จับตาการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา จับตาการเมืองโลก

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

จับตาการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา

จับตาการเมืองโลก

 

การเมืองสหรัฐอเมริกาทวีความร้อนแรงขึ้นทุกขณะ

ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่เป็นแบบอย่างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของโลก เป็นประเทศที่มีจิตวิญญาณอันแน่วแน่ตั้งมั่นในระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ

การเลือกตั้งภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา เป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ ได้แก่ พรรคเดโมแครต ซึ่งปัจจุบันประธานาธิบดีโจ ไบเดน สังกัดอยู่ และพรรครีพับลิกัน ที่มีอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นแคนดิเดตลงชิงชัยการเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ก่อนวิเคราะห์ในแง่มุมการเมือง ขอเอาใจท่านผู้อ่านสายมูกันก่อน

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง มองเห็นได้จากทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกากลาง สุริยุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นในราศีมีน ซึ่งตรงกับภพกัมมะ (ภพที่ 10) ของดวงประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งภพกัมมะมีความหมายถึงรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ด้วย

ในระยะ 6 เดือนหลังจากเหตุการณ์สุริยุปราคาหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินการคาดเดาแต่อย่างใด เพราะเป็นไปตามสัมพันธภาพของดวงดาว

 

เข้าเรื่องดวงแล้ว ขอต่อเรื่องพื้นดวงประเทศสหรัฐอเมริกาอีกสักนิด

ดวงชะตาประเทศสหรัฐอเมริกา นับวันประกาศเอกราช เวลารุ่งอรุณ (ตามเวลาท้องถิ่น) วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2319 (เวลาอาจคลาดเคลื่อนกับบันทึกแหล่งอื่นๆ ขอยึดจากหนังสือชุมนุมโหรทำนายชาตาเมืองชาตาโลก) ซึ่งเป็นการตัดขาดการเป็นรัฐอาณานิคมจากพระเจ้าจอร์จที่ 3

คำประกาศอิสรภาพเขียนขึ้นโดยคณะกรรมการทั้งห้า (The Committee of Five) ประกอบด้วย โทมัส เจฟเฟอร์สัน, เบนจามิน แฟรงคลิน, จอห์น แอดัมส์, โรเจอร์ เชอร์แมน และ โรเบิร์ต ลีฟวิงสตัน

ซึ่งคณะกรรมการทั้งห้านี้ เป็นผู้เสนอคำประกาศอิสรภาพต่อสภาคองเกรส ซึ่งอาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ปรมาจารย์โหราศาสตร์ไทย เคยเปรยไว้ว่า ผู้ประกาศอิสรภาพสหรัฐอเมริกาต้องเป็นโหรอย่างแน่นอน

เพราะจากพื้นดวงประเทศ อาทิตย์กุมลัคนาทั้งในราศีจักรและนวางค์จักร จึงเป็นประเทศมหาอำนาจเหนือประเทศอื่นๆ ในโลก สามารถตั้งตนเองเป็นตำรวจโลกได้ มีดาวคู่สมพลถึง 2 คู่กุมลัคนา และมีข้อดีอื่นๆ อีกมาก

แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน คือ ราหูอยู่ในภพกดุมภะ (ภพที่ 2) ส่งผลให้มีการใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายตลอดเวลา

 

ขอกลับมาที่เหตุการณ์การเมืองในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.15 น. ตามเวลาท้องถิ่นรัฐเพนซิลเวเนีย อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกลอบสังหารระหว่างการหาเสียง แต่เพราะเคราะห์ดีหรือดวงแข็งก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ รอดเงื้อมมือพญามัจจุราชชนิดเส้นยาแดงผ่าแปด

ส่งผลให้คะแนนเสียงของทรัมป์ทยานขึ้นแซงประธานาธิบดีโจ ไบเดน

จนประธานาธิบดีโจ ไบเดน แก้เกมการเมือง ประกาศถอนตัวจากการเลือกตั้ง และสนับสนุนคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีชาวอเมริกัน เชื้อสายอินเดีย-จาเมกา ให้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้

น่าจับตาดูการแข่งขันระหว่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ผลจะเป็นแบบที่การ์ตูนเดอะซิมป์สันส์พยากรณ์หรือไม่ คงต้องจับตาดูกันต่อ

 

ขอย้อนรอยการเมืองในแง่มุมการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ไม่ใช่การลอบสังหารครั้งแรก ตลอดประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกามีการลอบสังหารมาโดยตลอด

เริ่มจากท่านแรก อับบราฮัม ลินคอร์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 เป็นประธานาธิบดีท่านแรกที่ถูกลอบสังหาร

ตามมาด้วย เจมส์ การ์ฟิลด์ ประธานาธิบดีคนที่ 20

วิลเลียม แม็กคินลีย์ ประธานาธิบดีคนที่ 25

ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 26

แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีคนที่ 32

แฮร์รี ทรูแมน ประธานาธิบดีคนที่ 33

จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ประธานาธิบดีคนที่ 35

เจอรัลด์ ฟอร์ด ประธานาธิบดีคนที่ 38

โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีคนที่ 40

จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีคนที่ 43

และปิดท้ายที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45

 

สําหรับแนวความคิดของโดนัลด์ ทรัมป์ เราเห็นเป็นประจักษ์กันมาแล้วจากผลงานในอดีตสมัยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว โดยทรัมป์มีนโยบายไม่สนับสนุนการทำสงครามกับรัสเซีย จึงเป็นไปได้ว่าหากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง อาจไม่สนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย

แต่ในสงครามอิสราเอล ทรัมป์แสดงท่าทีสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งขัน

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เป็นที่แน่ชัดมากๆ ว่าสงครามการค้ารอบใหม่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในด้านนโยบายเศรษฐกิจ หากทรัมป์กลับเข้าสู่ตำแหน่ง อาจมีข่าวดีเรื่องการปรับนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการลดการขาดดุลของภาครัฐเพื่อบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อควบคู่กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยนโยบายลง ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก

ด้านคามาลา แฮร์ริส มีแนวความคิดที่ค่อนข้างตรงกันข้ามกับทรัมป์อย่างชัดเจน เริ่มต้นด้วยเรื่องสงครามในยูเครน คามาลาให้การสนับสนุนยูเครนด้วยการส่งอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางทหารไปยังยูเครนเพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซียอย่างเต็มที่ ส่วนสงครามในอิสราเอล คามาลาแม้เคยสนับสนุนอิสราเอลอย่างหนักแน่น แต่ท่าทีเปลี่ยนไปภายหลังโดยได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลเพื่อให้อิสราเอลตระหนักถึงการปกป้องพลเรือนผู้บริสุทธิ์ให้มากกว่านี้

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ทรัมป์มองประเด็นกำแพงภาษีการค้าเป็นหลัก แต่คามาลามองการต่อสู้ทางอำนาจภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก นักวิเคราะห์มองว่าแนวนโยบายเศรษฐกิจของคามาลาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก

อีกแง่มุมหนึ่งที่กมลาผลักดันมาโดยตลอด คือ การสนับสนุนกฎหมายเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ซึ่งจุดนี้เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของแนวนโยบายที่แตกต่างจากทรัมป์อย่างชัดเจน

ท่ามกลางกระแสสนับสนุนคามาลา แฮร์ริส ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน คงต้องคอยจับกระแสการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันซูเปอร์ทิวส์เดย์ (วันอังคาร ที่ 5 พฤศจิกายน 2567) อย่างใกล้ชิด

 

ในมุมของประเทศไทย หากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ประเทศไทยในฐานะคู่ค้ากับทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

ปัญหา Global Supply Chain ที่เปลี่ยนแปลงไป หากไทยสามารถช่วงชิงให้เกิดการย้ายฐานการผลิตสินค้าจากจีนมายังไทยได้ ก็นับเป็นโอกาสทองของประเทศไทย

แต่หากเกิดการย้ายฐานการผลิตสินค้าจากจีนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ก็คงไม่เป็นผลดีกับไทย

ในด้านการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังจีน มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาอย่างชัดเจน

ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากนโยบายการเงินและนโยบายการคลังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงออกผ่านการใช้จ่ายงบประมาณขาดดุลของภาครัฐ และปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบเศรษฐกิจ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจให้ดี

ท้ายที่สุดไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐท่านถัดไป เศรษฐกิจไทยก็ต้องขับเคลื่อนและอยู่รอดให้ได้ด้วยนโยบายเศรษฐกิจจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยอยู่ดี