ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ชีวประวัติของการแปล
: จากทาสอเมริกันศึกษาถึงไทยศึกษา (2)
ผมใช้แนวคิดใหม่ที่ตั้งเองว่า แทนที่การศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประวัติศาสตร์อเมริกากับไทย ผมใช้แนวคิดของการแปลมาเป็นเครื่องมือในการเปรียบระหว่างสองประวัติศาสตร์สังคมทั้งหมด
การแปลในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องการแปลภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง
ที่มากกว่านั้นคือมันเป็นการแปลความหมายที่ซ่อนเร้นหรือคลุมเครือในความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วยกันในสังคมนั้น
แล้วนำความรู้ทั้งหมดของสังคมอเมริกันมาเปรียบหรือส่องแสงให้แก่การทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์และสังคมไทย
ไม่ใช่การเปรียบเทียบเพียงเรื่องเดียว เวลาเดียว และกลุ่มคนเดียวกัน หากเป็นการส่องแสงซึ่งกันและกันระหว่างสองประวัติศาสตร์และสองสังคม
แนวทางในการศึกษาสังคมอย่างครอบคลุมทั้งหมดที่ผ่านมาอาศัยวิธีวิทยาของลัทธิมาร์กซ์ ในกรณีประวัติศาสตร์ระบบทาสอเมริกันจึงได้แก่การค้นหาชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของทาสและมีความผูกพันกับชุมชนของพวกเขาอย่างไร
ทำไมต้องสร้างวาทกรรมทางการเมืองที่สามารถอธิบายอุดมการณ์สาธารณรัฐ (republican) พร้อมๆ กับปกป้องระบบทาสให้ดำรงอยู่คู่กันไปด้วย
กล่าวได้ว่า ชนชั้นทาสก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคมที่พวกเขาทำงานอยู่
ในภาคใต้สหรัฐมีคนผิวขาวเป็นคนส่วนใหญ่ คนผิวดำถูกกีดกันจากการทำงานในอาชีพต่างๆ มาก
คนดำเสรี (ที่ไถ่ตัวเองแล้วหรือ free black) และลูกครึ่งครีโอล (creole ผสมระหว่างผิว) คนชั้นกลางไม่มีพื้นที่สำหรับการดำรงชีวิตที่ปกติมากนัก การดำรงอยู่ของชนชั้นทาสและคนผิวดำและลูกครึ่งที่เป็นคนชั้นกลางมีผลอย่างมากต่อชีวิตและความคิดของเจ้าของทาส
จากนี้จึงอธิบายเรื่องชนชั้นปกครองออกไปอีก แทนที่จะมองเพียงว่าชนชั้นปกครองคือผู้กุมปัจจัยการผลิต ดังที่นักลัทธิมาร์กซทั่วไปมักเข้าใจและสอนกันมาอย่างเป็นแบบฉบับ
หากแต่ในความเป็นจริง “ชนชั้นปกครองไม่ได้เติบใหญ่ขึ้นเพียงแค่จากการมีความสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิตเท่านั้น แต่ชนชั้นปกครองเติบโตขึ้นมาในสัมพันธภาพที่มีต่อชนชั้นอื่นที่เขาปกครองอยู่ ขอบเขตของสัมพันธภาพนี้และรูปแบบของสัมพันธภาพที่เขาจะสร้างขึ้นมา ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของการเผชิญหน้ากันระหว่างชนชั้นปกครองกับบรรดาชนชั้นที่ถูกปกครอง รวมทั้งการเผชิญหน้ากับชนชั้นอื่นๆ นอกปริมณฑลของกิจกรรมที่ทำอยู่เฉพาะหน้าด้วย” (Genovese 1976)
จากการวิเคราะห์ธรรมชาติของชนชั้นปกครองในแต่ละระบบทาส สามารถสรุปลักษณะทั่วไปประการหนึ่งของระบบทาสในโลกใหม่ได้ คือทวิลักษณ์ของประวัติศาสตร์ระบบทาส การล่าอาณานิคมในโลกใหม่ได้นำไปสู่การสร้างระบอบเก่าโบราณขึ้นใหม่ ด้วยการก่อรูปของระบบไร่ขนาดใหญ่ที่เป็นปิตาธิปไตย โดยมีลักษณะครอบงำของระบบอุปถัมภ์ (paternalism)
ลักษณะดังกล่าวแสดงให้เห็นในทุกระบบทาสผ่านสัมพันธภาพระหว่างนายกับทาส ขณะที่ในอีกด้านมันได้สร้างกระบวนการขยายตัวของทุนในระบบโลก ที่ต้องนำไปสู่การขูดรีดทรัพยากรจากดินแดนนอกยุโรป กระบวนการพัฒนาของระบบทุนนี้จะดูดซับความสามารถในการพัฒนาและก่อรูปของระบบและสถาบันทางการเมือง ที่อยู่ภายในระบบทาสและบิดเบือนมันไปอย่างแรง
ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับชนชั้นเจ้าของทาสในภาคใต้สหรัฐ (และกับชนชั้นนำสยามไทย) ที่กลายเป็นพลังปฏิกิริยาที่จะต่อต้านการเติบโตและอำนาจนำของระบบทุนนิยมในสหรัฐในเวลาต่อมา
“ลัทธิอุปถัมภ์หรือปิตาธิปไตย” (Paternalism) เยโนเวเซกล่าวว่า “การทารุณกรรม ความอยุติธรรม การขูดรีดและกดขี่ ระบบทาสผูกพันคนสองกลุ่มซึ่งมีความเป็นปฏิปักษ์ที่ขมขื่นเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความสัมพันธ์แบบอินทรียภาพ ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนและคลุมเครือ ที่ทั้งคู่ไม่อาจแสดงออกในความรู้สึกที่เป็นของมนุษย์อย่างธรรมดาที่สุดออกมาได้โดยไม่เกี่ยวพันถึงอีกฝ่ายหนึ่งเลย”
ระบบทาสวางอยู่บนหลักการที่ถือว่าคนเป็นทรัพย์สิน ในทางรูปธรรมคือการขูดรีดแรงงานของคนอื่นรวมทั้งผลผลิตจากแรงงานนั้นด้วย กล่าวโดยแก่นแกนของระบบนี้ มันคือระบบการปกครองของชนชั้น ที่คนบางคนดำรงชีวิตจากแรงงานของคนอื่นๆ ในกรณีระบบทาสอเมริกายังเป็นการกดขี่ผ่านทางเชื้อชาติอีกทอดหนึ่งด้วย ทำให้ความสัมพันธ์ทางชนชั้นสลับซับซ้อนและคลุมเครือมากยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าการปกครองทางชนชั้นมาก่อนการปกครองทางเชื้อชาติ ระบบทาสอเมริกาภาคใต้จึงไม่ใช่อีกรูปแบบหนึ่งของสังคมเหยียดเชื้อชาติ การพิจารณาประวัติศาสตร์ของมันจึงต้องดูที่อำนาจทางชนชั้นในรูปแบบของเชื้อชาติ ในส่วนชนชั้นนำสยามด้วยการทำให้คนเชื้อชาติอื่นกลายเป็นคนไทย
การเปลี่ยนผ่านของระบบสังคมไทยที่เป็นหมุดหมายสำคัญจากต้นถึงกลางรัตนโกสินทร์ ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงในวิถีการผลิตและการแลกเปลี่ยนที่มากับระบบทุนนิยมโลก นำไปสู่การขยายตัวและเติบใหญ่ของทุนพาณิชย์ของกษัตริย์เจ้านายและขุนนาง แม้การพัฒนาในทางการผลิตอาจไม่มากในทางคุณภาพแต่ในทางการแลกเปลี่ยนที่สร้างผลกำไรและการสะสมทุนให้แก่ชนชั้นปกครองมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด อันเป็นผลจากการค้ากับจีนและตะวันตกที่เป็นตลาดใหญ่ ซึ่งต่างจากอาณานิคมอเมริกาที่เกิดขึ้นภายในระบบจักรภพอังกฤษ ดำเนินการค้าโดยแตกหน่อไปจากระบบเศรษฐกิจอังกฤษ
ดังนั้น อาณานิคมอเมริกาจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกมาแต่ตั้งต้น ในขณะที่สยามไม่ใช่ หากแต่เป็นรัฐรอบนอกของระบบทุนโลก แต่ทั้งรัฐทาสอเมริกาและรัฐสยามก่อรูปของรัฐสมัยใหม่ที่พัฒนาไปตามพลังของการเปลี่ยนแปลงของทุนอย่างวิภาษวิธี สถาปนาอำนาจรัฐชนชั้นนายทาสและสถาบันกษัตริย์ (กุลลดา เกษบุญชู 2562)
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในรัฐสยามคือการเปลี่ยนแปลงในโลกทัศน์และความคิดที่แม้เป็นระบบแบบเหตุผลนิยมมากขึ้น แต่ก็ไม่เป็นของตะวันตกจริงๆ ทำให้สยามอาศัยความคิดรวบยอดที่มาจากพุทธศาสนานิกายหินยาน ในการปฏิสัมพันธ์กับความคิดสมัยใหม่ของตะวันตก
จากสมัยรัชกาลที่ 1 ต้นมา ระบอบปกครองไทยสร้างวาทกรรมที่รองรับระบบไพร่ทาสภายใต้ตรรกะระบอบธรรมราชาหรือปิตาธิปไตย แต่ระบบอุปถัมภ์สยามต่างจากของระบบทาสภาคใต้ตรงที่รับอิทธิพลความคิดเสรีนิยมน้อยและไม่จริงจัง ยิ่งนานวันรัฐสยามกลับหันไปสร้างความเป็นทั่วไปให้แก่ความคิดทางการเมืองแบบพุทธเพื่อตอบโต้ความเป็นสากลของตะวันตก
จนนักประวัติศาสตร์ไทยบางท่านเชื่อว่าชนชั้นนำรัตนโกสินทร์มีโลกทัศน์แบบมนุษยนิยมหรือเหตุผลนิยม นี่คือลักษณะอำพรางของความคิดสมัยใหม่ของสยาม รูปแบบกับเนื้อหาไม่ใช่อันเดียวกัน ที่ยังทรงอิทธิพลและการปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีอำนาจกำกับเหนือทุนการค้าจึงรับลัทธิสมัยใหม่ (modernism) เข้ารวมอยู่ในโลกทัศน์จารีตแบบไทยอย่างแนบเนียน
ข้อนี้ชนชั้นนายทาสอเมริกันภาคใต้ไม่มี เพราะพวกบรรพบุรุษคนอเมริกันรุ่นแรกๆ ที่มาจากยุโรปเป็นคนชั้นล่างหรือชาวนาที่ถูกแย่งยึดเครื่องมือทำการผลิตภายใต้ระบอบฟิวดัลออกไปหมดสิ้น กลายเป็นกรรมาชีพในเมืองใหญ่ที่กำลังสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยอานิสงส์ของการยึดแย่งที่ดินจากคนอินเดียนพื้นเมืองหรือต่อมาซื้อขายจากนายทุนในระบบตลาด รัฐและรัฐบาลอเมริกันไม่ใช่เจ้าของที่ดินสาธารณะ หากแต่เป็นของประชาชน สร้างความเป็นเสรีให้แก่คนผิวขาวผ่านกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนตัวที่เป็นรากฐานของความเป็นปัจเจกบุคคลต่อมาคือคนชั้นกลาง ซึ่งรัฐสยามไทยไม่มี
ทั้งรัฐทาสและไทยเหมือนกันในการกีดกันระบบแรงงานเสรีและทุนเสรี อุปถัมภ์รักษาแรงงานไม่เสรีไว้รองรับระบบการผลิตที่มีเทคโนโลยีต่ำ
ประเด็นสุดท้ายคือทำไมพัฒนาการของระบบทุนซึ่งเข้ามาในอาณานิคมอเมริกาและต่อยอดไปหลังการปฏิวัติอเมริกาที่เป็นเอกราชจากอังกฤษ แต่ไม่สามารถสถาปนาระบอบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบภาคเหนือได้ในภาคใต้
นักประวัติศาสตร์ลัทธิมาร์กซ์อธิบายว่าเป็นเพราะพลังของชนชั้นปกครองที่เป็นนายทาสแข็งแรงและเติบใหญ่ แม้ว่าระบอบทาสทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองเดินสวนทางกับระบบทุนนิยมโลกขณะนั้น กระทั่งปัญญาชนภาคใต้ออกมาประกาศอุดมการณ์ ปรัชญาที่ปกป้องรักษาระบบทาสว่าเป็นความชอบธรรมถูกต้องในโลกทัศน์ของชาวใต้
การเป็นนายทาสและทาสนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาโดยพระเจ้า (ordained by God) ซึ่งอ้างความชอบธรรมในการใช้ทาสจากคัมภีร์ไบเบิล
แนวคิดเรื่องมนุษย์มีความเท่าเทียมกันนั้นก็เป็นนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้น ยืนยันว่าคนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน
นายทาสภาคใต้อธิบายว่า การมีระบบทาสคือการแบ่งหน้าที่ของคนในสังคมอย่างหนึ่ง และสังคมก็ต้องมีนายทาสและทาสเป็นการรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม (social order)
ระบบทาสก็คือการปกป้องคนเล็กๆ ชนชั้นล่างจากระบบทุนนิยม ขณะที่ระบบอุตสาหกรรมแบบภาคเหนืออเมริกาต่างหากที่ทำให้คนยากจนลงและทอดทิ้งแรงงาน
สรุปว่านักคิดและปัญญาชนของสังคมทาสภาคใต้วิพากษ์ระบบทุนนิยมก่อนมาร์กซ์และบรรดานักคิดชาวสังคมนิยมทั้งหลายในยุโรปเสียอีก ลองเปลี่ยนคำว่านายทาสมาเป็นชนชั้นนำไทย จะพบว่าทุกอย่างดำเนินไปในกรอบคิดเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ
ความสำเร็จของชนชั้นนายทาสที่สามารถปกครองชนชั้นอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ราวกับเป็นเจ้าเหนือสุดจึงได้แก่ความสามารถที่จะขจัดการโต้แย้งเรื่องทาสออกไปจากเวทีการเมืองภาคใต้และในรัฐสภาชาติได้ และยังสามารถจำกัดการอภิปรายโต้เถียงในปัญหาอื่นๆ ที่บางครั้งก็ขัดกันอย่างรุนแรงให้อยู่ในสนามที่คู่ต่อสู้ทุกคนต้องเคารพกฎว่าจะไม่นำปัญหาทาสมาเกี่ยวข้องด้วยโดยเด็ดขาด (ถ้าเป็นในเวทีการเมืองไทยก็มีกฎอันไม่ได้เขียนแต่รู้กันว่าต้องไม่อภิปรายในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์)
นี่เองที่เป็นคำตอบว่าทำไมนักอุตสาหกรรมภาคเหนือ ชาวไร่อิสระที่มีทาสไม่กี่คนกับคนจนที่ไม่มีทาสและที่ดินเลยในภาคใต้จำต้องสงบปากคำและความคิดไว้ในเรื่องที่ควรพูดและคิดเท่านั้น
เคล็ดลับแห่งความสำเร็จของการปกครองอยู่ที่การทำให้คนชั้นล่างๆ ยอมรับว่าเรื่องทาส (ไทย) เป็นผลประโยชน์ร่วมของทุกคนและอาจจะมีความสำคัญต่อคนชั้นล่างเองมากเสียยิ่งกว่าบรรดาเจ้าของทาสอีก
น่าคิดอีกเช่นกันว่าทั้งสองรูปแบบของรัฐเปลี่ยนผ่านนี้ประสบชะตากรรมสุดท้ายเหมือนกันคือถูกทำลายลงจากพลังกระฎุมพีคนรุ่นใหม่ด้วยกำลังทางวัตถุ ฝ่ายหนึ่งในสงครามกลางเมือง อีกฝ่ายในการปฏิวัติชนชั้นนำกันเอง
ทั้งหมดนั้นคือชีวประวัติการแปลของผม
อ้างอิง
กุลลดา เกษบุญชู 2562. ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย. ฟ้าเดียวกัน.
Eugene Genovese, 1976. Roll, Jordan, Roll: The World the Slaves Made. New York: Vintage Books.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022