มันจะเอา (ปลาหมอคางดำ) เข้ามาได้หรือไม่ได้ มันจะมาทำลายสิ่งแวดล้อมได้-ไม่ได้ อยู่ที่ปลายปากกาของคุณ นี่คุณเซ็นไปแล้ว ไม่ใช่คุณเกษียณไปแล้วทุกอย่างมันจบ เพราะฉะนั้น คุณต้องรับผิดชอบ ถ้าชอบก็รับกันใช่ไหม เวลาผิดให้ประชาชนรับ นี่มันคืออะไรของประเทศไทย?
“กระทรวงเกษตรฯ เติบโตไปเป็นอธิบดี ปลัด ไปร่ำไปรวย เกษตรกรเคยดีขึ้นบ้างไหมล่ะ? ดิฉันกำลังจะถามว่ามีกระทรวงเกษตรฯ ไว้เพื่อ? มีกรมประมงไว้เพื่อ? เพื่อทำลายสิ่งแวดล้อมเหรอ? เพื่อทำลายพันธุ์ปลาใช่ไหม?
“ดิฉันอยู่กับประมงมาตลอดชีวิต ถ้าจะไปขอพันธุ์ปลาปล่อย ไม่เคยมีงบประมาณที่จะปล่อยลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ งบประมาณมีไว้แค่ปล่อยวันสำคัญๆ ถ้าคุณไปขอนอกเหนือจากนั้น ว่าไอ้ตัวนี้มัน (มีจำนวน) น้อยลง เราควรไปวางแผนกับเขา นี่ไม่ได้เลยนะ เขาวางแผนไว้แล้วว่าจะปล่อยวันนั้นเท่านี้ตัว วันนี้เท่านี้ตัว คือมันไม่ได้ช่วยอะไรระบบแวดล้อมเลย
“ไอ้ที่ปล่อยลงไปนี่ภาษีเรานะ”
บุญยืนยังทวงถามถึงวิธีการแก้ปัญหา “ปลาหมอคางดำ” ที่จริงจังมากกว่ามุขตลกเรื่องการจับสัตว์น้ำสายพันธุ์นี้ไปทำอาหารกิน
“ไอ้เรื่องกินนี่อย่ามาพูดนะ เพราะว่าดิฉันเป็นชาวประมง กินอยู่แล้ว รู้อยู่แล้วว่าปลามันกินได้ เฮ้ย! คนไทยไม่ได้โง่ ปลามันไม่ได้มีพิษ แต่ว่ามันเป็นปลาที่ล้างผลาญเผ่าพันธุ์ปลาด้วยกัน เผ่าพันธุ์สัตว์น้ำด้วยกัน
“ขณะนี้ ถามหน่อยใครจะรับผิดชอบ? วันนี้หอยหลอดลดน้อยลงเพราะปลาหมอคางดำมันออกไป ตอนนี้ออกไปรุนเคยเอามาทำกะปิ ปรากฏได้แต่ปลาหมอ ปลาหมอมันกินเคยหมด อีกหน่อยมันจะไม่มีกะปิจะกิน
“คุณไม่ต้องไปเร่งรีบหรอกว่า เอ๊ย! คุณเอาปลา (หมอคางดำ) มากิน อีกหน่อยคุณจะไม่เหลืออะไรกินเลย คุณจะต้องกินคางดำ อยากกินหรือไม่อยากกิน คุณก็ต้องกินไอ้ตัวนี้ เพราะมันจะเหลือตัวเดียวให้คุณกิน”
เช่นเดียวกับกลยุทธ์ใช้ “ปลากะพงกินปลาหมอคางดำ” ที่ตัวแทนชาวประมงจากสมุทรสงคราม มองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่โฆษณากัน
“คุณไม่ต้องมาแบบ แหม ผ่าปลากะพงดูเจอปลาหมอคางดำในท้อง ปลามันกินปลาอยู่แล้ว นั่นคืออาหารของมัน แต่มันพอไหมล่ะ?
“ในขณะที่เขา (ชาวประมงท้องถิ่น) เลี้ยงปลากะพงตัวใหญ่ด้วยนะ เขาไม่ได้ปล่อยปลาสี่นิ้วปัญญาอ่อนอย่างที่ทำขณะนี้ คือปลาใหญ่เขาปล่อยเป็น 4-5 พันตัว แล้วเขาก็ไม่ได้เลี้ยงปลาหมอ (คางดำ) ปรากฏปลาหมอมันเข้าไปกับน้ำ เลี้ยงไปเลี้ยงมา เหลือปลากะพงไม่ถึงพันตัว มีแต่ปลาหมอทั้งนั้นเลย มันพอจะชี้ได้ไหม
“ดิฉันไม่ใช่ (ผู้รู้) ทฤษฎี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือปลากะพงจำนวนน้อยไม่สามารถจัดการปลาหมอจำนวนมากได้”
“(ปัญหา) หนักหนาขนาดไหน? ตอนนี้ถ้าคุณออกไปลอยอวนที่ดอนหอยหลอดคุณจะไม่ได้ปลาอะไรเลย นอกจากคางดำ ดิฉันพูดถึงในทะเลแล้วนะ ในคลองสาธารณะ คุณเอาอวนไปลอยหรือเอาเครื่องมืออะไรไปลง คุณจะไม่ได้อะไรเลย นอกจากคางดำอย่างเดียว และคางดำขณะนี้ไม่มีใครซื้อ
“เพาะเลี้ยง (สัตว์น้ำ) เจ๊งทั้งระบบ มันทำลายเศรษฐกิจทั้งระบบ ถ้าคนมีที่ยังพอสู้ไหว แต่ถ้าคนไม่มีที่ต้องเช่า (ที่คนอื่น) จากที่เขาเคยขายกุ้งกิโลกรัมละ 300-400 บาท มาได้ปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 5-8-10 บาทเนี่ยนะ มันไม่คุ้ม สุดท้าย เขาก็ประกอบอาชีพไม่ได้ เขาก็คืนที่ให้เจ้าของไป
“บางคนจากเจ้าของบ่อเพาะเลี้ยง-ฟาร์มเพาะเลี้ยง ไปเก็บขยะขาย คุณคิดว่ามันเป็นปัญหาหรือยัง?
“หน่วยงานของรัฐที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนขณะนี้ก็มีความรู้สึก (กิโลกรัมละ) 15 บาทนี่ดีแล้ว กำไรเยอะจะตาย ชาวบ้านได้กำไร
“คุณจะได้กำไรมาจากไหน คุณรู้ไหมว่าบ่อเลี้ยงปลาเนี่ย เขาไม่ได้ติดถนน ไม่มีรถ เขาจ้างคนไปจับปลา เสร็จแล้วเขาต้องจ้างคนขนลงเรือ เสร็จแล้วเขาต้องจ้างเรือบรรทุกมาที่รถ จ้างคนขนขึ้นรถ กว่าจะมาขายได้ คุณคิดว่า 15 บาทมันจะเหลือกี่บาท? นี่คือเหตุผลที่ต้องฟังกัน”
นี่เป็นสภาพปัญหาปัจจุบันอันหนักหนาสาหัสที่คนทำกิจการประมงหลายรายต้องเผชิญ ซึ่ง “บุญยืน ศิริธรรม” ได้ร้องขอไปยัง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีว่า
“นี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องของการที่เราจะไม่ถูกทำลายความมั่นคงด้านอาหาร ถูกทำลายเรื่องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางพันธุกรรมของเราถูกทำลาย อันนี้หลายเรื่องมากนะนายกฯ มันอาจจะสำคัญกว่าดิจิทัลวอลเล็ตของคุณอีก
“คุณยังมีเรื่องต้องทำอีกหลายเรื่อง คุณเป็นนายกฯ นะ คุณอาสาเข้ามาทำงาน คุณต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022