ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 26 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์
เวลาแห่งความสุข
ไม่ได้เจอคุณบุญคลี ปลั่งศิริ นานมาก
คุณบุญคลี เป็นอดีตซีอีโอ “ชินคอร์ป” สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นเจ้าของ
สมัยนั้น เขาได้ชื่อว่าเป็นซีอีโอที่เก่งที่สุดในเมืองไทย
แต่เมื่อขาย “ชินคอร์ป” แล้ว “บุญคลี” ก็รีไทร์ตัวเองจากงานประจำ
รับเป็นที่ปรึกษาให้กับ 2 บริษัท
“แกรมมี่” ของคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
และ “เบอร์ลี ยุคเกอร์” ของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี
แต่คนที่เป็นหลักในการดูแลกิจการ คือ คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ลูกเขยคุณเจริญ
ผมกับ “โจ้” ธนา เธียรอัจฉริยะ เชิญคุณบุญคลีมาเป็นวิทยากรให้หลักสูตร ABC ตั้งแต่รุ่นแรกจนรุ่นสุดท้าย
ช่วงนั้นได้คุยกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
แต่พอหยุดทำ ABC ก็ไม่ได้เจอคุณบุญคลีมาเกือบปี
วันที่ผมทำหลักสูตร VAIP ที่เรียนเกี่ยวกับ AI
กลุ่มเป้าหมาย คือ เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารรุ่นใหญ่ที่อยากเรียนรู้ AI
แต่อยากเรียนรู้แบบช้าๆ
ทำเองบ้าง แต่ไม่ต้องเยอะ
ขอเรียนรู้กว้างๆ ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง และคนที่นำไปใช้ในองค์กร เอาไปใช้เรื่องอะไรบ้าง
วิทยากรคนหนึ่งที่ผมตั้งใจเรียนเชิญ คือ คุณบุญคลี
เพราะเขาเป็น “ผู้ใหญ่” ที่เชื่อมั่นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
คำนิยาม “คนเก่ง” ของเขาที่พูดมานานแล้ว
“คนเก่ง คือ คนที่เรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็ว”
เพราะ “ความรู้” ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
“ความรู้” ที่เรียนมาในมหาวิทยาลัย คือ ความรู้ดั้งเดิมตอนสมัครงาน
ต่อให้ได้เกียรตินิยมตอนเรียนมหาวิทยาลัย
แต่ถ้าไม่เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่
หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ช้า
“ความเก่ง” นั้นก็จะหายไปตามกาลเวลา
วันนี้คุณบุญคลีอายุ 73 ปี
เขากำลังเริ่มเล่น AI ครับ
มีมุมมองหนึ่งที่ผมชอบมาก
เรื่องนี้เคยคุยกับคุณบุญคลีตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้ง “ไทยแอร์เอเชีย”
เดิม “ไทยแอร์เอเชีย” เป็นของ “ชินคอร์ป” นะครับ
คุณบุญคลีเป็นคนริเริ่ม
เขาอยากทำ “สายการบินต้นทุนต่ำ”
ในอดีตการเดินทางทางเครื่องบินถือว่าหรูมาก
เพราะราคาค่าโดยสารสูง
ทำให้กลุ่มคนที่สามารถเดินทางทางเครื่องบินมีจำนวนน้อย
“ราคา” คือ “กำแพงกั้น”
แต่สายการบินต้นทุนต่ำ ตัดความสะดวกสบายที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้มีจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวบินสูง
ราคาจะได้ถูก
ทำให้คนจำนวนมากเปลี่ยนจากรถทัวร์ไปเดินทางด้วยเครื่องบินแทน
เพราะราคาแพงกว่ากันไม่มาก
แต่ไปถึงที่หมายเร็วกว่า
วันนั้น คุณบุญคลีพูดถึงความสำคัญของ “เวลา”
“เวลา” เป็นสิ่งที่มีค่ามาก
ถ้าไม่ใช่การท่องเที่ยวที่ชื่นชมความงามระหว่างทาง แต่เป็นการทำธุรกิจ
“เวลา” ที่ใช้ใน “การเดินทาง” ถือเป็น “ความสูญเปล่า”
เป็น “ต้นทุน” ที่แพงมาก
เพราะตอนเดินทางเรานั่งเฉยๆ ทำงานอะไรไม่ได้เลย
ยิ่งยุคนั้นยังไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตที่ลื่นไหลเหมือนวันนี้
เวลา 7 ชั่วโมงที่นักธุรกิจเดินทางจาก กทม.ไปเชียงใหม่
คือ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
แต่ถ้าเปลี่ยนจากรถทัวร์เป็นเครื่องบิน
ลดเวลาเดินทางไป 5 ชั่วโมง
5 ชั่วโมงที่ประหยัดได้ เราสามารถทำงานได้เยอะเลย
ถ้าคิดเป็นตัวเลขทางเศรษฐกิจคงมากมายมหาศาล
ยิ่งตอนนี้ระบบโทรคมนาคมพัฒนาไปถึงขั้น 5 G และสามารถประชุมออนไลน์ได้แล้ว
เราสามารถทำงาน หรือเจรจาธุรกิจได้โดยที่ไม่ต้องเดินทาง
วันนั้นคุณบุญคลีย้ำว่า “เวลา” มี “ราคา”
แค่ลดเวลาที่ใช้ในการเดินทางลง
และเอาเวลานั้นไปใช้ในการทำงาน
ผลผลิตของประเทศก็เพิ่มขึ้นทันที
เจอกันครั้งนี้ คุณบุญคลียังคงเหมือนเดิม
เขาเล่าเรื่องผู้บริหารอสังหาริมทรัพย์ใหญ่รายหนึ่งเคยมาขอคำปรึกษาตอนที่ธุรกิจกำลังไปได้ดีมาก
คำถามของผู้บริหารคนนี้น่าสนใจ
เขาถามว่า “เวลาที่ขายดี เราต้องระวังอะไรบ้าง”
คุณบุญคลีบอกว่าให้ระวัง 2 เรื่อง
เรื่องแรก พนักงานขายจะหยิ่งขึ้น ยิ้มน้อยลง ไม่เอาใจลูกค้าเหมือนในอดีต
เพราะอยู่เฉยๆ ก็ขายได้
เป็นเรื่องปกติตอนขายดี
เรื่องที่สอง คือ ให้กลับไปดู “หลังบ้าน” ดีๆ
เพราะระบบที่ทำไว้ไม่ได้รองรับกับ “ยอดขาย” สูงขนาดนี้
ต้องไปดูดีๆ
ไม่เช่นนั้นอาจเกิด “รูรั่ว” ขึ้น
และส่งผลกระทบในระยะยาว
หรือเรื่อง AI ในมุมของผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของกิจการ
คุณบุญคลีบอกว่าเขาสนใจว่า AI จะทำนายอนาคตอะไรได้บ้าง
เพราะมีเรื่องหนึ่งที่เจ้าของกิจการอยากรู้ที่สุด
ถ้า AI ทำได้
เท่าไรก็จ่าย
เรื่องอะไร คุณบุญคลีจะไปเฉลยตอนบรรยายครับ
อีกเรื่องหนึ่ง คือ ถ้า AI สามารถช่วยทำ “แผนธุรกิจ” ปลายปีได้
ไม่ต้อง 100%
ขอแค่ 50% ก็จะลดงานผู้บริหารได้เยอะมาก
เพราะช่วงปลายปี ผู้บริหารขององค์กรใหญ่ๆ จะเสียเวลากับเรื่องนี้เยอะมาก
ถ้า AI ช่วยเรื่องนี้ได้
ผู้บริหารจะเหลือเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง
“เวลา” มี “ราคา”
ถามคุณบุญคลีว่าตอนว่างๆ ชอบทำอะไร
คำตอบของเขาไม่มีใครทายถูกแน่นอน
คุณบุญคลีชอบคุยกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ครับ
เหมือนการละเล่นอย่างหนึ่ง
ที่ชอบที่สุด คือ คนที่โทร.มาแล้วถามว่า “จำเสียงเราได้ไหม”
ถ้าเราบอกว่าจำไม่ได้
คนโทร.ก็จะแกล้งบอกว่า “จำเพื่อนไม่ได้เหรอ”
ให้เราเดาว่าน่าจะเพื่อนคนไหน
พอเอ่ยชื่อเพื่อนคนใดคนหนึ่งขึ้นมา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะสวมรอยทันที และนำไปสู่การยืมเงิน
พวกนี้ถ้าโทร.มาหาคุณบุญคลี
สิ่งที่เจอ ก็คือ พอถามว่าจำเพื่อนไม่ได้เหรอ
เขาจะสวมรอยก่อน
“ยงยุทธใช่ไหม”
“ใช่”
“เปลี่ยนโทรศัพท์เหรอ”
ทางโน้นก็จะรับสมอ้างทันที อ้างโน่นอ้างนี่
คุณบุญคลีจะทิ้งหมัดเด็ดทันที
“มิน่า โทร.ไปหาไม่เจอ แล้วเงินที่ยืมไปหมื่นนึงเมื่อไรจะใช้ ไหนบอกว่าจะใช้ตั้งแต่เดือนที่แล้ว”
ฝ่ายนั้นจะตั้งรับไม่ทัน
เขาจะใส่-ใส่-ใส่ จนในที่สุดแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะตัดสายทิ้ง
จบเกม คุญบุญคลีชนะ
…มีความสุข
ครับ แม้ว่า “เวลา” จะมี “ราคา”
แต่ “เวลา” ที่มี “ความสุข” มีคุณค่ากว่า
ถือว่า…ไม่สูญเปล่า 555
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022