คนมองหนัง : “อวสานซาวด์แมน” และหนังสั้นเรื่องอื่นๆ ของ “สรยศ ประภาพันธ์”

คนมองหนัง

เมื่อวันที่ 12 มกราคม มีการจัดฉายผลงานหนังสั้น 5 เรื่องของ “สรยศ ประภาพันธ์” ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพมหานคร

นอกจากจะทำหน้าที่เป็น “ซาวด์แมน” หรือ “คนบันทึกเสียงประกอบ” ให้แก่ภาพยนตร์อินดี้ไทยและอาเซียนหลายเรื่อง สรยศยังเป็นผู้กำกับฯ หนังสั้นฝีมือดี ซึ่งมุ่งมั่นสร้างงานเพื่อส่งไปเข้าร่วมเทศกาลต่างๆ ในต่างประเทศ

ผลงานที่ถูกนำมาฉาย จึงเป็นส่วนผสมระหว่างการพูดถึงปัญหาของสังคมไทยและอารมณ์ขันแบบไทยๆ กับการพยายามสื่อสารเรื่องราวเหล่านั้นให้ชาวต่างชาติสามารถทำความเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นจนเกินไป

ที่สำคัญ หนังสั้น 5 เรื่องนี้ยังพาสรยศเดินทางไกลไปหลายสิบประเทศ และหลายสิบเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก

หนังสั้นเรื่องแรกที่ฉายในวันนั้น คือ “บุญเริ่ม”

พิจารณาด้านรูปแบบ นี่เป็นลักษณะพิมพ์นิยมของหนังสั้นไทยเมื่อหลายปีก่อน ที่มีโปรดักชั่นเล็กๆ ถ่ายทำง่ายๆ ไม่มีเทคนิคแพรวพราวมากมาย

แต่เรื่องราวของหนังต่างหากที่น่าสนใจ เพราะสรยศเลือกนำเสนอภาวะขัดแย้งลึกซึ้งระหว่างนายจ้างคนชั้นกลาง กับลูกจ้าง ผู้เป็นคนรับใช้ภายในบ้าน ชื่อ “บุญเริ่ม”

(จะว่าไปแล้ว ธีมเรื่องว่าด้วยการวิพากษ์ชนชั้นกลางหรือการวิพากษ์ตนเองของคนทำหนัง ก็เป็นอีก “หนึ่งกระแส” สำคัญ -แม้จะไม่ใช่ “กระแสหลัก”- ของวงการหนังสั้นไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา)

“บุญเริ่ม” ฉายภาพที่ตัวละครฝ่ายหนึ่งกดตัวละครอีกฝ่ายให้ต่ำกว่า จนบางครั้งแทบจะไม่เหลือความเป็นมนุษย์ นั่นจึงนำไปสู่การดิ้นรนแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในชีวิตของผู้ถูกกดขี่ และภาวะไม่เหลือใครของผู้เคยกดขี่

แม้จะไม่ได้มีงานสร้างที่หรูหรา แต่ “บุญเริ่ม” คือจุดเริ่มต้นซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าสรยศเป็นคนทำหนังที่น่าจับตา ทั้งเพราะการใส่ใจในประเด็นทางสังคม การมีอารมณ์ขัน (แนวตลกร้าย) การมีมุมมองทางด้านภาพที่ดี และการเลือกใช้เสียงประกอบที่ไม่ธรรมดา

หนังเรื่องถัดมา คือ “ดาวอินดี้” ซึ่งน่าจะเป็นงานที่ตลกและแสบสุดของสรยศ

หนังเรื่องนี้มีจุดซ้อนทับเชื่อมโยงกับหนังเรื่องแรก โดยตัวละครป้าแห่งแก๊งคนรับใช้ใน “บุญเริ่ม” ได้พลิกผันมารับบทหมอนวด ผู้มีอาชีพเสริมเป็นนักแสดงหนังสั้น-หนังอินดี้ ใน “ดาวดินดี้”

หนังเล่นมุขว่าเมื่อ “บุญเริ่ม” ได้ไปเทศกาลต่างประเทศ ผู้กำกับฯ จึงโทรศัพท์มาชักชวนป้าหมอนวดให้เดินทางไปเมืองนอกด้วยกัน

นอกจากวีซ่าแล้ว ป้าก็ต้องรีบทำพาสปอร์ต แต่สถานการณ์กลับดำเนินไปอย่างยากลำบาก เพราะช่วงนั้น (ปี 2557) กำลังมี “ม็อบการเมืองใหญ่” ออกมาชัตดาวน์ กทม.

ท้ายสุด ป้าจึงไม่ได้ไปเมืองนอก แต่ต้องคอยบีบนวดคลายเมื่อยให้ลูกค้าขาประจำ ที่เข้าร้านมาพร้อมยูนิฟอร์มใหม่ลายธงชาติไทย และมีสายนกหวีดคล้องคอ (แถมยังเป่าปรี๊ดๆๆ) อยู่ตลอดเวลา

“ดาวอินดี้” มีคุณภาพโปรดักชั่นที่ “โปร” ขึ้น และแสดงให้เห็นถึงแนวทางอารมณ์ขันแบบสรยศที่ชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ หนังยังพูดถึงประเด็นที่ขยายใหญ่โตขึ้น จากความขัดแย้งทางชนชั้นในครัวเรือน สู่ความตึงเครียดและโอกาสในชีวิตอันตีบตันของคนเล็กคนน้อย ซึ่งมีบริบทเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ

ผลงานเรื่องที่สาม คือ “ของฝากจากสวิตเซอร์แลนด์” ซึ่งสรยศกลับมาทำหนังสั้นฟอร์มเล็กๆ อีกหน

หนังมีองค์ประกอบง่ายๆ สองส่วน คือ หนึ่ง การบันทึกภาพพื้นที่สาธารณะและบุคคลต่างๆ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ซึ่งสรยศถ่ายเอาไว้ด้วยกล้องคอมแพ็กต์ ระหว่างนำหนังสั้นเรื่องอื่นของเขาไปร่วมเทศกาลที่นั่น) กับสอง เสียงประกอบ อันเป็นการพูดคุยกันระหว่างสรยศและเพื่อนของเขาที่เมืองไทย

เรื่องราวดำเนินไปผ่านภาพง่ายๆ เรียบๆ และเสียงพูดคุยที่เป็นธรรมชาติ หลากหลายประเด็น และเปี่ยมอารมณ์ขันเช่นเคย

ก่อนที่สรยศจะค่อยๆ ผนวกงานภาพและเสียงที่คล้ายจะไม่เกี่ยวข้องกัน ให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว โดยมีประเด็นหลักอยู่ตรงการพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างโลกภายในหรือเมืองไทยกับโลกภายนอก ผ่านแง่มุมเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพสังคม จนถึงเรื่องเสรีภาพ

ขณะที่ชีวิตในเมืองไทยมีอะไรบางอย่างสอดคล้องกับชีวิตของผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน (ซึ่งเป็นเพื่อนอีกคนของสรยศ)

สวิตเซอร์แลนด์ก็คล้ายจะเป็นดินแดนแห่งโอกาส ที่เปิดกว้างกว่า และน่าใฝ่ฝันถึงมากกว่า

ถัดจากนั้น สรยศหันมาทำ “รักษาดินแดน” หนังเล่าเรื่องในแบบ “บุญเริ่ม” และ “ดาวอินดี้”

หลังจากหนังสั้นสองเรื่องแรกพูดถึงกลุ่มคนระดับล่างๆ ของสังคม ส่วนเรื่องที่สาม เป็นการทดลองเปรียบเทียบสังคมไทยกับสังคมต่างประเทศ

“รักษาดินแดน” พาคนดูเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกหน หนังเล่าถึงตัวละครเด็กหนุ่มคนชั้นกลางรูปร่างอ้วนท้วนสองคน ที่จำต้องหาวิธีเข้าเรียน รด. ให้ได้ แม้จะทดสอบร่างกายไม่ผ่าน เพราะพวกเขาไม่ต้องการไปวัดดวงกับการเกณฑ์ทหาร

แม้ใจจริงจะไม่อยากเกณฑ์/เป็นทหาร แต่เมื่อสองหนุ่ม ม.ปลาย มานั่งศึกษาทางหนีทีไล่อย่างจริงจังแล้ว พวกเขากลับพบว่าหนทางที่ง่ายดายที่สุดในการไม่ต้องเป็น “ทหารเกณฑ์” ก็คือ การยอมเป็น “นักศึกษาวิชาทหาร” นั่นเอง

“รักษาดินแดน” ยังเล่าเรื่องราวผ่านอารมณ์ขัน การประชดประชันเล็กๆ น้อยๆ ตามสไตล์สรยศ แม้ใจความหลักที่นำเสนอจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบอันบิดเบี้ยวไม่ปกติของสังคม

“อวสานซาวด์แมน” ดูจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างพอสมควร ไม่ใช่เพราะหนังไปคว้ารางวัลจากเทศกาลต่างๆ มามากมาย ตามมาตรฐานผลงานของสรยศ หรือเพราะหนังสามารถไปถึงสายประกวดภาพยนตร์สั้นของเทศกาลใหญ่อย่างเวนิส

แต่อาจเป็นเพราะระหว่างขึ้นรับรางวัลที่สวิตเซอร์แลนด์ สรยศพยายามจะกล่าวรำลึกถึง “ชัยภูมิ ป่าแส” นักกิจกรรม-นักทำหนังสั้น (ทั้งยังเป็นคนบันทึกเสียง) ซึ่งเสียชีวิตอย่างน่าคลางแคลงใจจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

ถ้าเทียบกับหนังสั้นอีกสี่เรื่อง ผมกลับรู้สึกว่า “อวสานซาวด์แมน” มีอารมณ์ขันแนวตลกโปกฮาน้อยกว่าบรรดาผลงานข้างต้น อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าผลงานชิ้นล่าสุดของสรยศมีคุณภาพอ่อนด้อยกว่างานเรื่องก่อนๆ

ตรงกันข้าม “อวสานซาวด์แมน” น่าจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านฝีมือ ศักยภาพ ความช่ำชองในการเล่าเรื่องผ่านสื่อภาพยนตร์ ที่พุ่งไปถึงจุดสูงสุด ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน ของเขา

ด้วยความเป็นเลิศนี่แหละ ซึ่งทำให้ “อวสานซาวด์แมน” มีทั้งส่วนที่เป็น “อารมณ์ขัน” และส่วนที่ “จริงจัง”

แม้คนดูหลายรายอาจรู้สึกหรือตีความว่าองค์ประกอบส่วนแรกมีน้ำหนักมากกว่า แต่ผมกลับรู้สึกว่าองค์ประกอบส่วนหลังมีพลังมากกว่า

กระทั่งส่วนที่น่าจะเป็นอารมณ์ขันในหนัง คือ เนื้อหาว่าด้วยการทำงานเบื้องหลังของตัวละครนักบันทึกเสียงสองราย ผู้ถูกมองข้ามหลงลืม ก็ยังมีความก้ำกึ่งระหว่างการพยายามจะเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม กับการเพ่งพินิจพิจารณาถึงงานบันทึกเสียงอย่างเข้มข้นจริงจังของผู้กำกับฯ (นักบันทึกเสียง) และการนำเอาความรู้ชุดดังกล่าวมาส่องสะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของประเทศชาติ

โดยฉากที่สรุปความในประเด็นนี้ได้ดีมากๆ ก็คือ ซีนโบกธงชาติในสตูดิโอบันทึกเสียงตอนท้ายเรื่อง

สำหรับคนที่ได้ดูหนังแล้วหรือกำลังจะได้ดูในอนาคต ฉากสำคัญสุดๆ ใน “อวสานซาวด์แมน” น่าจะมีอยู่ประมาณสามซีน น่าสนใจว่าฉากสำคัญเหล่านั้นแทบไม่ได้นำเสนอภาวะตลกออกมาเลย

ขณะเดียวกัน เสียงประกอบในซีนเหล่านั้นก็ไม่ได้มีลักษณะแพรวพราวโดดเด่น ทว่า เป็นเสียงที่ดังสอดแทรกออกมาเพียงวูบเดียวสั้นๆ หรือเป็นเสียงบรรยากาศที่แทบไม่มีนัยยะใดๆ เชื่อมโยงถึง “ภาพกว้างใหญ่” ซึ่งปรากฏบนจอ

ราวกับสรยศกำลังอยากจะสื่อสารถึงสภาวะ “พูดไม่ออกบอกไม่ถูก” บางประการ ผ่านหนังสั้นว่าด้วยคนบันทึกเสียงเรื่องนี้

“อวสานซาวด์แมน” อาจไม่ใช่ “หนังตลก” ที่สุดของสรยศ แต่อาจเป็นหนังสั้นที่ “เข้มข้นจริงจัง” ที่สุดของเขา