ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
ไทม์เอาต์ | จริงตนาการ
โอลิมปิกแบบรักษ์โลก
ความท้าทายของปารีส 2024
มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับการโปรโมตในมุมต่างๆ จากเจ้าภาพและสื่อทั่วโลก เรียกได้ว่าฝรั่งเศสลงลึกในรายละเอียดทุกอย่างของการแข่งขันครั้งนี้แบบที่หลายคนร้องว้าว ทั้งพิธีเปิดในแม่น้ำแซน สนามแข่งขันที่ใช้สถานที่สำคัญของประเทศเป็นสังเวียน สีสันต่างๆ ที่จัดเตรียมเอาไว้รับแขกบ้านแขกเมืองจากทั่วโลก
อีกเรื่องที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) กำชับอย่างเข้มข้น คือ การเป็นโอลิมปิกที่รักษ์โลกมากที่สุด ปล่อยคาร์บอนทำลายชั้นบรรยากาศของโลกให้น้อยที่สุด ถึงขั้นตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นโอลิมปิกสีเขียวที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
แนวทางการช่วยโลกของฝรั่งเศสในครั้งนี้มีหลายเรื่องด้วยกัน
อย่างแรก เรื่องของสนามแข่งและสนามซ้อม ไม่เน้นการสร้างสนามใหม่ แต่จะปรับปรุงพื้นที่ที่มีอยู่แล้วให้มีความเหมาะสมกับการแข่งขันให้มากที่สุด ปารีส 2024 สร้างสนามแข่งขันถาวรใหม่เพียง 2 แห่งเท่านั้น จากที่ต้องใช้ทั้งหมด 35 แห่ง เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำ และยิมเนเซียมที่รองรับการแข่งขันแบดมินตันและยิมนาสติกลีลา
นอกจากนั้น ยังใช้กรรมวิธีการสร้างที่คำนึงถึงการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุดด้วย ศูนย์กีฬาทางน้ำใช้ขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นวัสดุในการสร้างรวมกับไม้
ภายในหมู่บ้านนักกีฬา ไม่มีการใช้แอร์ในการทำความเย็นในห้องน้ำ แต่ออกแบบและสร้างให้รับลมและมีความเย็นที่พอเหมาะในการอยู่อาศัยได้ ส่วนเตียงยังคงใช้เตียงกระดาษลังที่ใช้มาแล้วในมหกรรมใหญ่หลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ารับน้ำหนักนักกีฬาตัวใหญ่ได้ และนอนหลับสบายได้เหมือนเตียงที่ทำมาจากวัสดุอื่นๆ ในตลาด
ขณะที่โต๊ะกาแฟและเก้าอี้ในห้องก็ทำมาจากวัสดุรีไซเคิลทั้งสิ้น
อาหารที่ให้บริการนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จะเป็นอาหารแพลนต์เบส หรืออาหารที่เน้นอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก มากขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า และได้มีการนำเอาวัตถุดิบในประเทศมาทำอาหารให้มากที่สุด เพื่อลดการขนส่ง
ในเรื่องของพลังงานที่เคยใช้พลังงานดีเซลในโอลิมปิกครั้งก่อนๆ แต่ครั้งนี้จะเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาด เพื่อลดการใช้น้ำมัน ในเรื่องของการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากในลอนดอน 2012 มีการใช้น้ำมันกว่า 4 ล้านลิตร ในเรื่องของพลังงาน ซึ่งถือว่าเยอะมาก
ในเรื่องของการเดินทาง ปารีสพยายามปรับให้เมืองเป็นมิตรกับการใช้จักรยานมากขึ้นในช่วงโอลิมปิก โดยมีเครือข่ายเส้นทางจักรยาน 60 ก.ม. ที่เชื่อมกับทุกสนามแข่งขัน เพื่อให้แฟนกีฬาสามารถเดินทางไปชมการแข่งขันด้วยจักรยานได้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะพยายามทำให้โอลิมปิกปารีสเป็นสีเขียวมากขนาดไหน ก็ยังมีช่องโหว่ให้โดนวิจารณ์อยู่ดี โดยเฉพาะเรื่องของสปอนเซอร์
โคคา-โคลา ผู้สนับสนุนใหญ่ของโอลิมปิกถูกวิจารณ์ว่าเป็นบริษัทที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก ถึงแม้จะบอกว่าการเสิร์ฟเครื่องดื่มในโรงอาหารของหมู่บ้านนักกีฬาจะใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งจะลดการใช้พลาสติกลง 50 เปอร์เซ็นต์
แต่สื่อฝรั่งเศสอย่าง “เลอ มงด์” ก็ออกมารายงานว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องดื่มในโรงอาหาร เป็นขวดที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งทั้งนั้น
ส่วนโตโยต้า อีกพาร์ตเนอร์ใหญ่ ที่นำเอารถพลังไฮไดรเจน 500 คัน มาใช้ในการงานต่างๆ ของปารีส 2024 แต่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์และวิทยากรเครื่องยนต์ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปถึงไอโอซีว่า รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าถึง 3 เท่า
เรียกได้ว่ามหกรรมกีฬาในยุคหลังจะเน้นไปที่การช่วยลดโลกร้อน ซึ่งก็เป็นพันธกิจหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังรณรงค์และช่วยกัน นับเป็นความท้าทายของฝรั่งเศส ที่ต้องจัดการแข่งขันให้ยิ่งใหญ่ ปลอดภัย น่าจดจำ ท่ามกลางการลดการปล่อยคาร์บอนแบบนี้
แต่ก็เชื่อว่าการเตรียมตัวมา 7 ปีเต็ม และศักยภาพของเจ้าภาพ จะผ่านบททดสอบเหล่านี้ไปได้ และจะจัดการแข่งขันได้อย่างประสบความสำเร็จเหมือนโอลิมปิกหลายครั้งที่ผ่านมา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022