พื้นที่ความตายในเมืองกรุงเทพฯ (4) : ชนชั้นในป่าช้า

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

พื้นที่ความตายในเมืองกรุงเทพฯ (4)

: ชนชั้นในป่าช้า

 

หากมองในเชิงโครงสร้างสังคมและการบริหารจัดการ ป่าช้าคือพื้นที่จัดการซากศพคนตายของเมือง ทำให้สิ่งที่เป็นอวมงคลในบริบทจารีต และสิ่งปฏิกูลเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกเชื้อโรคในบริบทสมัยใหม่ ไม่เข้ามารบกวนผู้คนและชุมชนที่อาศัยอยู่ในเมือง

อย่างไรก็ตาม ป่าช้ามิได้มีบทบาทเพียงแค่นั้น การจัดการกับร่างกายของผู้เสียชีวิตในพื้นที่ความตายตามวัฒนธรรมไทยยังทำหน้าที่สะท้อนและผลิตซ้ำโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ตลอดจนการจำแนกแยกแยะช่วงชั้นทางสังคมของผู้คนออกเป็นระดับต่างๆ

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับว่า ลักษณะเช่นนี้มิใช่เกิดขึ้นเฉพาะในไทย ในแทบทุกสังคมโบราณ การจัดการความตายล้วนแต่แฝงนัยยะเช่นนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รูปแบบและวิธีการจะแตกต่างกันออกไป

ในกรณีสังคมไทยดั้งเดิม พื้นที่ในคติไทย (ในส่วนนี้อ้างอิงและปรับใช้แนวคิดมาจากบทคววาม “พื้นที่ในคติไทย” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์) แม้ในทางกายภาพจะเชื่อมต่อเนื่องเป็นผืนเดียวกัน แต่ในทางวัฒนธรรมกลับถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วนๆ โดยในแต่ละส่วนจะมีกฎเกณฑ์การใช้งานที่ต่างกัน ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับความเชื่อทางศาสนา สถานะทางสังคม ชนชั้น และชาติกำเนิด

ระบบดังกล่าวออกแบบขึ้นเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นปกครองในอดีตเพื่อยืนยันสถานะของกลุ่มตนเองว่าพิเศษกว่าคนทั่วไป (และดังนั้น จึงสมควรมีอำนาจเหนือผู้อื่น) ผ่านการใช้สอยพื้นที่ที่พิเศษแตกต่างออกไปจากคนอื่น

เมรุปูนวัดสระเกศ
ที่มา : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ

พื้นที่ในคติไทยจะถูกแบ่งแยกอย่างละเอียดเป็นหลายระดับ สัมพันธ์กับการจำแนกชนชั้นทางสังคม ซึ่งทั้งหมดดำเนินควบคู่ไปกับเครื่องมือทางวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ทั้งภาษา เครื่องแต่งกาย พิธีกรรม อาหาร ฯลฯ

และในบรรดาเครื่องมือทั้งหมด ที่ชัดเจนที่สุดในการแบ่งแยกพื้นที่ของผู้คนชนชั้นต่างๆ ออกจากกัน คือ สถาปัตยกรรม

สังคมช่างแบบจารีต จะรู้จักดีกับคำว่า “ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมไทย” ซึ่งหมายถึงรูปแบบตลอดจนวัสดุก่อสร้าง และลวดลายประดับตกแต่งทั้งหลายนั้นต่างมีกฎเกณฑ์การใช้งานที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานะของคนที่จะเข้ามาใช้สอยอาคารนั้นๆ

พูดให้ชัดก็คือ รูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมตกแต่งทั้งหลาย นอกจากประโยชน์ใช้สอยทางกายภาพและความงามแล้ว ตัวมันยังทำหน้าที่จำแนกแยกแยะชนชั้นของผู้คนในสังคมด้วย

เมื่อเรามองความแตกต่างในการออกแบบ พระราชวัง วัง ตำหนัก เรือนขุนนาง บ้านราษฎร วัดหลวง วัดราษฎร วัดขุนนาง ศาลา ท่าเรือ กุฏิ ฯลฯ สิ่งที่เราควรต้องตระหนักด้วยเสมอก็คือ ความแตกต่างนั้นมีบทบาททางสังคมแฝงอยู่

มิใช่ความแตกต่างในเชิงสุนทรียภาพและงบประมาณ

แต่คือเครื่องมือกำหนดกำกับช่วงชั้นของผู้คนในสังคม

ระบบนี้แทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่และการออกแบบสถาปัตยกรรมทุกประเภท ไม่เว้นแม้กระทั่งพื้นที่และสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย

โรงทึมวัดสระเกศ
ที่มา : เพจ เกร็ดประวัติศาสตร์

ยอดสุดของพีระมิดแห่งพื้นที่ความตายในกรุงเทพฯ คือ ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) ใจกลางพระนคร

ภายในกำแพงพระนคร ทราบกันดีว่า ไม่อนุญาตให้มีการจัดการเผาศพโดยเด็ดขาด แต่มีกรณียกเว้นเพียงหนึ่งเดียวคือพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายชั้นเจ้าฟ้าที่สามารถเผาได้

เพราะตามคติโบราณเราถือว่ากษัตริย์เป็นดั่งสมมติเทพที่ควรได้รับข้อยกเว้นพิเศษนี้ การแสดงสถานะพิเศษยังรวมถึงรูปแบบพระเมรุมาศที่ต้องยิ่งใหญ่และเต็มไปด้วยรายละเอียด เสมือนดั่งการจำลองเขาพระสุเมรุลงมาบนพื้นโลก

พื้นที่สำหรับชนชั้นที่ต่ำลงมาก็คือป่าช้าและเมรุรอบนอกของเมือง (ตามที่อธิบายไปในสัปดาห์ก่อน) ซึ่งป่าช้าทั้งหลายจะถูกแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ แยกกันตามสถานะและชนชั้นทางสังคมของผู้ตาย

ในกรณีเชื้อพระวงศ์ชั้นรองลงมาจากเจ้าฟ้า จะมีการสร้างเมรุชั่วคราวในพื้นที่วัดหลวงนอกกำแพงพระนครที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งมีรูปแบบและความซับซ้อนน้อยลงจากพระเมรุและพระเมรุมาศกลางท้องสนามหลวง

ในบางกรณี เพื่อความสะดวกและประหยัด ก็ได้มีการสร้าง “เมรุปูน” หรือเมรุถาวรสำหรับเจ้านายเอาไว้ในวัดบางแห่งนอกพระนคร

หลักฐานเก่าสุดของกรุงเทพฯ ที่ทำเมรุปูนคือสมัยรัชกาลที่ 1 ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยอธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จฯ (31 ธันวาคม พ.ศ.2483) ความว่า

“…กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชดำริสร้างเมรุปูนที่วัดสุวรรณาราม แล้วมาสร้างถวายวังหลวงที่วัดอรุณอีก ๑ ก็เพื่อให้เป็นที่เผาศพผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นรองจากทำเมรุกลางเมืองลงมา…”

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการสร้างเมรุปูนเพิ่มอีกแห่งที่วัดสระเกศ ตามหลักฐานที่ระบุว่า

“…ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒน์ ทำเมรุขึ้นที่วัดสระเกศอีกแห่ง ๑…ดูเหมือนเจตนาจะให้ปลงได้จนถึงพระศพเจ้านายและเสนาบดี…ใช่แต่เท่านั้นยังสร้างโรงทึมปูนอีกหลัง ๑ ห่างออกไปอีกบริเวณหนึ่งต่างหาก สำหรับปลงพระศพชั้นบรรดาศักดิ์ต่ำลงมา…”

เมรุปูนมักออกแบบเป็นอาคารโถงผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ผนังเป็นเครื่องก่อ หลังคาไม้ทรงมณฑปซ้อนชั้นคล้ายกับพระเมรุมาศแต่ซับซ้อนน้อยกว่ามาก บางแห่งอาจมีการสร้างอาคารประกอบแบบถาวรล้อมรอบ (เช่นวัดสระเกศ) บางแห่งมีแค่ตัวเมรุปูนที่เป็นอาคารถาวร (เช่นวัดอรุณฯ)

ซึ่งความแตกต่างสะท้อนให้เห็นถึงศพที่จะเข้าไปใช้ว่ามีสถานะทางสังคมที่ต่างกัน

โรงทึม (หรือเมรุปูน?) วัดพิชยญาติการาม
ที่มา : สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ อ้างถึงในเพจ Suwaphol Suvanich

จากข้อเขียนของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เราจะพบอีกคำคือ “โรงทึม” แยกออกมาจาก “เมรุปูน” ซึ่งจากการอธิบายของท่านชี้ให้เห็นว่า โรงทึมสร้างไว้สำหรับศพผู้มีสถานะต่ำลงมาอีกชั้น

โรงทึมจะเป็นอาคารโถงมีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสคล้ายเมรุปูน แต่ไม่มีอาคารประกอบที่สลับซับซ้อนมากเท่า ในส่วนหลังคาออกแบบเป็นทรงมณฑปที่เรียบง่ายกว่าอย่างชัดเจน แสดงถึงสถานะของศพที่ต่ำลงมาอีกระดับ

ตามหลักฐานที่เหลืออยู่ เราทราบว่ามีโรงทึมอย่างน้อย 3 แห่งในกรุงเทพฯ (น่าจะมีมากกว่านี้ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏ) คือ โรงทึมที่ป่าช้าวัดสระเกศ, โรงทึมที่วัดจันทาราม และโรงทึมที่วัดพิชยญาติการาม (กรณีวัดพิชยญาติการาม บางท่านเรียกว่าเมรุปูน แต่ส่วนตัวเมื่อดูจากรูปแบบแล้วน่าจะเป็นโรงทึมมากกว่า)

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการแบ่งแยกชนชั้นผ่านเมรุรูปแบบต่างๆ แต่ก็ดูเสมือนว่าความนิยมในการใช้โรงทึมและเมรุปูนมีไม่มากนัก เพราะพื้นที่ในคติไทยที่การแบ่งชนชั้นอยู่ในขั้นละเอียดและยิบย่อยมากจนทำให้การเผาศพของคนในที่เดียวกันไม่เป็นที่นิยม แม้ว่าจะอยู่ในช่วงชั้นที่ใกล้เคียงกันมากแล้วก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การแยกออกมาทำเป็น “เมรุผ้าขาว” ต่างหากในบริเวณใกล้เคียง ด้วยเหตุผลตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ บันทึกต่อมาว่า

“…แต่ว่าตามที่เคยเห็น ปลงพระศพเจ้านายที่วัดสระเกศก็ยังปลูกพระเมรุผ้าขาวขึ้นต่างหากอยู่นั่นเอง หรือว่าอีกอย่าง ๑ คือตัวเมรุที่ปลงพระศพเป็นสิ่งที่คนไม่ชอบร่วมกันเป็นสาธารณะ เพราะฉะนั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งสุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร จึงโปรดให้สร้างของถาวรสิ่งอื่นๆ ส่วนตัวเมรุต้องสร้างใหม่ทุกงาน…”

และถึงขนาดที่ “…มีผู้สร้างโรงทึมไม้อย่างรื้อปลูกใหม่ได้ สำหรับให้เช่าไปปลูกเหมือนปลูกเมรุใหม่…”

ความรังเกียจในการเผาศพที่เดียวกัน ลงลึกไปในทุกช่วงชั้นทางสังคม แต่ละคนต่างทำศพแยกเฉพาะไม่ปนกันตามจุดตามมุมต่างๆ ในพื้นที่ป่าช้า โดยจะมีการสร้างโครงสร้างชั่วคร่าวใหญ่เล็กตามแต่สถานะของแต่ละคน

ในส่วนราษฎร ความรังเกียจซึ่งกันและกันนี้ อาจมีอยู่แต่คงมีอยู่ไม่มากนัก เพราะเป็นฐานต่ำสุดของพีระมิดทางสังคม การเผาศพก็มักเผากลางแจ้งตามมีตามเกิด และบางกรณีที่ยากจนมากก็ปล่อยให้แร้งกิน

ทัศนะแบ่งแยกชนชั้นผ่านพื้นที่ความตายดำรงอยู่อย่างแข็งแรงเรื่อยมา จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทัศนะดังกล่าวจะถูกทำให้เสื่อมลง (แม้จะไม่หมดสิ้นสมบูรณ์) ผ่านการนำเข้า “เตาเผาศพสมัยใหม่” จากญี่ปุ่น ณ วัดไตรมิตร เมื่อ พ.ศ.2483

เตาเผาศพสมัยใหม่ได้เข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ความตายของสังคมไทยไปอย่างสิ้นเชิง