อุปถัมภ์-อำนาจ-อยุติธรรม

โบราณไทยว่าไว้ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา “เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก” เหยียด เหยียบ กด จนถึงกับเปรียบเปรย…มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน พลั้งพลาดประการใดขึ้นมามีแต่เสียกับเสีย แม้แต่กฎหมายของบ้านเมือง “หญิง” ก็เสียเปรียบชายทุกประตู

ดังจะเห็นได้จากการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ยุค พ.ศ.2400-2499

คำพิพากษาฎีกาที่ 59/2455 ว่า…ชายเข้าปล้ำหญิงบนเรือนหญิงในเวลากลางวัน ได้ชื่อชายกระทำผิด “ฐานทำอนาจารหญิง”

หาใช่ฐาน “พยายามข่มขืนกระทำชำเรา” ไม่

คำพิพากษาฎีกาที่800/2456 ว่า…ชายเข้าไปกอดปล้ำหญิง จับนมหญิงในห้องนอนของหญิงในเวลากลางคืน ยังไม่ถึงกับได้เปลื้องผ้าหญิงหรือเปลือยกายของชาย ตัดสินว่า ชายกระทำผิด “ฐานอนาจาร”

ไม่ใช่ “พยายามข่มขืนชำเรา”

คำพิพากษาฎีกาที่ 193/2474 ว่า…กอดปล้ำหญิง เอามือดึงกางเกงที่หญิงสวมและนั่งคร่อมหญิง เป็นความผิด “ฐานกระทำอนาจาร” คำพิพากษาฎีกาที่ 939/2487 ว่า…ใช้กำลังกายเข้ากอดปล้ำหญิงโดยหญิงไม่ยินยอม เป็นความผิดฐานกระทำอนาจาร

 

ล่วงผ่านเส้นแบ่งยุค พ.ศ.2400 สู่ พ.ศ.2500 ที่เริ่มใช้ “ประมวลกฎหมายอาญา”

ช่วงต้นๆ ยุค 2500 “คำพิพากษาฎีกา” ยุคก่อนหน้ายังคงมีอิทธิพลทางความคิด

“เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก”!

ตราบใดที่ “อวัยวะเพศชาย” ยังไม่ล่วงล้ำเข้าไปใน “อวัยวะเพศหญิง” ยากที่จะถูกตัดสินว่าผิด “ฐานพยายาม” ข่มขืนกระทำชำเรา

คำพิพากษาฎีกาที่ 1685/2516 ว่า จำเลยแอบเข้ามากอดหญิงผู้เสียหาย ผู้เสียหายร้องขึ้น จึงเอามือปิดปากและกดผู้เสียหายให้นอนลงที่พื้นแล้วขึ้นคร่อม เอาหัวเข่ากดต้นขาไว้ขณะที่ผู้เสียหายนุ่งกระโจมอกและนอนหงาย จำเลยก้มลงกัดแก้ม แล้วถลกผ้าซิ่นขึ้น ผู้เสียหายดิ้นอย่างแรงจนหลุด แล้ววิ่งหนีร้องไห้ลงจากเรือนไป การกระทำของจำเลยยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำชำเราผู้เสียหายได้ จึงไม่เป็นความผิด “ฐานพยายามกระทำชำเรา” คงเป็นความผิด “ฐานอนาจาร” เท่านั้น

ฎีกาที่ 1048/2518 ก็ว่า…การกระทำชำเราตามกฎหมายจะต้องปรากฏว่า ของลับหรืออวัยวะสืบพันธุ์ของชายล่วงล้ำเข้าไปในช่องสังวาสหรืออวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง

เกิดเป็น “หญิง” ไม่มีทางสู้!

“หญิง” ผู้เสียหายจำนวนมากจึงไม่อยาก “เป็นความ” ให้อับอายขายหน้าหรือเจ็บช้ำซ้ำสอง

 

ปีพ.ศ.2528 มีคำพิพากษาฎีกาที่ 2167/2528 เริ่มวินิจฉัยแตกต่างออกไปว่า…ในบันทึกคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายมีข้อความว่า จำเลยเข้ากอดปล้ำ ถอดเสื้อผ้า และพยายามข่มขืนกระทำชำเรากับได้ทำร้ายผู้เสียหาย แต่ “พนักงานสอบสวน” บันทึกระบุข้อหาไว้เพียงว่า “กระทำอนาจาร” เท่านั้น ไม่ระบุข้อหาพยายามข่มขืนกระทำชำเราด้วย…ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ในความผิด “ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา” แล้ว

ปี พ.ศ.2555-2557 แนวคิดวินิจฉัยของฎีกาพัฒนาไปถึงขั้นว่า แม้ “ใช้นิ้วมือ” สอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย หรือใช้สิ่งอื่นใด เช่น อวัยวะเพศเทียม กระทำต่ออวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือช่องปากของผู้เสียหายเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยก็เป็น “การกระทำชำเรา” ทั้งสิ้น

ความผิดลักษณะนี้กฎหมายเรียกว่า mala in se หรือ “ความผิดในตัวเอง” หมายความว่า กฎหมายไม่ต้องบัญญัติไว้ ปุถุชนก็รู้ได้ว่าผิดแน่ๆ

 

การแจ้งความดำเนินคดีอาญา ที่กองปราบปราม ของ “เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรม ปฏิบัติงานรับผิดชอบหน้าบัลลังก์ ประจำศาล…” เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น นับเป็น “เผือกร้อน” ในมือพนักงานสอบสวน กองปราบปราม

ว่ากันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 (2) ผู้ต้องหา หมายถึง “บุคคลผู้ถูกหาว่า” ได้กระทำความผิด แต่ยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาล

มาตรา 2 (4) ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง

มาตรา 2 (6) พนักงานสอบสวน หมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน

มาตรา 2 (7) คำร้องทุกข์ หมายความถึง การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า มีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

คดีผู้บริหารระดับสูงในศาลยุติธรรมถูกกล่าวหา เกิดขึ้นบนขบวนรถไฟตู้นอนชั้น 2 สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เหตุเกิดระหว่างสถานีศิลาอาสน์ จ.อุตรดิตถ์ ต่อเนื่องถึงช่วงสถานีเด่นชัย จ.แพร่ นั้น”ผู้เสียหาย” แจ้งความประสงค์ชัดว่า ให้ดำเนินคดีอาญา ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อ “การดำเนินทางวินัยของตุลาการ”

ผู้เสียหายยังได้นำส่ง “แผนผังที่นอน” บนขบวนรถไฟพร้อมกับคำให้การที่ชวนให้มีการสอบสวน “ขยายความ” เพิ่มเติม เช่นว่า “ดิฉันรู้สึกแปลกใจที่ถูกจัดที่นอนให้นอนตู้นอนชั้น 2 ซึ่งอยู่ติดกับตู้นอนชั้น 1 ของผู้บริหารซึ่งอยู่ท้ายขบวน โดยให้ดิฉันนอนเตียงล่าง ในขณะที่เพื่อนๆ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ถูกจัดให้พักช่วงต้นขบวน…ดิฉันอดคิดไม่ได้ว่า การจัดให้ดิฉันนอนเตียงล่าง น่าจะเป็นการวางแผนกันมาก่อนแล้ว”

คดีนี้ยังคงมี “ตัวการร่วม” หรือ “ผู้สนับสนุน” หรือไม่ เป็นงานของ “พนักงานสอบสวน” ที่ถูกเปรียบว่าเป็น “ต้นธาร” ของกระบวนการยุติธรรม

“กองปราบปราม” จะเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่หมายพึ่งได้จริงตามคำขวัญคำคมหรือไม่

 

สมาคมของตำรวจกำลังเคลื่อนไหวก่อการจะ “ปฏิรูปองค์กร”

สมาคมพนักงานสอบสวนก็กำลังเร่งรัดพัฒนาความเป็น “มืออาชีพ” เรียกร้อง “เงินตอบแทน” ที่สูงขึ้น พร้อมกับ “ความมีอิสระ” ปราศจากการถูกแทรกแซงจากอำนาจอื่นใดที่จะทำให้ “การอำนวยความยุติธรรม” ในชั้นต้นเบี่ยงเบน

สปอตไลต์กำลังจับไปที่กองปราบปราม ซึ่งต้องพิสูจน์ศักยภาพใน “งานยาก”

ที่ว่า “ยาก” มิใช่ว่าเป็นคดีที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไร หากแต่เป็น “งานยาก” สำหรับที่ “คนไม่เท่ากัน”

“บุคคลเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย” เป็นแค่คำหรูๆ ที่หลับสนิทอยู่ในตำรา

สังคมไทยมากไปด้วยความขลาดกลัวต่อระบบอุปถัมภ์ และอำนาจที่ซ่อนอำพรางอยู่ใต้ “หน้ากากยุติธรรม”!?!!!