โพสต์ ร็อก 101 และ บางกอก Post เทศกาลดนตรี โพสต์-ร็อก นานาชาติ ที่เปิดตัวได้อย่างสวยงาม

บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์

 

โพสต์ ร็อก 101 และ บางกอก Post

เทศกาลดนตรี โพสต์-ร็อก นานาชาติ

ที่เปิดตัวได้อย่างสวยงาม

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาทาง Loudly Prefer ได้จัดงานที่มีชื่อว่า “บางกอก Post : The New Era of Post-Rock Festival” ขึ้นที่ CENTERPOINT STUDIO ซอยลาซาล

โดยงานนี้ถือเป็นเทศกาลดนตรีแนวโพสต์-ร็อก ที่มีความร่วมสมัยและมีโปรดักชั่นในการจัดงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาในประเทศไทยเลยก็ว่าได้

แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องเทศกาลดนตรี เราไปทำความรู้จักกันก่อนดีกว่าว่ารูปแบบของดนตรีโพสต์-ร็อก เป็นอย่างไรและมีเอกลักษณ์เฉพาะเช่นไร

 

ดนตรีที่มีแบบแผน (Scheme) ด้วยโครงสร้างดนตรีที่ชัดเจนจนสามารถนิยามแนวดนตรีที่ทุกคนเข้าใจได้ในทันทีก็อย่างเช่น ป๊อป, ร็อก, แจ๊ซ, บลูส์, เฮฟวี เมทัล, อาร์แอนด์บี และอื่นๆ

แต่ด้วยเทคโนโลยีในการพัฒนาเครื่องดนตรีและไอเดียในการสร้างสรรค์แนวเพลงที่เพิ่มสูงขึ้นตามยุคสมัย ทำให้ขอบเขตของดนตรีแต่ละแนวถูกขยายออกไปจนก่อให้เกิดดนตรีตระกูลย่อย หรือว่า Sub-Genre มากขึ้นเรื่อยๆ

และคำว่า Post ที่ใช้นำหน้าคำว่า Rock นั้นมีความเชื่อมโยงกับแนวคิด “หลังสมัยใหม่” หรือ Postmodern ซึ่งเป็นปรัชญาความคิดในเชิงท้าทายที่แตกต่างออกไปจากกรอบความคิดเดิม

ตระกูล (Genre) ที่ถือเป็นรากฐานหลักของดนตรีร็อก คือ ร็อกแอนด์โรล ที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากดนตรีบลูส์ของคนผิวดำ

ร็อกเป็นแนวเพลงที่มีการแบ่งออกไปเป็นตระกูลย่อยต่างๆ มากที่สุดแนวหนึ่งของโลก จากเดิมที่มีรากเป็นดนตรีบลูส์, อาร์แอนด์บี, โฟล์ก และคันทรีในยุคเริ่มแรก

ในปัจจุบันดนตรีร็อกมีการแยกย่อยออกไปเป็นดนตรีแนวต่างๆ มากมาย แต่ถึงแม้ว่าสำเนียงดนตรีในตระกูลย่อยของดนตรีร็อกจะแตกต่างกันออกไป แต่จุดร่วมของดนตรีแนวนี้จะอยู่ที่ซาวด์จากกีตาร์ไฟฟ้าที่โดดเด่นเป็นหลัก

ในขณะที่เครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ อย่างเบส, กลองและคีย์บอร์ดจะมีรูปแบบการเล่นที่แตกต่างกันออกไปตามแต่สไตล์ของแต่ละตระกูลย่อย รวมถึงไอเดียในการเล่นของวงดนตรีแต่ละวงด้วย

 

โพสต์-ร็อก เป็นดนตรีตระกูลหนึ่งที่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกับดนตรีแนวอื่นๆ อย่าง Post-Metal หรือว่า Post-Hardcore ที่นักวิจารณ์ดนตรีและวงดนตรีที่เล่นดนตรีแนวนี้มองว่าตัวเองไม่ได้เล่นดนตรีเมทัล หรือว่า ฮาร์ดคอร์ ในแบบอนุรักษนิยม

หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การที่ศิลปินได้ตีความหรือแม้กระทั่งรื้อสร้าง (Deconstruction) โครงสร้างดนตรีร็อกดั้งเดิมให้ออกมาเป็นดนตรีร็อกอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

ไซมอน เรย์โนลด์ อาจจะเป็นนักวิจารณ์ดนตรีคนแรกที่นิยามดนตรีโพสต์-ร็อก ขึ้นมาด้วยการวิจารณ์อัลบั้ม Hex ของวงดนตรีเกาะอังกฤษที่มีชื่อว่า Bark Psychosis ผ่านบทความที่ตีพิมพ์ลงบนนิตยสารดนตรี Mojo

ในปี 1994 ไซมอน กล่าวถึงงานเพลงของวงนี้อย่างย่นย่อว่าเป็น “โพสต์-ร็อก” โดยเครื่องดนตรีที่วงเล่นยังเป็นพื้นฐานของร็อกอยู่ แต่ไม่ใช่เพื่อการสร้างซาวด์ดนตรีร็อกแบบดั้งเดิม

เพราะถึงแม้ว่าทางวงจะใช้กีตาร์ไฟฟ้าในการสร้างสรรค์งานเพลงเป็นหลัก แต่ก็เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ด้วยการเพิ่มองค์ประกอบของซาวด์ด้วยเอฟเฟ็กต์หลากหลายชนิดเพื่อให้โทนของดนตรีแตกต่างไปจากดนตรีร็อกแบบอนุรักษนิยมที่เน้นท่อนริฟติดหูและเพาเวอร์คอร์ดหนักๆ

โพสต์ ร็อก จึงเป็นแนวดนตรีที่ใช้กีตาร์อย่างน้อย 2 ตัวเพื่อสร้างองค์ประกอบของซาวด์ให้มีความซับซ้อนมากขึ้น

ดนตรียุคใหม่มีโครงสร้างหลักของเพลง (Song Structure) หลักๆ คือ Intro หรือส่วนเปิดของเพลง Verse ที่ปูเข้าสู่เนื้อหาหรือว่าการเล่าเรื่อง Pre-Chorus หรือ Chorus ที่มีการคิดเมโลดี้หรือฮาร์โมนีให้ติดหูมากที่สุด Bridge หรือท่อนแยกเพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางของบทเพลงไปจนถึงท่อนโซโล่หรือท่อน Outro ก่อนจบเพลง

แต่โพสต์-ร็อก ปฏิเสธแนวทางหรือทฤษฎีทางดนตรีดังกล่าวออกไปทั้งหมด โดยไม่มีแม้กระทั่งนักร้องนำหรือว่าเนื้อเพลงด้วยซ้ำไป

ส่งผลให้โพสต์ ร็อก เป็นแนวดนตรีที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังตีความดนตรีได้อย่างเป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้ฟังมีต่อบทเพลงที่มีความเป็นส่วนตัวสูง

 

ก่อนหน้านี้มีวงโพสต์-ร็อก ระดับโลกมาแสดงคอนเสิร์ตที่ไทยหลายวง อย่างเช่น MONO, Explosions in the Sky, Mogwai, Sigur R?s, Nothing ยังไม่นับรวมถึงวงโพสต์ ร็อก สายอินดี้จากหลายประเทศทั่วโลกที่มาแสดงคอนเสิร์ตในไทยอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยเองก็มีวงโพสต์-ร็อก เจ๋งๆ หลายวงอย่าง Forgot Your Case, On the Plateau, Hope the Flowers, INSPIRATIVE, วิมุตติ, เจี่ยป้าบ่อสื่อ และอีกมากมาย

นอกจากนี้ ก็ยังมีกลุ่ม Collective ที่ผลักดันวงการโพสต์-ร็อก ไทยมานานอย่าง ASiA Sound Space ด้วย

โพสต์ ร็อก ไม่ถือว่าเป็นดนตรีในกระแสหลักและมีผู้ฟังค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่ในตอนนี้พื้นที่ของดนตรีโพสต์-ร็อก ได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

และงาน บางกอก Post ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการก่อร่างสร้างสังคมโพสต์-ร็อก ในไทยให้กว้างขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นศิลปินที่มาร่วมโชว์, ผู้ที่ชื่นชอบดนตรีแนวนี้หรือว่าตัวผู้จัดเอง

 

ทาง Loudly Prefer วางงาน บางกอก Post เอาไว้ในรูปแบบเทศกาลดนตรีเล็กๆ สิ่งที่ต้องแสดงความชื่นชมก็คือการจัดพื้นที่โดยรอบของงานอย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโซนขายอาหาร, โซนขายเสื้อทัวร์ เสื้อวงและสินค้าที่ระลึก, โซนถ่ายรูปที่ทางผู้จัดทำแบ๊กดร็อปได้อย่างยิ่งใหญ่และสวยงาม

นอกจากนี้ ก็ยังมีโซนดีเจที่เปิดเพลงแนวชูเกซ, ดรีม ป๊อป (ที่มีซาวด์ดนตรีไปกันกับโพสต์ ร็อกได้) ไปจนถึงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ ที่ผ่อนคลายอารมณ์ของผู้ชมที่ฟังเพลงโพสต์ ร็อก หนักๆ มาแล้วได้ดีทีเดียว

วงดนตรีที่เข้าร่วมเทศกาลดนตรี บางกอก Post ปีนี้มีวงไทย 6 วง และวงต่างประเทศ 2 วง

ประเดิมด้วยวงแรก Shadow Colonies ที่เล่นดนตรีในแนวอิเล็กทรอนิกส์ ร็อก และดาร์ก เวฟ โดยซาวด์ที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกมืดหม่นแต่ซุกซ่อนเมโลดี้ที่สวยงามและเสียงร้องที่อ่อนหวานของนักร้องนำที่เป็นผู้หญิงก็ให้ความรู้สึกเหมือนฟังเพลงของวง Depeche Mode อยู่ไม่น้อย

ต่อมาเป็นโชว์ของวง The Biirthday Party วงดนตรีแนวดรีมป๊อปจากจังหวัดอุบลราชธานีที่ขึ้นชื่อเรื่องการแสดงสดที่ไม่ธรรมดา ซึ่งโชว์ของวงก็ไม่ทำให้แฟนๆ ผิดหวัง

สิริพรไฟกิ่ง – Ziriphon Fireking วงโพสต์-ร็อก 6 ชิ้นจากจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนตัวแล้วมองว่าทักษะทางการเล่นดนตรีของวงอยู่ในระดับดีเลย แต่ไอเดียในการคิดโครงสร้างและบริบทของซาวด์ยังไม่ค่อยหวือหวาเท่าไหร่ คือเล่นดีอยู่แล้วแต่มองว่ายังสามารถพัฒนาและดีกว่านี้ได้อีกเพื่อที่จะช่วยเพิ่มมิติและไดนามิกของบทเพลงให้ลึกมากกว่านี้

วงต่อมา Torrayot ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์วงของอู๋ อดีตมือกีตาร์และนักร้องนำวง The Yers โชว์ของวงนับได้ว่าสาแก่ใจแฟนๆ ที่ชื่นชอบดนตรีแนวโพสต์-ร็อก, นอยซ์ ร็อก, ร็อก ทดลอง, ชูเกซ ไปจนถึง อินดัสเทรียล, ดูม และแทรช เมทัล

ซึ่ง Torrayot นำดนตรีหลากหลายแนวเหล่านี้มาผสมผสานกันได้ดีอย่างไร้รอยต่อมากๆ ที่เซอร์ไพรส์ก็คือการหยิบเพลง Change (In the House of Flies) ของวง Deftones (ถ้าจำเพลงไม่ผิดนะครับ) มาเล่นด้วย

วง Desktop Error วงชูเกซระดับแถวหน้าของไทยขึ้นโชว์ได้ดีตามมาตรฐาน

เช่นเดียวกับ INSPIRATIVE ที่ถือเป็นวงโพสต์-ร็อกเบอร์ต้นๆ ของไทยเช่นกัน

 

Chinese Football วงจากเมืองอู่ฮั่นประเทศจีนนำสีสันของดนตรีอินดี้ ป๊อป และร็อก, ป๊อป พังก์, กลิ่นอายของเจ-ป๊อป ไปจนถึง Math Rock มาผสมผสานเป็นท่วงทำนองที่ทั้งเท่และป๊อปติดหูมาก ซึ่งวงก็เล่นสดได้ดีจนแฟนๆ อยากให้ทางวงมาเล่นคอนเสิร์ตเดี่ยวไปเลย

ส่วน Deafheaven สุดยอดวงโพสต์-ร็อก, แบล็ก เกซ (แบล็ก เมทัล ผสมกับชูเกซ) ระดับแถวหน้าของโลกที่กลับมาเล่นสดในไทยอีกเป็นครั้งที่ 3 นำความโหดของดนตรีเมทัลและความลึกซึ้ง, ล่องลอย, สวยงามของดนตรีชูเกซมาสาดใส่แฟนเพลงได้อย่างเต็มไปด้วยพลัง ให้ความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในป่าลึกที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายและขวากหนาม

แต่ในพื้นที่ที่โหดร้ายนี้ก็กลับมีสวนดอกไม้สีสันสวยงามส่งกลิ่นรัญจวนใจกันให้ชื่นชมตลอดทั้งเส้นทางด้วย

 

งาน “บางกอก Post : The New Era of Post-Rock Festival” ปี 2024 ประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

ซึ่งทางผู้จัดประกาศทันทีที่จบงานเลยว่าในปีหน้าจะมีการจัดงาน บางกอก Post ครั้งที่ 2 แน่นอน

เตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้าเอาไว้ได้เลย