คำ ผกา : เดโมเครซี่กับประชาธิปไตยไทยนิยม

คำ ผกา

“ความหมายของประชาธิปไตยแบบไทยนิยม คือ ทำอย่างไรคนไทยถึงจะเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และทำอย่างไรคนไทยถึงจะทำในสิ่งที่ดีงาม ถ้าทุกคนมุ่งไปสู่สิ่งที่เป็นเป้าหมายนั่นแหละ คือไทยนิยม และทำในสิ่งที่ดีๆ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง” http://news.sanook.com/4994522/

ฉันพยายามอ่านข้อความที่ยกมานี้อยู่หลายรอบว่าทั้งหมดนั้นแปลว่าอะไร และนิยามของประชาธิปไตยแบบไทยนิยมคืออะไร

เอาประโยคแรกก่อน

ความหมายของประชาธิปไตยแบบไทยนิยมคือ ทำอย่างไรคนไทยจึงจะเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

เวลาที่เราขึ้นต้นประโยคว่า ความหมายของ…คือ… – นั่นแปลว่า เราต้องให้คำจำกัดความ เช่น ความหมายของสิทธิคือ อำนาจอันชอบธรรมในการจะกระทำการใดๆ โดยการรับรองของกฎหมาย คงไม่มีใครเขียนว่า ความหมายของสิทธิคือ ทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องสิทธิอย่างถูกต้อง

ทีนี้ลองอ่านแบบไม่เคร่งครัดกับหลักไวยากรณ์ และพยายามเข้าใจความหมายตามบริบทโดยรวม น่าจะแปลได้ว่า

ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม หมายถึง

1. การที่คนไทยทุกคนเข้าใจความหมายที่ถูกต้องของประชาธิปไตย

2. คนไทยมีเป้าหมายในชีวิตคือ ทำสิ่งที่ดีงาม และต้องมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้

3. คนไทยต้องทำในสิ่งที่ดีๆ เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง

กระนั้นคำถามที่ตามมาคือ การที่คนไทยมีเป้าหมายในชีวิตคือทำสิ่งที่ดีงามนั้น มันเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยอย่างไร?

และ “สิ่งที่ดีงาม” นั้น ย่อมเป็นอัตวิสัยอย่างยิ่ง

เช่น นาย ก. เห็นว่า ดีงามในชีวิตของมนุษยืคือการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และความเสมอภาคต่อมนุษย์ทุกคน

แต่นาย ข. เห็นว่าสิ่งดีงามหมายถึงการปกป้องผู้มีพระคุณของตนเองเป็นอันดับแรก แม้ว่าการปกป้องนั้นอาจต้องแลกมาด้วยการละเมิดความยุติธรรม และความเสมอภาคต่อมนุษย์คนอื่น ทว่า สำหรับเขา ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณคือความดีความงามอันดับหนึ่ง

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ เราสามารถเจาะจงได้หรือไม่ว่า คนไทยต้องมีเป้าหมายทำในสิ่งที่ดีงาม เพราะความดีงามของแต่ละคนนั้นนิยามได้ไม่เหมือนกัน แถมยังอาจขัดแย้งปะทะกันอีกด้วย

และถึงที่สุด พลเมืองของรัฐจะมีเป้าหมายอย่างไรในชีวิต ย่อมเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่รัฐไม่อาจเข้ามาก้าวก่ายได้เลย ตราบเท่าที่ “เป้าหมาย” นั้นไม่ผิดกฎหมาย

นั่นแปลว่า พลเมืองของรัฐจะมีเป้าหมายในชีวิตที่เป็นเรื่อง “ดี” หรือ “ไม่ดี” ก็ย่อมเป็นสิทธิของเขา

เช่น บางคนมีเป้าหมายว่าอยากรวย

บางคนมีเป้าหมายว่าอยากพิชิตเอเวอเรสต์

บางคนมีเป้าหมายว่าอยากขบถต่อทุกปทัสถานต่อสังคม จึงหนีเข้าป่าไปเป็นฤษีชีเปลือย ฯลฯ

พูดสั้นๆ คือ พลเมืองของรัฐเป็นมนุษย์ที่มีความคิด มีเจตจำนง มีความฝัน มีแรงบันดาลใจ มีประสบการณ์ และผ่านการหล่อหลอมทางอุดมการณ์กันมาอย่างหลากหลาย

พวกเขาจึงสามารถเลือกใช้ชีวิตตามที่เขาเห็นควร

โดยไม่จำเป็นที่รัฐต้องทำตัวเป็นพ่อเป็นแม่คอยกำกับความคิด จิตใจของพวกเขา

และรัฐที่เป็นประชาธิปไตยย่อมเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่า หัวใจของประชาธิปไตยคือเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

เช่นเดียวกับข้อสาม คนไทยพึงทำสิ่งดีๆ ต่อบ้านเมือง

เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของหลักการประชาธิปไตย เพราะการทำดีต่อบ้านเมืองนั้นย่อมถูกมองได้อย่างหลากหลาย

เช่น นาย ก. บอกว่า ทำดีต่อบ้านเมือง ต้องช่วยกันบริจาคเงินช่วยโรงพยาบาลที่ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์

ส่วนนาย ข. บอกว่า การทำดีต่อบ้านเมืองคือการเรียกร้องให้มีรัฐสวัสดิการ และปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกทั้งตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานราชการ มากกว่าจะไปบริจาคเงินที่อาจไปซ้ำเติมปัญหา ให้ปัญหานั้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกจุด

ถามว่าทั้งสองคนนี้ ต่างก็มีความอยากทำความดีให้แก่บ้านเมืองทั้งคู่ และยืนอยู่บนปรัชญาการเมืองคนละชุด โลกคนละใบ

ความขบขันที่อาจจะเกิดก็คือ ในบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย (ไทยจะนิยมหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง) ทั้งสองคนนี้ต่างได้รับการยอมรับทั้งคู่ ไม่มีใครผิดทั้งหมด หรือถูกทั้งหมด

แต่ในสังคมที่หลักการประชาธิปไตยถูกทำลาย ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ถูกทำลาย และมีแต่อำนาจเบ็ดเสร็จเข้าครอบงำ สังคมนั้นมีแนวโน้มจะเชื่อว่าในโลกนี้มีความดี ความงาม ความจริงเพียงชุดเดียวเท่านั้นในโลก

ผิดไปจากนี้คือ ผิด!

สังคมที่หลักการประชาธิปไตยถูกทำลาย ย่อมไม่ชอบการตรวจสอบ และย่อมส่งเสริมการ “สงเคราะห์” และการ “บริจาค” เพราะมันทำให้คนอ่อนแอได้อย่างต่อเนื่อง คนอ่อนแอเท่าไหร่ ก็มีความสามารถท้าทายอำนาจครอบงำน้อยเท่านั้น

สังคมเช่นนี้ จะพยายามโน้มนำให้คนเชื่อว่า การบริจาคคือความดี และการตรวจสอบการใช้จ่ายงบฯ ของรัฐคือการท้าทายอำนาจ ปั่นป่วนสังคม ทำลายความสามัคคีและความสงบสุข

ดังนั้น เราจะเห็นได้เลยว่า สองข้อนี้ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของหลักการประชาธิปไตย และยังขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตยอีกด้วย

แต่เป็นถ้อยคำ ภาษาที่ไม่ “ขัดหู” คนไทยเลยแม้แต่น้อย

เป็นประโยคที่ฟังกี่ครั้งๆ ก็ไม่มีวันผิด เพราะการทำประโยชน์ให้บ้านเมืองก็เป็นสิ่งที่ดี การมุ่งมั่นทำในสิ่งที่ดีงามก็เป็นสิ่งที่ดี

และคนไทยก็อยู่กับวาทกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เกิดเป็นคนต้องหมั่นทำความดี

ทว่า ในวัฒนธรรมแบบไทยๆ นี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดหายไปคือ การตั้งคำถามกับคำว่าความดี ว่ามันแปลว่าอะไร คอนเซ็ปต์ความดีมาจากไหน เปลี่ยนแปลงอย่างไร สัมพันธ์กับอำนาจอย่างไร ความดีนั้นเลือกปฏิบัติหรือไม่? มีลำดับชั้นต่ำสูงหรือไม่? ความดีเป็นความจริงแท้ด้วยตัวของมันเองหรือเป็นประดิษฐกรรมทางการเมือง วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ

ความดีสำหรับคนไทยคือการจูงคนตาบอดข้ามถนน แต่ไม่เคยเรียกร้องให้มีการสร้างถนนและทางเท้าให้คนตาบอดเดินได้เองโดยไม่มีใครจูง

ความดีสำหรับคนไทยคือบริจาคเงินให้โรงเรียนและเด็กยากจน แต่ไม่ใช่การตั้งคำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา และโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มันควรเท่าเทียมด้วยการบริหารภาษีของประชาชน

ความดีของคนไทยคือการตอบแทนบุญคุณ เลี้ยงดูพ่อแม่โดยลูกกตัญญู แต่ไม่ใช่การตั้งคำถามว่า รัฐบริหารภาษีสำหรับการดูแลพลเมืองสูงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างไร

ความดีของคนไทยคือการให้ข้าวหมาจรจัดและลูบหัวมัน แต่ไม่ใช่การตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงมีหมาเร่ร่อน จรจัดเยอะแยะไปหมด และเราสามารถใช้การบริหารจัดการ และกฎหมายในการควบคุมประชากรหมาจรจัดได้หรือไม่

คําว่า “ความดี” ทำให้คนไทยลืมไปว่า จริงๆ แล้วชีวิตมนุษย์ในสังคมการเมืองสมัยใหม่ ไม่ได้ต้องการให้เราทำความดีต่อกัน แต่ต้องการให้เราในฐานะพลเมือง “เคารพ” สิทธิและเสรีภาพของกันและกันต่างหาก

ถ้าเราขึ้นรถบีทีเอส สิ่งที่เราต้องการคงไม่ใช่ให้ใครมาดีกับเรา ช่วยเราถือกระเป๋า ยิ้มแย้ม ทักทายเรา แบ่งขนมให้เรากิน – ใช่ไหม?

สิ่งที่เราต้องการคือ การไม่แซงคิว การไม่เปิดเพลงจากโทรศัพท์เสียงดัง การไม่เอาอาหารขึ้นมากินบนรถ การไม่เอาตัวไปพิงนู่นนี่นั่น เบียดบังการยืนการโดยสารของคนอื่น เราต้องการแค่นี้

เพราะฉะนั้น ชีวิตมนุษย์ในโลกการเมืองสมัยใหม่ และในระบอบประชาธิปไตย เราไม่ต้องการ “ความดี”

แต่เราต้องการให้ทุกคนทำหน้าที่ของตนเอง เช่น ประชาชนเสียภาษีแล้ว รัฐบาลมีหน้าที่ใช้ภาษีนั้นมาสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน

เช่น ทำทางเท้าให้เดินได้ ปลอดภัยทั้งกลางวัน กลางคืน ทั้งสำหรับคนตาดี ตาบอด คนเดินได้ คนเดินไม่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาช่วยจูงแล้วฟินว่าได้ “ทำดี”

แทนการกรี๊ดกร๊าดตื่นเต้นเรื่องคนทำดี คนไทยต้องคิดเสียใหม่ว่า สังคมไหนที่มีปัจเจกบุคคล มีโอกาสทำความดีมากเท่าไหร่ แปลว่ารัฐของสังคมนั้นด้อยประสิทธิภาพมากตามสัดส่วน

ประเทศที่ขนส่งมวลชนมีประสิทธิภาพ และออกมาสำหรับคนทุกคนรวมถึงคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยที่สุด จนไม่มีใครมีโอกาสไปทำความดี หรือไปแสดงความเมตตาให้ใครนั่นแหละ แปลว่า สังคมนั้นรัฐบาลบริหารจัดการประเทศได้ดี

สังคมที่ไม่ต้องมีใครต้องออกไปวิ่งไปขอบริจาคอะไรให้ใคร ยิ่งแปลว่าสังคมนั้นมีความขาดแคลนน้อย คนทุกคนมีกำลังความสามารถในการดูแลตนเองจนไม่ต้องมีใครมาสถาปนาตัวเองเป็น “คนดี” มาโปรดทุกข์คนยากเลย

ดังนั้น สิ่งที่พึงตระหนักคือ ความดียิ่งมาก ประชาธิปไตยจะยิ่งน้อย (ในทางสากล สิ่งที่บ่งชี้ความมากของประชาธิปไตย ไม่ใช่ความดี แต่คือสิทธิ เสรีภาพ และความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตพลเมือง)

– แต่ตอนนี้ฉันนึกออกแล้วว่า ประชาธิปไตยไทยนิยมคืออะไร?

เขียนมาถึงตรงนี้ คนไทยจำนวนมากก็ต้องบอกว่า

“อี๊…ไม่เอาหรอก เรื่องอะไร เราจะเอาความดีไปแลกกับประชาธิปไตย ความดีอยู่คู่โลกมานับพันๆ ปี ศาสนาไหนก็สอนให้คนเป็นคนดี ประชาธิปไตยเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ร้อยปี แถมยังเป็นรังให้นักการเมืองเลวๆ มาเอาเปรียบประชาชน ประชาธิปไตยก็มีคนแบบทรัมป์ แบบดูแตร์เต แบบทักษิณ ยิ่งลักษณ์ไง อี๋แหวะ ใครจะเอาความดีไปแลกกับประชาธิปไตยก็บ้าแล้ว ดังนั้น เราทำความดีมากๆ ประชาธิปไตยน้อยๆ ดีกว่า หรือถ้าจำเป็นไม่มีก็ได้ ประชาธิปไตยของฝรั่งมังค่า สิทธิ เสรีภาพมาก มันดีตรงไหน รังแต่จะสร้างความปั่นป่วน วุ่นวาย ไร้ระเบียบ ไม่ขออะไรหรอกคนเราขอแค่ความดีอย่าสูญหายไปจากหัวใจของคนไทยก็พอ”

อือม คงอันนี้แหละ ที่หมายถึงประชาธิปไตยไทยนิยม

กลับมาที่ข้อ 1 ถ้าประชาธิปไตยไทยนิยม หมายถึง ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง

จะอรรถาอธิบายข้อนี้ได้ก็ต้องมานั่งคุยกันว่า ประชาธิปไตยที่ถูกต้องคือประชาธิปไตยแบบ “ไทย” อันไม่เหมือนใครในโลกนี้ใช่ไหม?

เพราะประชาธิปไตยแบบสากล ที่มีความหมายว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และออกเสียงเลือกผู้แทนฯ ไปบริหารประเทศโดยใช้เสียงข้างมากกำหนดผ่านระบบการเลือกตั้ง การออกกฎหมาย การบริหารประเทศกระทำโดยความเห็นชอบของสภา

ไม่ใช่ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง และถือเป็นความรับผิดชอบของสภา ไม่ใช่ตัวบุคคล และนั่นคือสะท้อนว่า ประเทศชาติขับเคลื่อนด้วยฉันทามติของประชาชนเจ้าของประเทศ ทุกอย่างมีที่มาที่ไป สืบค้นได้ ตั้งคำถามได้ โปร่งใส ตรวจสอบได้

และมี accountability กับประชาชนเจ้าของอำนาจ – ทั้งหมดที่ว่ามา ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ถูกต้องแบบไทย

ประชาธิปไตยที่ถูกต้องแบบไทยคือ ประเทศปกครองด้วย “คนดี” มีอำนาจเด็ดขาด เข้มแข็ง บริหารประเทศไปด้วย “ความสามารถเฉพาะตน” การตรวจสอบการทำงานไม่จำเป็น เพราะการเป็น “คนดี” นั้นเพียงพอแล้วที่เราจะไว้ใจ

คิดให้จริงจังขึ้นไปอีกในฐานะของคนที่ต้องสื่อสารด้วยการเขียน ต่อไปนี้คนไทยเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยแบบสากลอาจจะต้องใช้คำว่า เดโมเครซี่ ส่วนคำว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึง ประชาธิปไตยไทยนิยม

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความไหลเลื่อนกลืนกินทางภาษาจนเดโมเครซี่ในเชิงการรับรู้เข้าใจก็อาจจะอันตรธานไปได้อย่างไร้ร่องรอย