แด่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

แด่ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

 

[ปรับปรุงจากคำกล่าวไว้อาลัยในงานพิธีละหมาดญานาซะห์แด่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ผู้เป็นครู เพื่อนร่วมงานและกัลยาณมิตรของผม ณ มัสยิดฮารูณ บางรัก เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน ศกนี้ ขอขอบคุณท่านผู้จัดงานที่กรุณาให้เกียรติผมในโอกาสนี้ และขอขอบคุณรองศาสตราจารย์เอกรินทร์ ต่วนศิริ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่กรุณาบันทึกคลิปวิดีโอไว้ให้ด้วยครับ]

เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดยคุณณัฐดนย์ โกศัยธนอนันท์

สวัสดีครับสหธรรมิกและเพื่อนพี่น้องผู้รักอาลัยอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ทุกท่าน

ผมชื่อเกษียร เตชะพีระ เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และได้ร่วมงานกับอาจารย์ชัยวัฒน์มายาวนานร่วม 40 ปี อยากจะถือโอกาสนี้กล่าวอะไรเกี่ยวกับอาจารย์ชัยวัฒน์สักเล็กน้อยครับ

เมื่อ 40 ปีก่อนตอนผมรู้จักอาจารย์ชัยวัฒน์ราวปี 2520 กว่า ประเทศไทยอยู่ในสงคราม ผมเป็นคนหนึ่งที่หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เข้าป่าไปร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธ และเมื่อออกจากป่ากลับมาเรียนที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ได้เจออาจารย์ชัยวัฒน์พอดี

หนแรกที่ผมเห็นท่าน ท่านอยู่ในวงอภิปรายสัมมนาเรื่องชาตินิยมกับอาจารย์ชื่อดัง เบ็น แอนเดอร์สัน จากอเมริกา ท่านเพิ่งกลับมาจากฮาวายใหม่ๆ หนวดเคราเฟิ้ม เห็นท่านแล้วก็นึกถึงนักรบญิฮาดอาหรับ แต่ฟังท่านพูดก็ไม่เหมือนภาพลักษณ์ภายนอกนะครับ

ท่านพูดถึงเรื่องสันติภาพ สันติวิธี การเมืองแห่งความไม่รุนแรง ท่านพูดถึงเรื่องความเป็นไปได้ที่เมืองไทยจะทะเลาะกันโดยสันติวิธี นี่ไม่ได้แปลว่าเมืองไทยจะไม่ทะเลาะกันต่อนะครับ เมืองไทยก็คงจะทะเลาะกันต่อไป เป็นธรรมดาโลกที่มีความขัดแย้ง แต่เมืองไทยน่าจะมีทางเป็นไปได้ที่จะทะเลาะกันต่อไปโดยไม่ฆ่ากัน อย่างสันติวิธี

สำหรับคนที่เพิ่งจะถือปืนไปรบในป่ามาอย่างผม คำพูดของท่านแปลกแปร่งหูมาก

 

ช่วงสถานการณ์ตอนนั้นก็เป็นเหตุการณ์ที่พอดีอังกฤษบุกไปรบกับอาร์เจนตินาที่เกาะฟอล์กแลนด์ เป็นสงครามใหญ่ดังไปทั่วโลก ผมเกิดแรงบันดาลใจก็เขียนกลอนขึ้นมาสามสี่บทแล้วไปสอดไว้หน้าห้องทำงานอาจารย์ชัยวัฒน์ โดยที่ผมก็ไม่ได้บอกกล่าวว่าผมเป็นใครมาจากไหน ก็สอดไว้เฉยๆ

ข้อความมันทำนองนี้นะครับ :

“ทะเลคลั่งด้วยคลื่นครืนครืนซัด พายุจัดพัดบุกทุกเกาะแก่ง

กระฉอกเชี่ยวเกรี้ยวกราดฉาดฉาดแรง อารมณ์เดือดเลือดแดงท่วมทะเล

สลัดโหมโจมจู่กู้เกาะกลับ จักรวรรดิยกทัพมาถมเถ

สีน้ำแปลงแดงเดือดด้วยเลือดเท ผู้รุกรานเจ้าเล่ห์คือผู้ใด

อดีตการรุกรานที่ผ่านพ้น บรรจบผลเป็นการรุนรานใหม่

ทะเลเคยฝังกลบศพปู่ใคร ลูกหลานยังคลั่งไคล้ใคร่ฆ่ากัน

คนเคยเชือดเลือดเขียนประวัติศาสตร์ พลิกหน้าใหม่ยังวาดด้วยเลือดนั่น

บทเรียนที่ใครใครรู้ไม่ทัน ก็คือชีวิตนั้นราคาแพง…”

ท่านประทับใจนะครับ ท่านก็ชวนผมเข้าไปพบ แล้วผมก็ได้เรียนหนังสือกับท่านต่อมา ได้ความรู้ความเข้าใจ เรื่องสันติวิธีและอื่นๆ จากท่าน และในที่สุดผมก็ได้เข้ามาเป็นอาจารย์และร่วมงานกัน

มีสองเรื่องที่ผมอยากพูดเกี่ยวกับอาจารย์ชัยวัฒน์ครับ

เรื่องแรกได้แก่อยู่ด้วยกันมา 40 ปีนี่ อะไรคือความเชื่อที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับท่าน? ผมคิดว่ามี 3 อันด้วยกันที่ท่านเชื่อจริงๆ อาจจะเชื่อโดยการที่เป็นอิสลามิก ได้เรียนรู้คำสอนของพระอัลเลาะห์ อาจจะเชื่อโดยการที่ได้เรียนรู้ปรัชญา หรือจากประสบการณ์ชีวิตครอบครัวของท่านเอง

1) ท่านเชื่อว่าพูดให้ถึงที่สุดธาตุแท้ของคนนั้นดี อาจจะมีความเลวอยู่บ้าง แต่ธาตุแท้ของคนนั้นดีมากกว่าเลว

2) คำถามต่อมาคือถ้าอย่างนั้นที่คนทำผิดทำเลวนั้นเกิดจากอะไร? อาจารย์ชัยวัฒน์อธิบายว่า ที่คนทำผิดทำเลวนั้นเนื่องจากไม่รู้ มันไม่ใช่ปัญหาศีลธรรมที่เลวชั่วฝังสันดาน มันเป็นเรื่องความไม่รู้

3) ดังนั้น พูดให้ถึงที่สุด วิธีแก้ปัญหาดีชั่วศีลธรรมในสังคมคือแก้ปัญหาความรู้ อบรมบ่มสอนให้ผู้คนเข้าใจ และเมื่อเขาเข้าใจ เขาจะเลือกทำเองอย่างเสรี

 

ผมคิดว่าตลอดชีวิตของท่าน 40 กว่าปีที่ผมได้ร่วมงานกับท่าน นี่คือสิ่งที่ท่านยึดมั่นทำมาตลอด ไม่ว่าในสังคมไทยจะมีความขัดแย้งเสื้อสี ความขัดแย้งที่ชายแดนภาคใต้ ฯลฯ ท่านอธิบายให้เข้าใจ ไม่ใช่มีคนเลวที่แก้ไม่หายแล้วต้องฆ่าเขา ไม่ใช่ ถ้าเขาเข้าใจ เราสามารถหาทางออกจากความขัดแย้งที่ดีกว่านี้ได้

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งก็สัมพันธ์กับปัจจุบันนะครับ คือเราจะจัดการอย่างไรกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาในสังคม แล้วมันมีตราบาป มีโทษกรรม มีความเจ็บปวด มีบาดแผลติดค้างอยู่กับตัวเราและสังคม

อดีตเราเปลี่ยนไม่ได้ เราอาจอยู่กับอดีตด้วยความทนทุกข์ทรมานขมขื่นไป ด้วยความคับแค้นไปไม่มีวันสิ้นสุด หรือไม่เราก็เลือกที่จะให้อภัย

ถ้าคุณให้อภัยเป็น คุณอยู่กับอดีตที่เจ็บปวดนั้นได้ เข้าใจมันได้ แล้วเลือกทางเดินใหม่ต่อไปข้างหน้าได้

แล้วอนาคตล่ะ ซึ่งมีความไม่แน่นอนเต็มไปหมด คุณจะอยู่กับมันอย่างไร? คุณอยู่กับอนาคตด้วยสัญญา ด้วยการให้คำมั่นต่อกันและกัน ให้คำมั่นต่อสหธรรมิก ให้คำมั่นต่อเพื่อนร่วมโลก ให้คำมั่นต่อเพื่อนร่วมชาติ ให้คำมั่นต่อเพื่อนร่วมศาสนา ว่าเราจะทำดี ว่าเราจะหาทางแก้ไขความไม่เข้าใจและความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง

อภัยให้กับอดีต เพื่อที่คุณจะเลือกทางใหม่ โดยการสัญญากันและกัน ว่าเราจะหาทางออกอย่างสันติวิธีจากความขัดแย้งโดยถ้วนหน้ากัน

และผมคิดว่านี่เป็นคำสอนที่สำคัญมากสำหรับสังคมไทยในทุกวันนี้

 

สุดท้ายผมอยากจะพูดถึงอาจารย์ชัยวัฒน์กับคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์สักเล็กน้อย พูดให้ถึงที่สุดนะครับ ผมคิดว่าคณะรัฐศาสตร์มีบุญที่ได้อาจารย์ชัยวัฒน์มาเป็นอาจารย์ คือท่านเป็นบุคคลแบบอย่างของคณะจริงๆ ในที่คนหมู่มากทั้งนักศึกษา อาจารย์ ก็ย่อมมีคนที่ดีหน่อยและคนที่ดีน้อยหน่อย

อาจารย์ชัยวัฒน์เป็นบุคลาธิษฐาน เป็นแบบอย่างของคนที่เรามองท่านแล้วเราเดินตามอย่างได้ มันทำให้คนชั่วหรือคิดจะทำชั่วอายใจ ทำให้คนที่คิดไม่อยากจะทำดีหรืออยากจะทำไม่ดีละอายใจ ผมคิดว่าท่านเป็นเสาหลักทางความรู้และศีลธรรมของคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ยาวนานต่อเนื่องมาสี่ทศวรรษ ดังนั้น การจากไปของท่านครั้งนี้ก็เป็นความเสียหาย เป็นความเจ็บปวดของคณะรัฐศาสตร์เราด้วย

ด้วยความรักอาลัยในการจากไปของผู้ที่พูดได้ว่าคือลูกที่ดีที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย ผู้ศรัทธาและผู้รับใช้ที่ดีที่สุดคนหนึ่งของพระอัลเลาะห์ และกัลยาณมิตรที่ดีที่สุดคนหนึ่งของผู้รักสันติภาพทั่วโลก ขอบคุณครับ

(เพื่อนมิตรลูกศิษย์ลูกหาจะจัดงานอภิปรายทางวิชาการเพื่อรำลึกถึงผลงานของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 8 สิงหาคม ศกนี้ ขอเชิญท่านผู้สนใจโปรดติดตาม)