ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | มองไทยใหม่ |
เผยแพร่ |
มองไทยใหม่ | นิตยา กาญจนะวรรณ
ภาษาไทยในบริบทโลก (๓)
คราวก่อนได้เล่าไปแล้วว่าภาษาคือระบบสัญลักษณ์ที่มนุษยใช้สื่อสารกัน ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ไม่มีความหมายและส่วนที่มีความหมาย ส่วนที่ไม่มีความหมาย ได้แก่ เสียง ซึ่งมีจำนวนจำกัดและประกอบกันเป็นส่วนที่มีความหมาย
สัญลักษณ์ที่ใช้เขียนแทนเสียงคือตัวอักษร ภาษาส่วนใหญ่มีตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงพยัญชนะและเสียงสระ บางภาษามีแต่ตัวอักษรที่ใชัแทนเสียงพยัญชนะ เช่น ภาษาอาหรับ ซึ่งใช้สัญลักษณ์อื่นแทนสระ
อย่างไรก็ตาม เสียงกับตัวอักษรอาจจะมีจำนวนไม่เท่ากันก็ได้
ภาษาอังกฤษซึ่งมีผู้ใช้มากที่สุดในโลก (๑,๔๕๒ ล้านคน) มี ๒๖ ตัวอักษร (a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z) แบ่งออกเป็นพยัญชนะ ๒๑ ตัว และสระ ๕ ตัว แต่มีเสียง ๔๔ เสียง ตามที่ระบุไว้ในชุดตัวอักษรสากล (International Phonetic Alphabet – IPA) จึงต้องนำตัวอักษรมารวมกันเพื่อแสดงเสียงในภาษา เช่น /sh/, /th/, /ch/ และ /ng/ แม้แต่สระซึ่งมีสัญลักษณ์ใช้เพียง ๕ ตัว ก็ต้องนำมารวมกันเพื่อแสดงเสียง เช่น /ai/, /ae/, /ie/ และ /ou/
ส่วนภาษาไทยซึ่งมีผู้ใช้มากเป็นอันดับที่ ๒๘ (๖๙ ล้านคน) มี ๖๖ ตัวอักษร แบ่งออกเป็นพยัญชนะ ๔๖ ตัว (ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง จ ฉ ช ซ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ด ต ถ ท ธ น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ฤ ล ฦ ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ) สระ ๑๖ ตัว (ะ ั า ำ ิ ี ึ ื ุ ู เ แ โ ใ ไ ๅ) และวรรณยุกต์ ๔ ตัว ( ่ ้ ๊ ๋ ) นอกจากนี้ ก็ยังมีเครื่องหมายต่างๆ ทั้งโบราณและปัจุบัน และตัวเลขอีก ๒๑ ตัว รวมเป็นอักขระ ๘๗ ตัวตามที่ระบุไว้ในตารางยูนิโคด ของ Unicode Consortium ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่กำหนดรหัสภาษาให้คอมพิวเตอร์สื่อสารกันได้
พยัญชนะไทย ๔๖ ตัวเป็นตัวแทนของเสียงเพียง ๒๑ เสียง พยัญชนะบางตัวแสดงเพียง ๑ เสียง ได้แก่ ก ง จ บ ป ม ว อ แต่มีพยัญชนะหลายตัวที่มีเสียงเดียวกัน เช่น ศ ษ ส (ตัวอย่าง ศึกษา สอน) นอกจากนี้ ยังมีพยัญชนะที่แสดงได้ ๒ เสียงอีกด้วย นั่นคือ ฑ ซึ่งอาจจะออกเสียงเหมือน ด (ตัวอย่าง บัณฑิต) หรือ ท (ตัวอย่าง กรีฑา) ก็ได้
ส่วนสระนั้นบางครั้งก็ต้องนำมาประกอบกันเพื่อแสดงเสียง เช่น เ + ะ กลายเป็นสระเอะ และสระบางตัวก็แสดงเสียงเดียวกัน คือ ใ กับ ไ
เมื่อคำนึงถึงตัวอักษรที่ใช้ในภาษา ภาษาที่มีตัวอักษรใช้น้อยที่สุดคือภาษาโรโตกัส (Rotogas) ในเกาะบูเกนวิลของปาปัวนิวกินี ซึ่งมีผู้พูดอยู่ประมาณ ๔,๓๒๐ คน ภาษานี้ใช้อักษรละตินหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอักษรโรมันเพียง ๑๒ ตัว คือ A E G I K O P R S T U V อันที่จริงยังมีผู้กล่าวถึงภาษาพีราฮา (Piraha) ในเขตป่าดิบชื้นอามาโซเนีย (Amazonia) ในบราซิล ซึ่งมีผู้พูดอยู่ประมาณ ๒๕๐ ถึง ๓๘๐ คน โดยกล่าวว่าภาษานี้มีตัวอักษรเพียง ๑๑ ตัว แต่นักภาษาศาสตร์ก็ยังถกเถียงกันไม่ลงตัวว่าใช่หรือไม่ จึงถือว่าภาษาโรโตกัสได้ตำแหน่งนี้ไป
คำว่า Amazonia เป็นภาษาโปรตุเกส ในภาษาอังกฤษก็คือ Amazon ที่ออกเสียงว่า แอมะซอน แต่ชื่อในทางธุรกิจในประเทศไทยคือ อเมซอน
ส่วนภาษาที่มีตัวอักษรมากที่สุดก็คือภาษาเขมร ซึ่งมีตัวอักษร ๗๔ ตัว เมื่อรวมเครื่องหมายต่างๆ และตัวเลขแล้วก็จะได้อักขระ ๑๑๔ ตัว ตามที่ระบุไว้ในตารางยูนิโคด
คราวหน้าจะได้พิจารณาเรื่องวรรณยุกต์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022