เปิดประวัติ ‘คามาลา แฮร์ริส’ รับไม้ต่อ ‘ไบเดน’ ลุยศึกเลือกตั้งสหรัฐ

หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐประกาศถอนตัวจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในฐานะตัวแทนพรรคเดโมแครต และหันไปสนับสนุนนางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีของเขาให้เป็นตัวแทนพรรคเพื่อชิงชัยกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐผู้เป็นตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน

ทำให้สปอตไลต์ฉายไปที่ตัวของนางแฮร์ริสทันทีแม้ว่าเธอจะยังไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการ และต้องรอกันจนถึงการประชุมใหญ่ของพรรคในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

นี่จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำความรู้จักกับแฮร์ริสในเส้นทางจากผู้หญิงธรรมดาสู่การเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ

 

คามาลา เดวี แฮร์ริส เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ปี 1964 ที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย

พ่อของเธอ นายโดนัลด์ แฮร์ริส เป็นชาวจาเมกาที่อพยพมาอยู่ในประเทศสหรัฐเพื่อศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

ส่วนแม่ของเธอคือนางชยามาลา โกปาลัน แฮร์ริส เป็นผู้อพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาเอกในสาขาโภชนาการและต่อมไร้ท่อวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

ทั้งสองได้พบรักกันที่มหาวิทยาลัยระหว่างเข้าร่วมขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมือง

แต่ต่อมาได้หย่าร้างกันเมื่อตอนที่นางแฮร์ริสและน้องสาวยังเด็ก

นางแฮร์ริสศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 1982 และจบการศึกษาในชั้นปริญญาตรีในคณะรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์

ก่อนที่จะกลับมาศึกษาในคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เฮสติงส์ และดำรงตำแหน่งเป็นรองอัยการเขตของอลาเมด้าเคาน์ตี้ของเมืองโอ๊กแลนด์อยู่นาน 3 ปี

ก่อนที่จะได้รับเลือกให้เป็นอัยการเขตของนครซานฟรานซิสโกในปี 2004

หน้าที่การงานของเธอเติบโตขึ้นนับจากนั้นจนเป็นชาวอเมริกันผิวดำ ผู้หญิง และเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย

ซึ่งการดำรงตำแหน่งนี้เองทำให้เธอได้รู้จักกับนายโบ ไบเดน ลูกชายของนายโจ ไบเดน ซึ่งขณะนั้นโบดำรงตำแหน่งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐเดลาแวร์

 

เส้นทางสายการเมืองของแฮร์ริสเริ่มต้นขึ้นจากการลงสมัครเป็นวุฒิสมาชิกจากรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2015 โดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา และรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้การรับรองเธอในการลงชิงตำแหน่ง

จนท้ายที่สุดเธอก็ได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเธอเป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกของรัฐและเป็นคนที่สองในประวัติศาสตร์สหรัฐที่ได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในปี 2019 เธอได้ลงหาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งในการดีเบตขั้นต้น นางแฮร์ริสต้องเจอกับรองประธานาธิบดีไบเดน

แต่ไบเดนกล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นว่าเขาประทับใจในแนวทางการดวลดีเบตของแฮร์ริสมาก ทำให้ไบเดนตัดสินใจเลือกแฮร์ริสลงชิงชัยเลือกตั้งในฐานะรองประธานาธิบดีของเขา

ท้ายที่สุดในวันที่ 20 มกราคม ปี 2021 แฮร์ริสได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่เป็นผู้หญิง คนผิวดำ และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียใต้

 

แฮร์ริสมีจุดยืนคัดค้านโทษประหารชีวิตมาตลอดตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งอัยการ เธอให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสะอาดมาโดยตลอดอาชีพการทำงาน

รองประธานาธิบดีแฮร์ริสยังสนับสนุนการขยายการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งและพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ต่างจากทรัมป์ที่มีจุดยืนสนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลและโจมตีพลังงานหมุนเวียน

แฮร์ริสยังเคยเตือนถึงภัยคุกคามจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ อีกด้วย

นักวิเคราะห์ยังคาดว่าแฮร์ริสจะยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศไม่ต่างจากไบเดนมากนักในเรื่องสงครามยูเครน ความสัมพันธ์กับจีนและอิหร่าน แต่อาจมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นกับอิสราเอล

คงเห็นแล้วว่าแฮร์ริสมีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยและเป็นตัวเต็งในการถูกเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังมาแรงสุดสุด

 

การเปลี่ยนตัวจากไบเดนวัย 81 ปีเป็นนางแฮร์ริสวัย 59 ปี ก็ถือเป็นการแก้เกมเพื่อลบข้อครหาเรื่องอายุของไบเดน

รวมถึงเป็นการเปลี่ยนตัวเอาผู้สมัครที่สดใหม่กว่าลงสนามสู้กับคู่แข่งสุดหินอย่างทรัมป์

แต่เธอก็ต้องเจองานหนักอยู่ไม่น้อยเมื่อเธอมีเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งเพียง 4 เดือนเท่านั้น

แฮร์ริสจะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สูสีกับทรัมป์หรือแม้แต่เบียดเอาชนะทรัมป์ในการเลือกตั้งได้หรือไม่

เวลาเท่านั้นที่จะตอบได้