ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
“หากไม่มองในมุมของวิวัฒนาการ ก็ไม่มีอะไรในชีววิทยาแล้วที่ฟังดูเป็นเหตุเป็นผล (Nothing makes sense in biology except in the light of evolution)”
ประโยคอมตะนี้ แม้หลายคนจะดึงไปเชื่อมโยงกับ บิดาแห่งทฤษฎีวิวัฒนาการ “ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin)”
แต่ในความเป็นจริง ข้อความนี้ ลุงชาร์ลส์ไม่ได้กล่าวไว้ ที่จริงแล้ว ประโยคนี้เขียนขึ้นมาในปี 1964 ในบทความ Biology, Molecular and Organismic ที่นักพันธุศาสตร์ ทีโอโดเซียส ด๊อบซานสกี้ (Theodosius Dobzhansky) จากสถาบันร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Institute) ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในวารสาร American Zoologist
ประโยคนี้ย้ำเตือนให้ผมได้คิดอะไรหลายๆ อย่าง
อย่างแรกก็คือความสำคัญขององค์ความรู้พื้นฐาน เพราะแม้ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการจะโด่งดังและเป็นหนึ่งในแนวคิดที่เป็นแกนหลักของวิชาชีววิทยา แต่ความไม่รู้และการมองข้ามองค์ความรู้พื้นฐานเหล่านี้ทำให้เราพลาดอะไรไปหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการเชื้อดื้อยา การรักษามะเร็ง ไปจนถึงการจัดการการนำเข้าและควบคุมสายพันธุ์ต่างด้าวที่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปจนกลายเป็นสายพันธุ์รุกราน
ที่เจ็บปวดที่สุดคือ เราประสบปัญหาผู้รุกรานทางชีวภาพอยู่ตลอดเวลา ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการอิมพอร์ตสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ต่างด้าวเข้ามาในประเทศ ทั้งจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่ระมัดระวัง และความคาดหวังมูลค่าทางเศรษฐกิจแบบไม่คิดหน้าคิดหลังให้ดี
กรณีตัวอย่างมีให้เห็นมากมายทั้งผักตบชวา ปลาดุกรัสเซีย หอยเชอร์รี่ หนอนนิวกินี ไปจนถึงปลาหมอคางดำ
คำถามคือ ทำไมเราต้องกังวลกับพวกสายพันธุ์ต่างด้าวพวกนี้
หลักการของทฤษฎีการคัดเลือกตามธรรมชาติของชาร์ลส์ ดาร์วิน บอกว่าเผ่าพันธุ์ใดที่อยู่รอดและสืบต่อขยายเผ่าพันธุ์ได้ดีที่สุด เผ่าพันธุ์นั้นก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและยึดครองพื้นที่ได้มากที่สุด หรือก็คือมีฟิตเนสสูงที่สุด
ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง พวกเผ่าพันธุ์ที่วิวัฒนาการขึ้นมาในท้องที่ควรจะเป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ดีและเพอร์เฟ็กต์ที่สุดในพื้นที่นั้นๆ เพราะวิวัฒนาการขึ้นมาตอบโจทย์แรงคัดเลือกในพื้นที่กันแบบตรงๆ
ทว่า ในความเป็นจริง สายพันธุ์ต่างถิ่นหรือเอเลี่ยนสปีชีส์หลายชนิด แม้จะไม่ได้วิวัฒน์ขึ้นมาในท้องถิ่น กลับมีศักยภาพในการแข่งขันไม่ได้ด้อยไปกว่าสายพันธุ์พื้นถิ่น
เช่นในกรณีของปลาหมอคางดำ ที่นอกจากจะโตไวจนน่าตกตะลึงแล้ว ยังสืบพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ไข่ดก ไข่ไว อัตราการอยู่รอดของลูกรุ่นต่อไปสูง แถมยังสวาปามกันแบบไม่บันยะบันยัง
ที่สำคัญ ทรหด ทนทายาด สามารถอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมแทบทุกรูปแบบ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่เป็นสัตว์ต่างถิ่น ทำให้มีผู้ล่าในระบบนิเวศน์ไม่ค่อยคุ้นชิน ผู้ล่าตามธรรมชาติที่จะพิศวาสคอยไล่กินพวกมันก็เลยมีค่อนข้างน้อย
ซึ่งถ้าคิดตามหลักเหตุผล เมื่อไม่มีผู้ล่า ถ้าอยากควบคุมจำนวนเหยื่อ ก็หาผู้ล่ามาเติมลงไปในระบบ ก็น่าจะเป็นมาตรการที่น่าสนใจที่อาจจะกำราบประชากรปลาเอเลี่ยนได้แบบไม่ต้องคิดอะไรมาก
แต่ทว่า ยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ควรต้องไตร่ตรองอย่างระมัดระวังก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ
ซึ่งก็คือ ฟิตเนสของผู้ล่าที่ปล่อยลงไปจะเหนือกว่าปลารุกรานหรือไม่
และการปล่อยนักล่าตัวใหม่เข้าไปในระบบ จะเป็นการซ้ำเติมระบบนิเวศน์ที่บอบช้ำอยู่แล้วมากแค่ไหน
แน่นอนว่าพอมีปัญหา ไอเดียที่น่าสนใจก็มากันตรึม และอีกหนึ่งแนวคิดกำราบปลาหมอคางดำก็คือการทำการเหนี่ยวนำให้เกิดสายพันธุ์ปลาที่มีจำนวนชุดโครโมโซมเพิ่มทวีเป็นเท่าตัว ที่เรียกว่าโพลิพลอยด์ (Polyploidy)
โดยปกติแล้ว ปลาหมอคางดำจะมีจำนวนชุดโครโมโซมสองชุด ในกระบวนการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ จำนวนโครโมโซมจะลดครึ่ง ทำให้อสุจิและไข่จะได้สารพันธุกรรมกันมาแค่เซลล์ละหนึ่งชุด เมื่อเกิดการปฏิสนธิระหว่างอสุจิกับไข่ ตัวอ่อนก็จะได้จำนวนสารพันธุกรรมหนึ่งชุดจากอสุจิ และอีกหนึ่งชุดจากไข่ รวมกันได้เป็นปลาปกติที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด เหมือนปลาพ่อแม่
แต่ในกรณีของปลาโพลิพลอยด์จะมีโครโมโซมเพิ่มเป็นเท่าตัว คือ 4 ชุด เมื่อแบ่งเซลล์สร้างเซลล์สืบพันธุ์ อสุจิและไข่ที่มีโครโมโซมลดครึ่ง เซลล์สืบพันธุ์แต่ละเซลล์ก็จะได้รับแบ่งจำนวนชุดโครโมโซมไปเซลล์ละสองชุด ซึ่งถ้ามาผสมกันโพลิพลอยด์กับโพลิพลอยด์ ก็จะได้สองชุดบวกสองชุด ก็จะได้กลับมาเป็น 4 ชุดได้เป็นปลาโพลิพลอยด์รุ่นใหม่
และถ้าปล่อยปลาหมอโพลิพลอยด์ลงไปในธรรมชาติ แล้วปลาหมอโพลิพลอยด์โครโมโซมสี่ชุดที่ปล่อยไปเกิดจับพลัดจับผลูตัดสินใจไปจับคู่ตุนาหงันกับปลาหมอรุกรานที่มีโครโมโซมแค่สองชุด การปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์ที่มีชุดโครโมโซมสองชุดของปลาโพลิพลอยด์ กับชุดเดียวของปลารุกรานจะทำให้เกิดตัวอ่อนปลาที่มีจำนวนชุดโครโมโซมสามชุด
ซึ่งพอจำนวนชุดลดครึ่งไม่ลงตัว ปลาพวกนี้ก็จะเป็นหมัน ไม่สามารถแบ่งเซลล์สืบพันธุ์ที่สามารถเจริญเป็นปลารุ่นต่อไปได้
ว่ากันตามทฤษฎี ไอเดียนี้น่าสนใจ
แต่ยังมีคำถามที่น่ากังวลอีกมากมายที่ควรตอบให้ได้ก่อนจะเริ่มกระบวนการ
อย่างเช่น ปลาโพลิพลอยด์จะจับคู่กับปลาหมอคางดำในธรรมชาติจริงหรือไม่ และปลาพวกนี้สวาปามอาหารหนักเพียงไร และจะเข้าไปร่วมกับปลาหมอคางดำเข้าทำลายระบบนิเวศน์ในธรรมชาติอีกมากน้อยเพียงไรกว่าที่ปัญหาจะสิ้นสุด
แต่ที่ต้องระวังให้มากที่สุด ก็คือความจริงที่ว่าปลาหมอคางดำเป็นปลาที่อยู่ในวงศ์เดียวกับปลานิล และหนึ่งในสาเหตุที่มีการนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในตอนแรกจากทวีปแอฟริกาก็คือเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ปลานิล
แม้ว่าการส่งปลาโพลิพลอยด์ลงไปอาจจะช่วยลดประชากรรุ่นต่อไปของพวกปลาหมอคางดำได้
แต่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษก็คือในอดีต เคยมีรายงานว่าปลาหลายชนิดรวมทั้งญาติของปลาหมอคางดำอย่างปลานิลอาจมีการเปลี่ยนเพศได้เองในธรรมชาติ
ชาร์ลส์ ไทเลอร์ (Charles Tyler) นักสรีรวิทยาสัตว์น้ำ จากมหาวิทยาลัยเอกซิเตอร์ (University of Exeter) สหราชอาณาจักร เผยว่า “การเปลี่ยนเพศในปลานั้น เจอบ่อยจนไม่น่าแปลกใจ ปลาแทบทุกชนิดสามารถเปลี่ยนเพศได้ตอนที่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ บางชนิดเปลี่ยนเพศได้ตามสภาวะแวดล้อม การติดเชื้อปรสิต ความเป็นกรดด่างของน้ำ อุณหภูมิและปัจจัยอื่นๆ
“แต่ปลาบางชนิดอย่างเช่น ปลาหัวแกะเอเชีย หรือ โกบุได (Kobudai) กลับมีระบบการกำหนดเพศที่ซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้น คือมีวงชีวิตสองเพศแบบสลับ (sequential hermaphrodite) นั่นคือ ตอนถือกำเนิด จะเกิดมาเป็นเพศเมีย ในตอนที่ยังเยาว์ จะสามารถสืบต่อเผ่าพันธุ์ได้ในบทบาทของแม่ปลา”
“แต่พอเติบโตเจริญวัยขึ้นถึงระดับหนึ่ง พวกมันก็จะสลับเพศเปลี่ยนไปเป็นเพศผู้ และจะเปลี่ยนไปเล่นบทบาทพ่อปลาในภายหลัง ปลาพวกนี้จึงมักถูกเรียกว่าโพรโทไจนัส (Protogynous) ที่แปลว่า สตรีก่อน (female first) ในภาษากรีก”
“และที่น่าสนใจก็คือการเปลี่ยนเพศของพวกปลานั้นไม่ได้มีแบบเดียว ในกรณีของปลาการ์ตูนจะออกมาตรงข้ามกับของโกบุไดโดยสิ้นเชิง ตอนเกิดพวกลูกปลาการ์ตูนจะคลอดออกมาเป็นตัวผู้ ในฝูงเล็กๆ ของพวกมันจะมีตัวผู้เต็มไปหมด แต่มีตัวเมียหนึ่งตัวเป็นผู้นำ หากตำแหน่งตัวเมียจ่าฝูงนั้นว่างลง ภายในสามสิบวัน ตัวผู้ที่โดดเด่นที่สุดจะเริ่มเปลี่ยนเพศ เปลี่ยนจากตัวผู้ไปเป็นตัวเมียเพื่อมารับหน้าที่แทนได้”
“แต่ถ้าถามว่าทำไมปลาถึงเปลี่ยนเพศได้ คำตอบคือในเวลานี้ ยังไม่มีใครรู้ “นี่เป็นคำถามมูลค่า 60 ล้านปอนด์ ถ้าผมมีคำตอบ ผมคงได้ลงตีพิมพ์ในวารสารระดับท็อปของโลกอย่าง nature ทุกสัปดาห์ไปแล้ว” ชาร์ลส์กล่าว
“ความหลากหลายของปลามีมากมายมหาศาล ลองคิดดูสิ ปลาอยู่บนโลกนี้มาตั้งเกือบห้าร้อยล้านปี ในตอนนี้ มีปลาที่ถูกค้นพบแล้วกว่า 26000 สปีชีส์ ถ้าเปรียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาแค่ราว 200 ล้านปี และมีความหลากหลายเพียงน้อยนิดไม่ถึง 6000 สปีชีส์เท่านั้น” ชาร์ลส์กล่าว
“ต้องขอบคุณการระเบิดทางวิวัฒนาการ ที่ทำให้พวกปลาสามารถปรับตัวและดำรงอยู่ได้ในแทบทุกสภาวะแวดล้อม เมื่อไรที่เกิดการระเบิดทางวิวัฒนาการ เมื่อนั้นคุณจะได้ความหลากหลายในทุกรูปแบบ รวมทั้งวิธีที่พวกนั้นสืบพันธุ์กันด้วย”
ในกรณีของปลาหมอคางดำ สปีชีส์เอเลี่ยนที่ทนได้แทบทุกสภาวะ ชีววิทยาและองค์ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมันจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก สำหรับนักวิจัยนิเวศน์
เพราะถ้าอยากคุมประชากรปลาหมอต่างด้าวชนิดนี้ให้ได้อยู่หมัด คำถามที่เราต้องตอบให้ได้ ก็คือ “ปลาหมอคางดำ” เปลี่ยนเพศได้หรือไม่?
จากที่หามา ยังไม่มีใครเคยศึกษา รู้แค่เพียงว่าปลานิล เคยมีคนเจอมาตั้งแต่ปี 2007 ว่าเปลี่ยนเพศได้แม้ในธรรมชาติ… และนั่นทำให้เราต้องคิดหนัก ไม่แน่ว่า บางทีภาครัฐน่าจะต้องพิจารณาเริ่มลงทุนให้นักวิจัยเริ่มศึกษากันอย่างจริงจังได้แล้ว ถึงชีววิทยาของปลาพวกนี้เพื่อที่จะได้ออกมาตรการในการจัดการได้อย่างมั่นใจ
แต่คำถามอีกข้อที่น่าสงสัยก็คือ ปลาพวกนี้กระจายได้อย่างไรอย่างรวดเร็ว
ที่จริง ผมไปแอบส่องเจอรายการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ทำบ่อกุ้ง บ่อปลา ที่ประสบปัญหาวิกฤติปลาหมอคางดำเผยว่า
“ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ขยายพันธุ์ไว และสวาปามทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่อีกปัญหาคือกำจัดยากยิ่งกว่ายาก ไข่ปลาหมอคางดำที่เขาพบนั้นทนทานอย่างไม่น่าเชื่อ และคงสภาพอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยได้ยาวนานนับเดือน ขนาดน้ำแห้งจนดินเป็นฝุ่นไปแล้วก็ยังไม่ฝ่อ ยังสามารถฟักออกมาเป็นตัวได้ เมื่อโดนน้ำใหม่”
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจและน่าติดตามมากสำหรับผม เพราะจินตนาการว่าในธรรมชาติ ไข่ที่วิวัฒนาการมาแบบต้องการการประคบประหงมปกป้องอยู่ในปากของพ่อปลา ไม่น่าจะมีลักษณะอะไรที่ทำให้ทนทานได้ขนาดนั้น เรื่องนี้สำคัญมากในการออกมาตรการกำจัด กำกับ และควบคุมเผ่าพันธุ์ของปลาหมอคางดำ
นี่เป็นอีกหนึ่งหัวข้อวิจัยที่ควรต้องมีการทดลองอย่างรวดเร็ว เพื่อหาคำตอบ
เพราะบางทีคำตอบหนึ่ง อาจนำไปสู่อีกคำตอบหนึ่งที่สำคัญ ด้วยความทนทานของไข่มีผลต่อการกระจายพันธุ์ของปลา ซึ่งจะส่งผลต่อเป็นโดมิโนไปถึงขนาดพื้นที่รุกราน และกระบวนการในการเฟ้นหามาตรการมาเพื่อควบคุมการระบาดของปลารุกราน
เปเปอร์ที่ตีพิมพ์ออกมาในวารสาร Proceedings of National Academy of Sciences USA ในปี 2020 จากทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยดานูบ ประเทศฮังการี (Danube Research Center, Hungary) ระบุว่าไข่ของปลาคาร์ปสายพันธุ์รุกราน ทั้งปลาไน (Common carp) และปลาคาร์ปปรัสเซีย (Prussian carp) มีความทนทานอย่างน่าตกตะลึง
เพราะแม้ว่าจะถูกกินและย่อยมาอย่างสาหัสสากรรจ์ในสภาพแวดล้อมที่ทั้งรุนแรงและร้ายกาจในทางเดินอาหารของเป็ดป่า (Mallard duck) จนท้ายที่สุด ก็ถ่ายหลุดออกมาเป็นไข่ปลาในมูลเป็ด ที่เมื่อโดนน้ำเมื่อไร ไข่ปลาทั้งสองชนิดก็จะเริ่มฟื้นศักยภาพในฟักกลับออกมาเป็นตัว
เรื่องนี้ชวนติดตาม เพราะโดยปกติแล้ว การกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ มักจะเกิดขึ้นผ่านกระบวนการ Exozoochory หรือก็คือกระจายพันธุ์ผ่านการติดรุงรังไปตามเส้นขน ขา ผิวหรือโครงสร้างภายนอกของนก หรือสัตว์อพยพอื่นๆ
แต่การกระจายพันธุ์ผ่านอวัยวะภายในโดยการถูกกินเข้าไปและย่อยผ่านทางเดินอาหารที่เรียกว่า Endozoochory นั้น ส่วนใหญ่จะเจอกับพวกเมล็ดพืช ที่โดนนกกินแล้วไปถ่ายมูลไว้ เลยไปงอกที่ไกลๆ ได้ แต่ไม่ค่อยมีรายงานพบในสัตว์
เปเปอร์นี้จึงกลายเป็นผลงานวิจัยที่พลิกมุมมองในเรื่องการกระจายพันธุ์ของสัตว์ไปเลย
เพราะการค้นพบของพวกเขาชัดเจนมากว่าไข่ปลาสามารถกระจายไปได้ผ่านทาง Endozoochory หรือการโดนกินผ่านทางเดินอาหารของพวกนกอพยพได้
แม้ว่าเปอร์เซ็นต์รอดจะค่อนข้างต่ำคือเพียงแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แต่แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เผ่าพันธุ์ปลารุกรานกระจายพันธุ์ไปได้ทั่วทุกหัวระแหงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงแหล่งน้ำปิดที่ไม่น่าจะมีปลาที่ไหนสามารถกระดึ๊บๆ ไปถึงได้
แต่เป็ดป่าแค่บินวื้บไม่กี่ทีก็ถึง
เรื่องนี้ชัดเจนมาก เพราะถ้าในเคสผู้รุกรานทางชีวภาพอย่างปลาไน กระบวนการ Endozoochory เกิดขึ้นได้ ปลาอื่นก็น่าจะเกิดได้เช่นกัน และถ้านั่นคือตัวกลางที่ทำให้ปัญหากระจายเป็นวงกว้าง การจัดการจะต้องวางแผนมาให้ดี และคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างรวดเร็วเพื่อคุมสถานการณ์ในช่วงวิกฤตแห่งปลาหมอคางดำให้ได้ ก็คือพวกมันกระจายตัวอย่างไร ผ่านทางกระบวนการไหน และจะวางแผนจะตีวงควบคุมความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ที่เกิดขึ้นแล้วได้อย่างไร…
น่าเสียดาย เพราะนี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ยังไม่มีใครศึกษา และถ้าต้องรอเวลาทดลอง กว่าจะไขปริศนา จนถึงรู้คำตอบ
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจจะสาหัสขึ้นไปอีกมากแค่ไหน
ระบบนิเวศน์จะต้องสูญเสียไปอีกเท่าไร และมีสปีชีส์พื้นถิ่นไหนบ้างที่จะต้องสังเวยเผ่าพันธุ์จนสูญหายไปในท้องปลาหมอคางดำ
นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เตือนให้เรารู้ว่า… องค์ความรู้พื้นฐานที่ดูเหมือนจะไม่มีมูลค่าชัดเจนทางเศรษฐกิจ แท้จริงแล้วอาจมีค่ามากกว่าที่คิด…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022