ยุทธการ 22 สิงหา : แนวรุก ทางการเมือง ของพันธมิตร กดดัน เร่งเร้า คำตอบ โดยฉับพลัน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

เดือนพฤศจิกายน 2551 ถือเป็นเดือนแห่งการยกระดับ ไม่ว่าจะมองผ่านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะมองผ่านพันธมิตรใน “แนวร่วม” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

หากถามว่าทำไมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้อง “ยกระดับ” การเคลือนไหว

นั่นหมายถึงการยกระดับ “การต่อสู้” ให้ร้อนแรงและแหลมคม

ความจริงการยึด “ทำเนียบรัฐบาล” เมื่อเดือนสิงหาคมถือว่าเป็นการยกระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมือง

ไม่ว่ายุค 2500 ไม่ว่ายุค 2516 ไม่ว่ายุค 2535

ที่จำเป็นต้องยกระดับเพราะจากเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม กระทั่งเดือนพฤศจิกายน ข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมิได้มีการสนองตอบจากรัฐบาล

ความได้เปรียบเพียงประการเดียวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือการยังสามารถยึด “ทำเนียบรัฐบาล” ได้

โดยที่รัฐบาลเองไม่สามารถ “จัดการ” ให้พ้นไปจาก “ทำเนียบรัฐบาล”

หากมองผ่านการเคลื่อนไหวของพันธมิตรใน “แนวร่วม” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะเข้าใจ

เข้าใจในบทบาทของ “องค์กรอิสระ” เข้าใจในบทบาทของ “กองทัพ”

การยกระดับจากการยึด “ทำเนียบรัฐบาล” ไปสู่การยึด “สนามบิน” จึงถือเป็นการเคลื่อนไหวในระดับสุดยอดทางการเมือง

ไม่ว่าต่อ “ดอนเมือง” ไม่ว่าต่อ “สุวรรณภูมิ”

 

หากมองจากทางด้านของรัฐบาล หากมองจากทางด้านของพรรคพลังประชาชน หากมองจากทางด้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ย่อมหงุดหงิด ย่อมไม่พอใจเป็นอย่างสูง

มิได้เป็นความหงุดหงิด มิได้เป็นความไม่พอใจต่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หากแต่เป็นความหงุดหงิด เป็นความไม่พอใจต่อ “อำนาจ” ที่อยู่เบื้องหลังพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

แม้จะตระหนักเป็นอย่างดีว่ามีความเสียหายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าในทางการเมือง

นั่นก็เห็นจากการประเมินความเสียหายโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ต่อการยึดสนามบินดอนเมือง การยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.46 แสนล้านบาท

เป็นนักท่องเที่ยว 1.58 ล้านคน ในเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท

เป็นธุรกิจการขนส่งทางอากาศ 3.2 พันล้านบาท

เป็นธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารในท่าอากาศ 2.8 หมื่นล้านบาท เป็นธุรกิจภายในสนามบิน 2.2 หมื่นล้านบาท ความเสียหายอื่นๆ 592 ล้านบาท

และยังมีความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อีก 1.4 หมื่นล้านบาท

 

หากสังเกตจาก “ปฏิกิริยา” และท่าทีจากนานาชาติ กระทรวงการต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ สิงคโปร์ เกาหลี จีน ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ออกประกาศเตือนภัยพลเมืองของตนที่เดินทางมาประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ท่าทีของสถาบันและองค์กรระหว่างประเทศก็แสดงออกมาอย่างเป็นกระบวนการ

นั่นก็คือ

บริษัทเรทติ้ง แอนด์ อินเวสเมนต์ อินฟอร์เมชั่น (อาร์แอนด์ไอ) โดยคณะกรรมการจัดระดับเรตติ้ง (Rating Committee) ปรับลดแนวโน้มระดับเครดิตของไทย

ทั้งตราสารหนี้ สกุลเงินต่างประเทศและตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาทจากระดับที่เป็นบวกเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ

ต่อมาหนังสือพิมพ์ “เทเลกราฟ” ของอังกฤษจัดอันดับ 20 ประเทศที่อันตรายที่สุดบนโลก ปรากฏว่าไทยอยู่อันดับ 3 สูงกว่าปากีสถานที่อยู่อันดับ 12 เนื่องจากไทยมีการประท้วงทางการเมืองจนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน

ส่วนประเทศติดอันดับอันตรายสูงสุด 5 อันดับแรกคือ อิรัก อัฟกานิสถาน แคว้นในเชชเนียของรัสเซีย แอฟริกาใต้และจาเมกา

พอเข้าสู่เดือนธันวาคม บริษัทแสตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S & P) ปรับลดแนวโน้มของระดับเครดิตของไทยจากระดับที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook)

โดยระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศอยู่ที่ระดับ BBB+/A-2 และระดับตราสารหนี้ระยะยาวและระยะสั้นสกุลเงินบาทอยู่ที่ A/A-1

เหล่านี้ล้วนเป็นปมทางด้านเศรษฐกิจ

 

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) เรียกร้องให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยย้ายการชุมนุม

จากท่าอากาศยาน “สุวรรณภูมิ” และท่าอากาศยาน “ดอนเมือง”

อันส่งผลให้ผู้โดยสารกว่า 100,000 รายต้องติดค้าง และระบุว่าเป็นการทำลายภาพลักษณ์ประเทศไทยอย่างรุนแรง

เรียกร้องทุกฝ่ายในประเทศหาทางแก้วิกฤต

ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยด้วยการเคารพกฎหมายและสถาบันทางด้านประชาธิปไตยของประเทศ

ระยะกาลเดียวกัน คือ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2551

กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์เรียกร้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยุติการยึดสนามบินอันเป็นการขัดขวางการเดินทางของบุคคลและการขนส่งสินค้า

แม้สหรัฐอเมริกาจะเคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่การยึดสนามบินไม่ใช่วิธีการประท้วงที่เหมาะสม

นี่ย่อมเป็นการเคลื่อนไหวจากนานาชาติในด้านการเมือง

 

สายตาของนานาชาติ ไม่ว่ามองต่อรัฐบาล มองต่อพรรคพลังประชาชน ไม่ว่ามองต่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

มากด้วย “ความเห็น” คึกคักด้วย “บทสรุป”

การยึด “ทำเนียบรัฐบาล” การยึด “สนามบิน” โดยที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยืนยันว่าฝ่ายใด “รุก” ฝ่ายใด “รับ”

ที่แหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ การดำรงอยู่และขยายตัวของ “แนวร่วม” ในทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

หากไม่มี “พลัง” ส่วนนี้หนุนช่วยก็ยากที่จะ “ยืนหยัด” อยู่ได้

ไม่ว่าจะมองจากด้าน “การเมือง” ไม่ว่าจะมองจากด้าน “เศรษฐกิจ” สะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบที่ซับซ้อนอย่างยิ่งในสังคมการเมืองไทย

ถามว่าการยกระดับของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเคลื่อนไหวมีเป้าหมายอย่างไร

คำตอบมิได้อยูใน “สายลม” หากแต่อยู่ที่ “ความจริง” อันตามมา