เผยแพร่ |
---|
การปรากฏตัวแห่ง”ตัวแทน”พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกลบนเวทีแลกเปลี่ยนความคิด”ฉันทามติรัฐสวัสดิการ” ณ หอศิลปะวัฒนธรรมกรุงเทพ กำลังกลายเป็น”เส้นแบ่ง”สำคัญ
ไม่เพียงระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลในทางรูปแบบ หากแต่ยังลึกซึ้งไปถึงเนื้อหา
เนื่องจาก”รูปแบบ”ดำรงอยู่ในลักษณะเงาสะท้อน”เนื้อหา”
ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการของ”องค์กร” ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการทาง”ธุรกิจ” ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการและรูปการจัดตั้งในทาง”การเมือง”
ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงเลือก ทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ เป็นตัวแทนพรรค ทำไมพรรคก้าวไกลจึงเลือก นายเดชรัต สุขกำ เนิด เป็นตัวแทนพรรค
นี่ย่อมมิได้เป็นเรื่อง”ส่วนตัว”อย่างด้านเดียว หากแต่ยังเป็นคำถามไปถึงโครงสร้างภายในพรรค สัมพันธ์กับความคิดเชิงอุดม การณ์พรรคอย่างมิอาจแยกออกได้
พรรคคิดอย่างไร คนที่ดำรงอยู่ในฐานะ”ตัวแทน”นั่นแหละจะเป็น”คำตอบ”ในเชิงพิสูจน์ทราบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
นั่นก็คือ การแสดงออกบน”เวที” นั่นก็คือ “เนื้อหา”ที่นำเสนอ
หากนำเอารายละเอียดของการแสดงความคิดบนเวที”ฉันทามติ รัฐสวัสดิการ” ระหว่างตัวแทนของพรรคเพื่อไทยกับตัวแทนของพรรคก้าวไกลมาเปรียบเทียบ
ก็จะเห็นได้อย่างเด่นชัดว่าคนไหนยึดกุมเนื้อหาเพื่อล้อมรอบต่อการเสวนาที่ว่า”ฉันทามติ รัฐสวัสดิการ”ได้มากกว่ากัน
ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์ ในฐานะดุษฎีบัณฑิตในทาง
เศรษฐศาสตร์และเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยาวนาน
บทบาทของ นายเดชรัต สุขกำเนิด มีความชัดเจน ยึดกุมไปตามหัวข้อ”ฉันทามติ รัฐสวัสดิการ”ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด มากด้วยประสบการณ์
แต่เมื่อติดตามบทบาทของ ทพญ.ศรีญาดา ปาริมาพันธุ์ ยิ่งรับฟัง ยิ่งไม่แน่ใจว่าตระเตรียมในเรื่องของ”รัฐสวุสดิการ”มา
หรือเพื่อต้องการโฆษณา”ผลงาน”รัฐบาลในวงกว้างมากกว่า
คำตอบว่าการพูดของตัวแทนพรรคเพื่อไทย หรือตัวแทนพรรคก้าวไกลสามารถสื่อได้มีประสิทธิภาพเพียงใด
มาตรวัดที่ตรงเป้าที่สุด คือ ปฏิกิริยาจนคนที่รับฟังในสถานที่
ปฏิกิริยาที่มีการยกมือระหว่างการพูด ความหงุดหงิดเมื่อยืนขึ้นแสดงความเห็นน่าจะเป็นการให้คำตอบต่อตัวแทนพรรคเพื่อไทยและต่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นอย่างดี
ปฏิกิริยานี้ย้อนลงลึกอย่างยิ่งไปถึงการตระเตรียม การเลือกคัดตัวแทนเพื่อไปพูดในเนื้อหา”รัฐสวัสดิการ”ว่าดำรงอยู่อย่างไร