ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา เกือบจะเป็นเสมือน “จุดเปลี่ยน” ของสงครามกลางเมืองเมียนมา อันเป็นผลจากชัยชนะของกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงรุกเข้ายึดเมืองเมียวดี จนถึงมีการปลดธงเมียนมาลงจากค่ายทหารของกองทัพฝ่ายรัฐบาล … ภาพของการปลดปล่อยเมียวดีจากฝ่ายทหาร จึงเป็นความหวังอย่างสำคัญของการรุกใหญ่ในทางทหารที่เกิดตามมาในอนาคตอันใกล้ สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้เกิดความหวังอย่างมากว่า สงครามกลางเมืองเมียนมากำลังจะจบลงด้วยชัยชนะของกองกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยที่ร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
ซึ่งในที่สุดแล้วจะนำไปสู่โอกาสของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในเมียนมา หรืออาจมีนัยถึงการสิ้นสุดของระบอบทหารที่ดำรงอยู่ในอำนาจอย่างยาวนานในการเมืองเมียนมา คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ความหวังเช่นนี้เป็นดัง “ความฝันใหญ่” ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหารทั้งมวล ทุกฝ่ายที่ขับเคลื่อนสงครามต่อต้านรัฐบาลทหารในครั้งนี้ มีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่ต้องยุติการปกครองของระบอบทหาร และพาประเทศเข้าสู่ความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น พร้อมกับการจัดระเบียบทางการเมืองของประเทศใหม่ อันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของ “กระบวนการสร้างประชาธิปไตย” ในเมียนมา
แต่แล้ว “ความฝันใหญ่ที่เมียวดี” ก็จบลงอย่างรวดเร็ว เมื่อกองกำลังกะเหรี่ยงชุดหนึ่งที่เรียกตามสังกัดเดิมว่า “BGF” ตัดสินใจที่จะหันกลับไปเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาล พร้อมกับยึดเมียวดีคืนจากการควบคุมของกองกำลัง “KNU” อันส่งผลให้สงครามในส่วนที่ใกล้กับแนวชายแดนไทยมีสภาวะ “ถอยหลัง” ในทางยุทธศาสตร์ทันที อาการถอยกลับทางยุทธศาสตร์จากเมียวดี ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าสงครามจะถอยกลับไปอยู่มือของรัฐบาลทหาร สงครามยังคงขยายตัวในภาคเหนือ โดยเฉพาะล่าสุดคือ สงครามที่เมืองลาเชี่ยวในเดือนกรกฎาคม ซึ่งฝ่ายรัฐบาลก็แพ้อีกครั้ง จนการควบคุมพื้นที่ของรัฐบาลทหารลดลงเป็นลำดับ ภาวะความเปลี่ยนแปลงหลังความพ่ายแพ้ที่ลาเชี่ยว ทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากอีกครั้งว่า
ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อปัญหาเมียนมา ควรจะเป็นเช่นไร แต่การจะตอบคำถามนี้ ขอนำเอาภาพรวมสถานการณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายมาเป็นประเด็นเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นทัศนะของฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายเห็นต่างในรัฐบาลไทย – ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาในรัฐบาลไทย ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหาร จะเชื่อมั่นในปัจจัยสำคัญต่างๆ ดังนี้
1) การยึดเมียวดีคืนได้ดูจะช่วยตอกย้ำให้กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลทหารเชื่อว่า กองทัพเมียนมายังมีความเข้มแข็ง และยังสามารถดำรงความเป็นรัฐบาลไว้ได้ต่อไปในระยะยาว เพราะแม้กองกำลังกะเหรี่ยงจะยึดเมียวดีได้จริง แต่สุดท้ายกะเหรี่ยงอีกกลุ่มกลับนำเมียวดีส่งคืนให้ฝ่ายรัฐบาล
2) ความเชื่อเช่นนี้ในอีกส่วนยังเป็นผลจากการมีมุมมองว่า กองทัพเมียนมายังคงมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์สามารถทำการรบต่อไปได้อีกนาน และยังไม่เป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ในทางยุทธศาสตร์
3) ขีดความสามารถของอำนาจทางทหารที่อาจลดลง อันเป็นผลจากความพ่ายแพ้ในหลายจุด แต่กองทัพเมียนมาก็ได้รับการสนับสนุนทางด้านยุทโธปกรณ์จากชาติพันธมิตรที่สำคัญ ทำให้กองทัพเมียนมายังไม่ถึงจุดของความขาดแคลนยุทโธปกรณ์อย่างแท้จริง จนทำการรบต่อไม่ได้ 4) แม้กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะเปิดมิติใหม่ของ “สงครามโดรน” แต่กองทัพเมียนมาปัจจุบันได้นำเข้าโดรนจากชาติพันธมิตร ที่มีขีดความสามารถในการโจมตีสูงกว่าของฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งการใช้การโจมตีทางอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก 5) ด้วยความเป็นรัฐบาลนั้น ทำให้ฝ่ายรัฐบาลยังคงมีอำนาจในด้านต่างๆ มากกว่าฝ่ายต่อต้าน เช่น อำนาจในทางการเมือง-การทูต อำนาจในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น รัฐบาลทหารจึงยังสามารถดำรงสถานะของตนต่อไปได้ แม้สงครามจะมีแนวโน้มที่ขยายตัวไม่หยุดก็ตาม 6) แม้จะมีการเสียเมืองและพื้นที่การควบคุม แต่รัฐบาลยังสามารถควบคุมเมืองหลัก และได้รับการสนับสนุนทั้งจากจีนและรัสเซีย จึงน่าจะยังอยู่ในอำนาจต่อไปได้ และจะไม่ล้มลงในเวลาอันสั้น – ฝ่ายเห็นต่างรัฐบาลทหารเมียนมาในรัฐบาลไทย สำหรับฝ่ายที่เห็นต่างเชื่อว่า รัฐบาลทหารกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้ 7) แม้รัฐบาลทหารจะดำรงอยู่ได้ในสภาวะปัจจุบัน แต่ก็ตกอยู่ในสภาวะที่ขาดความชอบธรรม และถูกแซงชั่นจากรัฐมหาอำนาจตะวันตก แต่ก็อาจอยู่ได้ด้วยความสนับสนุนจากจีนและรัสเซีย
8 ) รัฐบาลทหารดำรงอยู่ด้วยเงื่อนไขของความอ่อนแอ เพราะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงอย่างมากจากผลของสงคราม ดังจะเห็นได้ชัดในอีกส่วนว่า สงครามกลางเมืองครั้งนี้ทำให้ผู้คนในสังคมประสบกับวิกฤติมนุษยธรรมครั้งใหญ่ของภูมิภาคนี้
9) กองทัพประสบความพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสูญเสียกำลังพลและยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ส่งผลให้ทหารเสียขวัญ และหนีทหาร จนต้องออกกฎหมายเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ แต่ก็กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งในสังคมเมียนมาเองมากขึ้น และกำลังพลใหม่ไม่มีประสบการณ์การรบจริง
10) การสูญเสียพื้นที่ในการปกครอง ทำให้โอกาสที่รัฐบาลทหารจะฟื้นอำนาจในแบบเดิมจึงเป็นไปได้ยาก และไม่สามารถดำรงอำนาจในการปกครองได้เช่นในอดีต พื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชาติพันธุ์ในหลายส่วนเพิ่มมากขึ้น
11) รัฐบาลทหารไม่ได้รับความสนับสนุนจากมวลชนในวงกว้าง สงครามกลางเมืองครั้งนี้เป็นการรวมพลังของทุกฝ่ายที่ต้องการต่อสู้กับรัฐบาลทหาร อีกทั้งผลของการโจมตีทางทหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้รัฐบาลทหารโดดเดี่ยวตนเองกับคนในสังคมมากขึ้น
12) การสิ้นสุดของรัฐบาลทหารอาจเกิดได้ทันที เพราะความง่อนแง่นทางการเมืองของตัวผู้นำทหารเอง และสถานะของรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งไทยควรต้องปรับตัวรับสถานการณ์เหล่านี้ ดังนั้น มุมมอง “6 สนับสนุน” และ “6 คัดค้าน” เช่นนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ไทยพิจารณาทบทวนสถานการณ์สงครามในเมียนมาได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า สุดท้ายแล้วไทยจะ “ยืน” ที่จุดใดในปัญหานี้ !