‘น้าประชา’ | คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘น้าประชา’

 

“เราวิ่งขึ้นไป จนสุดปลายฟ้า แล้วก็ล้มนอน ลมโบกโชยพัด พาว่าวขึ้นย้อน ยุกยิกไปมาน่ามอง มีแมลงเฝ้ารอ แมงปอ สีแดง สีเขียว ตัวเต่าทอง ที่แม่น้ำลำคลอง ก็มองดูสุดสดใส”

เพลง “เก็บฝัน” (ประกอบการ์ตูน “หนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง”) คำร้อง “ประชา พงศ์สุพัฒน์” ทำนอง เพลงต้นฉบับในภาษาญี่ปุ่น

 

“ประชา พงศ์สุพัฒน์” (2496-2567) นักแต่งเพลงที่สำคัญมากๆ คนหนึ่งในยุคตั้งไข่ของอุตสาหกรรมเพลงป๊อปไทย ได้เสียชีวิตลงแล้วขณะมีวัย 71 ปี เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ท่ามกลางบรรยากาศการไว้อาลัยของอดีตเพื่อนร่วมงาน คนรู้จัก คนร่วมศรัทธาความเชื่อ และแฟนเพลงอีกมากมายมหาศาล

ผมเองในฐานะแฟนเพลงยุค 90 คนหนึ่งที่ชื่นชอบผลงานของ “น้าประชา” มากๆ ขออนุญาตรำลึกถึงนักแต่งเพลงผู้นี้ ผ่าน 3-4 ประเด็นหลักๆ

ดังต่อไปนี้

ประชา พงศ์สุพัฒน์

หนึ่ง

ไม่นานมานี้ จู่ๆ ผมก็พยายามกลับมานึกย้อนทบทวนเกี่ยวกับผลงานเพลงของ “น้าประชา” อย่างค่อนข้างละเอียดจริงจังเป็นระบบ และพยายามเขียนเรื่องราวว่าด้วยนักแต่งเพลงคนนี้ออกสู่สาธารณะ

ผ่านบทความสองชิ้น ได้แก่ “ก่อนจะถึง ‘ทรงอย่างแบด’ รู้จัก ‘น้าประชา’ จาก ‘คนเขียนเพลงเด็ก’ สู่ ‘คนแต่งเพลงฮิต’ ยุค 90” ในเว็บไซต์ https://feedforfuture.co/ และ “‘ประชา พงศ์สุพัฒน์’ ผู้เชื่อมโลก ‘เพลงเด็ก-เพลงฮิต’ แห่งยุค 90” ในนิตยสาร/เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์

แรงบันดาลใจของการเขียนบทความสองชิ้นนี้ ก็คือ กระแสความนิยมที่น้องๆ หนูๆ ในต้นปี 2566 มีต่อเพลง “ทรงอย่างแบด” ซึ่งผลักดันให้ผมรู้สึกอยากจะรื้อฟื้นผลงานเก่าๆ ของ “น้าประชา” ผู้เชื่อมโลกของ “เพลงเด็ก” และ “เพลงป๊อป-ร็อกยอดฮิต” เข้าหากันได้อย่างน่าทึ่ง ณ ช่วงทศวรรษ 2520 ต่อ 2530 เรื่อยมาถึง 2540

ต่อมา ราวเดือนมีนาคมปีนี้ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “ตามหา สโมสรผึ้งน้อย” เผยแพร่รูปภาพล่าสุดในวัย 70 ย่าง 71 ปีของ “น้าประชา” ผมก็ตัดสินใจนำเนื้อหาจากบทความเมื่อปี 2566 มาย่อยให้สั้นลงแล้วโพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก Feed ด้วยอารมณ์โหยหาอดีตอย่างมีความสุข เพราะเข้าใจว่าทางทีม “ผึ้งน้อย” กับ “น้าประชา” คงไปพบปะพูดคุยกันอย่างปกติและสนุกสนาน

ผมเพิ่งมาทราบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นี่เองว่าในช่วงปี 2566-2567 “น้าประชา” ได้ล้มป่วยและมีอาการไม่ค่อยสู้ดีแล้ว

 

สอง

ย้อนไปประมาณทศวรรษ 2540 ที่ “น้าประชา” มีสถานะเป็น “นักแต่งเพลงอิสระ” ในบางคราวเวลาต้องแต่งคำร้องให้กับศิลปินแกรมมี่ นักแต่งเพลงผู้นี้จะใช้นามปากกาว่า “ต้นสน” (เช่น ตอนที่เขียนเนื้อร้องให้เพลง “ขอใจเธอคืน” ของวง “ไทม์”)

ผมเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมเช่นกัน ว่า “ต้นสน” คือชื่อลูกชายคนเล็กของ “น้าประชา” ที่ “ออกเดินไกล” ล่วงหน้าคุณพ่อไปนานพอสมควรแล้ว

นี่เป็นแง่มุมเศร้าๆ หรือบทพิสูจน์หนักๆ ในชีวิต ของคนที่เขียนเนื้อเพลงแนวสนุกสนานยียวนกวนโอ๊ยได้เก่งที่สุดคนหนึ่งในเมืองไทย (แต่พอถึงคราวต้องเขียนเพลงเศร้า ก็แต่งได้บาดลึกมาก เช่น “แอบเจ็บ” และ “เขียนไว้ข้างเตียง” เป็นต้น)

 

สาม

ด้วยวัฒนธรรม “เสิร์ชข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เร่งผลิตเนื้อหา และรีบกระจายต่อ” ในปัจจุบัน ทำให้งานเขียน/งานข่าวที่รำลึกถึง “น้าประชา” ส่วนใหญ่ มักไปไม่พ้นจากโครงข่ายข้อมูลที่ผมริเริ่มเผยแพร่ไว้เมื่อปี 2566

เช่น รายชื่อผลงานเพลง “บางส่วน” ของ “น้าประชา” ที่ผมคัดสรรจากรสนิยมส่วนตัวของตนเอง ก็ถูกแชร์และผลิตซ้ำไปเยอะแยะกว้างขวางมาก ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เรื่องราวว่าด้วยผลงานที่น่าจดจำของ “น้าประชา” นั้น ยังมีแง่มุมที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงอีกมาก (ตัวผมเองก็ตกหล่นบกพร่องไป)

เช่น เพลงที่แกเคยแต่งให้ “พราย-ปฐมพร ปฐมพร” “มัม และลาโคนิคส์” รวมถึงวง “มิติ” (เท่าที่อ่านเห็น มีเพียง “เดอะ มัสต์-กฤชยศ เลิศประไพ” และมือกลองอาวุโส “เอกมันต์ โพธิพันธุ์ทอง” เท่านั้น ซึ่งกล่าวถึงงานกลุ่มนี้)

หรือยังมีเพลงสนุกๆ ยุคแกรมมี่อีกไม่น้อย (ที่ผมคัดกรองออกไปจากงานเขียนเมื่อปีก่อน) ซึ่งน่าจะได้รับการระลึกถึง

อาทิ “เพลงป๊อปไทยสไตล์แขก” เพลงแรกๆ ที่ติดหูผมมาตั้งแต่เด็กอย่าง “ภารตี” ซึ่งอยู่ในอัลบั้มชุด “บูมเมอแรง” ของ “เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์” นั้นก็เป็นผลงานการแต่งคำร้องของ “น้าประชา” (ทำนองโดย “ไพฑูรย์ วาทยะกร”)

หรือเพลงจากอัลบั้มแรกของ “ยูเอชที” ที่ผมชอบร้องติดปากอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะท่อนขึ้นต้นที่ว่า “ใช้ฉันไปที่ตรงนั้น ฉันก็ไปให้ทันที ไปลำสาลีไปประตูน้ำ…” อย่างเพลง “คนหลอกคนเหล็ก…ไงเพื่อน” ก็แต่งเนื้อโดย “น้าประชา” เหมือนกัน (ทำนองโดย “ชุมพล สุปัญโญ”)

 

สี่การสูญเสียคนดนตรีสำคัญๆ จากยุค 80 และ 90 คือ “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร” และ “ประชา พงศ์สุพัฒน์” ไปติดๆ กันในปี 2567 ยังบ่งชี้ให้เห็น “ช่องว่าง-รูโหว่” บางอย่าง

กล่าวคือ เวลาคนรุ่นหลังได้มีโอกาสอ่านและรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ “เพลงดังๆ” ของ “จาตุรนต์” และ “น้าประชา” คนรุ่นใหม่หลายรายต่างรู้สึกทึ่งและว้าวกับผลงานเหล่านั้น รวมถึงตัวตนของบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังผลงาน

เนื่องจากพวกเขาและเธอแทบไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า “เพลงฮิตข้ามกาลเวลา” จำนวนมากที่ตกทอดมาถึงยุคสมัยของตนเอง นั้นเป็นผลงานของ “นักแต่งเพลงรุ่นปู่” 1-2 คนนี้

นี่ทำให้ตระหนักได้ว่า แวดวงศิลปวัฒนธรรมของเมืองไทยยังขาดแคลน “พื้นที่” ที่จะใช้จัดเก็บ-สะสมผลงานและความทรงจำทางวัฒนธรรมจากบางยุคสมัย ซึ่งคล้ายจะเลยผ่านไปแล้ว แต่กลับยังมีคุณค่า-ความหมายต่อปัจจุบันอยู่

ในด้านหนึ่ง ก็น่าเสียดายที่คนอย่าง “จาตุรนต์” หรือ “น้าประชา” ยังไม่ถึงคิวจะได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” (ทั้งๆ ที่ถ้า “ประภาส ชลศรานนท์” และ “ธงไชย แมคอินไตย์” เป็นศิลปินแห่งชาติได้ นักแต่งเพลงผู้ล่วงลับทั้งสองรายก็สมควรจะได้รับเกียรตินี้ไม่ต่างกัน)

แต่เอาเข้าจริง ผมไม่แน่ใจนักว่าการได้รับตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” จะสามารถผลักดันให้ผลงานเด่นๆ ที่หลากหลายรุ่มรวยของพวกเขาได้รับการจดจำโดยสาธารณชนมากขึ้นหรือไม่? แค่ไหน?

ในอีกมุม ผมกลับคิดว่าสิ่งที่บ้านเรายังไม่ค่อยมี ก็คือ วัฒนธรรม “หอเกียรติยศ” (Hall of Fame) ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดกิจกรรมรำลึกและประมวลผลงานของบุคลากรทางด้านศิลปวัฒนธรรมจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่า มีชีวิตชีวามากกว่า และมีภาพลักษณ์เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์น้อยกว่า

เท่าที่เห็น ก็มีแค่ “ลานดารา” โดยหอภาพยนตร์เท่านั้น ที่พอจะเข้าข่ายเป็น “พื้นที่ในการเก็บรักษาความทรงจำ” ลักษณะนี้

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก “ตามหา สโมสรผึ้งน้อย”