ภัยแล้ง ‘ถล่ม’ เมืองท่องเที่ยว

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“อากริเจนโต” (Agrigento) ตั้งอยู่บนเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ด้วยความเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์โบราณคดีอันโดดเด่นเก่าแก่กว่า 2,500 ปี ชาวกรีกสร้างทิ้งไว้กลายเป็นสมบัติอันยิ่งใหญ่ให้ชาวอากริเจนทีน (Agrigentine) เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในเวลาต่อมา วันนี้ “ภัยแล้ง” กำลังถล่มเมืองมรดกโลกแห่งนี้เหมือนๆ กับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ

ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เป็นห้วงเวลาเดียวกับการก่อกำเนิดของพุทธศาสนา กองทัพกรีกบุกเข้าไปยึดครองเกาะซิซิลีพร้อมกับสร้าง “อากริเจนโต” ซึ่งอยู่ฝั่งทะเลตอนใต้ให้กลายเป็นแผ่นดินทองแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

หุบเขาแห่งวิหารในเมืองอากริเจนโตมีวิหารสถาปัตยกรรมกรีก เสาแบบดอริกมากถึง 7 แห่ง เช่น วิหารคอนคอร์เดีย (Temple of Concordia) สร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพีแห่งความสมานฉันท์ หรือวิหารเทพเจ้าจูปิเตอร์ (The Temple of Olympian Zeus) ที่ชาวอากริเจนทีนสร้างขึ้นเมื่อ 480 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อฉลองชัยชนะที่มีต่อชาวคาร์ธาจิเนียนส์ (Carthaginian)

และยังมีซากอาคารในยุคโบราณที่ยังคงอยู่ให้ชนรุ่นหลังได้จินตนาการว่าเมื่อ 2,500 ปีก่อนชาวอากริเจนทีนใช้ชีวิตกันอย่างไร

ชั้นใต้ดินของวิหารแต่ละแห่งนั้นช่างกรีกยุคโบราณออกแบบวางระบบท่อส่งน้ำให้ใช้ประโยชน์ได้จนถึงทุกวันนี้

แต่ระบบท่อส่งน้ำยุคใหม่ที่ชาวอากริเจนทีนสร้างเพื่อจ่ายน้ำไปยังบ้านเรือน โรงแรมที่พักอาศัย เกสต์เฮาส์ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาแหล่งน้ำแห้งเหือดระบบจ่ายน้ำลดลงอย่างรวดเร็วจนทางผู้บริหารเมืองต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน กำหนดเวลาและแบ่งปันน้ำยาวถึงปลายปีนี้

ภัยแล้งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือภาวะโลกเดือด ซึ่งสถาบันพิทักษ์และวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของอิตาลี หรือ ISPRA (National Institute for Environmental Protection and Research) วัดน้ำฝนในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ มีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณปกติ

วิหารคอนคอร์เดีย สถาปัตยกรรมกรีก สร้างขึ้นเมื่อ 2,500 ปีก่อน ที่เมืองอากริเจนโต บนเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี ยังคงตั้งตระหง่านให้ชาวโลกได้ชื่นชม ขณะที่เมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง (เจ้าของภาพ : เบอร์โธลด์ เวิร์นเนอร์)

รัฐบาลท้องถิ่นซิซิลีประกาศให้เป็นภาวะ “แล้งสุดขีด” และอุณหภูมิในพื้นที่เพิ่มสูงมากเป็นประวัติการณ์

เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว อุณหภูมิที่เมืองซีรากูซา (Siracusa) ฝั่งตะวันออกของเกาะซิซิลี ทะลุ 48.8 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติยุโรป

ภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นกระทบกับการท่องเที่ยวของ “อากริเจนโต” อย่างหนักหน่วงเพราะบรรดาเกสต์เฮาส์ โรงแรมที่พักไม่มีน้ำให้นักท่องเที่ยวใช้บริการได้เพียงพอ

เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาที่นั่นเข้าสู่ฤดูร้อนเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของยุโรป เจ้าของที่พักไม่รับประกันนักท่องเที่ยวได้ว่า มีน้ำให้อาบให้กดชักโครกหรือไม่

การประกาศภาวะฉุกเฉินมีผลต่อชาวเมืองราว 1 ล้านคนใน 93 ชุมชน พื้นที่ชุมชนบางแห่งกำหนดจ่ายน้ำน้อยลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ และประกาศงดจ่ายน้ำในช่วงกลางคืน

โรงแรมและชุมชนหลายแห่งต้องดิ้นสู้ด้วยการสั่งซื้อน้ำฝั่งแผ่นดินใหญ่ขนใส่เรือข้ามทะเล

“อากริเจนโต” มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากภาคเศรษฐกิจ 2 แหล่ง แหล่งท่องเที่ยวและเกษตรกรรม เมื่อไม่มีน้ำทั้ง 2 แหล่งก็ประสบปัญหา ทางออกที่ผู้บริหารเมืองมีแนวคิดขุดแหล่งน้ำใหม่ๆ ปรับปรุงโรงกลั่นน้ำทะเล แต่โครงการเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณสูงมาก รัฐบาลท้องถิ่นไม่มีงบฯ ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางอิตาลี แต่ไม่มีเสียงขานรับใดๆ

กระทรวงการท่องเที่ยวแห่งซิซิลีคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวมาเยือนเพิ่มขึ้น เพราะปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 24 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ปีหน้า “อากริเจนโต” เตรียมจัดเทศกาลครั้งใหญ่ในชื่อ “มหานครแห่งวัฒนธรรม” หวังจะให้เป็นปีทองแห่งการท่องเที่ยว แต่สถานการณ์ “ภัยแล้ง” ยังไม่แก้ไขเตรียมแผนรับมือให้ลุล่วง ความฝันอาจจะล่มสลาย

 

สํานักข่าวซีเอ็นเอ็นที่นำเสนอรายงานเรื่องนี้ไปสอบถามกลุ่มเกษตรกรปศุสัตว์ในอากริเจนโต พบว่าเผชิญชะตากรรมอันลำบาก ไม่มีน้ำให้ฝูงแพะ ฝูงวัว น้ำที่ยังเหลืออยู่ในก้นสระเปื้อนไปด้วยโคลน ส่วนหญ้าที่เลี้ยงให้ฝูงสัตว์กินก็แห้งตายซาก

เช่นเดียวกับเกษตรกรปลูกส้มซิซิเลียน (Sicilain red oranges) มีสีหน้าหม่นหมอง เพราะผลผลิตส้มลดฮวบ สวนส้มบางแห่งผลส้มเหี่ยวเฉาคาต้น

ส้มซิซิเลียนมีเอกลักษณ์พิเศษแห่งเดียวในโลกที่เนื้อผลส้มสีแดงซึ่งมาจากแร่ธาตุในดินที่เป็นภูเขาไฟและอากาศที่เหมาะสมกับต้นส้ม ส่วนชาวนาปลูกข้าวสาลีเผชิญความยากลำบากไม่ต่างกัน

เกษตรกรพากันมองว่า การขยายตัวของเมืองอากริเจนโตทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีหดหายลงไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์

เศรษฐกิจการเกษตรของ “อากริเจนโต” ทรุดฮวบจากปัญหาภัยแล้ง ประเมินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านยูโร หรือราวๆ 40,000 ล้านบาท

ยังไม่รวมความเสียหายจากการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางยกเลิกใบจอง

“อากริเจนโต” ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวแห่งเดียวที่ประสบภาวะวิกฤตจากภัยแล้ง หากยังมีอีกหลายแห่งทั่วโลกกำลังดิ้นสู้กับภาวะวิกฤตนี้เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ยอมรับแล้วว่า ภัยแล้ง ณ วันนี้กลายเป็น “ความปกติใหม่” หรือ new normal ในหลายๆ พื้นที่

ความแห้งแล้งอันผิดปกติเกิดจากความแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นซ้ำเล่าซ้ำในทุกปี ระยะเวลาที่เกิดยาวนานกว่าอดีต

 

สํานักงานเฝ้าสังเกตการณ์ด้านภัยแล้งแห่งยุโรปแถลงว่า ภัยแล้งในห้วงฤดูหนาวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ มีผลทำให้พื้นที่ทางตอนใต้ของยุโรปกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด เผชิญกับวิกฤต

พื้นที่ราว 25 เปอร์เซ็นต์ของทวีปยุโรปและทวีปแอฟริกาเหนือเจอภัยแล้งเช่นเดียวกัน ความชื้นในผืนดินต่ำมากมีผลต่อการเกษตร ผลผลิตตกต่ำเสียหาย

ผู้ปกครองแคว้นกาตาลุญญา (Catalonia) ประเทศสเปนประกาศภาวะฉุกเฉินเนื่องจากภัยแล้งคุกคามอย่างหนักในรอบ 1 ศตวรรษ มีการแจ้งให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและจัดสรรเวลาแบ่งปันน้ำที่เข้มงวดมากขึ้น

สำนักงานเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป นำภาพถ่ายทางดาวเทียมบริเวณแคว้นกาตาลุญญามาตรวจสอบ พบผืนดินแห้งแล้งจัดจนเป็นสีน้ำตาลและมีน้ำใต้ชั้นดินเหลือเล็กน้อย

ส่วนแถบเทือกเขาพิเรนีซึ่งทอดยาวจากตอนใต้ของฝรั่งเศสไปถึงสเปนเจอภัยแล้งรุนแรงไม่น้อยกว่ากาตาลุญญา

 

ประเทศโมร็อกโกอยู่ในทวีปแอฟริกาตอนเหนือฝั่งตรงข้ามกับยุโรปตอนใต้เจออากาศร้อนสุดขีดไม่น้อยหน้าเกาะซิซิลีและสเปน อุณหภูมิเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทะลุไปที่ 37 องศาเซลเซียส ทั้งๆ ที่ยังอยู่ช่วงฤดูหนาว

ปกติแล้วเมืองท่องเที่ยวชื่อดังของโมร็อกโกอย่างคาซาบลังก้า หรือมาร์ราเกซ จะอยู่ที่ 17 องศาเซลเซียสในตอนกลางวัน แล้วลดมาเหลือ 7 องศาเซลเซียสเมื่อถึงกลางคืน

ศูนย์วิจัยของคณะกรรมาธิการร่วมสหภาพยุโรป หรือเจอาร์ซี (EU Commission’s Joint Research Center) จัดทำรายงานฉบับล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ ว่าด้วยภัยแล้งในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของภัยแล้งทอดเวลานานขึ้นและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น

ในรายงานระบุว่า สถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่ทางใต้ของอิตาลี สเปน มอลตา โมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย ทำนายอนาคตได้ว่า ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงกว่าปกติ อากาศร้อนระอุและปริมาณฝนที่ตกน้อยลงนั้นจะนำไปสู่ภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงมากกว่านี้ และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในฤดูใบไม้ผลิยังมีผลกระทบต่อภาคการเกษตร ระบบนิเวศ และภาคพลังงาน

“เจอาร์ซี” เตือนให้กลุ่มประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนเร่งค้นหากลยุทธ์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

การสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าและการวางแผนรับมือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำนายสภาวะภูมิอากาศ การคิดค้นพันธุ์พืชเพื่อให้ผลผลิตสูงแม้จะปลูกในห้วงภัยแล้ง หรือการปรับปรุงแหล่งน้ำเป็นเรื่องด่วนที่ต้องทำเป็นอันดับต้นๆ

ในบ้านเรา แหล่งท่องเที่ยวทั้งเกาะสมุย เกาะภูเก็ต เผชิญปัญหาภัยแล้งคล้ายๆ กันกับ “อากริเจนโต” แม้ไม่รุนแรงถึงกับประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน หรือแบ่งสันปันส่วนน้ำ แต่ก็ทำให้ธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวป่วนไม่น้อยทีเดียว

 

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สื่อรายงานสถานการณ์แหล่งกักเก็บน้ำบนเกาะสมุยแห้งขอดมาเกือบ 6 เดือน บางแห่งมีน้ำไม่มากนัก แต่เอามาใช้ไม่ได้เพราะมีน้ำเค็มทะลักเข้ามา การประปาส่วนภูมิภาคต้องสลับโซนจ่ายน้ำ ชุมชนหลายแห่งบอกว่าไม่มีน้ำประปาใช้เกือบสัปดาห์แล้ว

ร้านค้าแถวหาดละไม ต้องหาซื้อน้ำจากรถน้ำของเอกชนในราคา 2,000 ลิตร 300 บาท ทำให้แบกภาระต้นทุนเพิ่ม

ทางสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เขตเกาะสมุย เคยของบฯ จากรัฐบาล ระหว่างคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงไปตรวจพื้นที่เกาะสมุย 2,568 ล้านบาท เพื่อสร้างท่อน้ำอีกท่อและปั๊มแรงดันจากฝั่งแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งยังของบฯ อีก 96 ล้านบาท เอาไปซ่อมระบบผลิตน้ำประปาจากน้ำทะเล แต่ยังไม่มีข่าวความคืบหน้า

แนวคิดของ อบจ.เกาะสมุย เห็นว่าควรจะสร้างหรือเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ พัฒนาแหล่งเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่ให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการเพราะเชื่อว่าในอนาคตภัยแล้งจะทวีความรุนแรง

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกาะภูเก็ต เมื่อเดือนมีนาคมเจอวิกฤตพอๆ กับเกาะสมุย อ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 3 อ่าง มีน้ำเหลือต่ำกว่าครึ่ง ในห้วงเวลาที่นักท่องเที่ยวแห่มายังภูเก็ต

“ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า โรงแรมภูเก็ตมีห้องพักราว 8,000 ห้อง ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้มากว่า 2 เดือนแล้ว ต้องซื้อน้ำจากเอกชน

เกาะภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ปีที่แล้วมีมากกว่า 10 ล้านคน ปีนี้แค่มกราคม-มีนาคม มีผู้มาเยือนภูเก็ตแล้ว 3.6 ล้านคน เมื่อเทียบกับห้วงเดียวกันโตกว่าปี 2566 มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์

 

คุณก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้และเป็นเจ้าของโรงแรมเดอะวิจิตร รีสอร์ต บอกว่า โรงแรมเดอะวิจิตรฯ วางแผนจัดการแก้ปัญหาน้ำไม่เพียงพอมาหลายปีแล้ว และแนะนำให้รัฐบาลวางโครงการระยะยาวแก้ปัญหาขาดน้ำ

ภูเก็ตไม่มีโครงการขนาดใหญ่รองรับปัญหาขาดแคลนน้ำ เวลานี้มีความต้องการใช้น้ำปีละ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อีก 8 ปีข้างหน้าความต้องการใช้จะมีมากถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร

มีข่าวว่าการประปาส่วนภูมิภาคกำลังศึกษาหาแหล่งน้ำใหม่และเตรียมวางท่อส่งน้ำจากเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลำเลียงน้ำมายังภูเก็ต พังงา กระบี่ แต่ไม่รู้จะเสร็จเมื่อไหร่

ปัญหาภัยแล้งบนเกาะภูเก็ตเริ่มคลี่คลายเพราะมีปรากฏการณ์ลานีญามาแทนเอลนีโญ แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นโชคดีหรือโชคร้าย

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้ “ลานีญา” สำแดงฤทธิ์ทำให้เกิดฝนตกพรวดเดียว น้ำทะลักท่วม ถนนเจิ่งนองไปด้วยน้ำระบายไม่ทัน เกาะภูเก็ตกลายเป็นอัมพาตในพริบตา ชาวบ้านอ่วมอรทัย

โลกวันนี้ มีทั้งภัยแล้ง พายุฝนเกรี้ยวกราดที่ดาหน้าถล่มอย่างไม่ปรานีปราศรัย บ้านไหนเมืองไหนไม่มีความพร้อมรับมือก็ให้โทษตัวเอง อย่าโบ้ยไปโทษเทวดาฟ้าดิน •

 

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]