ภาพ ‘โฟกัส’ จากการชม ซ้อม ‘กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

เผลอตัวไม่ทันตั้งสติครู่เดียวก็เลยวันเข้าพรรษาไปหลายเพลาแล้ว

นี่ถ้าเผลอตัวอีกไม่ถึงสามเดือน วันออกพรรษาก็มาเคาะประตูอยู่หน้าบ้านเป็นแน่

ออกพรรษาแล้วเป็นเทศกาลกฐินซึ่งเป็นบุญใหญ่ประจำปีของเมืองไทย ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเป็นกาลทาน คือ การบำเพ็ญทานที่มีเวลาจำกัดเฉพาะตั้งแต่วันออกพรรษาไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12 หรือวันลอยกระทง

สำหรับปีนี้เป็นปีพิเศษ คือ ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบหกรอบ ในเทศกาลบุญกฐินคราวนี้ เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะมีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวราราม ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567

ระหว่างนี้กองทัพเรือซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการจัดกระบวนเรือพระราชพิธี จึงเตรียมการฝึกซ้อมริ้วกระบวนและฝีพายพ รวมตลอดถึงองค์ประกอบอื่นอย่างเอาจริงเอาจัง

ผมทราบว่าการฝึกซ้อมนี้ทำกันมาล่วงหน้าหลายเดือนแล้ว และจะยิ่งกวดขันมากขึ้นเมื่อใกล้วันพระราชพิธีจริง

แต่ก่อนแต่ไรมา ชีวิตคนที่ผ่านปฏิทินมาหลายปีมากแล้วอย่างผมย่อมได้เคยชมกระบวนเรือพระราชพิธีอย่างนี้มาแล้วหลายครั้งเป็นธรรมดา

แต่จะขอบอกความลับว่า ที่เคยชมมาแล้วในอดีตล้วนแต่เป็นการชมกระบวนเรือเมื่อปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา บางทีก็เป็นการซ้อมย่อย บางคราวก็เป็นการซ้อมใหญ่ และอีกหลายวาระเป็นการปฏิบัติจริงในวันพระราชพิธี

แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า ผมไม่เคยดูการซ้อมพายเรือพระที่นั่งหรือกระบวนเรือแบบที่เป็นการฝึกซ้อมเบื้องต้นและเป็นการพายอยู่กับที่เลยแม้เพียงสักครั้งเดียว

 

เมื่อประมาณสองสัปดาห์ก่อน มีเจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือมาหาผมที่บ้าน เพื่อมาชวนพูดคุยและบันทึกวิดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรือพระราชพิธีและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ เพื่อนำไปเผยแพร่ในระบบออนไลน์และออกอากาศทางสถานีวิทยุของกองทัพเรือ

หลังจากเสร็จธุระการงานแล้ว อาศัยช่วงชุลมุน ผมได้สอบถามน้องๆ จากกองทัพเรือว่ามีการฝึกซ้อมพายเรืออยู่กับที่วันไหนบ้าง

พอทราบรายละเอียดแล้วผมก็ขอนัดหมายวันที่จะไปดูการซ้อมที่ว่านี้เลยทีเดียว

วันที่นัดกัน คือ วันนี้เมื่อตอนบ่ายวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นี่เองครับ กลับมาถึงบ้านตอนค่ำแล้วก็รีบเขียนเรื่องที่ไปพบเห็นมาตอนบ่ายวันนี้เล่าสู่กันฟัง

ก่อนที่ความทรงจำจะเลือนหายไปในวันพรุ่งนี้

 

สถานที่ฝึกซ้อมนั้นคือบริเวณกรมอู่ทหารเรือ ถ้ามาจากทางสะพานอรุณอมรินทร์ เลยจากสี่แยกวังหลังตรงมุมโรงพยาบาลศิริราชไปนิดเดียว จะมีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านซ้ายมือ

การเดินทางวันนี้ผมไม่หลงทางเป็นแน่ เพราะเมื่อตอนผมเป็นเด็ก พ่อของผมทำงานอยู่ที่กรมอู่ทหารเรือนี้ในฐานะเป็นนายทหารพระธรรมนูญประจำกรม

ความทรงจำว่าที่นี่เคยเป็นที่ทำงานของพ่อจึงไม่เหลือบ่ากว่าแรงของผม

บริเวณที่เป็นสถานที่ฝึกซ้อมการพายเรือนั้นแน่นอนว่าต้องอยู่ใกล้กันกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเขาทำเป็นเหมือนคลองหรืออู่ขนาดปานกลางเว้าเข้ามาจากแม่น้ำ มีประตูน้ำเปิดปิดในคลองหรืออู่ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกซ้อมแห่งนี้

มีเรือพระที่นั่งจอดอยู่บริเวณแนวกลางสี่ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่เก้า เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

นอกจากนั้น ในบริเวณเดียวกันยังมีเรือลำอื่นอีกหลายลำเรียงรายกันอยู่ เช่น เรือพาลีรั้งทวีป เรือกระบี่รานรอญราพณ์ และเรืออสุรวายุภักษ์ เป็นต้น

แต่มีการบรรจุฝีพายลงประจำเรือเฉพาะเรือพระที่นั่งทั้งสี่ที่ออกนามแล้วเท่านั้น ผมไม่ได้นับให้ถ้วนถี่หรอกครับว่า เรือพระที่นั่งแต่ละลำมีพลพายกี่คน แต่กะโดยประมาณไม่ต่ำกว่าลำละ 50 คนเป็นแน่

ในอดีตที่ผ่านมาเวลาผมไปชมเรือเหล่านี้ยาตรากระบวนผ่านมาในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เป็นการยืนชมจากระยะห่างไกลพอสมควร ภาพที่เห็นจึงเป็นภาพกว้างและอาจบอกว่าเป็นภาพพาโนรามาก็เห็นจะได้ แต่ไม่ใช่ภาพโฟกัส รายละเอียดบางอย่างที่ผมได้เห็นอย่างชัดเจนในวันนี้จึงเป็นของตื่นตาตื่นใจมาก เพราะเรือพระที่นั่งแต่ละลำอยู่ห่างจากผมในระยะเพียงไม่กี่เมตร

ลวดลายที่เป็นรายละเอียดต่างๆ ผมสามารถใช้สายตามองเห็นถนัดชัดเจน ตัวอย่างเช่น เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ มองจากระยะไกลก็รู้แต่ว่าสวย

แต่เมื่อพินิจดูระยะใกล้แล้ว จึงเห็นว่าบริเวณโขนเรือหรือหัวเรือที่เป็นรายละเอียดขนาดเล็กนั้น แท้ที่จริงคือรูปพญานาคตัวเล็กตัวน้อยเกี่ยวพันกันจนเต็มพื้นที่บริเวณโขนเรือ

นี่เองเป็นที่มาของนำเรือพระที่นั่งลำนี้

 

สิ่งที่ตื่นเต้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ การได้เห็นการฝึกซ้อมฝีพายประจำเรือพระที่นั่งและเรือลำอื่นในกระบวนเรือพระราชพิธี

เห็นแล้วเหนื่อยแทนและนับถือฝีมือของทั้งครูฝึกและฝีพายทุกคนอย่างแท้จริง

เริ่มต้นตั้งแต่พายแต่ละเล่มน้ำหนักประมาณ 5 ถึง 6 กิโลกรัม การฝึกหัดจนกระทั่งพายนั้นกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย สามารถบังคับให้กินน้ำลึกตื้นได้ตามที่ครูสั่ง เวลาพายท่านกบิน ซึ่งเป็นท่าเฉพาะสำหรับคนพายเรือพระที่นั่ง ส่วนปลายของพายที่เป็นสีทองตามเกียรติยศของเรือพระที่นั่งยกขึ้นสูงอยู่กลางอากาศ

ไปนั่งดูการฝึกซ้อมแล้วจึงเห็นว่า ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้พายของทุกคนในเรือลำเดียวกัน และพร้อมเพรียงกันกับเรือพระที่นั่งลำอื่นด้วย

สามารถยกสูงเสมือนบินขึ้นอยู่กลางอากาศได้ในองศาเดียวกัน ไม่มีพายอันใด ของใครแตกแถว พายทั้งหมดเป็นระเบียบเดียวกัน มุมเดียวกัน ขึ้นและลงพร้อมกัน

พูดนั้นง่ายครับ เล่าให้ฟังตรงนี้ก็ยิ่งง่ายใหญ่ แต่คนดูอย่างผมรู้สึกได้ทีเดียวว่า สำหรับคนที่เป็นพลพายนั้นไม่ง่ายเลย นอกจากต้องวางตำแหน่งพายประจำของแต่ละคนให้ถูกที่ถูกทางแล้ว แม้ลำตัวของพลพายแต่ละคนก็ต้องเข้าเหลี่ยมเข้ามุมให้เสมอกันหมดด้วย เมื่อมองจากระยะใกล้ระยะไกลก็ตาม ภาพที่เห็นอยู่ในสายตาคือความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด

ที่กลางลำเรือพระที่นั่งแต่ละลำมีครูผู้ฝึกสอน เดินแนะนำกำชับพลพายแต่ละคนว่าต้องปรับปรุงมุมเหลี่ยมหรือท่าทางของตัวเองอย่างไรบ้าง

เห็นแล้วนึกถึงครูละครจับตัวลูกศิษย์เอียงซ้ายเอียงขวาดัดไม้ดัดมือเวลาสอนรำละครหรือโขนนั่นทีเดียว

 

นอกจากความพร้อมเพรียงในการพายการนั่งแล้ว พลพายยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งคือการร้องรับเป็นลูกคู่กับพนักงานเห่เรือ ที่เปล่งเสียงก้องกังวานโดยใช้บทเห่ที่ประพันธ์ขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับพระราชพิธีคราวนี้ ฟังเพียงประโยคเดียวหรือวรรคเดียวก็รู้แล้วว่า เป็นฝีมือของครูทองย้อย หรือ พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย อดีตข้าราชการทหารเรือและมหาเปรียญเก้าประโยคจากจังหวัดราชบุรี ผู้เป็นนายของภาษาและเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในบทประพันธ์ประเภทนี้

ใครจะว่าผมบ้าหรืออย่างไรผมก็ไม่ขัดข้อง แต่อยากจะบอกกับตัวเองว่าตอนที่เสียงเห่เริ่มดังขึ้น ฝีพายเริ่มเดินพาย และร้องรับเป็นจังหวะ ทำไมผมถึงรู้สึกอยากร้องไห้อยู่ในหัวอกก็ไม่รู้

รู้สึกเหมือนตัวเองนั่ง Time Machine หรือเครื่องมือย้อนเวลาพาผมย้อนถอยหลังไปประมาณ 400 หรือ 500 ปี ไปถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโน่น เรื่องเล่าและภาพเขียนของคณะทูตชาวฝรั่งเศสเกี่ยวกับกระบวนเรือพระราชพิธีเป็นอย่างไร ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ช่างมหัศจรรย์จริงๆ

บริเวณรอบอู่เรือที่มีการซ้อมพายเรือในกระบวนพระราชพืธีวันนี้ นอกจากผมและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันแล้ว ยังสังเกตเห็นว่ามีเด็กนักเรียนอีกจำนวนมากที่คุณครูพามาชมการฝึกซ้อมดังกล่าว

ถึงแม้เด็กที่ผมเห็นวันนี้จะเป็นเด็กรุ่นเล็กคือน่าจะเป็นนักเรียนชั้นประถมต้นเสียเป็นส่วนใหญ่ ถ้าผมจะลุกขึ้นขมีขมันบรรยายอะไรด้วยภาษาของผม ด้วยเรื่องที่ผมอยากเล่า เด็กก็จะนอนหลับเสียเปล่าๆ

ผมจึงสงบปากสงบคำเข้าไว้ ปล่อยให้เด็กๆ ได้มองเห็นภาพสดและได้ยินเสียงสด โดยไม่ต้องมีคนแก่มาส่งเสียงกวนใจ

ไม่เป็นไรครับ เพียงเท่าที่เขาเห็น เขาได้ยิน ผมว่าน่าจะเป็นความประทับใจได้เพียงพอแล้ว เอาไว้โตกว่านี้ขึ้นอีกหน่อย เมื่อเขานึกย้อนมาถึงความทรงจำในบ่ายวันนี้ คงพอนึกออกว่าเขาได้มาพบเห็นอะไรบ้างแล้วไปเชื่อมต่อกับความรู้ที่เขาจะได้เรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นในวันข้างหน้า เพียงนี้ก็สมประโยชน์แล้ว

 

นอกจากคนไทยแล้วผมยังพบว่า มีชาวต่างประเทศมาดูการฝึกซ้อมบ่ายวันนี้ประปราย ดูท่าแล้วคงเป็นฝรั่งประเภทที่เดินทางมาเองโดยมิได้เดินทางมากับกรุ๊ปทัวร์ เพราะถ้ามาเป็นหมู่คณะแบบนั้น นักท่องเที่ยวทุกคนต้องทำตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นเวลานานแล้วหลายเดือน ที่ไหนเลยจะปรับแผนมาดูการฝึกซ้อมพายเรืออย่างนี้ได้ทันท่วงที

ถึงแม้ผมไม่มีโอกาสเข้าไปคุยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเหล่านั้น เพราะมัวแต่ตื้นตันอยู่ในหัวอกดังกล่าวมาแล้ว แต่ก็สังเกตเห็นได้ว่าทุกคนสีหน้าตื่นเต้นและมีความสุขที่ได้เห็นอะไรแบบนี้

นอกจากนั้น ในคณะที่เดินทางไปชมการฝึกซ้อมพร้อมกันกับผม นอกจากเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเกือบสิบคนแล้ว ยังมีสมาชิกประเภทเยาวชนคนรุ่นใหม่แถมยังเป็นลูกครึ่งไทยและญี่ปุ่นสมทบไปด้วยอีกคนหนึ่ง

เมื่อจบการฝึกซ้อมแล้ว ผมถามสมาชิกทุกคนทุกวัยผู้ร่วมคณะ ว่าประสบการณ์วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สมาชิกทั้งหมดออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจที่ได้มาด้วยกัน เพราะได้เห็นรายละเอียดเบื้องหลังการถ่ายทำที่ไม่เคยทราบมาก่อน แถมยังได้เห็นอย่างใกล้ชิดแบบนี้เสียด้วย

เมื่อได้ยินคำตอบแบบนั้นผมก็มานั่งคิดอะไรอยู่กับตัวเองคนเดียวต่อไปอีกนิดหนึ่งว่า การมองภาพหรือการเห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรายรอบชีวิตของเรา จากมุมมองหรือทัศนะที่มองเห็นภาพใหญ่ ภาพที่เห็นนั้นก็เป็นความจริงแน่ แต่ถามว่าเป็นความจริงทั้งหมดใช่หรือไม่

น่าคิดนะครับว่า ภาพนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการที่มีที่มาที่ไป และยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลัง

เหมือนอย่างเช่น ผมได้เคยชมกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคมาแล้วหลายครั้ง แต่การได้มาเห็นวิธีการฝึกซ้อมฝีพาย ความยากของมุมของเหลี่ยมทั้งการนั่งการพาย จังหวะจ้วงน้ำลึกตื้น ได้ฟังเสียงเห่ตั้งแต่ต้นจนจบ ความยาวประมาณ 40 กว่านาที แทนที่จะได้ฟังบทเห่สั้นๆ เฉพาะเวลาขบวนเรือยาตราผ่านหน้าผมไป นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่แท้จริง

ข้อคิดอย่างนี้อาจใช้เตือนใจได้อีกหลายสถาน ว่าเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เรามองเห็นภาพใหญ่แต่ละครั้งแต่ละเรื่อง ยังมีอะไรอยู่เบื้องหลังเบื้องหลังให้เราได้ศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้อีกมากมาย ถ้าเราทำตัวเป็นคนอยากรู้อยากเห็น เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เป็นคนที่แสวงหาความรู้แสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่เสมอ ชีวิตนี้ก็ยังมีชีวิตชีวา มีอะไรสนุกสนานให้คิดให้ทำอีกมาก

ไปดูซ้อมพายเรือมานิดเดียว คิดฟุ้งซ่านเป็นคุ้งเป็นแคว

สมกับเป็นคนมีอายุมากจริงๆ ฮา!