ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (25)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ช่วงเวลา 8 วันหลังการยื่นใบลาออกของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนกระทั่งนายควง อภัยวงศ์ เข้ารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487 นั้น มีบันทึกหลายฉบับสะท้อนเบื้องหลังเหตุการณ์ดังนี้

“ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2” ของ ดิเรก ชัยนาม บันทึกว่า

“ประมาณวันที่ 21 กรกฎาคม หรือ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944) จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยให้เหตุผลว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดเรื่องพุทธมณฑลและเรื่องให้เมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง เท่ากับเป็นการแสดงความไม่ไว้วางใจ แต่ยังไม่เด็ดขาด เพราะคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังไม่ได้ตอบรับใบลา

วันที่ 24 กรกฎาคม อุปทูตญี่ปุ่นมาขอพบข้าพเจ้า ถามถึงเรื่องนี้ว่าได้ข่าวว่ารัฐบาลลาออกจริงหรือไม่ ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาวิถีทางอยู่ รุ่งขึ้นอุปทูตญี่ปุ่นมาขอพบอีกถามว่า บัดนี้ปรากฏทั่วไปแล้วว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ลาออกแล้วจริงหรือไม่ โดยที่เรื่องนี้ บัดนี้ทั่วกรุงเทพฯ ทราบกันทั่วไปแล้ว”

“อัตชีวประวัติของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์” ของ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิต มีบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ไว้ค่อนข้างละเอียดว่า

“ปัญหาเกิดขึ้นภายในรัฐบาลว่า มตินั้นจะถือว่าเท่ากับการไม่ให้ความไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ รัฐมนตรีส่วนมากยืนยันว่าตามมารยาท รัฐบาลต้องลาออก แต่สภาอาจแนะนำคณะผู้สำเร็จราชการให้ตั้งใหม่ได้ จอมพล ป.จึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการ

คราวนี้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ยังไม่ทรงลงพระนามอนุมัติให้จอมพล ป.ลาออก โดยเชิญประธานสภา นายปลอด วิเชียร ณ สงขลา หรือพระยามานวราชเสวี มาแจ้งให้ไปทาบทามสมาชิกสภาก่อนว่าจะเสนอผู้ใดแล้วจึงจะพิจารณาใบลานั้น ผู้แทนราษฎรที่เป็นชั้นหัวหน้ามาถามข้าพเจ้าว่า สมควรให้ท่านผู้ใดเป็นนายกฯ ต่อมาประธานสภาได้นำความเห็นส่วนมากของผู้แทนราษฎรเสนอคณะผู้สำเร็จราชการว่า พระยาพหลฯ ควรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป คณะผู้สำเร็จฯ เชิญพระยาพหลฯ มาถามความสมัครใจ ท่านก็ปฏิเสธ”

 

“ครั้นแล้วผู้แทนราษฎรส่วนที่เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยแล้วได้มาปรึกษาข้าพเจ้าว่าสมควรเป็นผู้ใดที่จะให้ความสะดวกแก่ขบวนการเสรีไทย ส่วนมากเห็นว่า นายทวี บุณยเกตุ มีลักษณะสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับที่ผู้แทนราษฎรได้เคยลงมติให้นายทวีเป็นประธานสภามาก่อนแล้ว แต่ถูกจอมพล ป.ขัดขวาง นายทวีเป็นคนซื่อตรง มีความสามารถและมีอาวุโสในคณะราษฎรเพราะเป็นผู้เข้าร่วมในคณะราษฎรตั้งแต่ พ.ศ.2470 ขณะยังศึกษาอยู่ในปารีส (นายควงนั้นเพิ่งเข้าร่วมในคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ.2475 ก่อนวันที่ 24 มิถุนายนไม่กี่เดือน นายควงก็ยอมรับความจริงนี้ในปาฐกถาของเขาที่คุรุสภาแล้ว)

แต่นายทวีเป็นผู้พูดตรงไปตรงมาจึงเป็นการยากที่นายทวีจะตีหน้ากับฝ่ายญี่ปุ่นได้ ฉะนั้น จึงเห็นกันว่าให้ลองทาบทามนายควงดูว่าจะรับเป็นนายกฯ เพื่อตีหน้ากับญี่ปุ่นได้หรือไม่ ส่วนการงานของรัฐบาลนั้นมอบให้นายทวีเป็นผู้สั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี

ข้าพเจ้าจึงเชิญนายควงมาพบถามความสมัครใจ นายควงยอมตกลงตามเงื่อนไขนั้น

ครั้นแล้วผู้แทนฯ ส่วนมากได้ลงมติรับเป็นการภายในเสนอให้สภานำเรื่องไปเสนอคณะผู้สำเร็จราชการให้ตั้งนายควงเป็นนายกรัฐมนตรี พระองค์ไม่ยอมตั้งโดยขอดูนโยบายและรัฐมนตรีใหม่ที่นายควงจะเชิญเข้าร่วมในรัฐบาล

นายควงทูลว่า ขอให้คณะผู้สำเร็จราชการตั้งนายควงเป็นนายกฯ ก่อนแล้วจึงจะเสนอรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ ฝ่ายข้าพเจ้าก็ยันให้ตั้งนายควงเป็นนายกฯ ก่อน เรื่องไม่ลงรอยกันอยู่หลายวัน”

“ฝ่ายพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ยังทรงยืนกรานไม่ยอมลงนามตั้งนายควงฯ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดพระองค์ได้ทรงขอลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเข้าพระทัยว่านายควงจะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง ไม่ช้า จอมพล ป.ก็จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องออกไปโดยพระองค์จะทรงกลับมาเป็นผู้สำเร็จราชการอีก

สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2487 ตั้งข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียวในวันนั้นเอง

ในวันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้ลงนามในประกาศพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตั้ง พ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามระเบียบ”

 

“ชีวิตและงานของ ดร.ปรีดี พนมยงค์” สุพจน์ ด่านตระกูล บันทึกว่า

“ความจริงการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งนี้คิดว่าเป็นการลาออกพอเป็นพิธีการเท่านั้น และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เองก็คิดเช่นนั้น เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียสภาผู้แทนฯ ก็จะต้องมีมติให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

จอมพล ป.คิดว่าในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดก็คงจะข่มสภาให้เกรงกลัวได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงสนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างเต็มที่ และถ้าปล่อยให้เหตุการณ์มันเป็นไปเองก็คงจะเป็นดังเช่นที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม คาดคิดไว้

แต่เหตุการณ์ที่เป็นจริงกลับตรงข้าม เพราะในการคว่ำจอมพล ป.พิบูลสงคราม จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนั้นได้มีการเตรียมการกันมาก่อนแล้วโดยการวางแผนของท่านปรีดี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังเหยียบย่ำทำลายและเพื่อความสำเร็จของวัตถุประสงค์ของขบวนเสรีไทยในการที่จะพิทักษ์เอกราชของชาติ

จะเห็นได้ว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่อนุมัติกฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้าไปนั้นไม่ใช่เป็นไปอย่างเหตุบังเอิญ แต่เป็นไปตามแผนการซึ่งพอดีมาบรรลุผลเอาตอนพระราชบัญญัติดังกล่าว”

 

ปาฐกถานายควง อภัยวงศ์ เรื่อง “ชีวิตของข้าพเจ้า” กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า

“ขณะนั้นก็เกิดข่าวเขย่าขวัญเกี่ยวกับท่าทีของหลวงพิบูลสงครามว่าทหารลพบุรีจะยกมายึดพระนครบ้าง พวกทหารสนับสนุนหลวงพิบูลสงครามบ้าง ล้วนแต่เป็นข่าวบั่นทอนกำลังใจของผู้ที่ไม่ใช่ฝ่ายหลวงพิบูลสงครามทั้งสิ้น

ผมได้เข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามธรรมเนียม ท่านรับสั่งถามว่าจะรับเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ ผมก็ตอบว่ารับ ท่านถามอีกว่าถ้าพวกหลวงพิบูลสงครามยกทัพมาตีจะทำอย่างไร ผมก็ทูลว่าข้าพระพุทธเจ้าต้องสู้เด็ดขาดคราวนี้เพราะเป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้า ท่านถามอีกว่าถ้าสู้ไม่ได้จะทำอย่างไร ผมก็ทูลว่าถ้าสู้ไม่ได้ก็ต้องโกย พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงแสดงความหนักพระทัยและสั่งให้ผมถอนตัวเสียเพราะท่านไม่กล้าจะลงพระนามแต่งตั้งให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงกับรับสั่งว่า ถ้าผมไม่ถอนตัวท่านก็จะขอลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ผมจะเปลี่ยนใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเมื่อตัดสินใจมาแล้วก็ต้องทำไปจนถึงที่สุด จึงทูลว่าข้าพระพุทธเจ้าไม่ถอน

และนี่เองเป็นเหตุให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภายื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้วหลวงประดิษฐ์ฯ ก็ลงนามแต่งตั้งผมเป็นนายกรัฐมนตรีทันที”

 

ขุนศรีธนากร บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ใน “สันติบาลใต้ดิน” เช่นเดียวกัน

“ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2487 เวลาประมาณ 08.30 น. นายดิเรก ชัยนาม ได้แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า คณะรัฐบาลลาออก โดยได้ยื่นใบลาไปทางพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และนายดิเรก ชัยนาม แจ้งว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ กำลังรอฟังข่าวว่าทางประธานสภาจะเสนอให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ถ้าทราบว่าไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนเก่าแล้ว พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาอาจจะลาออกตามไปด้วยพร้อมกับจอมพล ป. ข้าพเจ้าก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ข้าพเจ้าพยายามจะทราบความจริงด้วยตัวของตัวเอง ในที่สุดก็พบความจริง

กล่าวคือ ในรุ่งขึ้นอีก 2 วัน 29 กรกฎาคม 2487 ข้าพเจ้าไปเล่นกอล์ฟที่สวนจิตรลดาและข้าพเจ้าตั้งใจไปเล่นกอล์ฟเพราะทราบว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ชอบไปเล่นกอล์ฟที่สนามสวนจิตรลดา

จากหลายๆ ประโยคที่สนทนากันที่สนามกอล์ฟจะมีคำของพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ อยู่ฝ่ายเดียวที่ว่า ถ้าไม่ได้ท่านจอมพลเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเดิมแล้วผมเองก็ต้องลาออกด้วย วันที่สนทนากันที่สนามกอล์ฟนี้เป็นวันที่ 29 กรกฎาคม 2487 ซึ่งเป็นวันที่ทางสภาให้ความเห็นว่าควรจะทดลองให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนวันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้รับใบลานั้น ในวันนี้เวลา 14.00 น. ถึง 15.00 น. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาผู้แทนราษฎรแจ้งแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 เรื่อง”

 

“เรื่องแรก คือให้ทราบว่ารัฐบาลจอมพล ป. ได้ลาออกผ่านไปทางคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ดี จอมพล ป.ก็ดี ต่างก็ได้แจ้งเรื่องนี้มายังประธานสภา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบ

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้น ประธานสภาขอเปิดการประชุมเป็นการภายในเพื่อขอทราบเสียงส่วนมากว่าทางสมาชิกส่วนมากต้องการใครเป็นนายกรัฐมนตรี

ในที่สุดเสียงของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ประเภทต้องการเจ้าคุณพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเลิกการประชุม

เจ้าคุณพหลฯ ปฏิเสธ นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี”

“29 กรกฎาคม 2487 จอมพล ป.ได้ทราบข่าวว่าเสียงส่วนมากของสภาต้องการนายควงเป็นนายกฯ ในวันนั้น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้กล่าวคำขู่ขวัญพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาไว้ด้วย เช่น กล่าวว่า ถ้าขืนให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ แล้วกองทัพพายัพและกองทัพที่ 2 จะยกเข้ามายึดพระนครซึ่งจอมพลแปลกจะไม่สามารถห้ามปรามเขาได้ คำพูดนี้หมายความว่าจอมพลจะยุให้เขาทำการยึดพระนครเพราะเสียดายอำนาจที่จอมพลกำลังหลงงมงายอยู่ คำพูดนี้บังเกิดผลสมจริงตรงกับคำขู่คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้พูดตอบว่า ถ้าไม่ได้จอมพล ป.เป็นนายกฯ แล้ว พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จะลาออกจากประธานผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

เมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จึงได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จริงตามคำพูดหรือนัยหนึ่งคำขู่นั้น”

 

“การสนทนาในเย็นวันที่ 29 กรกฎาคม 2487 นั้นแสดงออกชัดเจนว่า จอมพล ป.ไม่ยอมออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งๆ ที่ตนเองก็ได้เขียนใบลาออกแล้ว แต่เขียนใบลาออกเพื่อเป็นพิธีเท่านั้น หัวใจจริงของจอมพลนั้นไม่อยากออกจากตำแหน่งเลย

การยื่นใบลาออกแล้วก็ดี การแพ้คะแนนในสภาก็ดี รัฐมนตรี 2 คนทุจริตจนเข้าคุกและผูกคอตายแล้วก็ดี และประชาชนส่วนมากตำหนิติเตียนรัฐบาลชุดนี้อย่างรุนแรงก็ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ควรจะยินยอมออกจากตำแหน่งโดยเต็มใจทั้งสิ้น จอมพล ป.ไม่มีนิสัยเป็นนักกีฬาการเมืองเขาต้องการเล่นการเมืองผูกขาดคนเดียวไม่แสดงตนให้เด่นชัดว่าเป็นนักประชาธิปไตย

ข้าพเจ้าคิดอยู่ในใจว่า ข้าพเจ้าจะมีทางใดบ้างที่จะสำแดงให้ จอมพล ป.เห็นว่า จอมพล ป.ควรจะรีบออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยความสมัครใจ ทั้งนี้ เพื่อความสงบแก่บ้านเมือง ข้าพเจ้าเกรงๆ ไปว่าจะเกิดการใช้กำลังบังคับการขึ้นก็อาจจะเป็นได้”

ควรทราบด้วยว่า บันทึกของขุนศรีศรากรส่วนนี้ วันที่ของแต่ละเหตุการณ์อาจแตกต่างจากบันทึกของผู้อื่น แต่เหตุการณ์ต่างๆ สอดคล้องตรงกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ในที่สุด การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะมีผลอย่างสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ก็ยังคงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด สามารถออกคำสั่งต่อทหารและตำรวจ รวมทั้งพลเรือนได้ทั่วทั้งประเทศตามกฎหมาย ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานและการดำรงอยู่ของรัฐบาล นายควง อภัยวงศ์ ที่นายปรีดี พนมยงค์ ให้การสนับสนุน

โดยเฉพาะหากเลือกใช้วิธีรัฐประหาร