ชาวพระนครอพยพ หนี ‘ฝนเหล็ก’ ในช่วงสงคราม (2)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

ชาวพระนครอพยพ

หนี ‘ฝนเหล็ก’ ในช่วงสงคราม (2)

 

เมื่อชาวพระนครอพยพ

หลังจากสัมพันธมิตรส่งฝูงบินทิ้งระเบิดโจมตีพระนครอย่างหนัก ทั้งระเบิดสังหาร ระเบิดเพลิง ทำให้ชาวพระนครที่ยังคงมีภารกิจหรือยังต้องทำงานตามกระทรวงและห้างร้านจำต้องเริ่มอพยพไปอาศัยบ้านตามเรือกสวนที่ไม่ห่างไกลจากพระนครนักเพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าเมือง เช่น แถวนนทบุรี บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ สามพราน นครปฐม นครชัยศรี อยุธยา หรือรังสิต (อาจินต์, 2534, 223)

คนร่วมสมัยย่านคลองสานเล่าไว้ว่า “ผู้คนที่อาศัยที่ปลายคลองลงเรือจ้างอพยพออกสู่แม่น้ำและทางปากคลองสานมีคนขนข้าวของ เช่น มุ้ง ผ้าห่ม ตู้ เตียง เสื้อผ้า ลงเรือมาทางปลายคลองเพื่อออกแม่น้ำเจ้าพระยา เงาแห่งการอพยพเริ่มต้นแล้ว” (กาญจนี วินิจฉัยกุล, 2542, 42)

เมื่อกรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ “วันต่อๆ มา ผู้คนพลเมืองบางตาลงทันที รถราน้อยลง ห้างร้านปิดใส่กุญแจกันมาก แสดงว่าการค้าหยุดลง เป็นที่รู้กันว่า กรุงเทพฯ จะถูกข้าศึกโจมตีหนักขึ้น จำเป็นต้องอพยพออกจากย่านกลางเมืองไป การอพยพนั้นไปต่างจังหวัดก็มี ออกไปพักพิงกับพรรคพวกพี่น้องในสวนและทุ่งนารอบๆ กรุงเทพฯ ก็มี พวกอพยพนี้ไปอยู่ชั่วคราวกันมาก แต่ที่ไปตั้งรกรากอยู่ก็มี เสียงหวอเวลากลางคืนมีบ่อยขึ้น เสียงนี้โหยหวนครวญครางสยดสยองขวัญบอกไม่ถูก” (ขุนวิจิตรมาตรา, 2523, 466)

สภาพบ้านเรือนในพระนครพังพินาศจากระเบิด เครดิตภาพ : 2483 Reenactment Group

ผู้คนในพระนครเริ่มบางตา

หากสังเกตความเป็นไปของพระนครในครั้งนั้นจะพบว่า ในช่วงกลางวันมีผู้คนในพระนครบางตาลง คนที่เข้ามาพระนครก็ด้วยจำเป็นต้องเข้ามาทำงานหรือเพื่อค้าขายเท่านั้น แต่พอตกยามเย็นใกล้ค่ำ ผู้คนทั้งหลายต่างอพยพไปนอนนอกเมืองกันหมด เพียงแต่ราวสี่โมงเย็นเท่านั้น ร้านรวงต่างปิดประตูใส่กุญแจกันเงียบ ผู้คนต่างขึ้นรถไฟออกไปนอนที่ชานเมืองกัน ดังเช่น คนพระนครอพยพก็ไปฝั่งธนบุรี คนฝั่งธนบุรีอพยพไปต่างจังหวัด เพราะไม่ปรากฏข่าวว่าต่างจังหวัดถูกทิ้งระเบิดนัก ด้วยส่วนใหญ่แล้วเครื่องบินมักจะทิ้งระเบิดพระนครเป็นหลัก (กาญจนี วินิจฉัยกุล, 2542, 46)

สภาพความวังเวงของพระนครปลายสงครามนั้น มีผู้บันทึกอุบัติเหตุที่พบเห็นไว้ว่า “ทุกๆ เย็น ผู้คนชาวกรุงเทพฯ พากันแตกตื่นอพยพหลบภัยออกไปนอนนอกเมือง โดยมากไปนอนใกล้ๆ สวนฝั่งธนบุรี เรือโดยสารทุกลำมีผู้โดยสารแย่งกันลงอย่างแตกตื่นแน่นขนัด บางลำบรรทุกได้ 70 คนแต่มีแย่งกันลงถึง 200 คน จนเรือคว่ำมีคนตายกลางแม่น้ำ พอบ่าย 3 โมงล่วงแล้ว ผู้คนก็รีบเลิกงานอพยพออกไปนอกเมืองกันหมดเพื่อหนีภัยโจมตีทางอากาศ” (ประเก็บ, 2515, 206)

หนังสือสงครามโลก (2482) ของเอี้ยะเม้ง อักษรมัต และแผ่นป้ายตักเตือนประชาชนช่วงสงคราม

ความยากลำบากของชาวพระนคร

ความยากลำบากในการมีชีวิตในพระนครยามปลายสงครามนั้น จากความทรงจำของทองคำ ธีรานุตร์ (2451-2516) พ่อค้าชาวไทย เขาพักอาศัยในพระนครทำธุรกิจโรงน้ำแข็ง ต่อมา เปิดกิจการโรงเช่ารถสามล้อชื่อ ไชยดี ตั้งแถวถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ ได้บันทึกความยากลำบากของชีวิตครอบครัวของเขาในช่วงปลายสงครามไว้ว่า

เมื่อ 23 ธันวาคม 2486 เวลากลางคืนพระนครถูกโจมตีทางอากาศ “บ้านเราอยู่ที่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ได้ถูกลูกระเบิดเพลิงลงในบ้าน เรากำลังอยู่ในบ้านชั้นบน ได้บินเสียงลูกระเบิดตัดอากาศดัง ‘ซีด’ เราได้นอนลงติดพื้นชิดบันได พอลงนอนราบก็ได้ยินเสียงระเบิดดังขึ้นในบ้าน ตัวชาไปทั้งตัว แต่ไม่ถูกเจ็บ จึงรีบลุกขึ้นลงบันไดลงมาชั้นล่าง เห็นผนัง หลังคาทางโรงรถพังออกหมด แสงไฟก็ลุกติดแต่ยังไม่ลุกมากนัก เราวิ่งไปทางนอกบ้าน ผ่านทางหลุมหลบภัยที่เด็กๆ และผู้หญิงหลบอยู่ เห็นผ้านวมทิ้งอยู่จึงคว้าไปด้วยคิดว่าจะเอาไปตะปบไฟให้ดับ เราเข้าไปใกล้กองไฟสักสามเมตร แต่เข้าดับไฟไม่ได้เพราะสามล้อเกะกะไปหมด ไม่มีช่องทางดับไฟได้เลย เราจึงออกมาทางประตูจูงรถออกมา เราเอารถออกมาได้ 5-6 คัน ไฟก็ลุกติดมากขึ้น เครื่องบินก็มาอีก เราก็ต้องเลิกเพราะกลัวทิ้งบอมบ์ลงมาอีก เราต้องหนีไกลจากบ้านเป็นวาระสุดท้ายและไม่ได้กลับมาขนของอีกเลย ปล่อยให้ไฟไหม้จนหมด ประมาณค่าเสียหายสองครอบครัว ประมาณ 6-7 หมื่นบาท ลูกเรามีประมาณ 7 คน ไม่มีเครื่องกันหนาวกันเลย ต้องหาซื้อกันใหม่” (ทองคำ ธีรานุตร์, 2516)

ขุนวิจิตรมาตราบันทึกไว้ว่า ราว 2486 รัฐบาลยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่งานราชการลดลงอย่างมาก ในขณะที่เหล่าพ่อค้าและประชาชนต่างอพยพออกนอกเมืองเป็นคลื่นไม่ขาดสาย (ขุนวิจิตรมาตรา, 479)

นับแต่ปลายเดือนธันวาคม 2486 พระนครยังคงถูกโจมตีอย่างหนัก สนิท เจริญรัฐ นักหนังสือพิมพ์หวนเล่าความหลังครั้งเก่าไว้ว่า ช่วงนั้น เขาพาครอบครัวอพยพไปพักอาศัยแถวย่านบางพลี

สภาพบางพลีที่เขาพบเห็นนั้นเป็นพื้นที่อันขนาบไปด้วยคลองสำโรงที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคดไปตามทุ่งนาอันเวิ้งว้าง สงบเงียบ แต่บางพลีมีไฟฟ้าดึงดูดให้ชาวพระนครมีคนมีหน้ามีตาจำนวนมากอพยพจากในเมืองมาหลบภัยอยู่แถวบางพลี เช่น สมประสงศ์ หงสนันท์ ข้าราชการกรมโฆษณาการ หลวงตัณฑ์โกศัยสุนทร ข้าราชการกรมโฆษณาการ จมื่นมานิตย์นเรศ หัวหน้ากองสังคีต กรมศิลปากร นายเสถียร ผู้จัดการเฉลิมกรุงบาร์ (สนิท เจริญรัฐ, 2507, 278-279)

การซ้อมป้องกันภัยทางอากาศที่สนามหลวง 10 พฤศจิกายน 2486

การอพยพของชาวจีน

และชาวมุสลิมช่วงสงคราม

ทั้งคนไทยและคนจีนที่มีฐานะดีและมีญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ห่างจุดยุทธศาสตร์ในพระนคร ต่างจะพากันอพยพหนีภัยเข้าไปสวนฝั่งธนบุรี สวนแถวนนทบุรี มีนบุรี หนอกจอก รังสิต ธัญญบุรี ส่วนพวกที่ยังต้องทำงาน เปิดร้านค้า หรือมีลูกหลานที่ยังต้องเล่าเรียนนั้น พวกเขาก็มักจะหาบ้านเช่านอกเขตอันตราย เช่น ย่านฝั่งธนบุรี นนทบุรี ที่พวกเขาสามารถเดินทางเข้าเมืองอย่างไม่ลำบากนัก (โกวิท ตั้งตรงจิตร, 2556, 140)

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ลูกจีน ชาวกรุงคนหนึ่ง ร่วมสมัยในครั้งนั้นได้บันทึกว่า ภายหลังที่พระนครถูกโจมตีอย่างหนัก เตี่ยพาครอบครัวอพยพออกจากบ้านแถวถนนสุรวงศ์ใจกลางพระนครออกไปอาศัยที่บ้านแถวฝั่งธนบุรี จากนั้น เมื่อการโจมตีพระนครหนักยิ่งขึ้น เตี่ยเขาจึงอพยพครอบครัวย้ายออกไปที่เช่าบ้านที่มหาชัยอันห่างไกลจากจุดยุทธศาสตร์ในพระนครมากยิ่งขึ้น และเตี่ยยังคงสามารถเดินทางเข้ามาทำงานไปกลับเช้าเย็นได้ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์, 2527, 244)

สำหรับชาวมุสลิมแถวบางกอกน้อยใกล้สถานีรถไฟอันเป็นจุดยุทธศาสตร์นั้น พวกเขามักอพยพหนีไปอยู่กับญาติพี่น้องแถวมีนบุรี ประเวศ อ่อนนุช ปากเกร็ดที่มีชุมชนมุสลิมตั้งอยู่ ส่วนครอบครัวมุสลิมที่มีฐานะดีมักเลือกที่จะซื้อเรือเอี้ยมจุ๊นทำเป็นบ้านลอยในแม่น้ำแทน และอพยพพาครอบครัวล่องไปมาตามลำน้ำเจ้าพระยาและจอดพักตามชุมชนมุสลิมริมน้ำเพื่อความปลอดภัย (สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์, 2553, 267)

ความเสียหายของอาคารหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงช่วงปลายสงคราม

ในกลางปี 2487 แผนการอพยพชาวพระนครของรัฐบาลมีความคืบหน้ามากขึ้น พร้อมกับที่ญี่ปุ่นบีบคั้นทางเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ของกินของใช้ขยับราคาสูง และญี่ปุ่นเริ่มไม่ไว้วางใจรัฐบาลไทย

ท่ามกลางความพลิกผันของสงคราม รัฐบาลเร่งการอพยพประชาชนและเร่งการสร้างถนนไปเพชรบูรณ์ มีการสั่งย้ายหน่วยทหารบกให้อพยพกำลังออกจากพระนครไปยังเพชรบูรณ์ให้หมด หลวงสังวรฯ เล่าว่า ทูตญี่ปุ่นเข้าหาคนใกล้ชิดรอบนายกรัฐมนตรีพร้อมปรารภถึงความกังขาของทหารญี่ปุ่นต่อการดำเนินการของไทย เนื่องจากวิทยุสัมพันธมิตรกระจายเสียงยุยงให้คนไทยลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นพร้อมๆ ไปกับการยกพลเข้าไทยของทหารสัมพันธมิตร (อนุสรณ์งานศพ หลวงสังวร, 2516,123)

กล่าวโดยสรุป การโถมโจมตีทางอากาศกระทบต่อชีวิตของชาวพระนครมากจนนำไปสู่การอพยพออกนอกพระนครในครั้งนั้น

ความเสียหายของโรงงานมักกะสัน เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2487
ด.ช.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และเหล่ายุวชนทหารตัวน้อยในช่วงสงคราม