33 ปี ชีวิตสีกากี พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (83)

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

บทความพิเศษ | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

 

33 ปี ชีวิตสีกากี

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (83)

 

‘โทรเลข’ สั้นแต่มีความหมาย

วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผมเข้านายร้อยเวรสอบสวนวันสุดท้ายของปี วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2525 จนข้ามไปออกเวรในวันปีใหม่ วันเสาร์ที่ 1 มกราคม 2526

ในรอบปี พ.ศ.2525 ตั้งแต่เริ่มทำงานจนวันสุดท้ายของปีนาน 6 เดือน ทั้งเข้าเวรและทำหน้าที่สืบสวนจับกุมด้วย มีสำนวนการสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบ 120 คดี รายละเอียดดังนี้

คดีหลบหนีเข้าเมือง 54 คดี

คดี พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี 18 คดี

คดียาเสพติด 14 คดี

คดีการพนัน 13 คดี

คดีลักทรัพย์หรือรับของโจร 10 คดี

คดีมีอาวุธปืนและพกพา 3 คดี

นอกนั้นเป็นคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่มีโทษสูงผมก็เริ่มทำคดีด้วยตัวเองตั้งแต่ปีแรก 1 คดี มีคดีฆ่าผู้อื่นโดยมิได้มีเจตนา คดีต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน คดีฉ้อโกงค่าอาหาร คดีนำของหนีภาษี คดีวิ่งราวทรัพย์ อย่างละ 1 คดี

ทั้งหมดสั่งฟ้องผู้ต้องหา 111 คดี สั่งไม่ฟ้อง 3 คดี และงดการสอบสวนเนื่องจากไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดอีก 6 คดี

ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าจะเข้าเวรหรือไม่เข้าเวรแทบจะไม่มีวันไหนที่ว่างเว้นจากการทำหน้าที่ตำรวจเลย มีเรื่องราวเกิดขึ้นทุกเวลานาที มีสำนวนการสอบสวนต้องรับผิดชอบ การควบคุมผู้ต้องหาเป็นตัวเร่ง ให้ต้องรีบทำงานแข่งกับเวลา ต้องเข้าใจก่อนว่า เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา กฎหมายแตกต่างจากปัจจุบันโดยเฉพาะไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย สมัยเก่าใช้เครื่องพิมพ์ดีด ถ้าพิมพ์ผิด ต้องพิมพ์ใหม่ทั้งแผ่น ถึงพิมพ์เร็วแค่ไหนก็สู้คอมพิวเตอร์ยุคนี้ไม่ได้

การควบคุมผู้ต้องหา ที่มีอัตราโทษไม่เกิน 3 ปี หรือเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลแขวง คุมผู้ต้องหาไว้ที่โรงพักไม่เกิน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน ส่วนคดีที่อยู่ในอำนาจศาลจังหวัด เป็นคดีที่มีอัตราโทษเกิน 3 ปี ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ถึง 7 วัน ระเบียบและกฎหมายยังไม่กำหนดให้ต้องมีทนายความเมื่อสอบสวนผู้ต้องหา กรมตำรวจยังขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยและใช้ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวกำหนดในการทำงาน นายตำรวจระดับสารวัตรขึ้นไป ถือเป็นตัวหมายเอง สามารถทำการตรวจค้นได้ด้วยตัวเอง สารวัตรใหญ่เป็นผู้ออกหมายค้น

หมายจับจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานแล้วไปเสนอนายอำเภอเพื่ออนุมัติหมายจับนั้น หากผู้ต้องหาเป็นข้าราชการ ต้องขออนุมัติหมายจับจากผู้ว่าราชการจังหวัด

ทั้งสารวัตรสืบสวนสอบสวนที่อยู่ที่โรงพัก รองผู้กำกับการ หรือผู้กำกับการ ไปจนถึงรองผู้บังคับการ ต่างมาประชุมชี้แจงและตรวจสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน อย่างจริงจังเข้มงวด เป็นช่วงๆ ทั้งชี้แจงข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข และคำนึงถึงความซื่อสัตย์ยุติธรรม

ยังมีการตรวจสำนวนการสอบสวนของจเรตำรวจ ที่พนักงานสอบสวนเกรงกลัวกันมาก จนต้องเตรียมสำนวนการสอบสวนที่รับผิดชอบที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้สมบูรณ์ที่สุด

 

ผมได้เข้านายร้อยเวรสอบสวนมาตลอด จนกระทั่งวันที่ 1 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2526 ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ได้มีคำสั่งให้ผมไปช่วยราชการที่ สภ.อ.ละอุ่น เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อทดลองการปฏิบัติราชการในพื้นที่ที่ห่างไกล และยังมีสถานการณ์ ผกค.แทรกซึมอยู่ในพื้นที่ ให้เรียนรู้รูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากอำเภอเมือง ว่าสภาพเป็นอย่างไร

สภ.อ.ละอุ่น มี ร.ต.อ.สุดใจ ญาณรัตน์ เป็นสารวัตร สภ.อ.ละอุ่น มีพื้นที่ 733 ตารางกิโลเมตร มี 5 ตำบล 24 หมู่บ้าน ประชากร 6,560 คน

สภ.อ.ละอุ่น มีอัตรากำลัง นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร 5 นาย ชั้นประทวน-พลตำรวจ 53 นาย มีสถานีตำรวจในปกครอง 2 สถานี คือ

1. สภ.ต.บางแก้ว มีอัตรากำลัง ชั้นประทวน-พลตำรวจ 19 นาย

2. สภ.ต.บางพระเหนือ มีอัตรากำลัง ชั้นประทวน-พลตำรวจ 18 นาย

พื้นที่ของ สภ.อ.ละอุ่น เป็นป่าและภูเขา สถานีตำรวจตั้งอยู่บนเนิน ไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องใช้น้ำบ่ออาบน้ำ การเป็นอยู่ลำบากนิดหน่อย ไม่มีตลาด มีร้านค้าของภรรยาตำรวจเพียงร้านเดียว

ในยามเช้าจะมีหมอกปกคลุมไปทั่ว จนบางครั้งมองไม่เห็นถนนลาดยางสายเดียวที่ใช้สัญจรผ่านไปมา จะเห็นความสวยงามที่สงบ แต่อยู่นานจะเกิดความรู้สึกเงียบเหงา

ในพื้นที่มีการทำไม้ของผู้ได้สัมปทานป่าไม้จากรัฐ มีหมอนไม้ ที่จะชักลากไม้ซุงมารวมกันไว้ มีทั้งรถแทร็กเตอร์ รถจอหนัง หรือมีช้างชักลาก เพื่อจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมายป่าไม้

 

ในวันหนึ่งมีตำรวจชุดลาดตระเวนของโรงพักไปจับอาวุธปืนยาวเอ็ม 16 ได้ 1 กระบอก กลางป่าลึก บริเวณหมอนไม้ ผมได้ดำเนินคดีไปตามปกติ

ภายหลังผู้บังคับบัญชาได้มีการประสานกันว่าอาวุธปืนกระบอกนี้เป็นของทางราชการที่มอบให้หมอนไม้ไว้ใช้ในการป้องกันโจร และ ผกค. ส่วนเหตุผลที่ลึกกว่านั้น ผมไม่ทราบ จนมีคำสั่งให้ทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องไป

สถานการณ์ในขณะนั้น บรรยายสรุปของ กก.ภ.จว.ระนอง ปี พ.ศ.2526 เขียนไว้ว่า การเคลื่อนไหวของ ผกค.ในพื้นที่ จว.ระนอง ยังคงปรากฏการเคลื่อนไหว และดำรงความมุ่งหมายไม่เปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.กะเปอร์ หลังจากการปฏิบัติกวาดล้างปราบปรามตามแผนยุทธการใต้ร่มเย็นของกองทัพแห่งชาติ ผกค.ซึ่งแตกกระจายหลบหนีออกจากพื้นที่ที่หมาย ได้กลับเข้าไปจัดตั้งฐานที่มั่นขึ้นใหม่

เคลื่อนย้ายกำลังเป็นหน่วยจรยุทธ์ โฆษณา ติดอาวุธออกปฏิบัติการทางการเมืองและการทหารในพื้นที่ อ.กะเปอร์ และ อ.ละอุ่น ในลักษณะปิดลับอย่างต่อเนื่อง

และยังคงยึดถือแนวชนบทล้อมเมืองอยู่ในป่า ยังคอยหาโอกาสและเงื่อนไขเอื้ออำนวยให้ ในการปฏิบัติทางทหาร ต่อกำลังที่ตั้งของฝ่ายเจ้าหน้าที่ และยังคงแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งลักลอบตัดไม้เถื่อนในพื้นที่ตลอดมา

นอกจากนั้น ผกค.ยังได้ปรากฏตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น ลาดตระเวนหาข่าว และหาเสบียงอาหาร ปลุกระดมมวลชน แต่อิทธิพลลดน้อยลง

 

เป็นประสบการณ์ที่ผมมาช่วยราชการ เห็นชีวิตความเป็นอยู่กลางป่าเขา จนผมมีความสนิทคุ้นเคยกับ ร.ต.อ.สุดใจ ตั้งแต่บัดนั้น เพราะนอนบนโรงพักด้วยกันนานถึง 1 เดือน หลายปีต่อมาเมื่อผมย้ายไปอยู่ที่ สภ.อ.หาดใหญ่แล้ว ผมมีประสบการณ์ร่วมกับสารวัตรอีกครั้ง โดยสารวัตรไหว้วานผมให้โทรเลขสั้นๆ 2 ประโยค ข้อความนั้นไม่ซับซ้อน ไม่รู้ว่าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับเรื่องใหญ่โต ทั้งยังช่วยผู้พิพากษาไม่ต้องติดคุก

ผมไม่เคยเล่าเรื่องนี้มาก่อน เป็นเหตุเผอิญจริงๆ

เหตุเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อนายตำรวจหลายนายต้องออกจากราชการ เพราะลูกนักการเมืองกับผู้พิพากษา

ข้อความที่โทรเลข “ผมลืมปืนไว้ในรถท่าน ช่วยเก็บรักษาปืนของผมไว้ด้วย”

จนสุดท้ายก่อนสารวัตรสุดใจเกษียณ ก็กลับมาทำงานในตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่ตำรวจภูธรภาค 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยกัน ในขณะนั้น ผมเป็นผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 8

และไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้กันเลยจนถึงบัดนี้

 

เมื่อครบกำหนดผมกลับมาทำงานที่ สภ.อ.เมืองระนอง คราวนี้ พ.ต.อ.สมศักดิ์ อภิจารี ผกก.ภ.จว.ระนอง มีคำสั่งว่า นอกจากพวกผมจะต้องเข้านายร้อยเวรสอบสวนคดีอาญาจราจรตามปกติแล้ว พวกผมต้องหมุนเวียนกันรับผิดชอบคดีที่น่าสนใจในคดีกลุ่ม 5 ซึ่งพวกผม 4 คน ต้องรับผิดชอบกันคนละเดือนเพื่อเร่งจับกุมให้ได้มากที่สุดหลังจากออกเวรไปแล้ว

1. ร.ต.ต.นพดล เผือกโสมณ รับผิดชอบคดีการพนัน

2. ร.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ รับผิดชอบคดียาเสพติด

3. ร.ต.ต.ชัยรัตน์ ศรีเอี่ยม รับผิดชอบคดีปรามการค้าประเวณีและหลบหนีเข้าเมือง

4. ร.ต.ต.ชัยสิทธิ์ สิทธิชัย รับผิดชอบจับกุมคดีอาวุธปืน อาวุธสงคราม จับกุม พ.ร.บ.จราจร และ พ.ร.บ.รถยนต์

ส่วนสายตรวจแบ่งเขตตรวจออกเป็น 5 เขต มอบหมายให้เพื่อนผม 2 คน คือ ร.ต.ต.อนุชน ชามาตย์ และ ร.ต.ต.นริศ สุนทรโรจน์ คุมเขตตรวจ ดังนี้

เขตตรวจ 1 ร.ต.ต.นริศ สุนทรโรจน์ รับผิดชอบป้อมสนามกีฬาจังหวัดระนอง พร้อมรถจักรยานยนต์ 1 คัน

เขตตรวจ 2 ร.ต.ต.อนุชน ชามาตย์ รับผิดชอบป้อมท่าด่าน พร้อมรถจักรยานยนต์ 1 คัน

เขตตรวจ 3 ร.ต.ต.ถนอม สุวรรณ รับผิดชอบป้อมอาคารพาณิชย์ พร้อมรถจักรยานยนต์ 1 คัน

เขตตรวจ 4 ร.ต.อ.โพธิ์ รุ่งเรือง รับผิดชอบจราจรและสายตรวจเดินเท้า ถนนเรืองราษฎร์

เขตตรวจ 5 ร.ต.ต.สำอางค์ มีจิตร รับผิดชอบ สภ.ต.ปากน้ำระนอง

เมื่อผ่านไป 1 เดือน เข้าสู่เดือนเมษายน 2526

สภ.อ.เมืองระนอง ได้มีโอกาสต้อนรับนายตำรวจน้องใหม่ นรต.รุ่น 36 มาประจำ สภ.อ.เมืองระนอง อีก 4 นาย

1. ว่าที่ ร.ต.ต.ธวัช วังพฤกษ์ รอง สวส.สภ.อ.เมืองระนอง

2. ว่าที่ ร.ต.ต.ปราโมทย์ บุญทับ รอง สวส.สภ.เมืองระนอง

3. ว่าที่ ร.ต.ต.ชาติ งานพิทักษ์ รอง สวส.สภ.อ.เมืองระนอง

4. ว่าที่ ร.ต.ต.วิทยา พูนวิทย์ รอง สวส.สภ.อ.เมืองระนอง

และหมุนเวียนการทำหน้าที่เมื่อออกเวรสอบสวนแล้วดังนี้

1. ร.ต.ต.นพดล คู่กับ ว่าที่ ร.ต.ต.ปราโมทย์ รับผิดชอบคดีอาวุธปืน และจราจร

2. ร.ต.ต.ปวีณ คู่กับ ว่าที่ ร.ต.ต.ธวัช รับผิดชอบคดีการพนัน

3. ร.ต.ต.ชัยรัตน์ คู่กับ ว่าที่ ร.ต.ต.ชาติ รับผิดชอบคดียาเสพติด

4. ร.ต.ต.ชัยสิทธิ์ คู่กับ ว่าที่ ร.ต.ต.วิทยา รับผิดชอบคดีโสเภณี และหลบหนีเข้าเมือง

 

ในเดือนเมษายน 2526 จเรตำรวจ โดย พล.ต.ต.ชุมพล กาญจนพนัง จะมาตรวจสำนวนการสอบสวน ดังนั้น พ.ต.อ.สมศักดิ์ อภิจารี ผกก.ภ.จว.ระนอง จึงเร่งตรวจและชี้แจงข้อบกพร่องของสำนวนการสอบสวนที่ตรวจพบ ดังนี้

1. ขาดประเด็นสำคัญ และไม่สอบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง เช่น พยานคู่ ต้องสอบสวนให้หมด

2. พยานบุคคลไม่ดำเนินการจัดการให้มีการชี้ตัวยืนยันผู้ต้องหา

3. วันเดือนปี และเวลาเกิดเหตุ กลางวัน กลางคืน ถือขอบฟ้าเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่แสงพระอาทิตย์ ถ้าพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นจากขอบฟ้ายังไม่ถือเป็นกลางวัน

4. สถานที่เกิดเหตุ ถ้าเกิดเหตุคาบเกี่ยว ต้องฟ้องตามที่คาบเกี่ยว ระบุไปทุกตำบล

5. ตำหนิพิเศษ สำคัญที่สุด เพื่อยืนยันทรัพย์นั้นได้

6. ใบสำนวนชันสูตรบาดแผล ต้องจัดทำให้ครบทั้งในสำนวนการสอบสวน และสำเนาสำนวนการสอบสวน

7. วันควบคุมผู้ต้องหา ต้องกรอกให้ตรง ครบถ้วน

8. การทำความเห็นส่งสำนวนไปยังอัยการ เป็นเรื่องของหัวหน้าพนักงานสอบสวน หรือรักษาราชการแทน

9. กำชับสำนวนคดีที่ค้างอยู่ที่พนักงานสอบสวน

: สำนวนที่ไม่มีตัวผู้ต้องหาหรือยังจับไม่ได้ เกินกำหนดการสอบสวน

: สำนวนได้ตัวผู้กระทำผิดมาสอบสวน แต่ดำเนินคดีล่าช้าเกินความจำเป็น (กรณีผู้ต้องหาได้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน)

: สำนวนทราบตัวผู้กระทำผิด แต่ยังไม่ดำเนินการให้ได้ตัวมาสอบสวนดำเนินคดี

: สำนวนที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา ในระหว่างที่คดียังไม่ถึงกำหนดต้องทำหนังสือถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือตำรวจในพื้นที่ เร่งติดตามตัวให้ได้ เมื่อครบกำหนดเวลาต้องสอบสวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน