ซอฟต์เพาเวอร์ ยัวร์มาเต้ออิสเดอะเบสต์

คำ ผกา

คำ ผกา

 

ซอฟต์เพาเวอร์

ยัวร์มาเต้ออิสเดอะเบสต์

 

ควันหลงจากพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปารีส ทำให้ฉันอยากเขียนถึงซอฟต์เพาเวอร์อีกครั้ง

เพราะดูเหมือนว่าเพียงหนึ่งคืนหลังจากพิธีเปิดโอลิมปิก ฉันเลยได้รู้ว่าในประเทศไทยมี “ผู้รู้” เรื่องฝรั่งเศสเยอะมาก

ทั้งผู้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ ผู้รู้เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสโดยพิสดาร ผู้รู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ผู้รู้ภาพยนตร์ วรรณกรรม ปรัชญา สถาปัตยกรรม มาเขียนให้ความรู้ บรรยายความหมายและความลึกซึ้งที่ปรากฏในพิธีเปิดนี้จนตามอ่านไม่หวาดไม่ไหว

ซึ่งก็น่าสนใจดี

ส่วนฉันที่ไม่มีความรู้เรื่องฝรั่งเศสเลย หรือมีก็ฉาบฉวยอย่างยิ่ง เช่น เคยอ่านเรื่องเจ้าชายน้อยบ้าง รู้จักโมนาลิซ่านิดหน่อย ก็รู้สึกว่าได้รับการ educate อย่างมากในชั่วข้ามคืน

แต่สิ่งที่ฉันอ่านแล้วรู้สึกตลกปนสมเพชคือ มีข้อความที่คนแชร์กันอย่างครึกโครมราวกับมันเป็นความคิดเห็นที่เสียดสีรัฐบาลได้แสบร้อนเหลือเกิน

นั่นคือข้อเขียนในทำนองว่า

“ดูสิฝรั่งเศสได้สำแดงอิทธิฤทธิ์ของซอฟต์เพาเวอร์ได้อย่างทรงพลังโดยไม่ต้องตะโกนคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ออกมาสักคำ”

คนที่เขียนข้อความนี้เขียนมาจากสมมุติฐานที่ทึกทักเอาเองว่าตนเองนั้นฉลาดมาก มีความรู้เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ดีมาก จึงต้องการป่าวประกาศว่า

“ดูสิ รัฐบาลแสนเชยเฉิ่ม มันไม่รู้จักซอฟต์เพาเวอร์ มันไม่เข้าใจนิยามของซอฟต์เพาเวอร์ มันไม่มีรสนิยม บทอยากจะขายซอฟต์เพาเวอร์ขึ้นมาก็ใช้วิธีประกาศ ตะโกนคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ออกมาดังๆ อุเหม่ รสนิยมมันสอนกันไม่ได้หรอกนะ”

 

สิ่งที่น่าขำสำหรับฉันคือ กลุ่มคนที่พากันสถาปนาตนเองเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ พยายามจะตะโกนว่า ฉันอ่านหนังสือของโจเซฟ ไนย์ เรื่องซอฟต์เพาเวอร์นะ ส่วนพวกนักการเมือง รัฐมนตรี ข้าราชการเชยๆ พวกนั้นมันเคยอ่านเหรอ?

คนพวกนี้นะเหรอริอ่านจะทำซอฟต์เพาเวอร์

หลังจากนั้นพวกเขาก็ยึดเอานิยามซอฟต์เพาเวอร์ของโจเซฟ ไนย์ ที่เขียนขึ้นมาในทศวรรษที่ 90s มากอดไว้เป็นตุเป็นตะ ราวกับว่าคนอื่นๆ ที่เหลือบนโลกนี้ไม่มีใครอ่านโจเซฟ ไนย์ ได้เหมือนตัวเอง

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องซอฟต์เพาเวอร์ของโจเซฟ ไนย์ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย เขาแค่ต้องการอธิบายการทำงานของอำนาจสองแบบที่มีอยู่ในโลกใบนี้ และหา “ชื่อเรียก” ให้กับมัน เพื่อต่อไปนี้เมื่อมันมี “ชื่อ” แล้ว เราจะได้พูดถึงมันได้ง่ายๆ สั้นๆ ไม่ต้องเท้าความยาว

เพราะฉะนั้น โจเซฟ ไนย์ ก็แค่บอกว่า เออ สมัยก่อน เวลาดูว่าใครจะเป็นมหาอำนาจก็ดูที่แสนยานุภาพทางทหาร เวลาที่มหาอำนาจอยากไปยึดครองใครก็แค่ยกทัพไปทำสงคราม เมื่อชนะก็ยึดครองเมืองนั้น เอาประชาชนของพลเมืองนั้นมาเป็นของตนเอง

แต่การยึดครองด้วยแสนยานุภาพทางทหารมันยึดครองได้แต่ทาง “กายภาพ” มันยึดครองหรือกุม “หัวใจ” เอาไว้ไม่ได้

ดังนั้น มหาอำนาจที่แท้จริง ไม่ใช่แค่แข็งแกร่งเรื่องแสนยานุภาพทางทหาร แต่ต้องมีความสามารถในการยึดกุมจิตใจผู้คนได้ด้วย และทำให้คนมารักมานับถือได้โดยละม่อม

เช่น ไม่ว่าอเมริกาจะไปทำสงครามที่นั่นที่นี่ ทิ้งระเบิดตรงนั้นตรงนี้ ทำคนตายไปมากมาย

แต่คนส่วนใหญ่ในโลกก็ไม่เกลียดอเมริกา แถมยังสมาทานคุณค่าหลายๆ อย่างที่เป็นของอเมริกา รู้สึกชื่นชมอเมริกา อยากเข้าข้างอเมริกา

อำนาจในการครองใจคนของอเมริกาเกิดจากอิทธิพลของหนังฮอลลีวู้ด ที่มีเรื่องราวของอเมริกันฮีโร่ที่พิทักษ์ความยุติธรรม กอบกู้โลกจากมนุษย์ต่างดาว

เหล่านี้ทำให้เราถูกโน้มนำให้ชื่นชม รักใคร่ในลักษณะของฮีโร่อเมริกันแบบไม่รู้ตัว ดนตรีร็อก กางเกงยีนส์ ความเท่ของเคาบอย เพลงแจ๊ซ เฮมมิ่งเวย์ ฯลฯ ที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของชาวโลก

รวมๆ กันแล้ว โจเซฟ ไนย์ บอกว่า ขอเรียกมันว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” ก็แล้วกันนะ

 

พูดง่ายๆ ว่ามันมีกระบวนการทำงานทางศิลปวัฒนธรรมที่มีพลังอำนาจในการยึดครองใจคนมาก่อนที่โจเซฟ ไนย์ จะ comceptualized มัน และตั้งชื่อให้สิ่งนี้ว่า soft power เพื่อให้เห็นพลานุภาพของอำนาจเชิงวัฒนธรรม และมันคือสิ่งที่เรียกกันว่า ability to seduce หรือความสามารถที่ “ยั่วยวน” คนให้มาหลงใหล มาศิโรราบ โดยไม่ต้องใช้กำลังหรืออาวุธไปบีบคอใครให้มาขึ้นต่ออำนาจของเรา

ดังนั้น soft power จึงเป็นการบริหารทุนวัฒนธรรมให้กลายเป็น “อาวุธ”

และนั่นจึงนำมาสู่สำนวนที่คนหัวโบราณในยุคหนึ่งก่นด่าคนหนุ่มสาวว่า “ตกเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของตะวันตก” เมื่อเห็นคนหนุ่มสาว ฟังเพลงฝรั่ง กินแฮมเบอร์เกอร์ กินโค้ก นุ่งกางเกงยีนส์

หรือแม้แต่การถืออิสระในชีวิตรักและใคร่ในยุคหนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นวัตรปฏิบัติของคนที่ตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่ง

soft power ยังหมายถึงพลานุภาพของความรักที่โลกมีต่อเราหากเราเช่น หากเราครองใจคนบนโลกใบนี้ได้ ให้เขารักเรา ให้เขาลุ่มหลงในความเป็นเรา

เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาสักอย่างในประเทศของเรา หรือหากเราไปมีเรื่องราวขัดแย้งกับใคร มันจะไม่ใช่ปัญหาของเราคนเดียว แต่เป็นปัญหาที่คนทั้งโลกอยากเข้ามาช่วยเราแก้ไข อยากเข้าข้างเรา หรืออย่างน้อยที่สุดพยายามจะเข้าใจความจำเป็นหรือข้อจำกัดของเรา

นี่คือพลานุภาพของซอฟต์เพาเวอร์

 

ก่อนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรม ในความเข้าใจของฉัน (ซึ่งอาจจะผิด) ฉันมองว่าประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ หรืออเมริกา คือประเทศที่ประสบความสำเร็จในการครองโลกด้วยฮาร์ดเพาเวอร์มาก่อน

นั่นคือการครองโลกในฐานะเจ้าอาณานิคม การเป็นเจ้าอาณานิคมทำให้ประเทศอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส มีทรัพยากรส่วนเกินจากประเทศที่ตัวเองไปยึดครองมาสร้างเศรษฐกิจและความมั่งคั่งในกับเมืองแม่ เมืองขึ้นที่มีอยู่ทั่วโลกกลายเป็นสถานีการค้า

เมืองแม่มีแรงงานราคาถูกเป็นชาวพื้นเมืองทำงานอยู่ในไร่ขนาดใหญ่ ทำงานในฟาร์ม ทำงานในเหมือง แถมเมืองขึ้นเหล่านี้ยังเป็นดินแดนสำหรับแสวงหาโอกาสของผู้คนทั้งหญิงและชายจากเมืองแม่ ผู้ชายอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัตช์ บ้างเดินทางมารับราชการ บ้างมาเป็นพ่อค้า บ้างเป็นนักเขียน เป็นศิลปิน ก็เดินทางมาแสวงหาแรงบันดาลใจ

นักประวัติศาสตร์ โบราณคดี เดินทางมาค้นพบศิลาจารึก ค้นพบแหล่งโบราณคดีใหม่

ดินแดนของชนพื้นเมืองเปรียบประหนึ่งขุมทรัพย์ในทุกๆ ด้าน ตำราคัมภีร์ภาษาสันสกฤตที่ไม่มีใครอ่านออกอีกแล้ว ถูกค้นพบ ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยคนอังกฤษ และคนเยอรมัน

ดังนั้น การใช้แสนยานุภาพทางทหารที่ในอีกนัยหนึ่ง ประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหารสูงกว่าคือประเทศที่มีเทคโนโลยีการรบ มีอาวุธเหนือกว่าไปยึดครองเมืองต่างๆ ทั่วโลกเป็นเมืองขึ้น และใช้เมืองขึ้นเป็นแหล่งผลิตอาหาร ผลิตชา น้ำตาล ฝ้าย แร่ธาตุราคาแพง เกลือ เครื่องเทศ เป็นแหล่งผลิตแรงงานราคาถูก เป็นที่ระบายแรงงาน “ชนชั้นกลาง” ที่ล้นเกิน และไม่มีโอกาสในเมืองแม่ ให้ไปแสวงหาโอกาสและความมั่งคั่งจากดินแดนอันไกลโพ้น

และโดยไม่ได้ตั้งใจ ดินแดนอันไกลโพ้นก็กลายเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในการผลิตองค์ความรู้ทั้งด้านภาษาศาสตร์ ภาษาโบราณ โบราณคดี ศิลาจารึก

ซึ่งเหล่านี้ก็สะสมกลับไปเป็น “ทุนวัฒนธรรม” ของเมืองแม่ต่อไปอีก

ยังไม่นับว่ายุโรปทั้งหมดตลอดจนเอเชียกลางคืออู่อารยธรรมของโลก ภาษา ศาสนา คณิตศาสตร์ เทพปกรณัม ตำนานการเมือง ปรัชญา ฯลฯ

พูดอย่างรวบรัดคือ แต้มบุญทางซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศเหล่านี้สูงกว่าประเทศเพิ่งเกิดเมื่อวานซืนอย่างเราอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

 

คิดแค่ว่าคนบนโลกใบนี้ครึ่งหนึ่งพูดภาษาอังกฤษ อีกครึ่งหนึ่งพูดภาษาสเปน ที่เหลือพูดภาษาฝรั่งเศส เพียงเท่านี้เพียงพอที่จะทำให้ประเทศเหล่านั้นมีเครื่องมือในการส่งผ่านชุดคุณค่าของการใช้ชีวิต ปรัชญา ศิลปะ สุนทรียศาสตร์ กีฬา ที่ภายหลังแปรเปลี่ยนมาเป็นแฟชั่น ความงาม ภาพยนตร์ นิตยสาร ความบันเทิง ไอคอนทางป๊อปคัลเจอร์อีกนับไม่ถ้วนคน

แต้มต่อเหล่านี้ทำให้เกิดนักเขียน กวี รางวัลโนเบล ช่างภาพ ศิลปินที่ลุ่มลึกกว่าใครเขา และส่งออกความมหัศจรรย์ทางปรัชญา ศิลปะ ออกสู่โลกต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

แค่นิยายเล่มบางๆ “อย่างเจ้าชายน้อย” ก็ครองใจคนทั้งโลก และกลายเป็นหนึ่งในภาพจำของฝรั่งเศส

ยังไม่นับอาหารฝรั่งเศส ที่นาทีนี้ก็ยังไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่อันดับหนึ่งของโลก

ยังไม่ต้องพูดถึงไวน์ แชมเปญ ครัวซองต์ และเรื่องราวของการปฏิวัติฝรั่งเศส คาบาเรต์ ระบำโป๊ ฯลฯ

เพราะฉะนั้น ในความเป็นฝรั่งเศส เอามือแตะไปตรงไหนก็เป็นซอฟต์เพาเวอร์ไปหมด ไม่เว้นแม้แต่กลิ่นฉี่ในกรุงปารีส

 

นี่คือคำตอบว่าเพราะอะไรฝรั่งเศสถึงไม่มีความจำเป็นต้องตะโกนหรือพูดคำว่าซอฟต์เพาเวอร์เลยแม้แต่น้อย

แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ประเทศฝรั่งเศสทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไม่มีความกังวลใจว่าซอฟต์เพาเวอร์ของตัวเองจะยังคงทรงพลังอยู่หรือไม่

หน่วยงานภาครัฐของฝรั่งเศส ก็ทบทวนตัวเองอยู่เนืองๆ ว่าซอฟต์เพาเวอร์ของตนนั้นคืออะไร และยังดำรงรักษาให้มีพลังต่อไปได้อย่างไร

อะไรคือเครื่องมือในการรักษาพลานุภาพทางวัฒนธรรมนี้ไว้

บ้างก็บอกว่า ซอฟต์เพาเวอร์ของฝรั่งเศสคือ “แฟนตาซี” ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม

ที่แน่ๆ พลานุภาพของซอฟต์เพาเวอร์ฝรั่งเศสก็ถูกท้าทายจากผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ไมว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้

ดูอย่างในประเทศไทยที่ยุคหนึ่ง สำหรับคนเรียนศิลป์ภาษา มันย่อมหมายถึงอังกฤษกับฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้เด็กเลือกเรียนฝรั่งเศสน้อยลงเรื่อยๆ และหันไปเรียนจีน เกาหลี และญี่ปุ่นมากขึ้น

ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่เป็นอดีตเมืองขึ้นของฝรั่งเศสหลายประเทศในแอฟริกาก็ทยอยประกาศยกเลิกการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ

เวลาที่เราพูดเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ การเอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับฝรั่งเศสหรือประเทศเก่าแก่อื่นๆ อย่างอิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ จึงเป็นการเปรียบเทียบที่ผิดฝาผิดตัว

แต่ไม่ได้แปลว่าการอยากเป็นเหมือนเขามันผิด แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องตระหนักคือประเทศไทยในฐานะ “ประเทศ”

ตามนิยามของรัฐชาติสมัยใหม่นั้นเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 1932 เราจึงเป็นประหนึ่ง “วัยรุ่นสร้างตัว” เมื่อเทียบกับประเทศที่เกิดมานานก่อนเรา สั่งสมอารยธรรม ศิลปวิทยาการมาก่อนเรานับพันปี

คนไทยในฐานะที่เป็นประชาชน เป็นปัจเจกบุคคล มีสถานะเป็น “คน” เต็มคน มิใช่ไพร่ทาสสักเลกสังกัดมูลนายปราศจากอิสรภาพเหนือชีวิตและชะตากรรมของตนเองก็ถือกำเนิดขึ้นมาหลัง 1932 และไม่ใช่เรื่องที่เราต้องอับอายหรือน้อยเนื้อต่ำใจแต่อย่างใดด้วย

เพราะประเทศเกิดใหม่พร้อมๆ กับเรามีมากมายบนโลกใบนี้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา กัมพูชา เวียดนาม และอีกหลายประเทศในโลกก็ถือกำเนิดมาในช่วงทศวรรษที่ 30s, 40s, 50s ทั้งสิ้น

และมันยิ่งไม่แปลกอะไรเลยที่อยู่มาวันหนึ่งประเทศเกิดใหม่อย่างเราจะลุกขึ้นมาบอกว่า “เอาล่ะ ฉันอยากมีซอฟต์เพาเวอร์กับเขาบ้าง และฉันไม่อาจรอให้มันเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ที่อาจต้องใช้เวลาอีกสองร้อยปีก็ไม่มีอะไรการันตีว่ามันจะเกิด ฉันในฐานะรัฐบาล ฉันจะประกาศให้มันเป็นสาระแห่งชาติร่วมกันว่า เรามาค้นหา และมาปั้นซอฟต์เพาเวอร์ไทยกันเถอะ”

ปั้นซอฟต์เพาเวอร์สำเร็จ เราคาดหวังอะไร เราคาดหวังว่าคนจะรู้จักประเทศไทยมากขึ้น คนจะอยากมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะถูก “รีแบรนด์” หรือเล่าใหม่ให้เป็นที่รักใคร่เสน่หาของผู้คนมากขึ้น

คนไทยจะมีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น พร้อมๆ กับมีการสร้างงาน อาชีพ จากทั้งสิ่งที่เราเพิ่งค้นพบ จากการปัดฝั่นสิ่งที่มีอยู่แล้ว

จากการจับสิ่งที่ถูกละเลยมาขัดสีฉวีวรรณใหม่

จากการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้มีโอกาสทำงานที่เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ทุกแขนง

การเฟ้นหาเพชรในตม งานฝีมือที่กำลังจะสูญหาย เอานวัตกรรมไปเสริม เอาดีไซน์ไปส่ง หวังว่าสักวันหนึ่งเถอะ นี่จะเป็นโครงการที่ระเบิดพลังศักยภาพของคนไทยออกมา และมากกว่าเม็ดเงินและความคึกคักทางเศรษฐกิจ

คนไทยจะได้หลุดพ้นจากการ “หลงตัวเอง” แบบผิดๆ เช่น หลงคิดว่าประเทศไทยดีที่สุด เก่งที่สุด อาหารอร่อยที่สุด งานฝีมือละเอียดที่สุด ทอผ้างามที่สุด

พร้อมกันนั้นก็หลุดจาก “ปมด้อย” ที่ลึกๆ คิดว่าประเทศไทยมันกระจอก เมืองไทยมันห่วย คนไทยไร้รสนิยม บ้านนอก ไร้การศึกษา ขาดการพัฒนา โฉ่งฉ่าง ฉูดฉาด ชาตินี้ไม่ทางจะไปสู้กับใครเขาได้

มาสู่การตั้งสติว่า “เอาล่ะ ต่อไปนี้เราจะสำรวจว่าเรามีดีอะไรบ้าง

เรามีจุดแข็งอะไร เรามีข้อจำกัดเรื่องอะไร เมื่อเทียบกับงานในแขนงเดียวกัน ประเทศอื่นเขาทำอะไร ไปถึงไหน

เราจะแข่งกับเขาได้อย่างไร หรือเราจะไปเรียนรู้จากเขาได้อย่างไร

เราจะสร้างความร่วมมือไปขอให้เขามาสอนเราให้เราเก่งขึ้นได้อย่างไร

เราจะไปผนึกกำลังร่วมกับประเทศไหนได้บ้าง เพื่อให้ซอฟต์เพาเวอร์ของเราไปต่อได้แบบมีอนาคต

เราจะสร้างพันธมิตร อาหารไทยจีน, อาหารไทยลาว, อาหารไทยมาเลย์ กันดีไหม เน้นขายเป็นแพ็ก

หรือเราจะสร้างจุดแข็งของการเป็นเรื่องอาหาร

เราจะทำให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของคนรักข้าวมันไก่ไหมอะไรไหม?

 

ฉันยกตัวอย่างมาเพื่อจะบอกว่า เมื่อเราเป็นประเทศเกิดใหม่เป็นวัยรุ่นสร้างตัว เราเป็นสก๊อย ไม่ใช่โมนาลิซ่า

แต่เราก็จะตั้งใจบ่มเพาะ “ซอฟต์เพาเวอร์” ในแบบของเรา เป้าหมายเพื่อให้คนตกหลุมรักเรา และทำให้เรากลายเป็นประเทศที่เพาเวอร์ขึ้นมาให้ได้ในวันหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเพาเวอร์ทางการ “เสพสุข” หรือเพาเวอร์ทางเศรษฐกิจ

ฉันยืนยันว่า การสร้างซอฟต์เพาเวอร์โดยจงใจ โดยตั้งใจ โดยการริเริ่มส่งเสริมจากรัฐบาลไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ทำได้ และควรทำ

ไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่รัฐตั้งอกตั้งใจจะทำมาค้าขายกับซอฟต์เพาเวอร์

เกาหลีใต้ก็ทำ ญี่ปุ่นก็ทำ จีนก็ทำ แม้จะมีการถกเถียงว่าสิ่งที่จีนทำจะนับเป็นซอฟต์เพาเวอร์หรือไม่

เพราะตัวโจเซฟ ไนย์ เองบอกว่า หัวใจของซอฟต์เพาเวอร์คือการเป็นประเทศประชาธิปไตย

คุณค่าที่ขาดเสียไม่ได้ในทุกสินค้าทางวัฒนธรรม ศิลปะ คือคุณค่าเรื่องเสรีภาพในการพูด ในการแสดงออก อิสระในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ถูกปิดกั้น การเชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์ ลักษณะของมนุษยนิยม การให้ความสำคัญกับทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความหลากหลาย สิ่งแวดล้อม และใดๆ ที่เป็นคุณค่าสากลของมนุษยชาติ

ประเทศที่มีนักโทษการเมือง ประเทศที่มีนักโทษทางความคิด ประเทศที่ศิลปินต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย

ต่อให้รัฐบาลทุ่มเทให้กับความวิจิตรพิสดารในศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร วรรณกรรม ภาพยนตร์สักแค่ไหน คนก็ “รัก” ประเทศนั้นไม่ลง

เพราะความรักมันมาพร้อมกับความเคารพ หรือความนับหน้าถือตาในหลักการพื้นฐานที่สุด นั่นคือหลักการของการเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

 

สําหรับฉันจุดเริ่มต้นของการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลัง regime การรัฐประหารที่กินเวลายาวนานถึงหนึ่งทศวรรษ กับแกนนำของรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองที่ถูกกระทำจากรัฐประหารมาสองครั้งสองคราในรอบยี่สิบปีกับความทะเยอทะยานที่พวกเขาเรียกว่า “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ฉันมั่นใจว่าปัญญาชนไม่ชอบไอเดียนี้

ปัญญาชนมองโครงการซอฟต์เพาเวอร์เป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ เป็นเรื่องของการตีหัวเข้าบ้าน

เป็นเรื่องของการจับแพะชนแกะ ทำมาหากินกับความฉาบฉวย งานแห่ งานฟ้อน งานเฟสติวัล

ขาดซึ่งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอกไปสู่การมีเสน่ห์ในตัวเองจนต่อยอดเป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ทรงพลัง

แต่ฉันกลับมองว่านี่เป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ในยามที่ประเทศไทยกำลังบอกชาวโลกว่า เราอยู่กระบวนการฟื้นฟูซ่อมแซมประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กับการมองหาเครื่องมือบางอย่างที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปลุกขวัญและกำลังใจของผู้คนให้มีความหวัง ให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แม้ปัญญาชนในประเทศจะหมิ่นแคลนว่ามันฉาบฉวย

และมันจำเป็นมากที่เราต้องตะโกนคำว่าซอฟต์เพาเวอร์ออกไปให้ดังที่สุดที่จะดังได้ เพื่อจะบอกว่า งานแห่เทียน งานสงกรานต์ สุราชุมชน งานไพรด์ งานกะเทย งานแดร็ก หมอลำ กีฬา ผ้าขาวม้า อาหาร มวยไทย ส้มตำ ทุเรียน ลำไย มังคุด ข้าวหอมมะลิ หนังไทบ้าน ซีรีส์วาย นิยาย หนังสือ แฟชั่น

ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นงานชั้นสูง ทั้งที่ได้ชื่อว่าเป็นความงมงาย ไร้สาระ ทุกอย่างจะถูกนับเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ และจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานนี้อย่างจรังจัง

และที่น่าจับตามองคือ กระบวนการสร้างซอฟต์เพาเวอร์นี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับงานปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง

ที่สำคัญการประคองรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้อยู่ครบวาระจนนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่เพื่อพิสูจน์เสถียรภาพของรัฐบาลพลเรือน

ทั้งหมดนี้ทำไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศจากประเทศที่วนเวียนอยู่กับการรัฐประหารไปสู่ประเทศที่กลายเป็นประชาธิปไตย ยึดถือคุณค่าในหลักการประชาธิปไตย

แม้จะมีรัฐบาลที่ไม่ถูกใจหรือไม่เก่งกาจสามารถดังใจนึก

 

กว่าซอฟต์เพาเวอร์ของเราจะเป็นที่ประจักษ์

ฉันคิดว่ามันใช้เวลานานเท่าๆ กับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับโลกใบนี้ว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยเลิกฝากความหวังไว้กับคนดีและองค์กรอิสระแล้ว

ระหว่างรอเวลาที่ซอฟต์เพาเวอร์ของเราจะปรากฎตัวโดยไม่ต้องตะโกน คนไทยพึงใจเย็น และตระหนักว่า เริ่มทำงานแล้วได้ไม่เต็มร้อยดีกว่าไม่เริ่ม ดีกว่าไม่ทำ ดีกว่าไม่มีวิสัยทัศน์

ตัวฉันยินดีที่จะอยู่กับรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน

ดีกว่าอยู่กับรัฐบาลที่ทำงานแบบความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ หรืออยู่กับรัฐบาลที่เก่งงาน “เล่นกับกล้อง เล่นกับแสง” เพื่อสร้างกระแสต่อเนื่อง แต่ถึงเวลาจริงไม่สามารถทำงานร่วมกับใครได้เลย เพราะตั้ง kpi ของตัวเองไว้ที่ยอดเอนเกจเมนต์มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

และมันเป็นเรื่องธรรมดามากที่งานซอฟต์เพาเวอร์ของเรายังต้องการการลองผิดลองถูก

และน่าสนใจอีก เมื่อมีคนตั้งข้อสังเกตว่า งานซอฟต์เพาเวอร์ที่รัฐบาลได้แนวร่วมจากภาพประชาชน คือซอฟต์เพาเวอร์ที่ไม่เป็นรองใครอยู่แล้วในเวทีโลก เช่น มวยไทย

ค่ายมวยไทยเราได้รับการยอมรับว่าเป็นเวิลด์คลาส หรือแม้แต่อาหารไทยก็เป็นที่รักของชาวโลกก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาส่งเสริม ทั้งมวย ทั้งอาหารไทยคืออาณาบริเวณที่ทักก้า หรือรัฐบาลได้ความร่วมมือมาก

ตรงกันข้ามแขนงของซอฟต์เพาเวอร์ที่อยู่ท้ายขบวนของโลก เช่น วรรณกรรม หรือศิลปะ คนในสองแวดวงนี้มีแนวโน้มจะ “ดูหมิ่น” การทำงานของรัฐบาลเรื่องซอฟต์เพาเวอร์ เพราะตัวเองรู้อยู่แก่ใจว่าที่สู้ในเวทีโลกไม่ได้

ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่สนับสนุน แต่เกิดจากฝีมือตามไม่ทัน “โลก”

จริงๆ กลุ่มคนในแขนงเหล่านี้จึงแก้เกี้ยวด้วยการ “ชิงด่า” รัฐบาล หรือทักก้าไว้ก่อนว่า “ชั้นไม่ร่วม รัฐบาลมันโง่ มันไม่เข้าใจศิลปะ” เพื่อหาข้ออ้างให้ตัวเองที่รู้อยู่แก่ใจว่า ไประดับโลกเมื่อไหร่ก็ “ดับ” เมื่อนั้น เลยแกล้งทำเป็นไม่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน

ตรงกันข้าม แขนงงานที่สู่บนเวทีโลกได้จะกระหายอย่างยิ่งในการได้รับการผลักดันจากรัฐบาล

 

อย่างไรก็ตาม ฉันยืนยันว่าย่างก้าวแรกของรัฐบาลและทักก้าย่อมเต็มไปด้วยความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ ทำผิดมากกว่าทำถูก

แต่การ “ทำผิด” ย่อมหมายถึงประสบการณ์และบทเรียน

ก่อนซอฟต์เพาเวอร์จะปรากฏไม่มีอะไรเสียหายในการทำค่ายเทรนมวยไทยทั่วโลก ในการสนับสนุนสร้างหนึ่งตำบลหนึ่งเชฟ ไม่เสียหายที่พยายามจะเข็นเหล้า ไวน์ จิน แบรนด์ไทยออกสู่เหล่าฟูดดี้ส์ทั่วโลก ไม่เสียหายที่เราจะเริ่มส่งเสริมนักทำหนังในประเทศ ไม่เสียหายที่เราจะเริ่มมีความทะเยอทะยานอยากเป็นฮับของงานศิลปะร่วมสมัย อยากทำเกษตรแม่นยำ เป็นครัวของโลก

และนี่คือเหตุผลที่เราต้องตะโกนดังๆ ว่าเราจะสร้างซอฟต์เพาเวอร์เพราะมันคือโครงการทางการเมืองที่สำคัญที่สุด

ในระหว่างทางที่เราเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อาหาร มวยไทย เพื่อให้โลกยอมรับนักถือ ซูฮกเรา เราจะมีแค่ทุเรียนอร่อยไม่ได้

แต่เราต้องพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าเรากลายเป็นประเทศประชาธิปไตยแล้วจริงๆ

และการเลือกตั้งของเราเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปราศจากการ “รบกวน” จากอำนาจนอกสภา ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหรืออื่นๆ

หากดิจิทัลวอลเล็ตต้องการสร้าง E government นโยบายซอฟต์เพาเวอร์คือการบอกสังคมไทยว่า เราต้องสมาทานคุณค่าของความเป็นมนุษย์และหลักประชาธิปไตยสากล เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการทำให้โลกทั้งในต้องหันมา “นับถือ” เราและ “รัก” เราในที่สุด

และนี่คือหัวใจของ ability to seduce หรือความสามารถที่จะทำให้คนมาตกหลุมรักเราได้

เพราะฉะนั้น ฉันย้ำอีกว่า เรา ประเทศไทยในฐานะวัยรุ่นสร้างตัว เรามีความจำเป็นต้อง “ตะโกน” คำว่าซอฟต์เพาเวอร์ ทั้งบอกกับโลกและบอกตัวเราเอง

และเราไม่จำเป็นต้องรอให้ยัวร์มาเต้ออิสเดอะเบสต์เท่านั้นมาทำ

ใครทำได้ ทำไปก่อน เดี๋ยวถึงเวลา ยัวร์มาเต้อฟาเต้อก็ได้ทำเองแหละ

อย่าเพิ่งล้มประชาธิปไตยก็แล้วกัน