ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
‘เล็บ’ สำคัญมาก ไม่มี ‘เล็บ’ เมื่อใด ลำบากเมื่อนั้น ลองนึกถึงสภาพนิ้วมือนิ้วเท้าของใครสักคนมีอาการ ‘เล็บเปราะ’ คือ เล็บหักหรือแตกง่าย ‘เล็บขบ’ คือ เล็บงอกหรือทิ่มเข้าไปที่บริเวณผิวหนังปลายเล็บ โดยเฉพาะมุมขอบเล็บหรือด้านข้างเล็บ ทำให้เจ็บปวด บวมแดงรอบๆ เล็บ เกิดเป็นแผลเป็นหนอง ร้ายกว่านั้น คือ ‘เล็บถอด’ คือ เล็บหลุดออกเพราะบาดเจ็บบริเวณเล็บ หรือติดเชื้อรา
ถ้าสภาพเหล่านี้เกิดขึ้นกับ ‘เล็บ’ หรือแผ่นแข็งๆ ที่ปกคลุมบริเวณปลายนิ้วเพื่อป้องกันส่วนปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ผลที่ตามมาคือนิ้วมือหยิบจับทำอะไรไม่สะดวก นิ้วเท้าเจ็บทำให้เจ้าของเท้ารู้สึกเจ็บปวดเวลาเดิน
แม้ ‘เล็บ’ จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่มีความสำคัญไม่ควรมองข้าม ทั้งยังสามารถสื่อความหมายได้หลากหลาย
ดังที่กวีถ่ายทอดไว้ในวรรณคดี บทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” บรรยายท่าทีนางจระเข้วิมาลานั่งแกะเล็บเล่น บอกถึงอารมณ์เขินอาย ทำอะไรไม่ถูก ยามที่ไกรทอง ผัวมนุษย์ตามมางอนง้อ
“เมื่อนั้น วิมาลาสะดุ้งจิตคิดบัดสี
รู้ว่าหม่อมผัวตัวดี ลงมาเมื่อไรนี่ไม่ทันรู้
สาละวนนินทาว่าร้าย ให้สะเทินเขินอายอดสู
แก้เก้อนั่งกัดปูนพลู ก้มแกะเล็บอยู่ไม่เจรจา”
ชั้นเชิงของไกรทองนั้นร้ายนัก
“เมื่อนั้น เจ้าไกรทองย่องเดินเข้าไปหา
ทำเป็นไม่เห็นวิมาลา แหงนเงยเฉยหน้าแล้วว่าไป
ใครนินทาว่าร้ายเราเมื่อกี้ ประเดี๋ยวใจไพล่หนีไปข้างไหน
ถ้าแม้นพบปะไม่ละไว้ จะทำให้คุ้มค่านินทากัน
อ่อนั่งอยู่นี่เจียวสิหว่า หน้าตาคนเก้อนี้ดูขัน
ก้มแกะเล็บเล่นอยู่เช่นนั้น จะหักลันเสียเปล่าไม่เข้าการ”
‘เล็บ’ แม้เป็นอาวุธน้อยนิดแต่มากพิษสง สามารถแสดงความขุ่นข้องหมองใจผ่านการหยิกหรือข่วน บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงนางจินตะหราแค้นเคืองไม่ยอมคืนดี อิเหนาเพียรพยายามอ้อนวอนเพียงใดก็ไม่เป็นผล
” สุดเอยสุดสวาดิ นุชนาฏไม่เห็นหัวอกพี่
รักเจ้าเท่าเทียมดวงชีวี จงปรานีพี่บ้างนางน้องรัก
ตรัสพลางลูบไล้ไขว่คว้า อุยหน่าหยิกเจ็บเล็บจะหัก
ว่าไม่ฟังจริงจริงเจียวนงลักษณ์ นี้ก็หักมือไม้ให้ร้องอึง
เมื่อนั้น จินตะหรายังพิโรธโกรธขึ้ง
คอยสะบัดปัดกรกะบอนกะบึง หยิกทึ้งข่วนซ้ำทำท่วงที”
‘หยิก’ เป็นได้ทั้งเอานิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้บีบเนื้อแล้วบิด หรือใช้เล็บนิ้วหัวแม่มือกับเล็บนิ้วชี้จิกลงไปที่เนื้อแล้วบิด (บางคนอาจใช้เล็บและนิ้วนอกเหนือจากนี้)
ส่วน ‘ข่วน’ คือ ใช้เล็บตะกุยครูดเนื้อ
หยิกด้วยสองนิ้วก็แค่เจ็บ ถ้ามีเล็บร่วมด้วยช่วยกันเป็นได้เลือด ดังจะเห็นได้จากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่พลายแก้วเข้าหานางพิมพิลาไลย นางต่อว่าต่อขานด้วยมารยาหญิงว่าถูกพลายแก้วลวนลามตั้งแต่ที่ไร่ฝ้ายแล้ว ยังจะตามมาข่มเหงกันถึงห้องนอนจนเนื้อตัวเป็นริ้วรอยไปทั่ว
“แต่ที่ไร่เจ้ายังปล้ำทำให้อาย ใยฝ้ายเกลือกคันไปทั้งตัว
มือหนักชักยื้อทำหยาบหยาม งามหน้าน่ารับมาเป็นผัว
สมสู่อยู่บ้านดีฉันกลัว ตัวมิตายก็หลังคงเลือดย้อย
เพียงจับมือถือแขนก็แสนเจ็บ คมเล็บเลือดเหยาะลงเผาะผอย
แต่หยอกกันสารพันเป็นริ้วรอย เชิญถอยไปเสียเถิดไม่ไยดี”
พลายแก้วพยายามใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ปลอบประโลมอย่างอ่อนหวาน
“พี่ผิดพี่ก็มาลุแก่โทษ จงคลายโกรธแม่อย่าถือว่าหยาบหยาม
พี่ชมโฉมโลมลูบด้วยใจงาม ทรามสวาทดิ้นไปไม่ไยดี
รอยเล็บแม่จึงเจ็บด้วยจับต้อง ติดข้องเพราะเจ้าปัดสลัดพี่
ค้อนควักผลักพลิกแล้วหยิกตี ถ้อยทีถูกข่วนแต่ล้วนเล็บ”
ผู้ที่ถูกหยิกถูกข่วนมีทั้งในวรรณคดีและชีวิตจริง ‘เห่ชมสวน’ ใน “กาพย์เห่เรือ” พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีอยู่บทหนึ่งทรงเล่นเสียงและความหมายของคำว่า ‘เล็บนาง’ กับ ‘เล็บน้อง’ ในที่นี้ ‘เล็บนาง’ คือ เล็บมือนาง เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง ดอกแรกบานสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูและแดง มีกลิ่นหอม ส่วน ‘เล็บน้อง’ หมายถึง เล็บมือของสตรีที่พระองค์รัก ดังที่ทรงพรรณนาว่า
“เล็บนางอย่างเล็บน้อง เหลืองดุจทองหาไหนเทียม
ปัดป้องข้องข่วนเรียม เห็นรอยติดคิดไม่หาย”
การหยิกการข่วนมิได้จำกัดเฉพาะหญิงชายที่รักกันเท่านั้น ใครๆ ก็หยิกกันได้ ดังกรณีแม่หยิกลูกสาวจนร้องไห้ ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” หลังจากหัสไชยขอครองคู่กับพระธิดาทั้งสอง เราจะเห็นนางสุวรรณมาลีหมั่นไส้นางสร้อยสุวรรณและจันทร์สุดาที่อิดออดทำเป็นเอียงอาย รีๆ รอๆ ไม่ยอมยกอาหารไปถวายหัสไชยเสียที ทั้งๆ ที่เคยเสวยพร้อมกันเป็นประจำทุกวัน ต้องให้แม่เตือนแล้วเตือนอีก
“แต่กษัตริย์หัสไชยยังไม่เสวย ด้วยเธอเคยคอยพระน้องทั้งสองศรี
ฝ่ายโฉมยงองค์สุวรรณมาลี รู้ท่วงทีหน่อกษัตริย์หัสไชย
ให้พี่น้องสององค์ไปเทียบถวาย นางแอบอายอิดเอื้อนเตือนไม่ไหว
แต่ขยับลับล่อพอพระอภัย เรียกหัสไชยมาเสวยด้วยเคยกัน
พระชนนีตีลูกสาวเล็บยาวหยิก ทั้งสองนางต่างกระซิกกันแสงศัลย์
อยู่เฝ้าพี่ที่เสวยเคยทุกวัน ทำเชิงชั้นหมั่นไส้กระไรเลย”
ยังมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ‘เล็บ’ ฉบับหน้ามาคุยต่อ •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022