จิตร ภูมิศักดิ์ ผ่าน สุภา ศิริมานนท์ ส่งต่อ ‘ชลธิรา’

บทความพิเศษ

 

จิตร ภูมิศักดิ์

ผ่าน สุภา ศิริมานนท์

ส่งต่อ ‘ชลธิรา’

 

เมื่อสำนักพิมพ์ศยามนำเอา “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” มาพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ.2535

ไม่เพียงแต่มีบทความ “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” ผนวกรวมอยู่ด้วย

หากแต่ยังเชิญ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เข้ามาเขียน “คำนำ” ในการตีพิมพ์ครั้งที่ สาม เท่ากับเป็นการเพิ่มรายละเอียดและข้อมูลในทางการเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

นั่นก็คือ

จิตร ภูมิศักดิ์ สร้างงานมากมายขึ้นในคุกลาดยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแปล เช่น “แม่” (แมกซิม กอร์กี้) โคทาน, ความเรียงว่าด้วยศาสนา ตลอดจนการแต่งเพลง เช่น มาร์ชลาดยาว, มาร์ชชาวนาไทย

และที่สำคัญ คือ การสร้างงาน “คลาสสิค” ที่เป็น master pieces ของทั้ง จิตร ภูมิศักดิ์ และวงวิชาการไทย

คือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” (เขียนระหว่าง 2501-2507) “โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” (เขียน 2505)

30 ธันวาคม 2507 จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกปล่อยออกจากคุกลาดยาว อันเป็นช่วงที่สงครามเวียดนามกำลังทวีความรุนแรงขึ้น และรัฐบาลไทยสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐอเมริกา ยินยอมให้ไทยเป็นฐานทัพอเมริกา

อีก 9 เดือนต่อมา จิตร ภูมิศักดิ์ ก็พาความเป็น “ปัญญาชน” ของเขาเข้าป่าเพื่อ “ปฏิวัติ” ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พฤศจิกายน 2507)

อีก 6 เดือนต่อมาเมื่อ 5 พฤษภาคม 2509 “แดดลบเงาจางหาย เขาตายอยู่ข้างทางเกวียน” โดยถูกยิงที่เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร

และความตายที่ “เขตป่ากับนาคร” ทำให้เขาเป็น “อมตะ”

 

เส้นทาง ต้นฉบับ

เร้นลึก ยอกย้อน

ย้อนกลับไปอ่าน “คำนำ” ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในการตีพิมพ์ครั้งที่ 1 “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” เมื่อ พ.ศ.2509

ภาพการเคลื่อนไหวของ “ความเป็นมา” ก็แจ่มชัดใน “ความเป็นมา”

งานชิ้นสุดท้ายนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ฝากไว้กับเพื่อนนักเขียนผู้อาวุโสของเขา คือ สุภา ศิริมานนท์

โดยบอกฝากไว้เพียงสั้นๆ ว่า

“ถ้าหากมีทุนและมีโอกาสก็ขอให้จัดพิมพ์ให้ด้วย รวมทั้งถ้าหากมีตรงไหนบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ก็ขอให้แก้ไขตกเติมให้ด้วย”

คุณสุภา ศิริมานนท์ ได้เก็บต้นฉบับรักษาไว้เป็นอย่างดีเกือบ 10 ปี

และเมื่อบรรยากาศทางการเมืองเริ่มเอื้ออำนวย กอปรทั้งเริ่มมีคนสนใจใฝ่รู้ในงานเขียนของ จิตร ภูมิศักดิ์ มากขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 งานของจิตร จึงถูกเสนอมายังทางมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

โดยมี ชลธิรา กลัดอยู่ เป็นห่วงโซ่เปลาะสำคัญอีกเปลาะหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ปรากฏต่อมหาชน

 

ความสมบูรณ์ ความเป็นมา

ไม่สมบูรณ์ ยังไม่จบ

ทางมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เมื่อได้รับต้นฉบับนี้มาก็ได้ส่งให้ท่านผู้รู้ทางด้านนี้บางท่านตรวจดูต้นฉบับ

และท้ายที่สุดก็ลงความเห็นว่า จักต้องพิมพ์งานชิ้นนี้ออกมา

ทั้งนี้ เพราะความดีเด่นในทางด้านวิชาการของมันเอง ทั้งยังเป็นเอกสารที่เป็นประวัติศาสตร์ไปในตัวของมันด้วย

ฉะนั้น “ตรงไหนบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ก็ขอให้แก้ไขตกเติมให้ด้วย”

จึงเป็นประเด็นที่ต้องผ่านไปในขั้นนี้ เพื่อที่จะได้นำเอาต้นฉบับที่แท้จริงออกสู่มหาชนก่อน และเพื่อจะรักษาความเป็นประวัติศาสตร์ของต้นฉบับที่เป็นประวัติศาสตร์นี้ไว้อย่างครบครัน

ทางมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ต้องขอขอบคุณ คุณแม่ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่กรุณาอนุญาตให้จัดพิมพ์ในครั้งนี้

ทั้งยังต้องขอขอบคุณ คุณสุภา ศิริมานนท์ ที่ได้เก็บรักษาต้นฉบับไว้เป็นอย่างดี และให้เกียรติเฉพาะเจาะจงมาที่มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่จะเป็นผู้จัดพิมพ์

อนึ่ง ยังมีอีกหลายท่านที่ได้ช่วยในการตีพิมพ์ จัดทำบรรณานุกรม

“ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” เป็นงานเขียนที่ยังไม่จบของ จิตร ภูมิศักดิ์ เหมือนกับงานหลายชิ้นของเขา ไม่ว่าจะเป็น “โฉมหน้าศักดินาไทย” หรือเรื่องแปล เช่น “โคทาน” ของ “เปรม จันท์”

และท้ายที่สุดก็คือ งานปฏิวัติของเขาที่ยังไม่จบเหมือนกัน

งานของ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นงานที่ท้าทายต่อผู้คน และนับวันก็จะรอให้มีคนเข้ามาช่วยค้นคว้า คิด เขียน ปฏิบัติ

เพื่อให้สำเร็จลุล่วงไป

 

ภาพต่อ ของต้นฉบับ

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

เมื่อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้รับเกียรติจากสำนักพิมพ์ศยามให้เขียน “คำนำ” ในการตีพิมพ์ “ความเป็นมาของคำสยาม,ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ในปี พ.ศ.2535

ได้ให้ “รายละเอียด” บางประการเพิ่มมากขึ้น

นั่นคือ เขาได้มอบต้นฉบับไว้กับ คุณสุภา ศิริมานนท์ ซึ่งได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีถึง 10 ปี

“ด้วยการผนึกใส่กล่องฝังดินไว้ในสวนที่ฝั่งธนบุรี”

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อมีการ “ขุดค้น” จิตร ภูมิศักดิ์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ผู้บุกเบิกการ “ขุดค้น” ครั้งนั้นคนหนึ่งได้นำมาให้มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ซึ่งมี ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นประธาน และมี ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นรองประธาน ดำเนินการจัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2519

หนังสือเล่มนี้ออกวางตลาดก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียงเล็กน้อย

แม้จะพิมพ์ถึง 5,000 เล่ม แต่ก็มีจำนวนไม่เท่าไรที่ตกถึงมือผู้อ่าน ส่วนใหญ่ถูกยึดและเผาทิ้งทำลายด้วยอำนาจรัฐที่บ้าคลั่งต่อการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสมัย ธานินทร์ กรัยวิเชียร

อนึ่ง ในการพิมพ์ครั้งแรกนั้นก็หาสมบูรณ์ไม่ เพราะมีส่วนหนึ่งที่ขาดหายไป

และแม้จะมีการพิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ 2524 โดยสำนักพิมพ์ดวงกมล และ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้นำภาคผนวกที่เป็นร้อยกรองมาต่อเติมที่ถูกทักท้วงว่ามิใช่ส่วนที่แท้จริงที่ขาดหายไป

จนกระทั่ง เมือง บ่อยาง ผู้ “ขุดค้น” จิตร ภูมิศักดิ์ รุ่นต่อมา ได้นำ “ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม” ที่ค้นพบล่าสุดออกมาตีพิมพ์เมื่อ 2525 นั้นแหละที่ทำให้ทราบว่าส่วนสมบูรณ์ของ master pieces นั้น จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เขียนต่อจนเสร็จในช่วงของ 9 เดือนที่เขาออกจากคุกลาดยาวและเข้าป่าไป

ดังนั้น ในการพิมพ์ครั้งที่ 3 ปี 2533 อันเป็นครบรอบ 60 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จึงถือได้ว่าเป็นการจัดพิมพ์ที่สมบูรณ์ที่สุด

สุภา ศิริมานนท์

ห่วงโซ่ แห่งต้นฉบับ

ชลธิรา กลัดอยู่ สะพานเชื่อม

นอกเหนือจาก จิตร ภูมิศักดิ์ นอกเหนือจาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นอกเหนือจากนามของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี มีนามอยู่ 3 นามที่ไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไป

1 สุภา ศิริมานนท์

1 ชลธิรา กลัดอยู่ 1 ชลธิรา สัตยาวัฒนา

1 เมือง บ่อยาง

สุภา ศิริมานนท์ เคยเป็นบรรณาธิการนิตยสาร “อักษรสาส์น” ชลธิรา กลัดอยู่ เป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชลธิรา สัตยาวัฒนา เคยเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมือง บ่อยาง เป็นนัก “ขุดค้น” จิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งแต่ยังอยู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งอยู่กองบรรณาธิการนิตยสาร “โลกหนังสือ”

3-4 คนนี้มีบทบาทสัมพันธ์กับ จิตร ภูมิศักดิ์ ต่างกรรม ต่างวาระ