ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
ฝนฉ่ำฟ้าพาทั้งน้ำฝนและลมชื้นมาทั่วไทยรับวันเข้าพรรษา
นับเป็นต้นฤดูฝนที่นับเอาตามแบบฉบับพระพุทธศาสนาตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา เพื่อหยุดพักการจาริกไปเผยแผ่ธรรมะในที่ต่างๆ ไว้ 3 เดือน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปีนี้น้ำจะมากกว่าปีกลาย และเตรียมรับมือกับพายุฝนเข้าประเทศไทยหลายลูกที่จะทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่
ในยามที่ฝนตกต่อเนื่องและอยู่ในพื้นที่นอกเมือง เช่น พื้นที่สวน ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ตามธรรมชาติที่ไม่ใช่ตึกอาคารในเมืองใหญ่นั้น จะรู้สึกถึงลมฝนนำความชื้นมาได้ง่าย ลมฝนจึงนำเอาทั้งความเย็นและชื้นมาสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายเสียสมดุลได้ง่าย และจะทำให้ไม่สบาย เช่น อาการหวัด คัดจมูก ไอ จาม ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ง่าย
ประสบการณ์ตรงของชาวคณะมูลนิธิสุขภาพไทย ช่วงหยุดวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมค่ายโดยพาครอบครัวและเด็กในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ไปกับครอบครัวเด็กพิการที่ทางมูลนิธิเพื่อเด็กพิการดูแลอยู่ ให้ครอบครัวเด็กเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และเรียนรู้ต้นไม้และธรรมชาติในพื้นที่สวนป่าที่ค่ายห้วยน้ำใส ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา
ซึ่ง 2 วันเต็มๆ ที่ฝนตกมา ทำให้สัมผัสได้ถึงสายฝนพาความเย็นและความชื้นมาปกคลุมรอบตัวเราทำให้ร่างกายรู้สึกหนาวเย็นชื้นขึ้นมาก
สมุนไพรหรืออาหารสมุนไพรที่ใกล้ตัวที่สุด ที่จะช่วยปรับธาตุในร่างกายให้อุ่นขึ้นหรือเพิ่มธาตุไฟให้ร่างกาย ซึ่งหาง่ายและนำมาใช้ได้กับทุกวัยตั้งแต่เด็กถึงสูงวัยที่ไปอยู่ในค่าย คือ พริกไทย
ข้าวต้มทะเลมื้อเช้าร้อนๆ จึงแนะนำให้เหยาะพริกไทยกลิ่นหอมรสเผ็ดลงในชาม เมื่อกินแล้วช่วยให้ร่างกายอุ่นไล่ความชื้นและลดความเย็น หรือช่วยเพิ่มความร้อนในตัวนั่นเอง
พริกไทยจัดเป็นสมุนไพรหรือเครื่องเทศยอดนิยม ที่ชาวโลกรู้จักมานานนับศตวรรษ นอกจากใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสอาหารหรือใช้ดับกลิ่นคาวแล้ว ในตำรายาไทยกล่าวว่า ราก มีรสร้อน แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร เถา รสร้อน แก้อติสาร (ท้องร่วงอย่างแรง) แก้เสมหะในทรวงอก ใบ รสเผ็ดร้อน แก้ลม แก้จุกเสียก แน่น ปวดมวนท้อง ดอก รสเผ็ดร้อน แก้ตาแดง เมล็ด รสเผ็ดร้อน แก้ลมอัมพฤกษ์ แก้ลมลั่นในท้อง บำรุงธาตุ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้เสมหะเฟื่อง แก้มุตกิต แสดงให้เห็นว่าทุกส่วนของพริกไทยนำมาใช้ประโยชน์ได้
เชื่อว่าทุกบ้านจะมีพริกไทยในครัว จึงเป็นสมุนไพรที่ควรนำมาปรุงอาหารเพิ่มธาตุไฟไล่ความเย็นและความชื้นจากฝน นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าแต่ละครอบครัวก็น่าจะมีขิง ติดบ้านหรือติดที่ทำงาน ซึ่งเป็นสมุนไพรหาง่าย สรรพคุณเด่นรับมือกับอากาศเปลี่ยนฤดูฝนเช่นนี้ได้ด้วย
ทางอายุรเวทของอินเดียถือว่า ขิงเป็นเป็นโอสถของพระฤๅษีนามว่า “มหิทธิกรรม” ใช้บริโภคเพื่อ “ระงับตรีโทษ” กล่าวคือ ระงับโทษหรือโรคอันเกิดจากเสมหะ ปิตตะ วาตะ ผิดปกติ สรรพคุณของขิงได้ถ่ายทอดสู่ “พระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด” ของแพทย์แผนไทย ในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่า “ขิงสดนั้น มีรสอันหวาน ร้อน เผ็ด, เหง้า เจริญอากาศธาตุ” อากาศธาตุหมายถึง ธาตุหนึ่งในปัญจมหาภูตรูป (ธาตุ 5) โดยทั่วไปหมายถึง ช่องว่างซึ่งเป็นช่องทางเดินของดิน น้ำ ลม และความร้อน ผ่านทวารทั้ง 9 ของร่างกาย ได้แก่ ตา 2 จมูก 2 หู 2 ปาก 1 ทวารเบา 1 ทวารหนัก 1 แต่ในความหมายที่มากกว่านั้น อากาศธาตุ หมายถึง ช่องทางเดินอันละเอียดของเลือด ลม แร่ธาตุอาหารและกระแสประสาท ฯลฯ ซึ่งจะสามารถไหลเวียนเป็นปกติไม่ติดขัด
และถ้าได้รับการบำรุงหล่อเลี้ยงให้จำเริญขึ้นด้วยสมุนไพรก็ช่วย “จำเริญอากาศธาตุ” ซึ่ง “ขิงสด” เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ดีและช่วยเกี่ยวกับอากาศธาตุนั่นเอง
ลองนึกตามหากการไหลเวียนในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาทและระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ทำงานได้เป็นปกติ ตรีโทษหรืออาการผิดปกติต่างๆ ในร่างกายก็จะไม่บังเกิดขึ้นได้โดยง่าย ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืนนั่นเอง
ขิง มีรสร้อน แต่บางตำราก็ว่าไม่ถึงกับร้อนแค่ “อุ่นๆ ” เหมาะกับการดูแลสุขภาพร่างกายในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพอากาศเย็นชื้น จึงแนะนำให้ปรุงอาหารด้วยขิงเพิ่มสรรพคุณยาที่ใช้มานานนับพันปี และที่นิยมกันทั่วปรุงเป็นน้ำขิง วิธีชงน้ำขิง ที่ได้ประโยชน์ทางยาสูง ปลอดภัยที่สุด ทั้งยังรักษาน้ำมันหอมระเหยที่เป็นตัวยาสำคัญไว้ คือ ใช้ขิงสด ยิ่งแก่ยิ่งดี ครั้งละ 100 กรัม ปอกเปลือก ซอยเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปชงในน้ำอุ่น (ราว 60-70 องศาเซลเซียส) 200 ซีซี ปิดปากถ้วย ตั้งไว้ราว 10-15 นาที กรองขิงออก จิบดื่มได้มีกลิ่นน้ำมันขิงหอมกรุ่น แต่จะแต่งน้ำผึ้งเล็กน้อยให้อร่อยก็ได้
พริกไทยและขิง เป็น 2 สมุนไพรเหมาะกับฤดูฝน ถ้าเพิ่มสมุนไพร ดีปลี อีกชนิด จะเป็น พิกัดยาแพทย์ไทยตำรับหนึ่ง ชื่อ ตรีกฏุก (อ่านว่า ตรีกะตุก หรือ ตรีกะตุกะ (ตรี คือ สาม และ กฏุก แปลว่า เผ็ดร้อน) เป็นตำรับใช้แก้โรคในฤดูฝน เนื่องจากฤดูฝน มักส่งผลต่อธาตุลมในร่างกาย ทำให้เกิดธาตุลมกำเริบ หรือมักจะเจ็บป่วยเพราะลมได้ง่าย จึงใช้ยาที่ช่วยปรับสมดุลให้กับธาตุลมในร่างกาย พิกัดยาตรีกฏุก จึงมีรสเผ็ดร้อน หรือใช้สมุนไพรรสร้อน 3 ชนิด สรรพคุณแก้โรคทางวาตะ เสมหะ ปิตตะ มีฤทธิ์ในการขับลม ช่วยให้เสมหะ และช่วยให้น้ำมูกแห้ง
หากใครเจอลมฝนจนเข้าขั้นป่วยไข้แล้วก็พึ่งยาไทยบรรเทาอาการ แต่ถ้ารู้เท่าทันลมเย็นพาความชื้นมาก็ให้นึกถึงอาหารไทยที่ปรุงด้วยพริกไทยและขิงใกล้ตัวดูแลสุขภาพตลอดพรรษาได้แน่
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022