ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | โอลิมปิกปารีส ครั้งที่ 3 รอบ 100 ปี
กับทูต ฌ็อง-โกลด ปวงเบิฟ
มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ “โอลิมปิก 2024” ได้เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการไปแล้วที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 3 ของประเทศฝรั่งเศส โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 1900 และล่าสุดปี 1924
กีฬาโอลิมปิก (สมัยใหม่) เป็นการแข่งขันกีฬาหลายชนิด จากหลายประเทศทั่วโลกมาร่วมแข่งขัน จัดขึ้นทุก 4 ปี และมีการแบ่งออกเป็น โอลิมปิกฤดูร้อน และ โอลิมปิกฤดูหนาว
Paris 2024 ศตวรรษแห่งการเฉลิมฉลอง “โอลิมปิก” ครั้งที่ 33 นี้ ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ และเต็มไปด้วยความตื่นตา แปลกใหม่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา (The games that changed the game)
สัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าสากล (An emblem of universal progress)
ตั้งแต่การสงบศึกในช่วงกีฬาโอลิมปิก (universal Olympic Truce) ไปจนถึงไฟโพรมีเธน (Promethean Fire) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าสำหรับทุกคน การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ทิ้งมรดกอันทรงพลังซึ่งแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในปัจจุบัน สำหรับปารีสเกมส์ 2024 มีการออกแบบตราสัญลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงนี้
มากกว่าสัญลักษณ์ คือคำมั่นสัญญา (More than a symbol, a promise)
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ใบหน้าของผู้หญิงจะสื่อถึงมหกรรมกีฬาทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกผ่านสัญลักษณ์ทั่วไป ได้รับการออกแบบให้เป็นคำมั่นสัญญาสำหรับเกมที่ครอบคลุม หนึ่งปีหลังจากเปิดเผยสัญลักษณ์ใหม่ ปารีส 2024 ก็ประกาศว่าได้นำเกมมาสู่ความเท่าเทียมกัน เราได้ทำตามสัญญาแล้ว!
เบื้องหลังใบหน้า
การสร้างสัญลักษณ์ร่วมกันสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ตราสัญลักษณ์ประกอบด้วยสัญลักษณ์หลายประการ
ใบหน้าของผู้หญิง ที่เป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพ (นิรุกติศาสตร์ของคำว่า Franc / Frei / Free)
เปลวไฟโอลิมปิก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าสำหรับทุกคน
ทองคำ ที่แสดงถึงความเป็นเลิศของมนุษย์
เป้าหมาย คือการสร้างสัญลักษณ์ของคนทั้งชาติ คล้ายกับเกมปารีส 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นในเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศส ไม่ใช่แค่ปารีสเท่านั้น
แชมป์อีโคแบรนด์ (Ecobranding champion)
เมื่อโลโก้แบรนด์ดัง ถูกเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อัตลักษณ์ของแบรนด์ปารีส 2024 คือ เป็นหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ที่มีแนวปฏิบัติเชิงนิเวศ ด้วยสัญลักษณ์ที่ใช้หมึกน้อยลง แบบอักษรที่ปรับเปลี่ยนได้แบบกำหนดเอง ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานและกระดาษ และสี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในเว็บไซต์แรกๆ ที่ใช้โหมดมืด เพื่อจำกัดการใช้พลังงานบนหน้าจอมือถือ
ทั้งนี้ ปารีส 2024 ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับการสร้างแบรนด์เชิงนิเวศ ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม
สัญลักษณ์โอลิมปิก
เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลกในชื่อวงแหวนโอลิมปิก เป็นสัญลักษณ์ของกีฬาโอลิมปิกสำหรับผู้คนหลายพันล้านคนจากการออกแบบที่สร้างขึ้นครั้งแรกโดย ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin) วงแหวนโอลิมปิกยังคงเป็นตัวแทนระดับโลกของขบวนการโอลิมปิกและกิจกรรมต่างๆ
สัญลักษณ์โอลิมปิกประกอบด้วยวงแหวนห้าวงคล้องกัน แต่ละวงมีสีต่างกัน เรียงจากซ้ายไปขวา ได้แก่ สีฟ้า สีเหลือง สีดำ สีเขียว และสีแดง
วงแหวนสีฟ้า สีดำ และสีแดงจะอยู่ที่ด้านบน วงแหวนสีเหลืองและสีเขียวจะอยู่ที่ด้านล่าง (กฎบัตรโอลิมปิก กฎข้อ 8)
ความหมายของวงแหวนโอลิมปิก
“สัญลักษณ์โอลิมปิกแสดงถึงกิจกรรมของขบวนการโอลิมปิก และแสดงถึงการรวมตัวของห้าทวีปและการพบกันของนักกีฬาจากทั่วโลกในกีฬาโอลิมปิก” (กฎบัตรโอลิมปิก กฎข้อ 8)
ด้านล่างของห่วงมีคำอยู่ 3 คำ ซึ่งเป็นภาษาโรมัน แต่ละคำมีความหมายดังต่อไปนี้
Citius (swifter) ความเร็ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องวิ่งให้เร็วที่สุด
Altius (higher) ความสูง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำให้สูงที่สุด
Fortius (stronger) ความแข็งแรง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันต้องมีความแข็งแกร่งที่สุด
เหรียญรางวัล
เหรียญรางวัลกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ออกแบบอย่างพิถีพิถันโดยโชเมต์ (Chaumet) แบรนด์จิวเวลรี่สัญชาติฝรั่งเศสในเครือบริษัท LVMH
ภายใต้แรงบันดาลใจ 3 ธีมได้แก่ รูปทรง 6 เหลี่ยม ความสว่างไสว และตัวเรือน (Setting) แฝงนัยยะแห่งชัยชนะผ่านรูป เทพไนกี้ เทพแห่งชัยชนะ, the Acropolis แห่งเมือง Athens และหอไอเฟล
โดยตัวเรือนถูกสร้างขึ้นโดยการตีเหล็กจากชิ้นเหล็กของหอไอเฟลในแต่ละชิ้นส่วน ซึ่งสัญลักษณ์สำคัญของกรุงปารีส
และการใช้เทคนิคเช่นนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของการทำเหรียญรางวัลสำหรับกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเลยทีเดียว
พิธีเปิดโอลิมปิก 2024
ครั้งนี้ไม่เหมือนที่เคยมีมา ที่จัดขบวนพาเหรดในสนามกีฬา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ครั้งนี้นักกีฬาแต่ละชาติล่องเรือไปบน “แม่น้ำแซน” ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านใจกลางเมือง
โดยเรือจอดเทียบท่าให้กับตัวแทนจากแต่ละประเทศ และติดตั้งกล้องเพื่อให้ผู้ชมทางโทรทัศน์และออนไลน์ได้เห็นนักกีฬาอย่างใกล้ชิด
นักกีฬา 10,500 คนจาก 206 ชาติ ที่อยู่บนเรือเกือบ 100 ลำ เดินทางผ่านใจกลางกรุงปารีส ซึ่งเป็นสนามแข่งขันโดยรวมของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ซึ่งบรรดานักกีฬาเหล่านี้จะได้แสดงศักยภาพด้านกีฬาตลอด 16 วันของการแข่งขัน
ขบวนพาเหรดจะสิ้นสุดเส้นทาง 6 กิโลเมตร (3.72 ไมล์) ที่ด้านหน้าทรอกาเดโร (Trocadéro) อันเป็นจุดสิ้นสุดของพิธีการโอลิมปิกรวมไปถึงการแสดง
กีฬาที่ได้รับการบรรจุเข้าแข่งขันใหม่
‘ปารีส 2024’ มีการแข่งขัน 32 ชนิดกีฬา กีฬาที่ได้รับการบรรจุเข้าแข่งขันใหม่ คือ
การเต้นเบรกแดนซ์ หลังจากกีฬาประเภทนี้ได้รับความนิยมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเยาวชนฤดูร้อน (Summer Youth Olympics) 2018 ที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
การแข่งกีฬาเซิร์ฟ ใน ‘ปารีส 2024’ จะจัดขึ้นที่เกาะตาฮิติ ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในเฟรนช์โปลินีเซีย (French Polynesia) ดินแดนโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส
สัญลักษณ์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และพาราลิมปิก 2024
ใช้สัญลักษณ์เดียวกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้สัญลักษณ์เดียวกันทั้งสองการแข่งขันและนับเป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิกที่ให้ผู้คนจำนวนมากได้สัมผัสบรรยากาศการแข่งขันของนักกีฬา โดยเปิดโอกาสให้นักวิ่งมาราธอนสมัครเล่นสามารถวิ่งเส้นทางเดียวกับนักกีฬาโอลิมปิกในวันเดียวกัน แต่การวิ่งมาราธอนสำหรับนักวิ่งทั่วไปจะออกสตาร์ตไม่พร้อมกับนักกีฬาโอลิมปิก
“เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ในจำนวนนักกีฬาชายและหญิงที่เท่ากัน
จำนวนผู้แข่งขัน 10,500 คน ในปีนี้ มีจำนวนนักกีฬาหญิงต่อจำนวนนักกีฬาชายเข้าร่วมการแข่งขันในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 50:50 (นักกีฬาหญิง 5,250 : นักกีฬาชาย 5,250)
เพื่อสะท้อนความเท่าเทียม “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ซึ่งเป็นปรัชญาหลักของฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าภาพนั่นเอง
นักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 51 คน จาก 17 ชนิดกีฬา
ประเทศไทยเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในโอลิมปิกฤดูร้อน 1952 ณ กรุงเฮลซิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์ ในปีดังกล่าว ไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันเพียงประเภทเดียว คือ กรีฑา และได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกฤดูร้อนทุกครั้ง ตั้งแต่นั้นมา (ยกเว้นในโอลิมปิกฤดูร้อน 1980)
ตั้งแต่ราชอาณาจักรไทยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรก นักกีฬาไทยได้คว้าเหรียญรางวัลรวมทั้งหมด 35 เหรียญ โดยแบ่งเป็น 10 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน 17 เหรียญทองแดง
ในปีนี้ คนไทยคว้าโควตาเข้าร่วมแข่งขันมากถึง 51 คน จาก 17 ชนิดกีฬา ถือเป็นโอกาสที่ดีของนักกีฬาไทยที่จะคว้าชัยได้เพิ่มขึ้น
และประเทศไทยจะเข้าร่วมแข่งขันในพาราลิมปิกฤดูร้อน 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม-8 กันยายน 2024
ฟรีจีส (Phryges) สัญลักษณ์ของเสรีภาพ ตัวแทนจิตวิญญาณการปฏิวัติของชาวฝรั่งเศส
มาสคอตโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2024 ได้รับการออกแบบมาจากหมวกแก๊ปของชาว ‘ฟรีเจีย’ (Phrygian) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ตัวแทนจิตวิญญาณการปฏิวัติของชาวฝรั่งเศส โดยปรากฏในภาพเขียนชื่อดัง Liberty Leading the People บนศีรษะของ มารียาน (Marianne) และภาพการ์ตูนล้อเลียนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
มาสคอตตัวนี้มีชื่อเรียกว่า ‘ฟรีจีส’ ซึ่งมีรูปทรงสามเหลี่ยมสีแดง ตาสีฟ้า ขนตาริบบิ้นสามสีของธงประเทศฝรั่งเศส
ซึ่งฟรีจีสที่สวมรองเท้าผ้าใบจะเป็นตัวแทนของกีฬาโอลิมปิก
ส่วนฟรีจีสที่สวมขาเทียมจะเป็นตัวแทนของกีฬาพาราลิมปิก
เหรียญรางวัลและถาดใส่เหรียญรางวัล
ผู้เชิญเหรียญรางวัลยืนถือถาดลายโมโนแกรม ทั้งชุดและถาดใส่เหรียญรางวัลออกแบบโดย Louis Vuitton ภายในถาดมีเหรียญทองแดง เงิน ทอง ออกแบบโดย Maison Chaumet เพียงการเปิดพื้นที่ให้บริษัท LVMH อาณาจักรแบรนด์หรูหราฝรั่งเศสเป็นพาร์ตเนอร์ระดับสูงสุดของงาน ก็สื่อสารมรดกทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศสอย่างชัดเจน เป็นการพูดกลายๆ ว่า แม้ ‘เมืองแฟชั่น’ จะมีหลายเมืองในโลก แต่ความรู้สึกของแฟชั่นที่นี่แตกต่างจากที่อื่น มันแพงแบบปารีส สง่าแบบปารีส หรูหราแบบปารีส ที่นี่ไม่ใช่แค่เมือง แต่คือ ‘เมืองหลวงของแฟชั่น’
ธีมหลักของเกมการแข่งขันในครั้งนี้ สอดคล้องกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ The Paris Agreement ที่ลงนามเมื่อปี 2015
โอลิมปิก 2024 เน้นการสร้างและการใช้พลังงานสีเขียว ด้วยการลดการสร้างสนามกีฬาใหม่หรืออาคารแห่งใหม่แบบถาวร รวมถึงบ้านพักนักกีฬา โดยให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น หมู่บ้านนักกีฬา จะเป็นที่ตั้งของเตียงกระดาษแข็งที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100% มีเตียงรวมทั้งสิ้น 14,250 เตียง หลังการแข่งขันโอลิมปิก 2024 โครงเตียงและที่นอนจะถูกรีไซเคิล ส่วนหมอน จะถูกบริจาคให้กับโรงเรียนและองค์กรต่างๆ
สำหรับการจัดเลี้ยง มีการลดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งลงไป 50 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน ปี 2012 แล้วหันไปใช้ภาชนะที่นำไปรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้
ส่วนอาหารที่เสิร์ฟในมหกรรมกีฬามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นอาหารแบบ Plant-based ซึ่งมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) น้อยลงกว่ากึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับมื้ออาหารฝรั่งเศสปกติ วัตถุดิบที่เลือกใช้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นวัตถุดิบภายในฝรั่งเศส เพื่อลดการปล่อยก๊าซจากการขนส่ง
สนามกีฬาโอลิมปิก 2024
สนามกีฬาจะใช้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส เช่น สนามขี่ม้าที่สวนในพระราชวังแวร์ซาย, สนามวอลเลย์บอลชายหาดที่หน้าหอไอเฟล, สนามแข่งขันยิงธนูที่ลานหน้าเลแซ็งวาลีด (Les Invalides) อาคารโบราณที่ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์, สนามลู่วิ่งลอยน้ำกลางแม่น้ำแซน นอกจากนี้ ยังมี จัตุรัส ปลัส เดอ ลา กงกอร์ด (Place de la Concorde) ถนนช็องเซลีเซ (Avenue des Champs-Élysées) ที่จะใช้เป็นฉากหลังของการจัดงานกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก เป็นต้น
โอลิมปิก 2024 จึงเปรียบเสมือนการอวดโฉมใหม่ของกรุงปารีสสู่สายตาชาวโลก ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นสนามแข่งขันกีฬากลางแจ้ง ภายใต้นโยบายการพัฒนาเมืองสีเขียว และการวางผังเมืองที่เป็นมิตรกับชุมชน พร้อมได้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการจัดมหกรรมกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก
สรุปได้ว่า ตั้งแต่โบราณจนปัจจุบัน โอลิมปิกไม่ใช่เพียงการแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่การแสดงออกเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรมของชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมด้วย “Bienvenue aux Jeux Olympiques de Paris 2024” “ยินดีต้อนรับสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022