ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
‘ข้างในแววตา’
กลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2567
บริเวณใกล้ชุมชน อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ มีผู้พบซากเสือโคร่งเพศผู้ โตเต็มวัย คาดว่าเพิ่งสิ้นใจไม่นานนัก
ซากของมันถูกนำไปพิสูจน์หาสาเหตุการตาย พบว่า ร่างกายผ่ายผอม มีพยาธิในทางเดินอาหาร ร่างกายขาดสารอาหาร เห็บเกาะตามผิวหนัง
มีแผลเก่าของรอยกระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร สามนัด
สองนัดอยู่ตรงหลังคอ อีกหนึ่งนัดอยู่บริเวณหน้าอก
แผลถูกยิง เกิดมานานพอควร กระสุนไม่ได้ทำให้มันตายในทันที แต่ดูเหมือนว่า นี่อาจจะเป็นบาดแผลอันทำให้มันเสียทักษะในการล่า และตายอย่างช้าๆ
เสือตัวนี้ไม่ใช่เสือแปลกหน้าของนักวิจัย มันเป็นเสือโคร่งซึ่งมีพื้นที่อยู่ในป่าดงใหญ่ ส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าดงพญาเย็น รหัสประจำตัวคือ PDT-116 M
ท่ามกลางข่าวสารมากมาย ข่าวการตายของมันปรากฏขึ้นเป็นข่าวเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจมากนัก และเงียบหายไป
เหมือนเช่นการตายของชีวิตในป่าทั่วๆ ไป
ใบไม้ในป่าทึบร่วงหนึ่งใบ ย่อมยากจะมองเห็น
ผลจากการทำงานในป่าของผมมากระทั่งถึงวันนี้ ทำให้มีโอกาสได้ “สบสายตา” กับเสือ ซึ่งนับได้ว่า เป็นผู้ล่าหมายเลขหนึ่ง มาหลายครั้ง
อาจพูดได้ว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาหลายปี ดูคล้ายกับว่า “ระยะห่าง” ระหว่างเราจะแคบลง
ตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่พบกันไกลๆ มองผ่านเลนส์เทเลโฟโตทางยาวโฟกัสสูง หรือแม้แต่บังเอิญโชคดีพบกันใกล้ๆ ภาพเสือโคร่งที่เห็น มักมีท่าทีคล้ายกัน ไม่ว่าอยู่ในระยะไหน ใกล้หรือไกล คือร่างกายดูตื่นตัว หันหน้าจ้องเขม็งมาทางผม แววตาแข็งกร้าว
ใช้เวลายาวนานพอสมควร ผมได้รับโอกาสหลายครั้งให้พบกันใกล้ๆ ด้วยความยาวของเลนส์ที่สั้นลง
ได้ “สบสายตา” กันด้วยสายตาเปล่าๆ ไร้เลนส์มาขวางกั้น
นั่นทำให้ผมได้เห็นความหมายของแววตา และสิ่งที่อยู่ข้างหลังแววตานั้น
ทํางานอยู่ในป่า ผมไม่ได้พบปะหรือเรียนรู้เพียงแค่จากสิ่งมีชีวิต หลายครั้งที่ผมพบกับร่างที่เคยมีชีวิต ซากสัตว์ ที่ชีวิตจบสิ้นลงเพราะคมเขี้ยว มีหลายซากที่ชีวิตจบลงเพราะคมกระสุน
แต่ซากซึ่งทำให้น้ำตาไหลชุ่มใบหน้า เป็นซากอันน่าเวทนาของเสือโคร่ง แม่และลูกสองตัว ที่ตายเพราะกินเหยื่อที่อาบด้วยยาพิษ
ร่องรอยดิ้นทุรนทุรายก่อนสิ้นใจของพวกมัน ทำให้เห็นภาพความทรมาน
การใช้ยาพิษฆ่าเสือ ไม่ใช่เรื่องใหม่ คนใช้วิธีการนี้มาเนิ่นนานในทุกมุมโลก ในพื้นที่ซึ่งยังมีประชากรเสือ เช่น เนปาล, บังกลาเทศ, อินเดีย, ไทย หรือแม้แต่สิงโตในป่าแอฟริกา ก็หลีกเลี่ยงการโดนยาพิษไปไม่พ้น
สาเหตุสำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์
ยาฆ่าศัตรูพืชชนิดร้ายแรง ไร้สี ไม่มีกลิ่น วางขายได้อย่างเสรีในหลายประเทศ
การล่าเสือโคร่งเพื่อเป็นสินค้า ไม่เคยยุติ นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักอันทำให้จำนวนประชากรเสือในโลกลดลง นอกจากการสูญเสียถิ่นอาศัย พื้นที่เหลือเพียงหย่อมป่า
ล่าเสือเพื่อเป็นสินค้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลาดใหญ่ของซากเสือโคร่ง อยู่ที่ประเทศจีน นี่ไม่ใช่ข้อมูลลับ หรือแปลกใหม่ ซาก รวมทั้งชิ้นส่วนทุกชิ้นใช้เป็นอาหาร ประกอบเครื่องยา ตามความเชื่อว่าจะบำรุงร่างกาย
ในประเทศไทยก็เป็นตลาดใหญ่ ที่ต้องการซากเสือมาทำเครื่องรางของขลัง ตามความเชื่อเรื่องอยู่ยงคงกระพัน
มีคำสั่งซื้อซากเสือในราคาสูงลิ่ว ในป่า เสือถูกคุกคามตลอด
การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่คนทำงานในป่าใช้เป็นระบบที่ป้องกันได้ แต่ปกป้องชีวิตเสือไม่ได้ทุกตัว
เงิน รวมทั้งความเชื่อ ไม่ว่าจะเชื่อว่าเสือเป็นสัตว์ร้าย อันตราย หรือเป็นซากที่มีราคาสูง เหล่านี้ ทำให้เสือมีอนาคตอันไม่สดใสนัก
และคล้ายจะหยุดยั้ง หรือเปลี่ยนแปลงได้ยากเย็น
นับจากวันแรกๆ ที่พบกับเสือ จนกระทั่งถึงวันนี้
ได้มีโอกาสสบสายตา ผมเชื่อเสมอว่า ดวงตา คือช่องทางซึ่งเปิดไปสู่หัวใจ
เสือโคร่งเจ้าของรหัส PDT-116 M กลายเป็นซากไร้ชีวิต
ผมไม่รู้ว่า รอยบาดแผลเก่าจากกระสุนสามนัดนั้น เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด
เพราะความกลัว ความเกลียดชัง หรือเพราะเงิน
แต่สิ่งที่รู้แน่ๆ คือ มันเคยมีชีวิต มีแววตาอันสดใส
อีกทั้งเบื้องหลัง “ข้างในแววตา” อันสดใสนั่น มีช่องทางเข้าไปสู่ข้างใน ไปถึงสิ่งที่มันมีเหมือนกับเรา
สิ่งซึ่งเรียกว่า หัวใจ
บรรยายภาพ
เสือโคร่ง – ข้างในแววตาอันแข็งกร้าวของเสือ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ดุร้ายอันตราย มีช่องทางที่เปิดไปถึงสิ่งที่เรามีเหมือนๆ กัน นั่นคือ หัวใจ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022