อุปมาเรื่องถ้ำของเพลโต

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

อุปมาเรื่องถ้ำของเพลโต

 

Republic เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในโลกปรัชญาตะวันตก ผู้แต่งคือเพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่ ใช้วิธีการบอกเล่าผ่านปากของ “โสกราตีส” (Socrates) ผู้เป็นอาจารย์ของเพลโต ด้วยบทสนทนาระหว่างโสกราตีสกับผู้คนต่างๆ ภายใต้ประเด็นถกเถียงมากมาย

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 10 บท แต่ละบทต่อเนื่องกันไปอย่างไม่ขาดช่วง

สำหรับภาคภาษาไทยนั้นมี 2 สำนวน สำนวนแรกใช้ชื่อว่า “อุตมรัฐ” เป็นฝีมือการแปลจากภาษาอังกฤษของศาสตราจารย์กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน อดีตหัวหน้าภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันล่วงลับไปแล้ว

ส่วนสำนวนล่าสุดเป็นของเวธัส โพธารามิก แปลตรงจากภาษากรีก โดยใช้ชื่อทับศัพท์ตามที่คุ้นเคยกันคือคำว่า “รีพับลิก”

ในบท 7 มีหัวข้อหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากคือ “อุปมาเรื่องถ้ำ” ในภาษาไทยมีคนใช้คำอื่นอีก เช่น “อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ” หรือ “อุทาหรณ์เรื่องถ้ำ” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันนั่นคือ “Allegory of the Cave”

เรื่องเล่านี้เป็นนิทานเปรียบเทียบ บอกเล่าชีวิตของคนที่เคยอยู่ในถ้ำแล้วได้รับอิสรภาพออกมาพบกับความจริงภายนอกแล้วพบว่า “ความจริง” ไม่เหมือนกับ “สิ่งที่เคยเห็น”

พูดง่ายๆ คือ “ตาสว่าง” นั่นเอง

 

เรื่องราวนี้อยู่ในบทสนทนาช่วงที่โสกราตีสเล่าให้ “กลาวคอน” (Glaucon) ฟัง

ดังที่บรรยายไว้ในสำนวนแปลของเวธัสว่า

“เรามาสร้างภาพเหมือนธรรมชาติของพวกเรา เมื่อได้รับการศึกษา และเมื่อขาดการศึกษากันดีกว่า พิจารณาสถานการณ์ดังต่อไปนี้ดูนะ ลองจินตนาการถึงมนุษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ในห้องใต้ดิน โดยห้องนี้มีลักษณะเหมือนถ้ำ มีทางเข้าซึ่งเชื่อมด้วยทางเดินยาวออกไปเปิดสู่แสงสว่างด้านนอกตัวถ้ำ พวกเขาอาศัยอยู่ในนั้นมาตั้งแต่เด็ก โดยทั้งขาและคอต่างถูกตีตรวนตรึงไว้กับที่ เพื่อให้พวกเขามองเห็นได้เพียงสิ่งซึ่งอยู่เบื้องหน้าเท่านั้น พวกเขาไม่สามารถหันศีรษะไปทางใดได้เนื่องจากคอถูกล่ามตรึงเอาไว้ แสงสว่างเพียงอย่างเดียวของพวกเขามาจากไฟกองหนึ่งซึ่งลุกไหม้อยู่ไกลๆ เหนือพวกเขาขึ้นไปทางด้านหลัง นอกจากนั้นยังปรากฏทางเดินสายหนึ่งตั้งอยู่บนเนินสูงที่คั่นกลางระหว่างนักโทษกับกองไฟ บนเนินนั้นมีแนวกำแพงเตี้ยๆ เลียบทางเดิน เหมือนฉากบังตาแบบที่คนเชิดหุ่นใช้บดบังด้านหน้ามวลมนุษย์และแสดงหุ่นเหนือฉากนั้น”

เมื่อโสกราตีสอธิบายให้กลาวคอนเห็นสถานการณ์ของเรื่องในเบื้องต้นแล้ว เขาก็เล่าต่อว่า

“เลียบกำแพงเตี้ยนี้มีมนุษย์กลุ่มหนึ่ง พากันถือสิ่งของทำมือต่างๆ แทบทุกชนิด ทั้งรูปสลักของคนและของสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย บ้างก็ทำจากหิน บ้างก็จากไม้ บ้างก็ทำจากวัสดุอื่นๆ ชูไว้เหนือกำแพงเพื่อฉายเงาของสิ่งเหล่านี้ และเจ้าคงคาดเดาได้อยู่แล้วใช่ไหมว่า ผู้ถือสิ่งของเหล่านั้น บางคนยังเปล่งเสียงต่างๆ ออกมาด้วย ขณะคนอื่นๆ เงียบไว้”

เมื่อสนทนามาถึงตรงนี้ โสกราตีสกับกลาวคอนก็สรุปตรงกันว่านักโทษทุกคนต้องเข้าใจว่า “เงา” ที่เห็นคือ “ความจริง” และเห็นพ้องต้องกันว่าเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเงาตรงหน้า

 

โสกราตีสเล่าต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากมีนักโทษคนหนึ่งหลุดพ้นจากพันธนาการแล้วได้รับอิสรภาพออกไปพบกับสิ่งต่างๆ ที่เป็น “ต้นตอ” ของเงาและเสียงที่เกิดขึ้น และเขาจะคิดอย่างไรเมื่อได้ออกจากถ้ำไปสู่โลกภายนอกที่มีแสงสว่างเจิดจ้า

ดังข้อความในรีพับลิกที่บรรยายไว้ว่า

“เจ้าลองนึกถึงนักโทษคนหนึ่ง ซึ่งได้รับการปล่อยตัวอย่างกะทันหัน และโดนบีบบังคับให้ต้องลุกขึ้นยืน เอี้ยวคอไปรอบๆ ก้าวเท้า และแหงนหน้าขึ้นมองแสงสว่าง เขาย่อมเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ดวงตาของเขาจะพร่ามัวจนมิอาจสังเกตเห็นสิ่งต่างๆ อันเป็นต้นแบบแห่งเงาของสิ่งซึ่งเขาเฝ้ามองมาก่อนหน้านั้นได้”

โสกราตีสหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะแยกว่า “ความจริง” หรือ “ความเป็นจริง” (reality) นั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกับ “สิ่งที่ปรากฏ” (appearance)

ซึ่งข้อความตอนนี้กล่าวว่า

“เขาจะกล่าวอย่างไร หากมีใครบางคนบอกเขาว่า สิ่งที่เขาได้มองเห็นมาก่อนหน้านั้น มีค่าเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ เมื่อเทียบกับสิ่งต่างๆ ตามที่ เป็น ซึ่งขณะนี้ เขาอยู่ใกล้มันมากขึ้นอีกก้าวหนึ่งแล้ว เขาอยู่ใกล้ การเป็น ของสิ่งต่างๆ มากขึ้น และเขาก็มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากขึ้น”

นักโทษที่หลุดพ้นออกมาจากถ้ำจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวช่วงแรก ตาของเขาไม่อาจสู้แสงได้เมื่อออกมาภายนอก แต่แล้วก็จะเริ่มปรับตัวแล้วมองสิ่งต่างๆ ได้จนกระทั่งสามารถแหงนหน้ามองฟ้าและเห็นดวงอาทิตย์ที่เป็นที่มาของแสงสว่าง เป็นต้นตอของแสงที่ส่องไปถึงสิ่งทั้งปวงรอบตัว

ความจริงนอกถ้ำเป็นความจริงจริงๆ ในขณะที่เงาภายในถ้ำนั้นเป็นแค่สิ่งสะท้อนที่มาจากความจริงจริงๆ เท่านั้น

เงาจึงไม่ใช่ความจริงแท้ แต่เป็นความลวงที่เลียนแบบมาจากความจริงต้นทาง

เมื่อนักโทษคนนี้รู้ความจริงแล้วเขาก็อยากให้นักโทษคนอื่นๆ ในถ้ำได้รู้ความจริงด้วย ทว่า เมื่อหวนกลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง เขาก็พบกับอุปสรรค

 

อุปสรรคอย่างแรกก็คือตาของนักโทษที่กลับเข้าไปในถ้ำจะไม่สามารถมองเห็นเงาในถ้ำได้เหมือนเดิม แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสายตาของเขาเริ่มปรับตัวได้ เขาจะเห็นสิ่งต่างๆ ในถ้ำกระจ่างกว่าที่เคยเห็นมา เนื่องจากเขารู้แล้วว่าความจริงนอกถ้ำอันเป็นที่มาของเงาในถ้ำนั้นเป็นอย่างไร

และอุปสรรคอย่างที่สองคือเมื่อเขาพยายามอธิบายให้นักโทษในถ้ำเข้าใจความจริงว่าคืออะไร แต่ก็กลับกลายเป็นว่าไม่มีใครเชื่อ ยิ่งเขาพยายามเปลี่ยนความเชื่อของพวกเขามากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีแรงต้านมากขึ้น

การไปเปลี่ยนความเชื่อฝังหัวของคนเหล่านั้นนอกจากไม่เป็นผลแล้ว ยังนำภัยอันตรายมาสู่ตัวด้วย เพราะจะยิ่งทำให้คนในถ้ำไม่พอใจจนกระทั่งหันมาฆ่าเขาได้

อุปมาเรื่องถ้ำของเพลโตมีชื่อเสียงมากในฐานะที่เป็นการเปิดประเด็นทางปรัชญาในเรื่องความจริงแท้ที่เหนือกว่าข้อเท็จจริงที่ได้รับจากประสาทสัมผัส อันนำไปสู่การนำเสนอทฤษฎีเรื่อง “โลกของแบบ” (theory of forms) และ “แบบแห่งความดี” (Form of the Good) ซึ่งเป็นความจริงสูงสุดหรือความจริงแท้ในอุดมคติ อันมีความคงที่ถาวร ไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง ต่างกับความจริงที่ปรากฏซึ่งไม่แน่นอนและผันแปรได้ จึงไม่ใช่สัจธรรมหรือความรู้ที่มีค่าสูงสุด

ผลจากฐานคิดนี้นำไปสู่การออกแบบการศึกษาที่ดีตามความคิดของเพลโตด้วย

 

สําหรับยุคปัจจุบัน อุปมาเรื่องถ้ำของเพลโตถูกหยิบยกมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ในภาพยนตร์ นวนิยาย ซีรีส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในเชิงการเมืองและสังคมอีกด้วย เนื่องจากในพื้นที่ทางสังคมและการเมืองนั้นมีลักษณะที่ขัดแย้งระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่ปรากฏด้วยเช่นกัน

การที่ใครบางคนค้นพบว่าความเชื่อเดิมของตนแท้ที่จริงแล้วเป็นภาพลวงตา หรือเป็นสิ่งที่ถูกหลอกให้เชื่อตามกันมาจากการปิดหูปิดตาและป้อนข้อมูลด้านเดียวมาตลอด

ครั้นจะอธิบายให้คนในถ้ำฟังก็ไม่สำเร็จ ซ้ำร้ายยังเป็นภัยอันตรายอีกด้วย เพราะนอกจากพวกเขาจะนึกไม่ออกและไม่สามารถเข้าใจได้แล้ว

พวกเขาก็ยังโกรธแค้นและหันมาทำร้ายเอาได้ง่ายๆ