เมื่อประเด็นเพิ่มวันลาคลอดใกล้ได้ข้อยุติ : รายงานประสบการณ์ จากกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขกฎหมายแรงงาน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ฝนไม่ถึงดิน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

 

เมื่อประเด็นเพิ่มวันลาคลอดใกล้ได้ข้อยุติ

: รายงานประสบการณ์

จากกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขกฎหมายแรงงาน

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้รับการติดต่อจากกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขกฎหมายแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร หรือที่รู้จักกันในประเด็นข้อเสนอ “ลาคลอด 180 วัน”

กฎหมายนี้อาจไม่ได้ถูกจับตาในวงกว้าง แต่ในหมู่ภาคประชาชน นับเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงและมีความคาดหวังอย่างมากในกลุ่มผู้ผลักดันประเด็นสวัสดิการครอบครัว ซึ่งคาดหวังว่าจะนำการเปลี่ยนแปลงมากมายสู่สังคม

แต่ในทางการเมือง ก็คือข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทย ที่ 98 วัน และข้อเสนอของพรรคก้าวไกล ที่ 180 วัน

ลำพังในการโต้แย้งของสองพรรคการเมือง ก็น่าจะเห็นทางออกยากอยู่แล้ว แต่การเมืองในระดับชนชั้นและความขัดแย้งอมตะนายจ้าง-ลูกจ้าง ก็ยิ่งฟังดูแล้วยากที่ข้อเสนอนี้จะลงตัว

แต่บทความนี้ผมขอแจ้งความคืบหน้าว่า สถานการณ์ทุกอย่างเหมือนจะมีทางออกในทางที่ดีขึ้น

 

ผมได้รับแจ้งจากกรรมาธิการของทุกฝ่ายทุกพรรคการเมืองว่า หลังจากการประชุมในหลายนัด เอาที่จริงทุกฝ่ายต่างรับรู้ข้อมูล และเห็นพ้องต้องกันว่า การเพิ่มการลาคลอดเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

การรักษารายได้ของแม่ ความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงคุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดมา ตลอดหลายเดือนทุกฝ่ายต่างมองเห็นความจำเป็นเรื่องนี้

แต่โจทย์สำคัญคือ เราจะเดินต่อไปอย่างไร

เพราะโจทย์ตอนนี้คือ ที่มาของงบประมาณ และภาระของนายจ้าง

โดยที่มาของงบประมาณนั้นที่มาหลักที่เกี่ยวข้อง ก็คือจาก “สำนักงานประกันสังคม” นั่นเอง

ทางกรรมาธิการแจ้งผมว่า ที่ผ่านมาตัวแทนของทางสำนักงานประกันสังคม ก็ไม่สามารถฟันธงข้อมูลได้ เพราะจะมากจะน้อย งบประมาณก็กระทบต่อประกันสังคมแน่นอน

และที่ผ่านมาก็มีข่าวนำเสนอตลอดเวลาเรื่องความมั่นคงของกองทุนในมุมนี้

ผมเองก็เข้าใจว่า ฝ่ายราชการเองก็คงต้องสงวนความเห็นอย่างระมัดระวัง

จึงเป็นการถามความเห็นจากคณะกรรมการสัดส่วนผู้ประกันตนที่ผมเป็นตัวแทน

 

ความโชคดีคือการที่ผมสามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างครบถ้วน ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่เปิดเผยและไม่ได้เป็นความลับ และข้อมูลนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการนำมาสนับสนุนการผลักดันนโยบาย

ประเด็นแรกคือ งบประมาณที่ประกันสังคมใช้สำหรับการลาคลอด ซึ่งปัจจุบันคือ วันลา 45 วันหลัง ด้วยการจ่าย 50% ของฐานเงินเดือน สูงสุดก็จะเดือนละ 7,500 บาท หรือสูงสุด 11,250 ตลอดการลา

ถ้ามองตัวเลขภาพรวมคือ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายทั้งหมด 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากเราเทียบกับเงินกองทุนที่นำเข้ามาเพื่อสวัสดิการส่วนนี้ หรือที่เรียกว่ากองทุน 4 กรณี อันได้แก่ ลาคลอด เจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต จะมีเงินเข้าสู่กองทุนตัวนี้ประมาณปีละ 84,000 ล้านบาท โดยมีส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์กว่า 72,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจึงนำไปลงทุน

ซึ่งจากผลตอบแทนปัจจุบัน จะได้เงินกลับมาประมาณปีละ 3,000 ล้านบาทเป็นลักษณะนี้ต่อเนื่องไป

โดยค่าใช้จ่ายในกองนี้ที่สูงที่สุด คือด้านการรักษาพยาบาล ที่สูงราว 60,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะสิทธิลาคลอด ส่วนที่เคยจ่ายนั้น จะลดลงราว 35% ใน 20 ปี หรือจาก 3,000 ล้านบาทต่อปี จะเหลือประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี เพราะการที่คนเกิดน้อยลงอย่างที่เราทราบกัน

สิ่งที่ผมได้ยืนยันต่อที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญคือ แม้การเพิ่มสิทธิการลาคลอด 180 วัน จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 6,000 ล้านบาทต่อปี แต่ในอีก 20 ปี เงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะลดลงเหลือเพียง 4,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ได้เป็นภาระใหญ่โต

ยิ่งกว่านั้น หากคำนวณเทียบกับอายุของประกันสังคม การลาจาก 90 เป็น 98 120 หรือ 180 วัน ก็ไม่มีผลต่ออายุของกองทุนประกันสังคมอยู่ดี

 

ดังนั้น สิ่งที่ผมยืนยันคือ การกล่าวว่าการเพิ่มสิทธิลาคลอด จะทำให้กองทุนประกันสังคมล้มละลายไวขึ้นจึงเป็นการกล่าวเกินจริงไปไม่น้อย

เพราะสิ่งที่สำคัญที่ทำให้กองทุนประกันสังคมอยู่ได้ ไม่ใช่แค่เงินขาเข้าที่มากกว่าขาออก

สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ “การอยู่ได้ในทางบัญชี” แต่ทุกวันนี้ประกันสังคมมีความเสี่ยงด้าน “การล้มละลายจากความเชื่อมั่น” ซึ่งเกิดขึ้นในวินาทีนี้ ตอนนี้ ขณะนี้ ดังนั้น การลงทุนในสิทธิประโยชน์ที่สร้างความเชื่อมั่นกลับสู่ผู้ประกันตนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างสูง

“หากเปรียบเทียบแล้ว เราเหมือนคนอายุ 34 แล้วมีหมอมาบอกว่าหากเราใช้ชีวิตแบบนี้ เราจะตายตอนอายุ 62 ห้ามทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ฯลฯ แน่นอนว่าเรามีเวลาในการปรับเปลี่ยน แต่อะไรคือแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยน ที่ทำให้เราอยากจะทำตามที่หมอบอก มันไม่ใช่แค่กินผัก ลดของมัน ออกกำลังกาย แต่หัวใจใหญ่คือ การทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรามีความหมายและเราอยากจะรักษาชีวิต”

ผมอธิบายต่อกรรมาธิการวิสามัญ เรื่องประกันสังคมก็เช่นกัน หากเราหมกมุ่นต่อการรักษาความสมดุลของการคลังแล้วไม่กล้าเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดๆ ประกันสังคมก็จะไร้ความหมาย เพราะมันไม่ยึดโยงต่อผู้คน คนไม่เห็นความสำคัญ สุดท้ายผู้คนก็จะปล่อยให้มันตายอย่างไม่แยแส

“เรามีฉากทัศน์การรักษาประกันสังคมอีกมากมาย แต่เริ่มทำไม่ได้เลย หากเราไม่สามารถทำให้คนรู้สึกว่าประกันสังคมมันสำคัญต่อชีวิตคนธรรมดาอย่างไร”

 

ในท้ายสุดสิ่งที่ผมย้ำหลังจากแสดงไฟล์และตัวเลขใน Excel Sheet หลายหน้า คือ ผมอาจใส่ตัวเลขต่างๆ ได้สมบูรณ์เท่าที่เราจะเห็น

แต่สิ่งที่ผมทำไม่ได้คือ ผมไม่สามารถประเมินศักดิ์ศรีและคุณค่าของผู้หญิงที่เสียไป หากได้รับวันลาคลอดที่ไม่เหมาะสม

เช่นเดียวกันผมก็ไม่อาจประเมินนโยบายนี้เป็นตัวเลขได้ว่า มันจะรักษาชีวิตและความฝันของผู้คนไปได้มากน้อยเพียงใด

“สุดท้ายนี้ ก็แล้วแต่อนุกรรมการจากทุกพรรคการเมืองว่าท่านจะจัดวางจุดยืนของท่านในประวัติศาสตร์อย่างไร”

ร่วมติดตามตรวจสอบความคืบหน้ากันนะครับ