ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
โดยปกติแล้ว อาการหลงๆ ลืมๆ มักถูกมองในแง่ร้าย เช่น เป็นอาการของคนแก่ หรือเริ่มแก่ ไปจนถึงสร้างความเสียหายในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นลืมกุญแจบ้าน กุญแจรถ ที่จอดรถ เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร. Daniel Schacter แห่งภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Harvard บอกว่า โดยมากแล้ว อาการหลงๆ ลืมๆ มักเกิดจากการขาดความใส่ใจมากกว่าปัญหาเกี่ยวกับความจำ
“ถ้าเราไม่ได้ใส่ใจแต่แรก ว่าวางกุญแจรถไว้ที่ไหน เมื่อถึงเวลาจะใช้ เราก็อาจไม่สามารถเรียกคืนความทรงจำกลับมาได้ง่ายๆ ว่ากุญแจนั้นอยู่ที่ไหน” ศาสตราจารย์ ดร. Daniel Schacter กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร. Kenneth Norman จากมหาวิทยาลัย Princeton เชื่อว่า การใช้สิ่งกระตุ้น เช่น ย้อนกลับไปคิดถึงในช่วงเวลาที่เราวางกุญแจรถ ตอนนั้นหิวหรือไม่ ก็จะช่วยให้พบกุญแจรถได้ง่ายขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร. Mark McDaniel แห่งมหาวิทยาลัย Washington แนะอีกวิธีหนึ่ง คือการเปล่งเสียงออกมาดังๆ เพื่อเตือนตัวเอง เช่น เมื่อวางกุญแจ ก็พูดออกมาดังๆ ว่า “ฉันวางกุญแจไว้ตรงนี้นะ”
ในระยะหลังมานี้ มีนักวิชาการหลายคนออกมา “ล้มทฤษฎี” ว่าอาการหลงๆ ลืมๆ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป ตรงกันข้าม อาจเป็นเรื่องดีเสียอีก ที่คนเราควรมีอาการหลงๆ ลืมๆ ติดตัวเอาไว้บ้าง
ศาสตราจารย์ ดร. Tomás Ryan จากสถาบันประสาทวิทยา Trinity College Dublin ประเทศไอร์แลนด์ ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร. Paul Frankland แห่งมหาวิทยาลัย Toronto ประเทศแคนาดา
ทั้งคู่ชี้ว่า อาการหลงๆ ลืมๆ แบบชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ใช่การสูญเสียความทรงจำ แต่เป็นรูปแบบของกลไกการเรียนรู้ชนิดหนึ่งของสมอง ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์เราดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
ปกติแล้ว ความทรงจำต่างๆ จะถูกเก็บไว้ในกลุ่มเซลล์ประสาทที่เรียกว่า Engram Cells ซึ่งการเรียกความทรงจำเหล่านั้นกลับคืนได้สำเร็จ จำเป็นต้องเกิดการกระตุ้น Engram Cells ที่เก็บความทรงจำ
สภาพแวดล้อมบางประการ ส่งผลต่อการกระตุ้น Engram Cells ที่บางครั้งทำให้หลงๆ ลืมๆ ไปชั่วขณะได้ แต่ความทรงจำที่แท้จริงไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ Engram Cells ไม่ได้ถูกกระตุ้นเท่านั้น
ในบางครั้ง การลืมความทรงจำที่ไม่สำคัญ อาจส่งผลในเชิงบวก ทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการเรียนรู้ที่จะลืมความทรงจำที่ไม่สำคัญบางอย่าง เพื่อรักษาความทรงจำที่สำคัญๆ เอาไว้นั่นเอง
กระบวนการนี้เรียกว่า การลืมตามธรรมชาติ หรือ Natural Forgetting ที่ถือเป็นการเรียนรู้ของสมองอย่างหนึ่ง เป็นการฝึกฝนความสามารถในการเข้าถึง Engram Cells ไปตามสภาพแวดล้อมรอบตัว
ทั้งคู่ชี้ว่า อาการหลงๆ ลืมๆ ป้ำๆ เป๋อๆ ดังกล่าว หาได้เกิดจากการที่สมองสูญเสียความทรงจำไปอย่างถาวร แต่เป็นเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง และวิธีเข้าถึงความทรงจำนั้นๆ ต่างหาก
อาการหลงๆ ลืมๆ ข้อมูลบางอย่าง เป็นเพราะสมองของเราไม่อาจจะเข้าถึงข้อมูลที่เก็บไว้ นั่นคือ การไม่สามารถกระตุ้นให้ Engram Cells ที่เกี่ยวข้องทำงานได้ชั่วคราว เหมือนกับการลืมรหัสเปิดตู้เซฟ
ซึ่งเป็นกลไกปกติของสมองที่คล้ายกับวงจรไฟฟ้าซึ่งมีการจัดระเบียบใหม่อยู่เสมอ เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การหลงลืมเรื่องบางอย่างจึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการเรียนรู้นั่นเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถด้านความจำ ไม่ได้บ่งบอกถึงระดับความฉลาดของมนุษย์ เพราะการที่คนคนหนึ่งจดจำรายละเอียดได้ทุกเรื่อง ไม่สามารถตัดสินได้ว่าคนคนนั้นเป็นคนฉลาดเลย
แปลไทยเป็นไทยก็คือ จะดีกว่าไหม ถ้าเราจดจำเรื่องราวทุกอย่างได้เป็นภาพกว้างๆ หรือเข้าใจภาพรวมของมัน ดีกว่าการมานั่งจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อย ๆ ที่ไม่จำเป็นกับการใช้ชีวิตของเรา
ศาสตราจารย์ ดร. Charan Ranganath เจ้าของหนังสือ Why We Remember? บอกว่า ความทรงจำเป็นมากกว่าคลังข้อมูลที่เก็บรวบรวมอดีต เพราะมันคือแท่งแก้วปริซึมหักเหแสง ที่เราใช้มองโลก
ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Davis สหรัฐอเมริกา ท่านนี้ ได้ทำการวิจัยในเรื่องนี้มาอย่างยาวนานถึง 30 ปี เพื่อสำรวจกระบวนการทางสมองเกี่ยวกับความทรงจำ
ดังนั้น สิ่งที่เราเชื่อกันทั่วไปเกี่ยวกับความทรงจำนั้นไม่ถูกต้อง ความผิดพลาดในการดึงข้อมูลเก่า ถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะทำให้เกิดความยืดหยุ่นทางสติปัญญาที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของเรา
เพราะความทรงจำก่อตัวขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท บางครั้งการเชื่อมต่อบางเส้นทางอาจจะไม่อยู่ในสภาพดีที่สุด แต่มีการเชื่อมต่ออื่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่า
ศาสตราจารย์ ดร. Charan Ranganath อธิบายว่า เมื่อคุณพยายามดึงความทรงจำเก่าๆ ออกมาใช้ การย้อนนึกถึงเรื่องราวเหล่านั้นมักจะมีความไม่สมบูรณ์แบบบางอย่างปะปนอยู่ด้วยเล็กน้อยเสมอ
เมื่อสมองพยายามจะดึงความทรงจำออกมา ผ่านการเปรียบเทียบข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ การเชื่อมต่อเซลล์ประสาทในเส้นทางที่ผิดจะอ่อนแอลง เพื่อไปเสริมความเข้มแข็งของเส้นทางที่ถูกให้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น หลักในการประยุกต์ใช้ความรู้นี้กับชีวิตประจำวันก็คือ เราควรจะท้าทายตนเอง ด้วยการดึงเอาข้อมูลเก่าๆ เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังพยายามเรียนรู้ออกมา ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเรียนรู้ได้มากขึ้น
นี่คือเหตุผลที่การเรียนรู้ด้วยเทคนิคการลงมือทำจริง มีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านหนังสืออย่างเดียว เช่น การเรียนรู้ถนนหนทางต่างๆ ทำให้เราจดจำเส้นทางได้ดีกว่าการใช้ Google Maps อยู่ตลอด
ศาสตราจารย์ ดร. Charan Ranganath แนะนำกลยุทธ์ 3 ข้อ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากอาการหลงๆ ลืมๆ และเพื่อปรับปรุงความทรงจำของเราให้ดีขึ้น ข้อแรกคือ สร้างความโดดเด่นให้ข้อมูล
ความทรงจำที่แจ่มชัดมักจะเชื่อมโยงกับภาพ เสียง และความรู้สึกที่ไม่เหมือนใคร ดังนั้น การมุ่งให้ความสนใจกับรายละเอียดทางประสาทสัมผัส แทนที่จะจดจำเอาไว้เฉยๆ จะช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น
กลยุทธ์ข้อที่สองก็คือ พยายามส่งเสริมการจัดระเบียบความทรงจำให้มีโครงสร้างที่ใหญ่โตมากขึ้นและมีความหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้เทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูลที่คุณต้องการเรียนรู้เข้ากับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว
กลยุทธ์ข้อที่สามคือ การสร้างสัญญาณที่สามารถจะเรียกให้ความทรงจำผุดขึ้นมาได้ในทันที เพราะการค้นหาข้อมูลเก่าในสมองโดยตรงนั้น ทั้งเปลืองแรง และมีข้อผิดพลาดแฝงอยู่เต็มไปหมด
แต่การสร้างสัญญาณ เช่น เพลงที่ทำให้เราย้อนรำลึกถึงอดีตในบางช่วงวัย จะช่วยให้สมองเรียกคืนความทรงจำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณในชีวิตประจำวันอีกมากมายที่เรานำมาใช้ได้
อาทิ เมื่อต้องการจำวันเวลาที่ต้องนำขยะออกมาทิ้ง เราอาจจินตนาการล่วงหน้าว่าได้เดินไปเทขยะ ซึ่งเมื่อถึงเวลาทิ้งขยะจริงมาถึง ร่างกายของเราก็จะทำตามสัญญาณที่สร้างไว้แล้วโดยอัตโนมัติ
กระนั้นก็ดี อย่าลืมว่า ความทรงจำนั้น มีการเคลื่อนไหว และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะทำให้เราต้องกลับมาปรับปรุงข้อมูลความทรงจำให้ทันสมัยอยู่เสมอ
วิธีดูแลความทรงจำอย่างง่ายๆ ก็คือ พยายามออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้มาก ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าคุณจะยังคงมีสุขภาพสมอง และสติปัญญาที่สมบูรณ์ในวัยชรา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022