ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น
อย่าให้ตัวเลข GDP
พาเราหลงทาง
ความ “หมกมุ่น” อยู่กับตัวเลขอัตราเติบโตของ GDP อย่างเดียวของนักการเมืองนำมาซึ่งความทุกข์โศกของประชาชนไม่น้อย
เพราะตัวเลข “อัตราโตของผลผลิตมวลรวม” ไม่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ, การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ, ความยากจน, ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาและคอร์รัปชั่น
กรณีศึกษาของประเทศกรีซช่วง 2000 และ 2010 เป็นตัวอย่างที่ตอกย้ำปัญหานี้ได้อย่างดี
ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 รัฐบาลกรีซอวดอ้างตัวเลขเติบโตของ GDP ที่น่าประทับใจมาก
แต่ในรายงานทางการมีการซุกซ่อนความไร้วินัยทางการคลังและจุดอ่อนเชิงโครงสร้างอย่างชัดเจน
ตัวเลข GDP ที่สูงขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจหลอกให้ทั้งรัฐบาล, เอกชนและประชาชนตายใจ
ต่างก็ก่อหนี้กันอย่างสนุกสนาน ทั้งภาครัฐและเอกชน
นำไปสู่ตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลพุ่งพรวดพราด
แต่นักการเมืองไม่ชอบทำอะไรที่ยาก
เมื่อตัวเลข GDP สวยก็พอใจแล้ว ไม่ยอมปฏิรูปโครงสร้างด้านเศรษฐกิจที่ล้าหลังหลายด้าน
ไม่ช้าไม่นาน เมื่อเนื้อในของเศรษฐกิจไม่ได้แข็งแกร่งจริง ซ่อนอาการป่วยที่รัฐบาลปกปิดมายาวนาน
นำไปสู่การต้อง “เหยียบเบรก” อย่างแรง
พออาการป่วยที่แฝงอยู่ระเบิดออกมา ต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างกะทันหัน ตัวเลข GDP ก็ลดฮวบฮาบ
เศรษฐกิจกรีซร่วงลงเหว…และติดอยู่ในนรกอยู่นาน
อีกกรณีหนึ่งคืออาร์เจนตินาช่วงต้นปี 2010
รัฐบาลภายใต้ประธานาธิบดีคริสตินา เฟอร์นันเดซ เด เคียร์ชเนอร์ บิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลข GDP อย่างสนุกสนาน
อีกทั้งยังตกแต่งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำเกินจริงอย่างมาก
เมื่อประชาชนหลงเชื่อ “ข่าวดี” ของรัฐบาล ใช้เงินมือเติบ อัตราการออมหดหาย ไม่ช้าไม่นานสัญญาณอันตรายก็โผล่
ช่วงแรก รัฐบาลใช้นโยบายที่ไม่สมจริงสมจังเพื่อปกป้องตัวเลข GDP ที่สูงเกินจริง
เช่น เข้าไปแทรกแซงตลาดการเงินด้วยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยด้วยเหตุทางการเมือง
ซ้ำเติมด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า
ผลที่ตามมาคือพอความลับแตก อัตราเงินเฟ้อจริงพุ่ง นักลงทุนตื่นตระหนก เงินไหลออกนอกประเทศ ชาวบ้านแตกตื่น
วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงก็กระหน่ำใส่ทั้งประเทศอย่างฉับพลันและยาวนาน
หากเราจะวัด “สุขภาพ” ของประเทศอย่างแท้จริง ต้องพยายามสร้าง “ดัชนี” ตัวอื่นๆ เพื่อนำมาเทียบเคียงกับอัตราโตของ GDP
เพราะนอกเหนือจากตัวเลขผลผลิตมวลรวมแล้ว ยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ ที่สะท้อนถึงสุขภาพ ความเป็นอยู่ และความเจริญรุ่งเรืองของสังคมเป็นส่วนรวม
ไม่เพียงแต่เป็น “ตัวเลขเฉลี่ยของผลผลิตมวลรวมของทั้งประเทศ” ที่สามารถสร้างความเข้าใจผิดได้อย่างมหันต์
เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index หรือ HDI)
ซึ่งเป็นดัชนีวัดความสำเร็จโดยเฉลี่ยของประเทศในแง่มุมพื้นฐาน 3 ประการของการพัฒนามนุษย์ ได้แก่
สุขภาพ (ชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพเพียงใด)
การศึกษา (จำนวนปีเฉลี่ยของการศึกษาและปีที่คาดหวังของการศึกษา)
และมาตรฐานการครองชีพ (รวมรายได้ประชาชาติต่อหัว)
ตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าของจริง (GPI)
Genuine Progress Indicator สะท้อนถึงการปรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมเชิงบวก (เช่น งานอาสาสมัครและงานบ้าน)
ลบด้วยผลกระทบเชิงลบ (เช่น อาชญากรรม มลพิษ และการสูญเสียทรัพยากร)
ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (SPI) :
Social Progress Indicator คือดัชนีนี้วัดขอบเขตที่ประเทศต่างๆ จัดเตรียมไว้สำหรับความต้องการทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของพลเมืองของตน
ประกอบด้วยตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ รากฐานของความเป็นอยู่ที่ดี และโอกาสที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH)
ดัชนี้นี้เกิดในประเทศภูฏาน Gross National Happiness วัดความสุขโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร ประกอบด้วย 9 หัวข้อ ได้แก่
ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ
สุขภาพ การศึกษา การใช้เวลา
ความหลากหลายและการฟื้นฟูทางวัฒนธรรม
ธรรมาภิบาล
ความมีชีวิตชีวาของชุมชน
ความหลากหลายทางนิเวศวิทยา
และการฟื้นฟู และมาตรฐานการครองชีพ
และยังมี Better Life Index (BLI)
อันเป็นดัชนีที่สร้างขึ้นโดย OECD ช่วยให้สามารถเปรียบเทียบความเป็นอยู่ที่ดีในประเทศต่างๆ โดยอิงจาก 11 หัวข้อที่ได้รับการระบุว่าจำเป็นในด้านสภาพความเป็นอยู่ทางวัตถุและคุณภาพชีวิต
เช่น ที่อยู่อาศัย รายได้ งาน ชุมชน การศึกษา สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล สุขภาพ ความพึงพอใจในชีวิต ความปลอดภัย และความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน
ยังไม่นับดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (EPI) อันหมายถึงการจัดอันดับประเทศต่างๆ ตามประสิทธิภาพในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มีลำดับความสำคัญสูงในสองด้านกว้างๆ ได้แก่
การปกป้องสุขภาพของมนุษย์และการปกปักรักษาระบบนิเวศ
หรือที่เรียกง่ายๆ ว่าดัชนี Happy Planet (HPI) ที่ใช้วัดความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนโดยพิจารณาจากอายุขัย ความเป็นอยู่ที่ดี และ “รอยเท้า” หรือ footprint ทางนิเวศน์
ที่ไม่ควรมองข้ามคือดัชนีความยากจนหลากหลายมิติ (MPI)
อันเป็นการวัดความยากจนที่อิงความขาดแคลนหลายประการที่ผู้คนเผชิญในเวลาเดียวกัน
เช่น สุขภาพไม่ดี ขาดการศึกษา และมาตรฐานการครองชีพที่ไม่เพียงพอ
หรือดัชนี “ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ” ที่รวมค่าสัมประสิทธิ์ Gini ซึ่งวัดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ภายในประชากร
และอัตราส่วน Palma ซึ่งเปรียบเทียบรายได้ที่ร่ำรวยที่สุด 10% ของส่วนแบ่งรายได้ของประชากรกับ 40% ที่ยากจนที่สุด
นอกนั้นยังมีดัชนีระดับสากลที่เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) : SDGs 17 ประการของสหประชาชาติ
ประกอบด้วยเป้าหมายที่เกี่ยวกับความยากจน ความหิวโหย สุขภาพ การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ น้ำสะอาด พลังงานที่สามารถเข้าถึงได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจ
และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย
ทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นการยืนยันว่าการวัดด้วย GDP แต่เพียงตัวเองเป็นการให้ภาพที่บูดเบี้ยวและห่างไกลจากมาตรฐานอันควรจะมีเป็นอย่างยิ่ง
ทำให้หวนคิดถึงหนังสือชื่อดังที่ผมอ่านตอนเริ่มสนใจปัญหาสังคมใหม่ๆ ที่โด่งดังในยุคสมัยนั้น
Small is Beautiful โดย E. F. Schumacher ที่วิพากษ์หลักเศรษฐกิจของตะวันตกอย่างตรงไปตรงมา
และเรียกร้องให้หันมาใช้หลักเศรษฐศาสตร์ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น
หนังสือเล่มนี้ออกมาในปี 1973 และที่ทำให้ผู้คนในโลกสนใจเป็นพิเศษเพราะนำเสนอแนวคิด “เศรษฐศาสตร์พุทธศาสนา”
โดยเน้นความสำคัญของความยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการจัดลำดับความสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์มากกว่าความมั่งคั่งทางวัตถุ
ชูมัคเกอร์ให้เหตุผลว่าเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยให้ความสำคัญกับการเติบโตและการบริโภคมากเกินไป
โดยละเลยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
ตอกย้ำว่าแนวทางนี้ไม่ยั่งยืนและนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่เมื่อถูกทำลายแล้วก็ไม่สามารถเอาคืนกลับมาได้
เศรษฐศาสตร์แนวพุทธย้ำถึงการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
เน้นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริโภคให้น้อยที่สุด และความสำคัญของ “อาชีพงานการที่มีความหมายต่อคุณภาพชีวิต”
อีกทั้งยังสนับสนุน “เทคโนโลยีระดับกลาง” ซึ่งเป็นเครื่องมือและเทคนิคที่มีราคาไม่แพง มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นคนละแนวทางกับเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ใช้เงินทุนจำนวนมากซึ่งมักจะให้ประโยชน์เฉพาะกับผู้มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น
ที่ตอกย้ำเป็นพิเศษคือการกระจายอำนาจขนาดเล็กจะมีประสิทธิภาพและมีมนุษยธรรมมากกว่าระบบแบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่
เพราะวิสาหกิจขนาดเล็กมีความเหมาะสมมากกว่าที่จะตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นและสามารถจัดหาการจ้างงานที่มีความหมายได้มากกว่า
ท้ายที่สุดจุดประสงค์ที่แท้จริงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจควรเป็นเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของบุคคลและชุมชน
แทนที่จะเพียงเพิ่มความมั่งคั่งทางวัตถุเท่านั้น
หนังสือเล่มนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการเคลื่อนไหวที่สนับสนุนความยั่งยืน เทคโนโลยีที่เหมาะสม และท้องถิ่นนิยม
ตรงกับแนวคิดที่ว่าตัวเลขเติบโต GDP แต่เพียงอย่างเดียวไม่อาจจะสร้างระบบเศรษฐกิจที่ยุติธรรมและยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำกับคอร์รัปชั่นได้เลย!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022