ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ชาคริต แก้วทันคำ
การเมืองเรื่อง ‘เสียง’
ที่กระทำชำ ‘เรา’
ในเรื่องสั้น ‘ถึงตรมนางทนเอาไว้’
“นางกับอ้ายไม่ได้รักกันตั้งแต่แรก ทั้งสองถูกจับแต่งงานเพราะอ้ายข่มขืนนางจนตั้งท้อง จากนั้นชีวิตของนางก็ไม่ต่างจากสัตว์และทรัพย์สินที่ถูกอ้ายกระทำย่ำยีด้วยความรุนแรงทั้งกาย วาจา ใจ จนน้ำตาไหลนองออกมาเพราะความเจ็บช้ำ แต่นางก็ยอมทน อดทนมีชีวิตอยู่จนกว่านางหรืออ้ายจะตายจาก”
เรื่องย่อเพียงเท่านี้ พล็อตอาจดูธรรมดาเกินไป เพราะมันแสดงแค่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ คาวขื่น ที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อและไร้ปากเสียง
ทว่า ความน่าสนใจอยู่ที่การบรรยายสภาพสังคมชนบทอีสานผ่านฉากและความเปรียบที่เต็มไปด้วยรส กลิ่น เสียง สัมผัส เชื่อมโยงการเมืองจากครอบครัวไปสู่สังคมผ่านความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับขนบประเพณี มนุษย์กับธรรมชาติ และจิตใจของตัวละคร ‘นาง’ ที่ถูกกดทับจากระบบชายเป็นใหญ่
เรื่องสั้น ‘ถึงตรมนางทนเอาไว้’ ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด เข้ารอบการประกวดรางวัลมติชนอวอร์ด 2024 ลำดับที่ 12 ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 2292 19-25 กรกฎาคม 2567
โดยบทความนี้จะวิเคราะห์ใน 2 ประเด็น ดังนี้
เสียงจากกระแสสำนึกของ ‘ผู้ไร้เสียง’
นางถูกอ้ายข่มขืนใต้ฮ่านคณะหมอลำ ทั้งๆ ที่กรีดร้องตะโกนจนสุดเสียง แต่ก็ถูกมือสากๆ ของอ้ายปิดปากเอาไว้ แสดงว่าก่อนที่นางจะแต่งงาน นางมี ‘ปาก’ และ ‘เสียง’ เป็นของตัวเอง แต่เมื่อมาอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก การมี ‘ปาก’ ของนางกลับ ‘ไร้เสียง’ ทั้งถูกเสียงดังจากคณะหมอลำกลบเกลื่อน และถูกอ้ายเอามือสากๆ ปิดไว้ จึงยากที่จะดิ้นรนขัดขืน
ต่อมามือสากๆ นั้นก็ป้อนไข่ต้มใส่ปากนางตามประเพณี ทำให้ ‘เสียง’ ของนางหายไปจนกลายเป็นผู้ไร้เสียง เพราะถูกความหน้าบางของบรรดาพ่อๆ บังคับให้แต่งงานตามประเพณี
ผู้หญิงจึงมีคุณค่าในเนื้อตัวร่างกายไม่ต่างจาก ‘สัตว์ และ ‘ทรัพย์สิน’ ที่สังคมชายเป็นใหญ่มองเห็นเป็นเพียงวัตถุทางเพศ
ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับขนบประเพณีในสังคมชนบทอีสาน ทำให้นางไร้เสียง ไม่ต่างจากถูกไข่ต้มยัดปาก จะกลืนก็ไม่เข้า จะคายก็ไม่ออก ยามจะปริปากมีเสียงตอบโต้ มักถูกอ้ายตบหน้าตบปากจนเลือดกบปาก หลายครั้งนางทำได้แค่หลั่งน้ำตาปลอบตัวเองให้อดทนไว้
ความน่าสนใจของกระแสสำนึก ‘เสียง’ จากผู้ไร้เสียงชายขอบแบบนาง นอกจากจะถูกกดไว้ด้วยอำนาจของขนบประเพณีและชายเป็นใหญ่แล้ว แต่รายละเอียดสำคัญที่น่าตีความคืออ้ายมักพาผู้หญิงไม่ซ้ำหน้ามาที่ห้อง ห้องที่นางอดทนฟัง “เสียงกระซิกกระเส่าดังลอดออกมาจากห้องข้างๆ เต็มสองรูหู อ้ายและผู้หญิงคนนั้นแทบไม่ระมัดระวังอะไรเลย กระแทกกระทั้นกันเมามันด้วยความสุขสมจนอกนางตรมแทบจะกระอักเลือด” ซึ่งผู้หญิงในห้องนั้น นางไม่เคยเห็นเงา แต่ถูกเปรียบเป็น ‘ผีแม่ม่าย’ เท่ากับว่าผู้หญิงในสายตาของอ้ายไม่เคยมีตัวตนในชีวิตเลย
ทั้งนี้ ความเงียบที่ทนฟัง | ถูกกั้นด้วยผนังห้อง | เสียงกระซิกกระเส่าที่ดังลอดออกมา เป็นได้ทั้งเสียงภายนอกและเสียงภายใน
โดยเสียงภายนอกที่ดังกระซิกกระเส่า (ความสุข) กำลังเล่นล้อกับเสียงภายในที่อีกคนเงียบฟัง (ความเศร้า) คือความอึดอัดในชีวิตที่นางปรารถนาและโหยหาความสุขจากสามี แต่นางกลับต้องอยู่ในห้องอีกห้องอย่างไร้ตัวตน
แท้จริงแล้ว เสียงกระซิกกระเส่าที่นางได้ยินเต็มสองรูหูจากห้องข้างๆ จนอกนางตรมแทบกระอักเลือด อาจหมายถึงความอยากปลดปล่อยความอัดอั้นในชีวิตที่ถูกกดทับไว้ มันจึงเป็นเสียงภายในที่สะท้อนความต้องการความรัก ความสุขจากเพศรสกับสามีของนาง ซึ่งนับวันจะจืดจางห่างเหินและแก่ตัวไปตามวัย
การเมืองที่กระทำชำ ‘เรา’
ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่
ระบบชายเป็นใหญ่ในตัวบทเรื่องสั้นนี้ที่นอกจากจะปิดกั้น ‘เสียง’ ของผู้หญิงหลังการแต่งงานแล้ว เมื่อผู้หญิงอยากจะปริปาก โต้ตอบ กลับถูกตบหน้าตบปาก ทำให้ผู้หญิงต้อง ‘ไร้เสียง’ โดยปริยาย มิพักกล่าวถึงการส่งเสียงเรียกร้องหรือคัดค้านผ่านการแสดงออกทางการเมือง เพราะ “อ้ายว่าไม่มีใครได้ยินเสียงของนางตั้งแต่นางถูกยัดไข่เข้าปากแล้ว นางเลยนึกขึ้นได้และพยายามเงี่ยหูฟัง นางไม่เคยได้ยินเสียงผู้หญิงคนอื่นเลย ไม่ว่านางจะเห็นว่าพวกเธอโก่งคอแหกปากร้องขนาดไหน”
เท่ากับว่าเสียงของผู้หญิงถูกลิดรอนตั้งแต่ถูกแต่งงาน อีกทั้งมันยังพรากความฝัน ความฉลาด ความสาวและอนาคตไปด้วย ไม่ต่างจากที่ประเสริฐศักดิ์เปรียบว่า ผู้ชายมีหน้าที่จับปลา (ความอิสระ) ผู้หญิงมีหน้าที่เป็นผู้ตาม ช่วยเหลือสามีและขอดเกล็ด ควักไส้ปลาออกมาหมัก (กักขัง) ไว้ในไห
อย่างไรก็ตาม มิติชีวิตของผู้หญิงอีสานตามตัวบทกลับถูกปิดกั้นตั้งแต่ครอบครัว มิให้มีสิทธิ์เสียงในการแสดงออกถึงเสรีภาพ เมื่อผู้ชาย ไม่ว่าอ้าย พ่อของนาง พ่อของอ้าย ตลอดจนกฎหมายต่างกระทำชำเรา
– นางและผู้หญิงไม่ซ้ำหน้าของอ้าย (เพศแม่) ตั้งแต่บังคับให้ลูกสาวแต่งงาน การใช้ความรุนแรงในครอบครัว
– แม่น้ำสงคราม ข้ามขั้นตอนประชาพิจารณ์ ถูกคนแอบสวมสิทธิเซ็นรับรองการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
– แผ่นดิน (มาตุภูมิ) ที่อยู่ที่กินถูกผู้มีอำนาจขาดจิตสำนึกตักตวงผลประโยชน์
โดยอาจตีความได้อีกว่า คนในประเทศนี้ไม่ต่างจากปลาที่มี ‘ปาก’ แต่ไร้ ‘เสียง’ ว่ายวนอยู่ในน้ำรอถูกจับ ก่อนจะโดนขอดเกล็ดควักไส้พุงหมักเป็นปลาร้าในไห รอวันเปิดเผยกลิ่นฉาวโฉ่ เพราะ ‘เรา’ ต่างเป็นผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ มีและไม่มีส่วนร่วม ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ในมิติของวิถีอีสานจากการหมักปลาร้าที่ประเสริฐศักดิ์เปรียบว่า “รสชาติเค็มขมขื่นที่ติดปลายลิ้นนั้น ทำให้ปลาร้าของนางแซบนัวไม่เหมือนใคร” ทำให้ผู้วิจารณ์นึกถึงตัวละคร ‘ติตา’ ในนวนิยายเรื่อง ขมเป็นน้ำตาล หวานเป็นน้ำตา ของเลารา เอสกิเวล เมื่อ “น้ำตาหยดแล้วหยดเล่าที่ถูกผสมลงไปในกระบวนการที่นางทำทุกวันจนหลับตาทำได้” นั้น ได้สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครหญิงที่เก็บงำบางสิ่งไว้อย่างสมจริง และอยากปลดปล่อยมันออกมา ส่งต่อรสชาติไปปลุกกระตุ้นชีวิตที่เค็มและขมขื่นกับคนอื่นอย่างน่ามหัศจรรย์ อีกทั้งยังแสดงถึงอิสรภาพที่นางอยากไขว่คว้าผ่านบทบาทหน้าที่จากการทำอาหาร ด้วยอำนาจของผู้กระทำที่ไม่อยากเป็นผู้รองรับการกระทำอีกต่อไป
เรื่องสั้น ‘ถึงตรมนางทนเอาไว้’ ของประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด จึงต้องรอเวลาเช่นเดียวกับการหมักปลาร้า เพราะความขัดแย้งต่างๆ ที่นางถูกกดทับไว้ สักวันมันต้องถูกปลดปล่อย และเมื่ออ้ายล้มป่วย สิ่งที่นางกระทำกับอ้าย ไม่ว่า “ตอดกินข้าวต้มคลุกน้ำตาของนาง” หรือ “จับอ้ายโยนลงกะละมังล้างน้ำคว้านเอาไส้และเครื่องในออกจนหมด ยัดรำและเกลือโพแทสเข้าไปคลุกเคล้า…”
จึงเป็นการโต้กลับระบบชายเป็นใหญ่ด้วยวิธีแก้แค้นเอาคืนอย่างสาสม และประเสริฐศักดิ์ก็เลือกใช้คำและบรรยายฉากนี้ได้อย่างแสบสันต์
ดังนั้น ตอนจบที่นางไม่มีน้ำตาให้ไหลอีก แสดงว่าความทุกข์เศร้าภายในใจของนางได้หมดสิ้นลง นางจึงแข็งแกร่งจนกลายเป็นผู้ชนะจากความพ่ายแพ้
ไม่ต้องมีชีวิตเกลือกกลั้วกับของคาวพวกนั้นที่ตกไปเป็นภาระคนอื่นแล้ว
เอกสารอ้างอิง
ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด. (2567). ถึงตรมนางทนเอาไว้. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_784099
มีเกียรติ แซ่จิว. (2565). เสียง ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต และเสียงป่น ‘ปี้’ ของการเมือง. เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_585447
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022