ขวาคือใคร… คิดอย่างไร (2) อนุรักษนิยมกับการปฏิวัติอังกฤษ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เสรีนิยมจะมีความหมายในบริบททางสังคมก็ต่อเมื่ออนุรักษนิยมต่อต้าน… ฝ่ายเสรีในทางธรรมชาติคือ การกบฏ ฝ่ายอนุรักษ์ในทางธรรมชาติคือ การเชื่อฟัง”

Roger Scruton
Conservatism (2017)

 

การเริ่มต้นความคิดทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษนิยมนั้น มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน หรือที่บางคนมองว่าแนวคิดดั้งเดิมนั้นเห็นได้ตั้งแต่ยุคกรีก แล้วไล่เรียงขึ้นมากับยุคสมัย ซึ่งการก่อตัวของชุดความคิดทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นปีกขวาหรือปีกซ้าย ล้วนไม่แตกต่างกัน ที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมืองของยุคสมัย อันเป็น “ปัจจัยนำเข้า” ที่ทำให้เกิดการปรับตัวสู่ความเป็นสมัยใหม่

การปรับตัวเช่นนี้ทำให้เกิดเป็น “ความคิดทางการเมืองสมัยใหม่” ซึ่งมีนัยว่าความคิดชุดนั้น ได้ก่อรูปการณ์ขึ้นเป็น “ปรัชญาการเมืองสมัยใหม่” และส่งผลให้คนรุ่นหลังต้องนำมาศึกษา หรือเป็นข้อถกเถียงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นลัทธิเสรีนิยม ลัทธิสังคมนิยม และลัทธิอนุรักษนิยม

 

การปฏิวัติของอังกฤษ

พัฒนาการการเมืองอังกฤษมีส่วนสำคัญต่อการก่อรูปทางความคิดของฝ่ายอนุรักษนิยม ดังจะเห็นได้ว่าความคิดที่มี “พระเจ้า” เป็นศูนย์กลางทางการเมือง และอำนาจรวมศูนย์อยู่กับศาสนจักรเช่นในแบบยุคกลางนั้น ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างสำคัญ เมื่อรัฐมีความเป็น “โลกียรัฐ” (secular state) มากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาดังเช่นที่เกิดในอังกฤษ เมื่อกษัตริย์ในฐานะองค์อธิปัตย์ไม่มีอำนาจสูงสุดในแบบเดิม… ถ้าเช่นนี้แล้ว ฝ่ายอนุรักษนิยมจะคิดอย่างไร

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 (1327-1377) พระองค์ไม่มีอำนาจเต็มที่จะประกาศเรียกเก็บภาษีได้เหมือนกับในอดีต แต่กษัตริย์จะทำเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากรัฐสภา ซึ่งต้องถือว่าข้อจำกัดเช่นนี้เป็นเรื่องแปลกสำหรับยุคสมัย ที่กษัตริย์ต้องขออำนาจจากรัฐสภาในการหารายได้ พระองค์ไม่สามารถใช้อำนาจได้ด้วยพระองค์เองอีกต่อไป

แต่ในอีกด้านก็สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของฝ่ายรัฐสภาที่เพิ่มมากขึ้น (หรือโดยนัยคือ อำนาจของฝ่ายกษัตริย์ที่ลดลง แม้จะยังดำรงตำแหน่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม) ภาวะเช่นนี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใหญ่ในอังกฤษ โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ของอำนาจทางการเมืองระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภา ซึ่งประเด็นนี้เป็นรากฐานของการสร้างระบอบประชาธิปไตยในอังกฤษ

การปฏิวัติทางการเมืองของอังกฤษที่เป็นผลผลิตของความขัดแย้งทางการเมือง ที่ดำรงอยู่ภายในระบบการเมืองระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภา โดยมี “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” ครั้งที่ 1 ในปี 1642 และครั้งที่ 2 ในปี 1648 เป็นภาพสะท้อนสำคัญ

 

การต่อสู้ระหว่าง 2 ปีกการเมืองนี้ ทำให้เกิดสิ่งที่นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” (The Glorious Revolution) ในปี 1688 (แต่ก็ไม่ใช่การปฏิวัติที่นองเลือดในแบบของฝรั่งเศส)

การปฏิวัติครั้งนี้มีความสำคัญโดยตรงต่อการสร้างแนวคิดของความเป็นอนุรักษนิยม รัฐสภาอังกฤษได้ใช้อำนาจในการ “ปลด” พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ออกจากตำแหน่ง และประกาศจัดตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกในทางการเมืองที่กษัตริย์ถูกถอดถอนออกจากบัลลังก์ด้วยคำประกาศของรัฐสภา ไม่ใช่การลงจากอำนาจในแบบยุคเก่าด้วย “รัฐประหารในวัง” (palace coup)

ผลที่ตามมาคือ การสร้างความคิดในทางการเมืองการปกครองที่รัฐสภามีอำนาจเหนือกษัตริย์ หรือเป็นระบอบที่รัฐสภาเป็นใหญ่ (หลักการ Primacy of Parliament over the Crown)

พร้อมกันนี้ รัฐสภายังได้ออกประกาศสำคัญคือ “The Bill of Right” ในปี 1689 เพื่อควบคุมและจำกัดอำนาจของระบบกษัตริย์ และประกาศนี้ได้ค้ำประกันถึงอำนาจของฝ่ายรัฐสภา และความสำคัญของประกาศนี้คือ การสร้าง “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกและของยุโรป

ผลที่ตามมาจากความขัดแย้งชุดนี้คือ การสร้างหลักการใหม่ของระบบการปกครองของกษัตริย์ และทบทวนความเชื่อในเรื่อง “หลักเทวราช” (the divine right of kings) การสิ้นสุดของความขัดแย้งระหว่าง “ฝ่ายกษัตริย์นิยม” กับ “ฝ่ายรัฐสภานิยม” ยืนยันให้เห็นชัดเจนถึงความเป็นใหญ่ของฝ่ายรัฐสภาในการเมืองอังกฤษ และเป็นพัฒนาการสำคัญของระบอบกษัตริย์จะถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ผลของการเมืองใหม่ทำให้อังกฤษกลายเป็นต้นแบบสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยมาจากรัฐสภา ไม่จำเป็นต้องผ่าน “ชาติกำเนิด” (by birth) หรือในบริบทของอังกฤษนั้น รัฐสภาจะเป็นผู้ให้การรับรองต่อการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ อันมีนัยถึงประเด็นเรื่อง “อำนาจอธิปไตยของปวงชน” ที่มีรัฐสภาเป็นตัวแทน

เราอาจกล่าวในมุมของฝ่ายอนุรักษนิยมได้ว่า การที่ระบอบกษัตริย์สามารถปรับตัวอยู่กับระบอบการเมืองใหม่ ที่ฝ่ายรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจหลัก แต่กษัตริย์ยังดำรงสถานะของการเป็นประมุขแห่งรัฐ และสภาวะเช่นนี้ทำให้การเมืองอังกฤษแบ่งออกเป็น 2 ส่วนทันที คือ ฝ่ายที่นิยมกษัตริย์ กับฝ่ายที่นิยมรัฐสภา (แต่ไม่ใช่ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ แบบฝรั่งเศส) อีกทั้งมีประเด็นทางศาสนาแฝงไว้ในท่ามกลางความขัดแย้งชุดนี้

หรือในอีกส่วน เป็นการทับซ้อนที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์คาทอลิกกับศาสนจักรแองกลิคัน (the Anglican Church)

 

การมาของรัฐสมัยใหม่

สําหรับในบริบทของการเมืองยุโรปนั้น การปฏิวัติใหญ่ของอังกฤษเกิดหลังการสิ้นสุดของสงครามสามสิบปี หรือสงครามศาสนาของชาวคริสต์ในยุโรป การยุติสงครามครั้งนี้มีการทำข้อตกลงสันติภาพที่เมืองเวสฟาเลียในปี 1648 ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อกำเนิดของ “รัฐประชาชาติ” (The Nation State) หรือที่เรียกในทางรัฐศาสตร์ว่า “รัฐสมัยใหม่” และมีความเป็น “โลกียรัฐ” ที่อิทธิพลของศาสนจักรที่โรมถูกลดความสำคัญลง

ระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เกิดในปี 1689 ทำให้กษัตริย์ในฐานะของความเป็น “องค์อธิปัตย์แห่งรัฐ” ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และอำนาจที่ถูกจำกัดภายใต้ประเพณีและข้อตกลงทางการเมืองเช่นนี้ ได้ถูกถ่ายโอนไปเป็นอำนาจของรัฐบาล ที่ดำเนินการภายใต้การกำกับของรัฐสภา อันทำให้เกิดชุดความคิดทางการเมืองที่สำคัญว่า ความชอบธรรมของรัฐบาลขึ้นอยู่กับการให้ความยินยอมของบุคคลที่อยู่ใต้การปกครองนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ตามความคิดแบบเดิม

สภาวะเช่นนี้ทำให้อำนาจในการปกครอง (authority) ของรัฐบาลต้องยึดโยงกับความยินยอมของประชาชน หรืออาจกล่าวได้ว่าความยินยอมเช่นนี้คือจุดเริ่มต้นของ “อำนาจอธิปไตย” ดังจะเห็นได้ว่า อำนาจอธิปไตยในแบบเดิมถูกอธิบายผ่านอำนาจของ “พระเจ้า” ที่มอบให้แก่กษัตริย์ คือเป็น “divine right”

แต่ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อำนาจนี้มาจากความยินยอมของผู้ใต้ปกครอง ที่ไม่ใช่เรื่องของพระเจ้าอีกต่อไป

 

ผลสืบเนื่องที่สำคัญจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์และระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ การกำเนิดของพรรคการเมืองเพื่อรองรับต่อการมีบทบาทของประชาชน และบทบาทของผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายในรัฐสภา ซึ่งในยุคแรกได้นำไปสู่การกำเนิดของ “พรรคอนุรักษนิยม” (The Conservative Party หรือที่เรียกว่า พวก “Tories”) และ “พรรคเสรีนิยม” (The Liberal Party หรือที่เรียกว่า พวก “Whigs”)

ความเป็นมาเช่นนี้บ่งบอกถึงประวัติการกำเนิดของพรรคการเมืองมาอย่างยาวนานในการเมืองอังกฤษ ทั้งได้เปิดโอกาสให้กลุ่มอนุรักษนิยมเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้โดยตรง หรือในอีกทางหนึ่ง ระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กลุ่มหรือบุคคลที่มีความคิดทางการเมืองสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี และเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา

ภาพสะท้อนของพัฒนาการชุดนี้คือ การปรับตัวทางความคิดที่ทำให้เกิด “ลัทธิอนุรักษนิยมสมัยใหม่” ในการเมืองอังกฤษ พร้อมกับมีองค์กรการเมืองที่รองรับชุดความคิดดังกล่าวในรูปแบบของพรรคการเมือง หรืออาจกล่าวได้ว่าเราได้เห็นการปรับตัวครั้งสำคัญของฝ่ายอนุรักษนิยม และกลายเป็นรากฐานสำคัญของกลุ่มอนุรักษนิยมในการเมืองสมัยใหม่

และเห็นชัดว่าชาวอนุรักษนิยมตัดสินใจต่อสู้ (หรือ “ตอบโต้”) กับการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมในอังกฤษ ผ่านพรรคการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

 

เส้นแบ่งทางการเมือง

สภาวะเช่นนี้ทำให้การเมืองอังกฤษในศตวรรษที่ 18 มีภาวะที่ “ลงตัว” ซึ่งมีนัยถึงการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายที่ชัดเจน (Whig vs. Tory) หรือเป็นต้นทางของการกำเนิด “ระบบการเมืองแบบ 2 พรรค” และแต่ละพรรคเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นของสังคม เช่น เรื่องของศาสนา เรื่องของความขัดแย้งทางสังคม หรือแต่ละพรรคจะมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนในแต่ละเรื่อง เช่น พรรคอนุรักษนิยมมีจุดยืนในแบบสนับสนุนระบบกษัตริย์

กลุ่มอนุรักษนิยมเชื่ออย่างมากว่า “ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์มีความสำคัญมากกว่าการประท้วง” เพราะการประท้วงจะทำให้ความสงบเรียบร้อยของสังคม (civil order) ได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ฝ่ายอนุรักษนิยมจะมีท่าทีต่อต้านการประท้วง และต่อต้านอย่างมากกับการปฏิวัติทางสังคม จึงคาดได้เลยว่า พวกเขาไม่มีทางที่จะสนับสนุน “การปฏิวัติอเมริกา” หรือเห็นด้วยกับ “การปฏิวัติฝรั่งเศส” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการปฏิวัติดังกล่าว ล้วนทำลายสถานะของสถาบันกษัตริย์และความเรียบร้อยของสังคมลงอย่างสิ้นเชิง

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมคือฝ่ายที่สนับสนุนระบบกษัตริย์ในรัฐสภา และเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดในแบบดั้งเดิม คือเป็นพวก “traditionalist” (ไม่อาจเรียกว่าเป็น “พวกจารีตนิยม” ที่เป็น fundamentalist ในแบบขวาจัดปัจจุบัน) และแน่นอนว่า อนุรักษนิยมเป็น “พวกกษัตริย์นิยม” (loyalist) ในทางการเมือง

ฝ่ายอนุรักษนิยมอังกฤษในยุคดังกล่าวจึงมักมีจุดยืนหลัก 2 ประการ คือ เห็นด้วยกับแนวคิดในเรื่องของ “เทวราชา” ของกษัตริย์อังกฤษ (the doctrine of the divine right of the English king) กับยอมรับต่อบทบาทและความคิดของศาสนจักรอังกฤษ (the doctrine of the Anglican Church)

ผลจากการต่อสู้ที่ทำให้เกิดการพัฒนาการเมืองของอังกฤษเช่นนี้ ทำให้เกิดการจัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสถาบันรัฐสภา ส่งผลให้เกิดการจัดพื้นที่ของกลุ่มอนุรักษนิยมอังกฤษอย่างชัดเจน และยังเห็นถึงจุดยืนของความเป็น “ขวาอังกฤษ” อีกด้วย!