ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลา พิสูจน์ ‘สว.’ (สีน้ำเงิน)

เปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยกับการประชุมวุฒิสภาชุดใหม่ในสัปดาห์แรก

และเป็นการปะทะกันในห้องประชุมครั้งแรกของกลุ่มการเมือง 4 ขั้ว เบื้องหลังการมาของวุฒิสภาชุดใหม่

ประกอบด้วยวุฒิสภาสังกัด “ค่ายสีน้ำเงิน” ที่ครองเสียงมากสุดในสภา

ผลการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาชุดใหม่ เป็นไปตามที่สื่อทุกสำนักรายงาน ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 159 เสียง เลือกนายมงคล สุระสัจจะ ส.ว.จาก จ.บุรีรัมย์ ผู้ใกล้ชิดนายเนวิน ชิดชอบ “ครูใหญ่แห่งพรรคภูมิใจไทย” เป็นประธานสภาสูง แบบไม่ต้องลุ้น

ขณะที่ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ได้คะแนนไป 150 เสียง คือ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.61 กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยนายอนุทินเคยตั้งให้เป็น ประธานคณะที่ปรึกษา รมว.มหาดไทยอีกด้วย

ส่วน รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 คือ นายบุญส่ง น้อยโสภณ ก็ยิ่งได้รับการเทคะแนนให้จาก ส.ว.ค่ายสีน้ำเงินอย่างท่วมท้น เป็นไปตามโผถึง 167 เสียง

ทั้งนี้ แคนดิเดตทั้ง 3 คนต่างเป็นผู้เสนอชื่อกันไปมาก็ยิ่งสะท้อนระดับของเอกภาพของการเมืองเบื้องหลัง

 

เมื่อหันมองใน “มิติอุดมการณ์” ของแคนดิเดตทั้ง 3 คนที่โชว์วิสัยทัศน์ก่อนเลือกจริง ยิ่งสะท้อนชัดใน “ตัวตนแห่งความเป็นพรรคสีน้ำเงิน”

ไม่ว่าจะเป็นนายมงคล ที่ประกาศจะทำวุฒิสภาชุดใหม่ให้เป็น “สภาแห่งการประนอมอำนาจ” เห็นต่างกันก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ หรือรองประธาน คนที่ 1 พล.อ.เกรียงไกร กับการประกาศ “จุดยืนปกป้องสถาบันฯ ด้วยชีวิต” ก็สอดคล้องต้องกันกับความเป็นสีน้ำเงินที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ขณะที่รองประธาน คนที่ 2 ก็ชูเรื่องผลการทำงาน การรับราชการสายตุลาการมาทั้งชีวิต ก็สอดรับกับการพยายาม “ผดุงรักษาไว้ซึ่งระเบียบ”

ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มสีน้ำเงิน ที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนที่สุด เห็นจะเป็น ส.ว.กลุ่มที่คอการเมืองเรียกว่า “กลุ่มสีส้ม” ซึ่งก็แพ้คะแนนขาดลอยไปตามสภาพ

แม้จะพยายามชูการทำงานเพื่อ “การเปลี่ยนแปลง” ก็มิอาจต้านทานพลังความพร้อมเพรียงกันของ “สีน้ำเงิน” ได้ไหว ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส ชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ที่ได้โอกาสโชว์วิชั่นอย่างแหลมคน แบ่งคะแนนสุดสุดได้เพียง 19 คะแนน

ส่วนนายแล ดิลกวิทยารัตน์ อดีตอาจารย์เศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้เพียง 15 คะแนน ในการชิงรองประธาน คนที่ 1 เช่นเดียวกับนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิฯ คนดัง ที่ได้เพียง 18 คะแนน ในการชิงรองประธานสภา คนที่ 2

เป็นอันว่า “ปฏิบัติการ ส.ว.เล็กเปลี่ยนสภา” ทำไม่สำเร็จ ส.ว.กลุ่มใหญ่สีน้ำเงินเขาเก็บเรียบทุกตำแหน่ง

 

ผลจากการเลือกประธาน-รองประธาน ส.ว.ที่ “สีน้ำเงิน” กินรวบ-เก็บเรียบ ในเชิงปริมาณสะท้อนกันว่าช่วงแรกที่วิเคราะห์กันว่า “สายสีน้ำเงิน” มีสมาชิกสภาสูงในมือถึง 120 คน วันนี้อาจจะต้องคิดใหม่

ต้องพูดว่าจากจำนวน 200 คน ส.ว.สายสีน้ำเงินสูงสุดอาจได้ถึง 167 คน และต่ำสุดไม่น่าจะน้อยกว่า 150 คน น่าจะใกล้เคียงความจริงมากกว่า

ถามว่าจำนวน ส.ว.สายสีน้ำเงินที่มากขนาดยึดครองสภาสูงขาดลอย คะแนนทิ้งห่างคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นสายสีแดง หรือสีส้มขาดลอย ผิดจากที่คาดกันไว้หรือไม่ “คำตอบก็คือไม่”

เพราะต้องมองโดยวิเคราะห์ต่อเนื่องจากกระบวนการเลือก ส.ว.ทั้งหมด ก็จะเห็น “จุดหมายของเรื่อง”

การมากันเป็นแพ็ก ตอกย้ำความเป็นหนึ่งเดียว แม้แต่การใส่เสื้อสีเหลืองในวันรายงานตัวและวันประชุม ล้วนสะท้อนนัยยะทางการเมือง สะท้อนศักยภาพระดับสูงในการบริหารเครือข่ายและการจัดการระบบความสัมพันธ์อุปถัมภ์ได้อย่างมี “ประสิทธิภาพที่สุด” ของพรรคสีน้ำเงิน

จึงเป็นคำตอบว่าการเลือกประธานวุฒิสภาชุดนี้ไม่ได้ผิดจากที่คาดหมายแต่อย่างใด

 

ส่วนคำถามว่า ทำไมสายสีน้ำเงินจึงกินรวบ ไม่แบ่งใคร? คำตอบก็ต้องถามกลับว่าจะแบ่งไปเพื่ออะไร? ในสถานการณ์วันนี้ “การกอดอำนาจไว้ให้แน่น” ยังไงก็อุ่นใจที่สุด เรื่องภาพลักษณ์เดี๋ยวค่อยไปว่ากันทีหลังได้

ที่น่าสนใจคือ การเมืองหลังจาก “กลุ่มสีน้ำเงินครองสภาสูง” ต่อไปนี้ต่างหาก จะเป็นอย่างไร

ระหว่างที่คำถามนี้กำลังเวียนวนอยู่ในการเมืองไทย ก็ปรากฏข่าวสำคัญระดับ “นิวดีล”

วันหยุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอิทธิพลแห่งพรรคเพื่อไทย พร้อมครอบครัว ยกคณะไปเยือนที่แรนโช ชาญวีร์ รีสอร์ท แอนด์ คันทรีคลับ เขาใหญ่ รีสอร์ตหรูของนายอนุทิน ก่อนไปร่วมก๊วนตีกอล์ฟ บิ๊กข้าราชการ ทหาร บิ๊กธุรกิจระดับประเทศ ปรากฏภาพถ่ายว่อนโซเชียลราวกับจงใจ

การขยับของนายทักษิณครั้งนี้สะท้อนความสำคัญทางการเมืองระดับสูง

เพราะผลจากการที่พรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลที่มีคะแนนลำดับ 2 ขณะที่การมาของ “วุฒิสภา” ชุดใหม่ ก็ถูกมองว่าเสียงส่วนใหญ่ของสภาบน มีความใกล้ชิดอย่างยิ่ง กับระดับนำของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็น “ครูใหญ่เนวิน” ไม่ว่าจะเป็น “หัวหน้าอนุทิน”

ภาพนายเนวินที่รุดไปตรวจความเรียบร้อยอาคาร M-JET สนามบินดอนเมือง เพื่อรับนายทักษิณ เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อน คือรูปธรรมความสัมพันธ์

ตอกย้ำด้วยภาพการไปเยือนโรงแรมหรูของนายอนุทินในสัปดาห์นี้ ก็คือตัวอย่างล่าสุดสะท้อนรูปธรรมความสัมพันธ์

 

ต้องยอมรับว่าวันนี้ อำนาจต่อรองทางการเมืองของภูมิใจไทยอยู่ในระดับสูง

แม้สภาบนชุดใหม่จะไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แล้วแบบ 250 ส.ว.ลากตั้งชุดก่อน แต่ก็ยังมีอำนาจในการวีโต้กฎหมาย ถ่วงเวลากฎหมาย แตะเบรกการแต่งตั้งองค์กรอิสระ หากขัดแย้งกับฝ่ายบริหารก็มีอำนาจโดยตรงในการยื่นถอดถอนผ่านกระบวนการที่รวดเร็ว

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมทิศทางนโยบายของพรรคเพื่อไทยดูเปลี่ยนไปโดยเฉพาะเรื่องกัญชา

ไม่ว่าจะเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนล้วนเคยวิจารณ์ ไปจนกระทั่งประณามนโยบายกัญชาบนเวทีหาเสียงเลือกตั้ง

แม้แต่หลังจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้วสำเร็จ เพื่อไทยก็ยังเดินหน้าเรื่องนี้ ล่าสุด คือการขยับของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ที่ออกแอ๊กชั่นขึงขัง พร้อมๆ กับนายเศรษฐา เพื่อนำ “กัญชา” กลับไปเป็นบัญชียาเสพติด ตามเสียงเรียกร้องของประชาชน

แต่สุดท้ายก็ต้องแพ้ต่อการกดดันของภูมิใจไทย ล่าสุด รัฐบาลสั่งถอย ไม่นำกัญชากลับเข้าเป็นบัญชียาเสพติด และให้ออกเป็น พ.ร.บ.ควบคุมแทน ซึ่งก็คงใช้เวลาอีกนาน

นี่คือรูปธรรมล่าสุดของอำนาจต่อรองทางการเมืองระดับสูงของพรรคภูมิใจไทย ที่เล่นเอาเพื่อไทยถูกแซวยับทั้งบ้านเมือง สื่อต่างชาติงงเป็นไก่ตาแตก จับประเด็นไม่ถูก ไม่รู้ประเทศไทยจะเอายังไงกับกัญชากันแน่

 

ต้องยอมรับว่า ผลจากการเมืองหลังวุฒิสภาชุดใหม่ ทำให้ดุลอำนาจการเมืองไทยเปลี่ยนไปสู่เกมการเมืองแบบไม่มีใครกินรวบ ซึ่งหากมองจากเงื่อนไขอดีตที่ผ่านมา ก็ยอมรับว่าอย่างน้อยก็ “ดีกว่าเดิม”

แน่นอนในมิติการเลือกตั้ง เป็นสถานการณ์ของการที่บ้านใหญ่ นักการเมืองระบบเครือข่ายอุปถัมภ์จับมือกันได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสู้กับการเมืองใหม่-การเมืองกระแส ในการเลือกตั้งอีก 3 ปีข้างหน้า

แต่ในมิติการบริหารประเทศ นโยบายเศรษฐกิจ การเมืองหลายอย่างวันนี้ ก็ต้องมีการต่อรอง ประนอมอำนาจกัน

เมื่อ “สีแดง” คุมสภาล่าง “สีน้ำเงิน” คุมสภาบน โจทย์สำคัญของการเมืองวันนี้คือทิศทางการเปลี่ยนแปลงประเทศจะเป็นอย่างไร

จะคิดถึงประโยชน์ระยะสั้น ยุทธศาสตร์ชนะทางการเมือง การชนะการเลือกตั้งระยะสั้น หรือประโยชน์ระยะยาว ผลักดันวาระประชาธิปไตยที่สำคัญ

 

ประเทศไทยถูกแช่แข็งทางการเมืองจาก 250 ส.ว.ชุดเดิมมานานมาก

5 ปีที่ผ่านมาของการพยายามรักษาระเบียบวิธีคิดและมรดกของ คสช.ภายใต้สภาบนจากลากตั้งที่ไม่รับฟังเสียงประชาชน

เห็นชัดแล้วว่าบ้านเมือง “ตึงเครียด” เพียงใด

ถึงเวลาที่จะลดความ “ตึงเครียด” ทางการเมืองลงแล้ว

สิ่งเดียวที่จะลบการสบประมาทและความศรัทธาทางการเมืองให้กลับมาได้บ้าง คือ “ผลงาน”

ต่อจากนี้ “เวลา” จะเป็น “เครื่องพิสูจน์”