ล่าหมื่นชื่อแก้ พ.ร.บ.ตำรวจ 6 ประเด็นสาระสำคัญที่ต้องรื้อ สกัดการเมืองล้วงลูกได้จริงหรือ

บทความโล่เงิน

 

ล่าหมื่นชื่อแก้ พ.ร.บ.ตำรวจ

6 ประเด็นสาระสำคัญที่ต้องรื้อ

สกัดการเมืองล้วงลูกได้จริงหรือ

 

ดูเหมือนประเด็น “ศึกบิ๊กสีกากี” ระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่มีความขัดแย้งแล้วต่างลากไส้กันผ่านสงครามตัวแทน

จนชาวบ้านร้านช่องสดับรับฟังข่าวรู้สึกว่าเข้าอีหรอบไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ “ข้าชั่ว เอ็งเลว” หรือไม่

กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมตำรวจสีเทา เป็นนิ้วร้ายปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ

จนผู้นำองค์กรหลายคนเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ถือโอกาส “นิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้น” แต่ปรากฏว่ายังมีให้เห็นเป็นเรื่องซ้ำซาก

จนมีการแซวกันว่าตอนนี้ทั้งมือทั้งเท้ากุดหมดเกลี้ยง

แล้วยังมีปัญหาสะสมกัดกินระบบยุติธรรมไทยอยู่เงียบๆ คือ วิกฤตพนักงานสอบสวนที่มีความขาดแคลน

จึงเป็นที่มาการเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจอีกครั้ง

 

ส่งผลให้อดีตตำรวจและตำรวจ นำโดย พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ, พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ, พล.ต.อ.ศักดา เตชะเกรียงไกร นายกสมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ, พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ขึ้น

โดยมุ่งจะใช้กลไกการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวบรวมรายชื่อประชาชนให้ได้ครบ 10,000 คน เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

ต่อมา พล.ต.อ.วินัย ในฐานะผู้แทนคณะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ได้ลงนามในหนังสือยื่นถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 22 คน

ขอยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ …) พ.ศ….

 

สาระสำคัญของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ มีดังนี้

1. ให้ตำรวจเลือกตั้งประธาน ก.ตร. โดยร่างฉบับนี้เสนอแก้ไขมาตรา 22 จากเดิมที่ให้นายกรัฐมนตรีจากฝ่ายการเมืองเป็นประธาน ก.ตร. เปลี่ยนเป็นให้ตำแหน่งที่มาจากอดีตตำรวจที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารอง ผบ.ตร. มาจากการเลือกตั้งของนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรตั้งแต่ระดับรอง ผกก.ขึ้นไป จากเดิมที่ให้รอง ผบ.ตร. 5 คนเป็นกรรมการ ก็เปลี่ยนเป็นให้จเรตํารวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร.ที่มีอาวุโสสูงสุด 2 อันดับแรกรวมกันไม่เกิน 3 คนเป็นกรรมการ

2. จัดตั้งสํานักงานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตํารวจ (ก.พ.ค.ตร.) จากเดิมที่มี ก.พ.ค.ตร.อยู่แล้วในมาตรา 33 ก็ให้เพิ่มหน่วยงานที่เป็นสำนักงานขึ้นมา มีเจ้าหน้าที่มาทําหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ บริหารงบประมาณ สนับสนุนด้านวิชาการและเทคโนโลยี

3. เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตํารวจ (ก.ร.ตร.) จากเดิมที่คณะกรรมการนี้มีที่มาจากฝ่ายอื่น โดยนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลที่เสนอโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตุลาการ คณะกรรมการอัยการ สภาทนายความ รวมทั้งอดีตตำรวจ และตัวแทนสภาองค์กรชุมชน เปลี่ยนเป็นวิธีการคัดเลือกแบบเดียวกันกับ ก.พ.ค.ตร. มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการที่มีประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน มีรองประธานศาลฎีกา มีผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ตร. และเลขาธิการ ก.พ.

4. คืนแท่งพนักงานสอบสวน คือการปรับปรุงระบบการเลื่อนขั้นของตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เลื่อนไหลเจริญเติบโตในระบบงานสืบสวนสอบสวนไปจนถึงระดับ ผบก. ในการประเมินพิจารณาเลื่อนตําแหน่งพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ให้นําปริมาณและคุณภาพของสํานวนการสอบสวนมาประกอบการพิจารณาด้วย

5. คุ้มครองความเป็นอิสระของตำรวจ โดยเพิ่มมาตรา 150/1 ว่า ให้ ก.ตร.ออกมาตรการคุ้มครองข้าราชการตํารวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงําใดๆ

6.การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในระดับสารวัตรถึงรอง ผบก.ให้ยึดหลักอาวุโส 50%

ถ้าใครสนใจสามารถร่วมลงชื่อได้ในเว็บไซต์ไอลอว์

 

พล.ต.อ.วินัย หนึ่งในผู้ขับเคลื่อน มั่นใจว่าจะมีการรณรงค์ให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ 30,000-40,000 รายชื่อ

เฉพาะตำรวจด้วยกันน่าจะเกิน 10,000 รายชื่อแล้ว

หลังจากนั้นจะยื่นเรื่องขอเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเพื่อนำรายชื่อมอบให้เพื่อบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

พล.ต.อ.วินัยทิ้งปมไว้ว่า “การแก้ไขกฎหมายอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ต้องมีการคัดเลือกผู้นำหน่วยที่เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ และแก้พฤติกรรมนายตำรวจที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งแก้ความขาดแคลนของโรงพักด้วย”

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นถึง 1 ในประเด็นที่ผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ นั่นคือ ไม่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก.ตร. ว่า ถ้าจะแก้ประเด็นนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องแก้ ยิ่งการแก้เพื่อป้องกันการแทรกแซงยังมีอีกหลายจุด ไม่ใช่แก้เฉพาะตำแหน่งประธาน ก.ตร.ที่เดียว และคนเราถ้าจะแทรกแซง ก็แทรกแซงได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเอาใครมาเป็นประธาน ก.ตร.

นายวิษณุกล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่หลายฝ่ายมองยังไม่ครอบคลุมจนนำมาสู่การผลักดันให้แก้ไขอีกครั้งว่า ขณะนั้นเมื่อเรื่องเข้าไปในสภาแล้วมีการแก้ไขกันไปเยอะแล้ว

“ใช้ของเดิมที่ประกาศใช้อยู่ตอนนี้ แล้วแก้บางจุด โดยเฉพาะจุดที่เกิดการประนีประนอมกันในสภาขณะนั้นเพื่อให้ผ่านไป ให้กลับไปทบทวนจุดเหล่านั้น ส่วนประเด็นแก้เยอะมาก อีกเกือบ 10 ประเด็น” ที่ปรึกษาของนายกฯ ชี้

สำคัญคือตำรวจทุกนายต้องตระหนักว่าการฝ่าวิกฤตองค์กรครั้งนี้ ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของผู้กำหนดชะตากรรมได้