ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ
สิงหาคม 2567
จับตานิติธรรม…
ในระบอบอำมาตยาธิปไตย
จากวันรพี 7 สิงหาคมจนถึงสิ้นเดือน จะมีคดีที่ชี้มาตรฐานของระบบยุติธรรมไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองคือ…คดียุบพรรคก้าวไกล…คดียื่นถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และคดีที่มีผู้ร้องว่าการเลือก ส.ว.ไม่สุจริตยุติธรรม
ในรอบหลายปีนี้จะพบว่าประชาชนมีความข้องใจต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช., กกต., กสม., ศาลรัฐธรรมนูญ การตัดสินในหลายๆ กรณี นับตั้งแต่เหตุการณ์ตุลาการภิวัฒน์ช่วงปี 2551 ที่มีการปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช และนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยุบพรรคพลังประชาชน และมีการเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร
แต่ผลสุดท้ายประชาชนก็ออกมาคัดค้านจนกระทั่งเกิดการปราบประชาชนมีคนเสียชีวิตมากมายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมษายน-พฤษภาคม 2553
ต่อมาพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง 2554 แต่ก็ถูกรัฐประหารในปี 2557 ระบอบอำมาตยาธิปไตยถูกใช้อย่างเต็มระบบ และล่าสุดคือการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพรรคก้าวไกล ซึ่งยังไม่รู้ว่าวันที่ 7 สิงหาคม จะถูกยุบหรือไม่
ชัดเจนว่ามีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามที่คนบางกลุ่มต้องการ หรือทำลายบุคคลหรือพรรค
การตัดสินคดีหลายคดี ประชาชนบอกล่วงหน้าได้ว่าถ้าเป็นบุคคลนี้จะต้องถูกลงโทษ ถ้าเป็นบุคคลนั้นจะไม่ต้องได้รับโทษ หรือได้รับโทษน้อย ซึ่งแทบไม่เคยมีใครเดาผิดเลย
ยุทธศาสตร์ทำลายพลังทางการเมือง
ของฝ่ายประชาธิปไตย ยังเดินต่อ
หลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เขียนว่าปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่มีความพยายามทำให้สังคมไทยยอมรับอำนาจจากการรัฐประหารว่าถูกต้อง
เพราะในสังคมไทยตั้งแต่ดั้งเดิมมา ประชาชนจะยอมรับอำนาจของฝ่ายผู้ปกครองเสมอ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมีที่มาอย่างไร แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ความเชื่อมั่นต่ออำนาจของตนเอง ของประชาชน ก็ยังน้อยกว่าความเกรงกลัวต่ออำนาจของผู้ปกครอง
ความเข้าใจของประชาชนจำนวนมากต่ออำนาจปกครอง คือ ใครก็ตามที่ยึดอำนาจได้สำเร็จ จะได้รับการยอมรับไปชั่วระยะที่มีอำนาจ ว่าทำถูกต้อง การต่อต้านจะมีน้อยมาก จะมาประณามด่าว่า ก็ต่อเมื่อคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นตกอำนาจไปแล้ว
การยอมรับอำนาจรัฐที่มาจากการยึดอำนาจนั้นไม่เพียงจากคนธรรมดา แต่จะได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ แม้แต่ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจก็ยอมรับ
ถึงแม้กฎหมายจะมีมาตรา 113 เขียนไว้ว่าโทษของผู้กำลังล้มล้างอำนาจอธิปไตยของประชาชน มีโทษถึงประหารชีวิต แต่คณะรัฐประหารทุกชุดก็จะนิรโทษกรรมตัวเอง สภาที่เลือกตั้งส่วนใหญ่ก็มักจะถูกปิดถูกยุบไปแล้ว
และสิ่งที่พวกเผด็จการอยากทำมากที่สุดคือ สร้างประชาธิปไตยปลอมขึ้นมา มีการแสดงการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างเอง ยุบพรรคการเมืองของประชาชน เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลและสืบทอดอำนาจการปกครองไปเรื่อยๆ
อย่าคิดว่ายุทธศาสตร์เป็นเรื่องเหลวไหล คนพวกนี้จะทำอย่างนั้นจริงๆ
ประชาชนยังเชื่อถือระบบยุติธรรมอยู่หรือไม่?
เมื่อฝ่ายตุลาการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร และถือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย ประชาชนยอมรับตามไปด้วย นานไปก็กลายเป็นอำนาจถาวรในที่สุด เราจึงได้เห็นคำสั่งคณะรัฐประหารหลายชุด ที่กลายเป็นกฎหมายหลายฉบับ สภาและองค์กรแต่งตั้งทั้งหลาย คือเครื่องมือของคณะรัฐประหาร
จากนั้นผู้มีอำนาจจะออกคำสั่งเพื่อใช้บังคับกับประชาชน แม้คำสั่งนั้นจะไม่มีในกฎหมายดั้งเดิมก็ตาม แต่สามารถทำได้ และคำสั่งนั้นก็จะกลายเป็นกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติที่ตั้งขึ้นเอง
หลังรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายลดลง ที่สำคัญมิใช่เป็นเพราะเนื้อหากฎหมายฉบับนั้นหรือมาตรานั้น แต่เพราะกระบวนการในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่เป็นไปแบบยุติธรรมที่มีมาตรฐาน หากแต่มีการเลือกบังคับใช้เฉพาะคนเฉพาะกลุ่ม ยิ่งหลังรัฐประหารรัฐบาลเพื่อไทย 2557 ระบบที่ใช้ปกครองดูเหมือนจะกลายเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยไปแล้ว
สภาพบ้านเมืองวันนี้จึงอยู่ในขั้นวิกฤตยุติธรรม…
ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยุติธรรมมีมากมาย แต่จะหาคนที่คัดค้าน และต่อสู้เพื่อหลักกฎหมายที่ถูกต้อง หรือให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปอย่างเที่ยงตรง มีน้อยเต็มที อยุติธรรมจึงเกิดซ้ำซาก
คอยดูก็แล้วกันว่า การฟ้องร้องคดีเลือก ส.ว. ไม่ชอบธรรม จะมีผลเป็นอย่างไร และจะมีการดำเนินการเมื่อไร? ถ้าขนาดการคัดเลือก ส.ว. ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ ยังไม่สุจริต ประเทศนี้จะใช้หลักนิติธรรมที่ไหนได้
การปกครองโดยหลักนิติธรรม…
1.หลักนิติธรรมต้องอาศัยกฎกติกาที่รัดกุมและมีหลักการ แต่กฎกติกาเหล่านั้นต้องบังคับใช้อย่างตรงไปตรงมากับทุกๆ คนโดยไม่มีกรณียกเว้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือองค์กรในภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งตัวรัฐบาลเองก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
กรณีนี้ถ้าจะวิจารณ์ย้อนหลังถึงการใช้อำนาจจะพบว่าการใช้กฎหมายมีลักษณะที่ไม่เสมอภาค บางกรณีก็ได้รับการยกเว้น ดึงเวลาจนกระทั่งคดีหมดอายุความ
และมีลักษณะเลือกข้างที่จะดำเนินคดีกับฝ่ายหนึ่งอย่างรวดเร็วไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ในขณะที่ละเลยความผิดของอีกฝ่ายหนึ่ง
ตัวอย่าง คดีสังหารหมู่เมษายน-พฤษภาคม 2553 ยิงคนตายเกือบร้อยคนกลางเมืองหลวง ก็ไม่มีการฟ้องหาตัวคนผิด
2. กระบวนการร่างและบังคับใช้กฎหมายต้องมีความโปร่งใสและเป็นธรรม
การร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าจะให้โปร่งใสและเป็นธรรมก็ต้องมีวิธีคัดเลือกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอย่างเหมาะสม โดยมีตัวแทนของประชาชนเข้าร่วมมากพอสมควร แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างกันเองให้ได้เปรียบ ถ้าจะใส่หลักนิติธรรมลงในรัฐธรรมนูญไม่ต้องคิดซับซ้อน แต่ถ้าคิดจะเอาเปรียบ ก็ต้อง Design พ.ร.บ.พรรคการเมือง การเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง การควบคุมเสียง ส.ส. และ ส.ว. การควบคุมอำนาจตัดสินชี้เป็นชี้ตาย
แถมเวลาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ออกกฎให้แก้ยากมากๆ
3. การลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่บุคคลเหล่านั้นพึงมีตามกฎหมาย สิทธิมนุษยชนของราษฎรทุกคนควรได้รับการปกป้องอย่างเคร่งครัดและเท่าเทียมกัน…
กรณีนี้จะเห็นว่าสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนถูกจำกัดและควบคุมโดยกฎหมาย…
ในขณะที่ผู้ใหญ่นิ่งเฉย แต่เยาวชนไม่ยอมทนต่อไป ทำให้หลายคนต้องติดคุก หรือไปลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ
4. เมื่อการบังคับใช้หลักนิติธรรมอ่อนแอ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคอร์รัปชั่นก็เฟื่องฟู ประชาธิปไตยจะผิดเพี้ยนไม่ทำงาน เมื่อนักการเมือง ข้าราชการ ภาคเอกชน ตำรวจ และทหารล้วนใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ เพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง และเอื้อประโยชน์ส่วนตัวบนความทุกข์ยากของประชาสังคม
5. ในกระบวนการยุติธรรม ตุลาการ ต้องมีอิสระ มีคุณภาพ ไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรม และไม่ชักช้า ที่สำคัญ กฎหมายไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง
ความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมของฝ่ายตุลาการเป็นฐานหลักอย่างหนึ่งของหลักนิติธรรม หากผู้พิพากษาไม่ใช้กฎเกณฑ์ตามกฎหมายอย่างเสมอภาค ประชาชนจะไม่ไว้วางใจระบบยุติธรรมที่ดำรงอยู่
เพราะประชาชนเข้าใจว่าหลังรัฐประหาร 2557 ผ่านมา 10 ปี มีเลือกตั้ง 2 ครั้งเราควรออกจากระบอบอำมาตยาธิปไตยแล้ว จึงหวังว่าระบบยุติธรรมจะต้องพัฒนาก้าวหน้าขึ้น
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022