ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พาราติริตีส
ถึงตา ‘อินเดีย’ ขึ้นผงาดชาติเศรษฐกิจโตยาว
การเผชิญหน้าทางภูมิยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและชาติตะวันตกที่ว่าเดือดแล้ว
การเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน ทั้งการหาตลาดใหม่เพื่อสร้างมูลค่าพร้อมกับสกัดสินค้าชาติคู่แข่งไม่ให้ทำกำไร
ในภาวะผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกที่หลายขั้วไม่แพ้การเมือง มีประเทศหนึ่งที่เลือกวางตัวเข้าหาทุกฝ่าย แต่พร้อมปกป้องเศรษฐกิจประเทศตัวเองอย่างจริงจัง และด้วยปัจจัยพื้นฐานที่อาจยังห่างจากชาติตะวันตกในบางเรื่อง แต่ถือว่ามีศักยภาพจนน่าจับตา ประเทศที่ว่านี้ คือ ‘อินเดีย’
ล่าสุด อินเดียได้อ้าแขนรับหลายชาติที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตและเงินทุนเข้ามามากขึ้น นี่เป็นโอกาสทองของแดนภารตะที่จะได้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำระดับโลก
โอกาสที่ไทยก็อยากได้ด้วยเช่นกัน
ไม่นานมานี้ ไอเอ็มเอฟได้ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจอินเดียในปี 2567-68 จะโตถึง 7% จากเดิม 6.8%
เช่นเดียวกันกับธนาคารสำรองอินเดีย (อาร์บีไอ) คาดการณ์อัตราการเติบโตร้อยละ 7.2 ในปี 2568
แม้แต่ บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังประเมินว่าอินเดียปีนี้โต 7% หลัง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8%
การประเมินนี้สะท้อนจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมถึงการบริโภคในประเทศที่เข้มแข็งโดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ภาคบริการที่ฟื้นตัว และการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น
สัญญาณมีแต่บวกอย่างน่าทึ่ง
หลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ อินเดียเลือกวางตัวเป็นชาติไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดตลอดช่วงสงครามเย็นจนถึงปัจจุบันก็ยังคงวางตัวเช่นนี้ ขณะที่โลกปั่นป่วนแบ่งขั้วและหลายชาติเลือกข้างทั้งเปิดเผยหรือแอ๊บเป็นกลาง
World Economic Forum-WEF สรุปจุดยืนอินเดียไว้น่าสนใจว่า อินเดียเลือกให้ความสำคัญกับระเบียบโลกบนกฎเกณฑ์สากล การสนับสนุนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน และความมุ่งมั่นที่จะรักษาจุดยืนด้านคุณค่าทางประชาธิปไตย การยึดหลักพหุภาคี เข้าได้ทั้งกับชาติซีกโลกเหนือและใต้ ทำให้อินเดียเป็นกำลังที่มั่นคงในภูมิทัศน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองโลก
การประชุม G 20 ที่นิวเดลีเมื่อปี 2023 อินเดียแสดงบทบาทระดับพหุภาคีที่โดดเด่นในการเชื่อมหุ้นส่วนหลายฝ่ายเข้าหากัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและปัญหาโลกร้อน ประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจและกำลังวัยทำงานมาในจังหวะเวลาที่ค่อนข้างดี แม้อินเดียจะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูง แต่กำลังแรงงานที่มีทักษะโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ไม่ด้อยไปกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นี่เป็นโอกาสที่อินเดียเฝ้ารอมานาน
สอดรับกับที่ World Economic Forum-WEF เคยประเมินเมื่อต้นปีว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า
อีกปัจจัยที่อินเดียกลายเป็นชาติที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติอีก คือยุทธศาสตร์ China+1 ของจีนที่ต้องการให้ธุรกิจจีนย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยงท่ามกลางปัญหาภายใน จากอัตราการบริโภคภายในประเทศต่ำและฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และเพื่อแก้เกมกีดกันการค้าจากชาติตะวันตก โดยพุ่งเป้าระบายของค้างสต๊อกและปักหลักตั้งโรงงานใหม่ในอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทยและตุรกี
แต่ยุทธศาสตร์นี้ก็ส่งผลอีกด้าน ทำให้เกิดการพลิกผันของห่วงโซ่อุปทาน ไม่เพียงบริษัทจีนที่ย้ายออก บริษัทต่างชาติที่มีโรงงานในจีนก็ลดกำลังการผลิตและย้ายฐานไปประเทศอื่น อินเดียจึงได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย
โนมูระ โฮลดิ้งได้รายงานล่าสุดเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมาว่า การพลิกผันของห่วงโซ่อุปทานจากยุทธศาสตร์ China+1 ทำให้อินเดียได้รับประโยชน์ (เวียดนามได้มากสุด) โดยเพิ่มยอดการส่งออกของอินเดียจาก 431 พันล้านดอลลาร์ในปี 2566 เป็น 835 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 โดยได้รับประโยชน์กับอุตสาหกรรมประเภทอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสมาร์ตโฟน รถยนต์ สินค้าทุน การประกอบและการทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ โซลาร์เซลล์และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ไม่เพียงดึงดูดโรงงานเข้าประเทศ เงินทุนก็ไหลเข้าด้วย โดยบลูมเบิร์กรายงานคำกล่าวของเค บาลาสุบรามาเนียน หัวหน้าฝ่ายการธนาคารสำหรับลูกค้าองค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอนุทวีปอินเดีย ของซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) ที่ประเมินว่า อินเดียมีแนวโน้มที่จะดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.623 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณ-งบการเงิน 2024 นี้
โดยรัฐบาลอินเดียตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้ได้ 110,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในช่วง 7 ปีข้างหน้า และอินเดียได้ดึงนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนออกจากจีน คิดเพิ่มขึ้นเป็น 57.14% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ประมาณ 70,000 ล้านดอลลาร์
“เงินทุนที่ไหลเข้าสู่โครงการที่เป็นยุทธศาสตร์การผลิตพลังงานยั่งยืนของอินเดีย อย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ไฮโดรเจน แอมโมเนีย หรือในด้านการใช้พลังงานอย่างยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็น ‘เรื่องใหญ่อย่างแท้จริง'” บาลาสุบรามาเนียนกล่าว
แม้แต่ไทยที่เดินหน้าการทูตเชิงรุกทางเศรษฐกิจก็ยังเล็งเห็นโอกาสนี้ โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมต.ต่างประเทศ บินไปเข้าพบ ดร.สุพรหมณยัม ชัยศังกระ รมต.ต่างประเทศอินเดีย ระหว่างการประชุม BIMSTEC ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศที่นิวเดลี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ทั้งอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ความมั่นคง การส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่
การส่งเสริมการลงทุนและโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว และมาตรการด้านวีซ่า
ทั้งนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุม BIMSTEC กันยายนนี้ ก็หวังให้อินเดียร่วมเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาค
เรียกได้ว่า แดนภารตะกำลังจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลกในอนาคต
จากที่หยิบยกมานี้ เรียกได้ว่าอินเดียมีปัจจัยที่เหมาะเจาะพอสมควรทั้งระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่ยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้ เป็นเครื่องการันตีว่าจะสร้างความเชื่อมั่นของอินเดียในสายตาประชาคมโลกได้
หันมามองที่ไทย นอกจากปัญหาภายในที่ยังแก้ไม่ตกหลายเรื่อง ผลพวงจากยุทธศาสตร์ China+1 กำลังเป็นฝันร้ายกับคนไทย แทนที่จะพาเศรษฐกิจไทยจะเติบโต ให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี กลับต้องเจอคลื่นธุรกิจทุนจีนทำการตลาดแบบทุบธุรกิจเจ้าถิ่นร่วงหลายวงการ ตั้งแต่ยานยนต์ด้วยการระบายของค้างสต๊อกและผลิตมาขายในราคาตัดหน้าคู่แข่ง ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคหลายอย่างซึ่งตรงเป้ากับคนไทยที่ถูกกดรายได้ให้ต่ำและกำลังหาของกินใช้ที่ถูกกว่าสินค้าในประเทศ
ทุกวันนี้หันไปทางไหนเห็นแต่สินค้านำเข้าจากจีนหรือจากโรงงานจีนที่ตั้งในไทย ตั้งแต่เสื้อผ้า กระดาษชำระ จนถึงไก่ทอด ไอศกรีมยันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และโครงการเมกะโปรเจ็กต์ และเจอทุกช่องทางตั้งแต่ค้าปลีก-ส่ง จนถึงอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจไทยและคนไทยกำลังถูกคุกคามหนักขึ้นเรื่อยๆ
หากรัฐบาลปัจจุบันยังสนใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ควรรู้ทันและระมัดระวังการอ้าแขนรับทุนต่างชาติโดยมีมาตรการป้องกัน ไม่เช่นนั้น คนไทยอาจต้องขายบ้าน-ธุรกิจเพื่อมีเงินกินใช้แทน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022