ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
The Spirits of Maritime Crossing
การเดินทางค้นหาจิตวิญญาณข้ามมหาสมุทรของศิลปิน
ศิลปะการแสดงจากสองซีกโลกในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้ เราขอปิดท้ายเรื่องราวของนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ด้วยการร่วมงานของศิลปินศิลปะแสดงสดระดับโลกอย่าง มารีน่า อบราโมวิช (Marina Abramović) จากเซอร์เบีย/สหรัฐอเมริกา กับศิลปินศิลปะการแสดงชั้นนำของไทยและเอเชียอย่าง พิเชษฐ กลั่นชื่น ในผลงานที่มีชื่อเดียวกับนิทรรศการอย่าง
The Spirits of Maritime Crossing (2022) ภาพยนตร์สั้นเชิงทดลอง ที่เขียนบทและกำกับการแสดงโดยภัณฑารักษ์ของนิทรรศการอย่าง อภินันท์ โปษยานนท์
ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงเวนิสและกรุงเทพมหานคร ผ่านการเดินทางของวิญญาณเร่ร่อนดวงหนึ่ง ที่รับบทโดย (มารีน่า อบราโมวิช) ผู้ล่องลอยข้ามมหาสมุทรจากเวนิสมายังกรุงเทพฯ และพบกับราชาวานร (พิเชษฐ กลั่นชื่น) ผู้ชี้นำให้เธอได้เดินทางค้นหาที่หลบภัยและความสงบภายในจิตใจ
ในระหว่างการเดินทางอันน่าขนลุก อบราโมวิชพบเจอตัวละครที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์และได้เยี่ยมเยียนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง หลังได้ร่วมพิธีกรรม พบปะบุคคลต่างๆ และเรียนรู้ถึงคำสอน เธอตระหนักว่าจิตวิญญาณได้ออกจากร่าง และค้นพบความผ่อนคลายในที่สุด ในตอนจบของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้
อบราโมวิชได้หยุดคิดคำนึงที่เมืองเวนิส สะท้อนถึงการสิ้นสุดภารกิจแห่งการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณ
พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของผลงานว่า
“โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ตอนที่อาจารย์อภินันท์ติดต่อผม ว่ากำลังจะทำหนังสั้นเรื่องหนึ่ง โดยมี มารีน่า อบราโมวิช ร่วมแสดงด้วย และอยากให้ผมมารับบทเป็น Monkey King (ราชาวานร) และถ่ายทำหนังด้วยกัน ผมก็รับปาก แต่ก็ยังไม่รู้ว่าหนังจะเป็นยังไง หรือจะเกิดอะไรขึ้น”
“พอใกล้จะถ่ายทำอาจารย์ก็ติดต่อมาว่ามีตารางการถ่ายทำแล้ว เราจะถ่ายกันตามนี้ ผมก็ถามว่าอาจารย์อยากให้ทิศทางของตัวละครของผมออกมาเป็นแบบไหน อาจารย์ก็บอกว่า เอาที่พิเชษฐสะดวก แต่สิ่งที่ต้องการคืออยากให้ผมรับบท Monkey King เป็นตัวละครที่เผชิญหน้ากับ มารีน่า อบราโมวิช แล้วก็จะมีกลุ่มตัวละครฝูงลิงบริวาร และลิงน้อยตัวหนึ่ง ที่คอยนำพามารีน่าไปตามสถานที่ต่างๆ นี่เป็นโจทย์ที่ผมได้รับ ผมก็เริ่มทำการบ้านไปทีละขั้นตอน นั่นคือจุดเริ่มต้น”
“จริงๆ บทหนังเรื่องนี้ไม่มีบทสนทนา แต่อาจารย์จะคอยชี้แนะว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยอาจารย์บอกว่า ฉากการพบกันของของตัวละคร Monkey King จะถ่ายทำที่อาคารอีสต์เอเชียติก ซึ่งเป็นอาคารเก่า (ที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมของเมืองเวนิส) ส่วนตัวละคร ลิงน้อย ผมถามอาจารย์ว่าต้องการนักแสดงที่เต้นเป็นจริงๆ ไหม หรือต้องการคนที่ยังมีความเป็นเด็กและมีความไร้เดียงสาอยู่ อาจารย์ก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เต้นเป็นจริงๆ เอาแบบหลังก็ได้”
“ผมก็เลยเสนอว่า งั้นให้ลูกสาวผมมารับบทได้ไหม อาจารย์ก็ตกลง ผมก็เลยให้ลูกสาวไปฝึกเรียนเต้นท่าลิงกับนักเต้นในคอมปานีของผม เพื่อจะให้มารับบทคู่กับมารีน่า”
“จากบทหนังที่อาจารย์ให้มา ผมพยายามนั่งตีความว่า มารีน่าคือใคร Monkey King คือใคร และลิงน้อยคือใคร ผมพยายามเชื่อมโยงสามตัวละครนี้ หรือสถานการณ์นี้เข้าด้วยกันว่า มารีน่ากำลังตามหาอะไรอยู่ ตามหาจิตวิญญาณ? ตามหาตัวตนของตนเอง? ตามหาเรื่องราว?”
“ผมก็เลยตีความในมิติของความเป็นพุทธศาสนาว่า ตัวละคร Monkey King ของผม กับตัวละครลิงน้อย และตัวละครของมารีน่า สามตัวละครนี้เป็นคนคนเดียวกัน คือตัวละครลิงน้อยของลูกสาวผมคือจิตวิญญาณของมารีน่าในวัยเด็ก ซึ่งมีความบริสุทธิ์ ส่วนตัวละคร Monkey King ของผมคือด้านมืดของมารีน่า ส่วนตัวละครมารีน่า คือคนที่กำลังหาตามหาคำตอบของตัวเอง ในการค้นหาอะไรบางอย่าง โดยที่มีเหล่าบรรดาลิงลูกสมุนของผมทั้งหลายแหล่ เป็นตัวแทนสภาวะของอารมณ์ ทั้งโกรธ, เศร้า, สนุกสนาน ที่เกิดขึ้นในความเป็นมนุษย์ของเรา ที่อยู่ภายในตัวมารีน่า”
“โดยมารีน่ากำลังตามหาคำตอบว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไรผ่านการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งวัดฮินดู อย่างวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก), วัดจีน อย่างวัดมังกรกมลาวาส, สำนักสักยันต์ และสุดท้ายที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ที่พระสงฆ์ช่วยชี้ทางสว่างให้การค้นหาจิตวิญญาณครั้งนี้ของมารีน่า นั่นคือสิ่งที่ผมตีความลงไปในรายละเอียดของการเผชิญหน้ากันระหว่างผมกับมารีน่า”
นอกจากการแสดงแล้ว สิ่งที่โดดเด่นอีกประการในการร่วมงานครั้งนี้ของพิเชษฐคือเครื่องแต่งกายของเขาที่เป็นส่วนผสมระหว่างการแต่งกายของนาฏศิลป์ไทย และเครื่องแต่งกายของการแสดงแบบร่วมสมัย ส่วนหัวโขนของชุดนี้ ดูๆ ไปก็มีลักษณะคล้ายคลึงกับหัวกะโหลกอีกด้วย
“เครื่องแต่งกายชุดนี้มีที่มาจากการแสดงในชุด ขาวดำ (Black and White) ของผม ซึ่งเป็นการต่อสู้กันระหว่างตัวตนทั้งสองด้านของตัวเอง ผมก็เลยหยิบเอามาใช้ในงานชิ้นนี้ด้วย ส่วนหัวโขนของชุดนี้ ผมได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปเยี่ยมชม คุกตวลสเลง (พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ของการสังหารหมู่ชาวเขมร) ในประเทศกัมพูชา ผมได้เห็นหัวกะโหลกอยู่ในตู้เต็มไปหมด ผมก็คิดว่าทำไมมนุษย์เราเป็นถึงขนาดนี้ ที่ต้องฆ่ากันเองตายกันมากมาย ผมมองว่า ทำอย่างไรดีที่ผมจะสร้างงานสักชิ้นหนึ่ง ที่พูดถึงเรื่องที่ว่า มนุษย์เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ หรือสร้างสมดุลกับชีวิตได้ โดยไม่ต้องฆ่าฝ่ายตรงข้ามจนเหลือแต่สีขาวหรือดำแต่เพียงฝ่ายเดียว ผมก็ถ่ายรูปหัวกะโหลกในตู้หัวหนึ่งมา แล้วก็ส่งไปให้ช่างทำหัวโขน ให้เขาทำหัวโขนออกมาตามแบบของหัวกะโหลกอันนี้”
“โดยปกติ หัวโขนแบบประเพณีจะใช้แม่พิมพ์สร้างขึ้นมา แต่หัวโขนอันนี้เขาเอาผมและนักเต้นแต่ละคนมาเป็นแบบเพื่อถอดพิมพ์ออกมาจากกายวิภาคศีรษะของเราเลย เพราะฉะนั้น หัวโขนทั้งหมดในชุดนี้จะต้องใช้ของใครของมัน เพราะมันจะสวมได้พอดีกับหัวของเราเลย”
“เครื่องแต่งกายชุดนี้ของผมยังถูกสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Weltmuseum Wien ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อีกด้วย”
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในการร่วมงานกันของศิลปินอย่าง พิเชษฐ กลั่นชื่น และ มารีน่า อบราโมวิช คือ ในขณะที่ฝ่ายแรกเป็นศิลปินศิลปะการแสดงที่อาศัยทักษะการเคลื่อนไหวร่างกายร่ายรำอย่างแม่นยำที่ผ่านการฝึกซ้อมจนชำนิชำนาญ ในขณะที่ฝ่ายหลังเป็นศิลปินศิลปะแสดงสดที่อาศัยการนำเสนอความคิดผ่านอากัปกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองกับสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างฉับพลัน จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าทั้งสองทำงานร่วมกันได้อย่างไร
“ส่วนหนึ่งผมว่าทำการแสดงเหมือนกัน แต่ว่าการแสดงของผมคือการใช้ร่างกายเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ส่วนมารีน่านั้นมีแนวคิดที่เป็นคอนเซ็ปต์รวมก้อนใหญ่ๆ แล้วก็เผชิญหน้ากับผู้ชมตรงๆ ในขณะที่การแสดงของผมเป็นการแสดงบทเวทีที่แยกผู้ชมออกจากตัวนักแสดง ในฝั่งของผม ผู้ชมทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ ผมไม่ได้เปิดพื้นที่ให้พวกเขาเข้ามาในขอบเขตของนักแสดง แต่สำหรับมารีน่าคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมเข้าไปต่อรองกับร่างกายและตัวตนของเธอโดยตรง ซึ่งตรงนี้งานของผมกับมารีน่ามีความต่างกันค่อนข้างสูง ระหว่างกระบวนการ และวิธีการปฎิบัติ แต่ว่าในขณะเดียวกัน ในยุคหลังๆ ที่ผมทำงาน ผมก็ทำงานด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงได้เหมือนกัน (ดังเช่นในผลงานชุด The Intangibles of Emptiness เป็นต้น) เท่ากับว่าผมสามารถสื่อสารกับมารีน่าในมิตินี้ได้ ในขณะที่เราทำงานร่วมกัน”
“คืองานชิ้นนี้เป็นอย่างที่ผมตีความว่า Monkey King คือตัวตนหนึ่งของมารีน่า ในขณะที่ผมแสดงอยู่นั้น เมื่อมารีน่าเผชิญหน้ากับผม ก็เหมือนเธอกำลังเผชิญหน้าตัวเองอยู่ ส่วนผมเองก็มองมารีน่าในฐานะที่ผมมองร่างกายของตัวเองด้วย เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างร่างกายกับความรู้สึก”
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีฉากที่ทั้งคู่นั่งจ้องหน้ากัน ซึ่งดูๆ ไปก็คล้ายกับจะล้อเลียนผลงานชิ้นโด่งดังของมารีนาอย่าง The Artist Is Present อยู่ไม่หยอก ต่างกันที่ในจังหวะหนึ่ง ตัวละคร Monkey King กลับเบือนหน้าหนีมารีน่าหันมาจ้องหน้าผู้ชมเสียอย่างงั้น
“ฉากนี้เราอ้างอิงมาจากผลงานชุดนั้นของมารีน่าจริงๆ และการหันหน้ามาหาผู้ชมของผมคือคำตอบที่ตัวตนของมารีน่าบอกกับตัวเองว่า เธอต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง ในขณะที่เราทั้งคู่นั่งมองหน้ากันอยู่ พอจิตวิญญาณหันหน้าหนีตัวเอง เท่ากับว่าตัวคุณต้องหาตัวเองให้เจอ นี่คือการตีความของผมด้วยการเบือนหน้าหนีมารีน่าและหันมาหาผู้ชม ซึ่งฉากนี้ก็กลายเป็นภาพจำของหนังเรื่องนี้ไป เราอาจจะพูดเล่นๆ ได้ว่า ฉากนี้เป็นพัฒนาการใหม่ของงาน The Artist Is Present ของมารีน่าก็ได้เหมือนกัน”
นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ณ พื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในเมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-24 พฤศจิกายน 2567
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่, Arina Matvee และอมรินทร์
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022