อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปใน 20 ปี

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปใน 20 ปี

 

จู่ๆ น้องทีมงานในวัย 20 ต้นๆ ก็โพล่งถามฉันขึ้นมาว่าพี่ยังเก็บวอล์กแมนไว้อยู่หรือเปล่าครับ ถ้าผมจะขอยืมได้ไหมครับ

สมองประมวลผลอยู่ครู่หนึ่งฉันถึงพอจะปะติดปะต่อเรื่องได้ว่าตอนนี้มีแก็ดเจ็ตสมัยก่อนหลายอย่างที่กลับมาฮิตในหมู่วัยรุ่น Gen Z และหนึ่งในนั้นก็คือเครื่องฟังเพลงวอล์กแมนสำหรับเล่นตลับเทปและดิสก์แมนสำหรับเล่นซีดี

ฉันถามกลับไปว่า แล้วถ้าพี่หาเครื่องเจอ น้องจะไปหาตลับเทปกับซีดีมาจากไหน น้องก็ตอบว่าเดี๋ยวค่อยไปหาจากร้านขายของเก่าเอาก็ได้ครับ

เป็นเรื่องธรรมดาในทุกวงการที่ของซึ่งเอาต์ไปแล้วอาจจะกลับมาเป็นที่นิยมได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไปนานพอ อย่างแผ่นเสียงไวนิลที่ก็ได้พิสูจน์ไปแล้วว่าไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ แต่เครื่องฟังเพลงพกพาที่ต้องใส่ถ่านและใช้กับเทปหรือซีดีที่แทบจะหาซื้อของใหม่ไม่ได้อีกแล้ว

ก็ถือว่าน่าประหลาดใจที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่อยากไขว่ขว้าหามาเป็นเจ้าของให้ได้

 

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนหลายๆ ครั้งเรานึกไม่ออกว่าเราใช้ชีวิตกันได้ยังไงโดยที่ไม่มีสิ่งของหรือบริการบางอย่างที่เราแทบจะขาดไม่ได้กันทุกวันนี้

iPhone เปิดตัวรุ่นแรกในปี 2007 ก่อนหน้านั้นโทรศัพท์มือถือถูกใช้งานหลักๆ สำหรับการโทรออก รับสาย ส่งข้อความ หรือเล่นเกมง่ายๆ แต่เมื่อ iPhone มาถึง ผู้ใช้งานก็ได้เปิดประตูสู่โลกกว้าง ได้เรียนรู้การใช้งานแบบสัมผัสจอ ได้ดาวน์โหลดแอพพ์ ได้ใช้เว็บเบราเซอร์ที่ลื่นไหล ได้ฟังเพลงแบบไม่ต้องพกวอล์กแมนหรือดิสก์แมนแยกอีกเครื่อง เรียกว่าควบรวมฟังก์ชั่นของคอมพิวเตอร์เข้าไปอยู่ในก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ก้อนเดียว

ก่อน YouTube จะเปิดตัวในปี 2005 การจะดูหรือแชร์วิดีโอสักคลิปไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เลย ถ้าอยากส่งคลิปให้ใคร วิธีที่ง่ายที่สุดคือโยนใส่แฮนดี้ไดรฟ์ให้อีกคนไปดูดลงคอมพิวเตอร์ตัวเอง

ดังนั้น การมาถึงของ YouTube จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกกลายเป็นทั้งผู้ชมคอมเทนต์และผู้สร้างคอนเทนต์ภายในเวลาอันรวดเร็ว

และนับว่าเป็นการปูทางสู่อาชีพของคอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างฉันด้วย

 

เพิ่มความแก่เข้าไปสักหน่อยด้วยอีกหนึ่งตัวอย่างคือบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix อันที่จริงบริษัท Netflix มีอายุเกิน 20 ปีแล้วแต่ในตอนนั้นยังเน้นการให้บริการแบบส่ง DVD ภาพยนตร์หรือซีรีส์ผ่านทางไปรษณีย์ จนมาเริ่มการทำสตรีมมิ่งได้อย่างจริงจังในปี 2007

คุณผู้อ่านหลายคนน่าจะได้สัมผัสประสบการณ์ทั้งยุคก่อนและหลังสตรีมมิ่ง ยุคก่อนสตรีมมิ่งหากเราต้องการดูภาพยนตร์หรือซีรีส์สักเรื่องวิธีที่นิยมทำมากที่สุดก็คือซื้อหรือเช่าวิดีโอ VCD หรือ DVD (ไม่ย้อนไปถึงวิดีโอเทป VHS) ถ้ามีภาพยนตร์ใหม่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แล้วพลาดไม่ได้ไปดูก็ต้องรออีกนานกว่าจะได้เช่าดูในรูปแบบแผ่น

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นโมเดลใหม่ที่เกิดจากการริเริ่มโดย Netflix ก็คือการที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งลงทุนสร้างหนังหรือซีรีส์เอง เน้นปล่อยบนแพลตฟอร์มตัวเองที่เดียวและปล่อยออกมาทีเดียวครบทุกตอนทั้งซีซั่น Netflix เริ่มต้นเทรนด์นี้ด้วยซีรีส์ออริจินอลที่ลงทุนสร้างเองเรื่อง House of Cards ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเพราะก่อนหน้านี้ผู้ชมไม่เคยได้เห็นโมเดลการปล่อยซีรีส์ทั้งซีซั่นแบบรวดเดียวมาก่อน

โซเชียลมีเดียอย่าง Twitter ที่ตอนนี้รีแบรนด์ใหม่กลายเป็น X ก็เกิดขึ้นมายังไม่ครบ 20 ปีแต่มียอดผู้ใช้งานมหาศาลและกลายเป็นแพลตฟอร์มที่หลายคนขาดไม่ได้ Twitter ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางสังคมมาแล้วหลายต่อหลายครั้งด้วยลักษณะเด่นของการมีความเป็นนิรนามสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่นบางแพลตฟอร์ม

และทุกวันนี้ก็ได้กลายเป็นโซเชียลมีเดียที่เด็กรุ่นใหม่นิยมใช้กันมาก

 

อีกแพลตฟอร์มที่ยังอายุไม่ถึง 20 ปีดีก็คือ Instagram ที่เปิดตัวในปี 2010 โซเชียลมีเดียที่เน้นการสื่อสารผ่านภาพสวยๆ ที่ในที่สุดก็กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับเซเลบบริตี้ อินฟลูเอนเซอร์ ช่างภาพ แบรนด์ และร้านค้าอีกมากมาย

กระแสรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราก็มาแรงมากจากการเข้ามาของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีน แต่หากมองย้อนกลับไป 20 ปีก่อน เรายังแทบไม่รู้จักคอนเซ็ปต์ของรถยนต์ไฮบริดกันเสียด้วยซ้ำ หากจะพูดถึงรถไฮบริดสักคัน ตัวอย่างเดียวที่ทุกคนจะนึกถึงในตอนนั้นก็คือรถ Toyota Prius ที่คนขับรถคันนี้จะยืดอกขับอย่างภาคภูมิใจว่าตัวเองรักสิ่งแวดล้อมกว่าใครๆ

มาถึงตอนนี้เรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่รถยนต์ส่วนใหญ่ที่เราเห็นบนท้องถนนจะเป็นรถไฮบริดกับรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายรถยนต์หลายค่ายประกาศเจตนารมณ์เลิกผลิตรถรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปและจะหันมาเป็นไฟฟ้าทั้งหมด ท่ามกลางความกังวลของคนที่ยังไม่พร้อมจะก้าวไปไฟฟ้า 100% ว่าตกลงแล้วยานพาหนะชนิดนี้รักษ์โลกมากกว่าจริงไหม และระยะยาวจะมีปัญหาอะไรรอเราอยู่บ้าง

การเก็บไฟล์ไว้บนเมฆ หรือ Cloud ก็ไม่ใช่ตัวเลือกของการเก็บไฟล์สำหรับคนใน 2 ทศวรรษที่แล้ว สมัยก่อนการจะเก็บไฟล์หมายถึงการต้องใช้อะไรสักอย่างที่จับต้องได้ อย่างเช่น CD DVD ฮาร์ดดิสก์หรือแฮนดี้ไดรฟ์

แต่เมื่อคอนเซ็ปต์ของการโยนไฟล์ไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ไกลๆ ที่ไหนสักแห่งแล้วค่อยเรียกกลับมาใช้งานเมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องการเกิดขึ้นก็ทำให้เราแทบจะลืมไปเลยว่าแต่ก่อนเราเคยเก็บไฟล์กันด้วยวิธีไหนบ้าง

บริการที่อำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิตคนสมัยใหม่ อย่างบริการไรด์แชร์ริ่ง เรียกรถผ่านแอป หรือเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้าพักอย่าง Airbnb ก็ไม่เคยมีมาก่อนเหมือนกัน

พอได้มองย้อนกลับไปก็ทำให้รู้สึกทึ่งที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและแอบรู้สึกดีใจที่ได้มีทั้งประสบการณ์ในยุคก่อนและหลังการมาถึงของสิ่งเหล่านี้ด้วย

หลังจากนี้ไปหากมีแก็ดเจ็ตชิ้นไหนที่ใช้งานได้ทนทานและคาดว่าอาจจะกลับมาเป็นเทรนด์ได้อีกในอนาคตก็จะต้องเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพดีที่สุดด้วย เพราะท้ายที่สุดฉันก็กลับไปคุ้ยหาวอล์กแมนและดิสก์แมนจนเจอแต่ก็อยู่ในสภาพที่ไม่อาจเรียกได้ว่าเอากลับมาใช้แล้วดูเท่อีกต่อไป

เห็นสภาพแล้วน้องคนเดิมก็ยิ้มแหะๆ แล้วพูดว่า “ไม่เป็นไรดีกว่าครับพี่”